ไม่มีช่างภาพธรรมชาติคนใดสามารถหลีกเลี่ยงท้องฟ้าได้ ท้องฟ้าไม่ได้เป็นเพียงพื้นที่กว้างใหญ่ที่เชื่อมโยงเราทุกคนเข้ากับจักรวาลเท่านั้น แต่ยังเป็นผืนผ้าใบสวยตระการตาให้กับภาพของเราได้ด้วย! แต่ถ้าหากเราไม่มีวิธีการที่ดีพอ องค์ประกอบภาพจะทำให้รู้สึกเหมือนมีพื้นที่ว่างมากเกินไป การถ่ายภาพท้องฟ้าด้วยอัตราส่วน 7:3 จะเป็นการฝึกฝนให้คุณใส่ใจกับวิธีการใช้พื้นที่ในภาพมากขึ้น พร้อมแล้วเรามาเริ่มกันเลย! (เรื่องโดย Toshiki Nakanishi, Digital Camera Magazine)
EOS R/ RF28-70mm f/2L USM/ FL: 31 มม./ Flexible-priority AE (f/11, 1/320 วินาที)/ ISO 400/ WB: แสงแดด
ขั้นตอนที่ 1: ทราบว่าภาพของคุณจะดูเป็นอย่างไรเมื่อเพิ่มท้องฟ้าเข้าไปให้มากขึ้น
เมื่อเราได้เห็นฉากน่าตื่นตาตื่นใจ เช่น ทุ่งดอกไม้ที่สวยงามตัดกับท้องฟ้าสดใส เรามักจะต้องการใส่ทุกอย่างเข้ามาในเฟรมภาพ แต่การรวมเอาองค์ประกอบที่สำคัญทั้งหมดเข้ามาในสัดส่วนที่เท่ากันจะทำให้เกิดการแย่งความสนใจ และเมื่อไม่มีตัวแบบหลักที่เห็นได้ชัดเจน ผู้ชมจะไม่ทราบว่าควรมองไปที่ใด
ตัวอย่างที่ไม่ดี: ท้องฟ้า 50% พื้นดิน 50%
ตัวแบบหลักคืออะไร ไม่สามารถเห็นได้ชัดในภาพนี้
ในบางสถานการณ์ การใส่ท้องฟ้าเข้าไปในภาพให้มากขึ้นอาจดูสมเหตุสมผลมากกว่า เช่น เมื่อคุณถ่ายภาพท้องฟ้ายามค่ำคืนที่มีดวงดาวส่องประกาย นั่นคือช่วงเวลาที่คุณควรกล้าที่จะปล่อยให้ท้องฟ้ากินพื้นที่มากขึ้นในเฟรมภาพ เพื่อให้ตัวแบบหลักซึ่งก็คือท้องฟ้าเด่นชัดมากยิ่งขึ้น แต่แน่นอนว่าคุณยังคงต้องใช้ความระมัดระวังในการจัดวางท้องฟ้าและพื้นดินให้มีความสมดุลด้วยเช่นกัน!
ตัวอย่างที่ดี: ท้องฟ้า 80% พื้นดิน 20%
เห็นตัวแบบหลักได้ชัดเจนกว่ามาก
คำถามที่พบบ่อย: ระยะใดดีกว่ากัน เทเลโฟโต้หรือมุมกว้าง
ความรู้สึกกว้างใหญ่ที่เกิดจากเลนส์มุมกว้างนั้นสามารถดึงเอารายละเอียดที่โดดเด่นของท้องฟ้าออกมาได้อย่างดีเยี่ยม รายละเอียดนี้เหมาะเป็นพิเศษสำหรับการถ่ายภาพในเวลาที่มีก้อนเมฆน่าสนใจจำนวนมาก เนื่องจากเปอร์สเป็คทีฟแบบมุมกว้างจะช่วยให้เห็นการเคลื่อนที่ของก้อนเมฆได้ชัดขึ้นและทำให้รู้สึกเหมือนเมฆกำลังลอยออกไปนอกเฟรมภาพ
การถ่ายภาพโดยใช้มุมกว้างช่วยเพิ่มความรู้สึกกว้างใหญ่ไพศาล
ขั้นตอนที่ 2: ทิวทัศน์บนพื้นดินอาจดูสวยงาม แต่คุณควรเลือกให้ดีว่าจะให้อะไรอยู่ในเฟรมภาพ!
รุ้งกินน้ำเป็นอีกตัวอย่างหนึ่งของฉากที่อาจดูรกเกินไปได้ง่าย เพราะเราจะมัวแต่สนใจกับการถ่ายภาพจนมักจะใส่องค์ประกอบต่างๆ ที่อยู่บนพื้นเข้ามามากเกินไป ไม่ว่าจะตัดสินใจให้ท้องฟ้ากินพื้นที่ 70% หรือ 80% ในภาพ คุณควรคำนึงถึงความสัมพันธ์ระหว่างตัวแบบหลัก (ท้องฟ้า) กับตัวแบบรอง (พื้นดิน) ขณะจัดองค์ประกอบภาพ
ตัวอย่างที่ไม่ดี: มีองค์ประกอบบนพื้นมากเกินไป
พื้นดินที่อยู่ในโฟร์กราวด์นั้นมืด และเมื่อกินพื้นที่ในภาพมากจึงถ่วงน้ำหนักของทั้งภาพลงมา ซึ่งเป็นการดึงความสนใจของเราออกไปจากรุ้งกินน้ำ
ตัวอย่างที่ดี: หลังจากจัดองค์ประกอบให้เรียบร้อยขึ้น
ผมจัดองค์ประกอบของภาพใหม่เพื่อให้มีพื้นดินน้อยลงซึ่งทำให้ภาพดูเรียบง่ายขึ้น และยังตรวจดูให้แน่ใจด้วยว่าองค์ประกอบต่างๆ มีความสมดุล สายตาของผู้ชมจะถูกดึงไปยังตัวแบบหลักและคงอยู่ในจุดนั้น ซึ่งก็คือรุ้งกินน้ำสองชั้น
อ่านเพิ่มเติมได้ที่: เคล็ดลับสำหรับการถ่ายภาพรุ้งกินน้ำ
ข้อควรระวัง: อย่าลืมดูให้ขอบฟ้าเป็นเส้นตรง! (ระดับความเอียงอิเล็กทรอนิกส์ของคุณมีขีดจำกัด)
เมื่อท้องฟ้ากินพื้นที่มาก จะเห็นเส้นขอบฟ้าที่เอียงได้ชัดเจนขึ้น ตรวจดูความเอียงในขณะที่คุณถ่ายภาพ
เคล็ดลับ: ในภาพนี้ เราให้ความสนใจมากกว่าว่า ขอบฟ้าเป็นเส้นตรงมากแค่ไหนในภาพ ไม่ใช่ขนานกับพื้นมากแค่ไหน ดังนั้น การใช้การวัดระดับความเอียงด้วยวิธีทางกายภาพหรืออิเล็กทรอนิกส์อาจไม่ช่วยมากนัก การใช้ตารางจะช่วยให้คุณมองเห็นได้ดีกว่า การแก้ไขในกระบวนการปรับแต่งภาพจะทำให้คุณต้องหมุนและครอปภาพ ซึ่งอาจทำให้ภาพสูญเสียความรู้สึก “กว้างใหญ่” ไป
ขั้นตอนที่ 3: ใช้ก้อนเมฆให้เป็นประโยชน์เพื่อให้ภาพส่งผลต่ออารมณ์ได้มากขึ้น
วันที่มีอากาศดีและแจ่มใสอาจไม่ใช่วันที่เหมาะกับการถ่ายภาพท้องฟ้า ให้ลองถ่ายภาพแบบเปิดรับแสงนานในวันที่มีเมฆครึ้ม หรือแม้แต่ก่อนพระอาทิตย์ขึ้นหรือหลังพระอาทิตย์ตก
ถ่ายภาพแบบเปิดรับแสงนานเพื่อเก็บภาพการเคลื่อนที่ของก้อนเมฆ
สภาวะหนึ่งที่เหมาะสำหรับการถ่ายภาพท้องฟ้าให้ส่งผลต่ออารมณ์เป็นอย่างยิ่งคือเมื่อมีลมแรงและมีเมฆมาก เพื่อถ่ายทอดรายละเอียดของเมฆที่กำลังเคลื่อนตัวอย่างช้าๆ ให้ดียิ่งขึ้น ให้ลองถ่ายภาพโดยเปิดรับแสงเป็นเวลานานและใช้ฟิลเตอร์ ND เพื่อลดปริมาณแสง
ภาพแสงอาทิตย์เรืองรองอันน่าตื่นตาตื่นใจ
ลำแสงของดวงอาทิตย์ที่ส่องออกมาเหนือขอบฟ้าก่อนพระอาทิตย์ขึ้นและหลังพระอาทิตย์ตกนับเป็นภาพมหัศจรรย์ที่ใครๆ ควรได้เห็น ขณะถ่ายภาพในฉากเช่นนี้ อย่าลืมทำตามขั้นตอนที่ 2! ท้องฟ้าและแสงอาทิตย์คือตัวแบบหลักของคุณ ดังนั้นจึงควรนึกถึงข้อนี้ไว้และพยายามลดสัดส่วนพื้นที่ของตัวแบบรองลง
ตรวจสอบด้วยตนเอง: สิ่งที่คุณต้องถามตัวเองขณะถ่ายภาพ
1. สัดส่วนของท้องฟ้าที่กินพื้นที่ในเฟรมภาพมีความเหมาะสมหรือไม่
อัตราส่วนที่ดีที่สุดระหว่างท้องฟ้ากับพื้นดินจะแตกต่างกันไปในแต่ละฉาก คุณจำเป็นต้องพิจารณาดูว่าต้องการบอกเล่าเรื่องราวใดโดยการใช้พื้นที่ของท้องฟ้า
ในภาพด้านบน พระจันทร์เต็มดวงกำลังลอยอยู่บนท้องฟ้าที่มีการไล่เฉดสีอย่างสวยงาม ภาพนี้ได้องค์ประกอบที่สมดุลจากอัตราส่วนระหว่างท้องฟ้ากับพื้นดินที่ 7:3
2. การจัดองค์ประกอบภาพของคุณทำให้ท้องฟ้าดูสวยงามที่สุดหรือไม่
ตัวอย่างที่ไม่ดี: มีพื้นดินมากเกินไป
ภาพท้องฟ้ายามรุ่งสางด้านบนมีการไล่เฉดสีที่สวยงาม แต่ความสนใจของผมอยู่ที่พื้นดินด้วยเช่นกัน และภาพก็แสดงให้เห็นได้อย่างชัดเจน ท้องฟ้าคงดูน่าประทับใจกว่านี้หากมีพื้นดินน้อยกว่า ตัดสินใจให้ดีว่าคุณต้องการแสดงตัวแบบใดและจัดองค์ประกอบภาพให้สายตาทุกคู่มุ่งไปที่สิ่งนั้นเท่านั้น!
อ่านไอเดียเพิ่มเติมเกี่ยวกับการถ่ายภาพท้องฟ้าและทิวทัศน์ได้ที่:
การเริ่มต้นถ่ายภาพทิวทัศน์: 5 สิ่งที่ควรทราบ
การตัดสินใจในการถ่ายภาพทิวทัศน์: ควรใส่ดวงอาทิตย์ไว้ในเฟรมภาพดีหรือไม่
ถ่ายภาพสีสันสดใสและร้อนแรงของพระอาทิตย์ยามรุ่งอรุณ
หลักสำคัญ 4 ข้อในการถ่ายภาพทิวทัศน์ก่อนฟ้าสาง
รับข่าวสารล่าสุดเกี่ยวกับการถ่ายภาพ รวมถึงเคล็ดลับและกลเม็ดต่างๆ
ร่วมเป็นส่วนหนึ่งของชุมชนชาว SNAPSHOT
ลงทะเบียนตอนนี้!เกี่ยวกับผู้เขียน
นิตยสารรายเดือนที่เชื่อว่าความสุขของการถ่ายภาพจะยิ่งเพิ่มขึ้น เมื่อผู้ถ่ายภาพได้เรียนรู้เกี่ยวกับฟังก์ชั่นต่างๆ ของกล้องมากยิ่งขึ้น นิตยสารเล่มนี้เผยแพร่ข่าวสารเกี่ยวกับกล้องรุ่นใหม่ๆ รวมถึงคุณสมบัติของกล้องและนำเสนอเทคนิคการถ่ายภาพอย่างหลากหลาย
จัดพิมพ์โดย Impress Corporation
เกิดปี 1971 ในโอซาก้า หลังจากศึกษาการถ่ายภาพด้วยตัวเอง Nakanishi ย้ายสถานที่ดำเนินกิจกรรมถ่ายภาพของตนไปยังเมือง Biei ที่อำเภอ Kamikawa-gun ในฮอกไกโด นอกจากถ่ายภาพทิวทัศน์ที่โฟกัสที่แสงเป็นหลักแล้ว เขายังสร้างสรรค์ผลงานที่เน้นถึงความงามของธรรมชาติในจินตนาการอีกด้วย เขามีตำแหน่งเป็นหัวหน้า PHOTO OFFICE ของ atelier nipek