การถ่ายภาพพระอาทิตย์ขึ้น (และพระอาทิตย์ตก) เป็นเรื่องที่ท้าทายเสมอ สภาพแสงที่เปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลาหมายความว่าคุณมีเวลาเพียงสั้นๆ เท่านั้น ก่อนที่สีสันจะเริ่มจางหายไป ถ้าเช่นนั้นแล้วคุณจะเอาชนะเวลานี้ได้อย่างไร ต่อไปนี้คือเทคนิคสองสามข้อที่ใช้กันในหมู่ช่างภาพมืออาชีพเพื่อถ่ายภาพสีสันอันสดใสของพระอาทิตย์ยามรุ่งอรุณ (เรื่องโดย: Yoshio Shinkai)
EOS 5D Mark II/ EF70-200mm f/4L IS USM/ FL: 176 มม./ Aperture-priority AE (f/11, 1/6 วินาที, EV±0)/ ISO 100/ WB: 3,800K
หากคุณไม่รีบถ่ายภาพอย่างรวดเร็ว สีสันที่สดใสของพระอาทิตย์ขึ้นจะจางหายไป ดังนั้น จึงควรมีไอเดียที่ชัดเจนว่าต้องการให้ผลงานออกมาเป็นอย่างไรก่อนที่จะเริ่มถ่ายภาพ การวางแผนก่อนล่วงหน้าช่วยให้คุณสามารถเตรียมตัวและยืนในตำแหน่งที่ถูกต้องได้ทันที ต่อไปนี้เป็นวิธีที่ทำให้ผมสามารถเก็บภาพยามรุ่งอรุณให้มีสีสันที่สวยสดใสมากที่สุด!
ก้อนเมฆที่สร้างอารมณ์ได้ดีที่สุดจะปรากฎขึ้นเป็นเวลา 30 นาทีก่อนดวงอาทิตย์ขึ้น
รูปในภาพหลักนี้ถ่ายในช่วงฤดูร้อนที่โตเกียว จากสถานที่ซึ่งมองเห็นวิวทิวทัศน์ของกลุ่มอาคารสูงระฟ้าในย่านชินจูกุและโตเกียวสกายทรี ผมจัดเตรียมทุกอย่างให้พร้อมเป็นเวลาพักหนึ่งก่อนเวลาที่คาดหมายว่าพระอาทิตย์จะขึ้น จากนั้นก็เฝ้ารอ
เนื่องจากโทนสีของท้องฟ้าเปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็วเมื่อดวงอาทิตย์เริ่มโผล่พ้นขอบฟ้า ดังนั้น การจะเก็บภาพช่วงเวลาสำคัญได้อย่างแม่นยำ เช่น เมื่อสีสันบนท้องฟ้าสดใสแจ่มชัดที่สุดได้นั้น ผมต้องทำงานแข่งกับเวลา ดังนั้น การวางแผนล่วงหน้าและใช้การตั้งค่าที่เหมาะสมจึงเป็นสิ่งสำคัญ ในภาพนี้ ผมให้ความสำคัญกับการตั้งค่า 3 อย่างเป็นพิเศษ ได้แก่ ทางยาวโฟกัส ค่า f และสมดุลแสงขาว
(เข้าไปดู บทความนี้ เพื่ออ่านเพิ่มเติมเกี่ยวกับวิธีถ่ายภาพทิวทัศน์อันน่าทึ่งในยามเช้าตรู่)
จุดที่ 1: ดึงภาพทิวทัศน์ของเมืองให้ดูโดดเด่นด้วยทางยาวโฟกัส 176 มม.
ผมอยากถ่ายภาพที่แสดงให้เห็นการไล่เฉดสีในโทนสีของภาพดวงอาทิตย์ขึ้นไปพร้อมกับถ่ายทอดภาพทิวทัศน์ของเมืองเป็นภาพซิลูเอตต์ ดังนั้น ผมจึงเลือกใช้เลนส์เทเลโฟโต้ 176 มม. ที่ให้ เอฟเฟ็กต์การบีบมุมมองภาพที่ "ดึงเอา" ภาพทิวทัศน์ของเมือง" ออกมาให้ดูโดดเด่น ซึ่งการทำให้ตึกสูงต่างๆ มีลักษณะเป็นกลุ่มอาคารขนาดเล็กจะช่วยขับเน้นให้ท้องฟ้าดูทรงพลังได้
จุดที่ 2: ถ่ายทอดรายละเอียดเล็กๆ น้อยๆ ด้วย f/11
หากคุณใช้รูรับแสงที่แคบจนเกินไป จะมีปรากฏการณ์ที่เรียกว่าการกระจายแสงเกิดขึ้น ซึ่งทำให้คุณภาพของภาพถ่ายลดลง ภาพนี้ไม่จำเป็นต้องมีระยะชัดลึกมากเท่าใดนัก เนื่องจากเป็นภาพที่ถ่ายทอดทิวทัศน์ที่อยู่ไกลออกไป ดังนั้น การใช้ f/8 ก็นับว่าเพียงพอแล้ว อย่างไรก็ดี เนื่องจากมีความเปรียบต่างที่ชัดเจนระหว่างแสงและเงาในภาพ ผมจึงเลือกค่ารูรับแสงที่แคบลงที่ f/11 เพื่อไม่ให้รายละเอียดต่างๆ ของภาพเบลอ
จุดที่ 3: ตั้งค่าสมดุลแสงขาวเป็น 3,800K เพื่อทำให้ก้อนเมฆดูเป็นสีฟ้าจัดกว่าเดิม
เหตุผลที่ผมตั้งค่าสมดุลแสงขาวเป็น 3,800K เนื่องจากว่าก้อนเมฆดูมีโทนสีฟ้าเล็กน้อยอยู่แล้ว ซึ่งผมรู้สึกว่าเป็นสีที่ชวนมองอย่างมาก แน่นอนว่า ผมยังต้องการเน้นที่โทนสีแดงของพระอาทิตย์ยามรุ่งอรุณด้วยเช่นกัน ควรระมัดระวังการใช้สมดุลแสงขาวอัตโนมัติ เนื่องจากรายละเอียดของก้อนเมฆที่โดดเด่นด้วยแสงสีฟ้าอาจจมหายไปเมื่อใช้การตั้งค่านี้
คำแนะนำ: สีสันที่สดใสที่สุดมักจะปรากฎขึ้นเป็นเวลา 30 นาทีก่อนดวงอาทิตย์ขึ้น
จังหวะเวลาเป็นปัจจัยสำคัญในการถ่ายภาพพระอาทิตย์ขึ้น สีสันที่สดใสที่สุดมักจะปรากฎขึ้นเป็นเวลา 30 นาทีก่อนเวลาที่คาดหมายว่าดวงอาทิตย์จะขึ้น ดังนั้น จึงควรเตรียมทุกอย่างให้พร้อมและเฝ้ารอก่อนจะถึงช่วงเวลาดังกล่าว (ในระหว่างนี้ คุณอาจสนุกไปกับ แสงสีฟ้าก่อนฟ้าสาง ได้ แต่ควรถ่ายภาพแสงสีฟ้านี้ในวันถัดไป เพราะต้องใช้การตั้งค่ากล้องที่แตกต่างกันอย่างมาก)
นอกจากนี้ สภาพอากาศยังมีอิทธิพลต่อภาพที่ถ่ายออกมาด้วยเช่นกัน ภาพดวงอาทิตย์ขึ้นดูสวยสดงดงามมากกว่าเดิมเมื่อมีก้อนเมฆปกคลุมรอบๆ ดังนั้น เราจึงควรรอให้วันที่อากาศดีผ่านพ้นไปเสียก่อน หากคุณถ่ายภาพในประเทศที่มี 4 ฤดู ฤดูร้อนเป็นช่วงเวลาที่เหมาะสมเช่นเดียวกัน
หลังจากได้ทราบถึงหลักสำคัญในการถ่ายภาพพระอาทิตย์ขึ้นที่มีสีสันสดใสร้อนแรงแล้ว คุณจะลองถ่ายภาพ ยามเย็นที่งดงามน่าทึ่ง ดูบ้างไหมครับ?
เกี่ยวกับผู้เขียน
นิตยสารรายเดือนที่เชื่อว่าความสุขของการถ่ายภาพจะยิ่งเพิ่มขึ้น เมื่อผู้ถ่ายภาพได้เรียนรู้เกี่ยวกับฟังก์ชั่นต่างๆ ของกล้องมากยิ่งขึ้น นิตยสารเล่มนี้เผยแพร่ข่าวสารเกี่ยวกับกล้องรุ่นใหม่ๆ รวมถึงคุณสมบัติของกล้องและนำเสนอเทคนิคการถ่ายภาพอย่างหลากหลาย
จัดพิมพ์โดย Impress Corporation
Shinkai เกิดในจังหวัดนากาโน่ เมื่อปี 1953 เขาเริ่มต้นเดินทางไปทั่วประเทศญี่ปุ่นพร้อมกับกล้องขนาดใหญ่เพื่อถ่ายภาพทิวทัศน์ในปี 1979 ปัจจุบัน เขาถ่ายภาพให้กับสื่อหลากหลายประเภท ตั้งแต่โปสเตอร์และปฏิทินไปจนถึงแผ่นพับด้านการท่องเที่ยวและนิตยสารถ่ายภาพ