การถ่ายภาพดอกไม้: เทคนิคและคุณสมบัติของกล้องที่เป็นประโยชน์
ภาพดอกไม้ก็เหมือนกับภาพพอร์ตเทรตของดอกไม้ คุณจะดึงเอาส่วนที่สวยงามที่สุดของดอกไม้ออกมาได้อย่างไร จะทำให้แต่ละภาพมีเอกลักษณ์โดดเด่นไม่ซ้ำกันได้อย่างไร ช่างภาพมืออาชีพคนหนึ่งจะมาแบ่งปันเคล็ดลับและคุณสมบัติของกล้องที่เป็นประโยชน์เพื่อช่วยยกระดับการถ่ายภาพดอกไม้ของคุณ (เรื่องโดย Tatusya Tanaka, Digital Camera Magazine)
EF100mm f/2.8L Macro IS USM/ Aperture-priority AE (1/125 วินาที, f/4.5, EV-0.3)/ ISO 100/ WB: แสงแดด/ การถ่ายภาพซ้อน: [เติมแต่ง]
การถ่ายภาพซ้อนทำให้เกิดภาพอันโดดเด่นไม่เหมือนใครอย่างเช่นภาพนี้ ซึ่งนำภาพดอกไม้สี่ภาพมาวางซ้อนกัน
1. การจัดองค์ประกอบภาพ
หาองค์ประกอบที่ได้ผลดีที่สุดสำหรับรูปร่างของดอกไม้
ซึ่งเป็นสิ่งสำคัญที่จะทำให้องค์ประกอบภาพมีความสมดุล
ยกตัวอย่างเช่น หากดอกไม้มีก้านยาว ตัวดอกไม้ส่วนที่บานก็จะอยู่ที่ด้านบนของภาพ บางอย่างก็อาจจะขึ้นอยู่กับความชอบของคุณเองในเรื่องความสวยงาม แต่ผมรู้สึกว่าหากมีพื้นที่ว่างด้านล่างดอกไม้มากเกินไปจะทำให้องค์ประกอบภาพดูไม่มั่นคง ดังนั้น ผมจึงมักจะหาอะไรเติมเข้าไปโดยการ
- ปรับตำแหน่งของดอกไม้หรือการจัดเฟรมของผมเพื่อให้ก้านของดอกไม้ที่อยู่รอบๆ หรือแบ็คกราวด์โดดเด่นขึ้น
- สร้างโบเก้ในส่วนโฟร์กราวด์และ/หรือแบ็คกราวด์
ข้อควรรู้: ความไม่มั่นคงในองค์ประกอบภาพไม่ใช่ข้อเสียเสมอไป
แต่ก็อาจทำให้ภาพดูไม่เป็นมืออาชีพหรือดูเหมือนถ่ายอย่างลวกๆ ได้ หากต้องการถ่ายภาพเช่นนี้ ต้องแน่ใจว่าความไม่มั่นคงนั้นทำให้ภาพสวยงามขึ้นจริงๆ ซึ่งอาจเป็นสิ่งที่ยาก แต่หากคุณทำออกมาได้ดี ภาพก็จะมีความโดดเด่นไม่เหมือนใคร
ดูเทคนิคการจัดองค์ประกอบภาพระดับสูงได้ที่:
เทคนิคการจัดองค์ประกอบภาพอย่างมืออาชีพ (1): เส้นนำสายตา จังหวะที่ไม่คาดคิด และการตัดส่วนเกิน
2. ระบบแสงสว่าง
เปลี่ยนอารมณ์และผลทางความรู้สึกของภาพ
เช่นเดียวกับการถ่ายภาพประเภทอื่นๆ สภาวะแสงสามารถเปลี่ยนอารมณ์และผลทางความรู้สึกในภาพของคุณได้ ลองดูตัวอย่างต่อไปนี้
วันที่มีแดดจ้า
แสงแดดที่จ้าเกินไป โดยเฉพาะอย่างยิ่งในตอนเที่ยงวัน มักจะทำให้เกิดเงาบนดอกไม้ ทำให้แสงและเงาตัดกันอย่างชัดเจนซึ่งทำให้รู้สึกแข็งกระด้างและไม่น่ามอง
แต่อย่างไรก็ตาม คุณสามารถถ่ายภาพให้สวยเด่นได้ภายใต้สภาวะแสงเดียวกันนี้หากใช้แสงย้อนจากด้านหลัง ยกตัวอย่างเช่น คุณสามารถ
- สร้างเอฟเฟ็กต์แสงย้อนจากด้านหลังที่ช่วยเน้นให้รูปร่างของดอกไม้โดดเด่นขึ้น
- จัดตำแหน่งภาพให้แสงส่องทะลุกลีบดอกไม้เพื่อให้กลีบดอกดูโปร่งแสง (ดูตัวอย่างได้ที่นี่)
วันที่มีเมฆครึ้ม
ในวันที่มีเมฆปกคลุมมาก แสงจะนุ่มนวลและกระจายตัวมากกว่า ทำให้เกิดแสงที่มีความสม่ำเสมอบนตัวดอกไม้และรอบๆ ดอกไม้ นี่เป็นสภาวะแสงที่เหมาะสำหรับการถ่ายภาพให้มีโทนสีที่ไล่กันอย่างนุ่มนวลและมีสีสันที่เป็นธรรมชาติ แสงที่นุ่มนวลเมื่อคุณถ่ายภาพในร่มหรือในเรือนกระจกในวันที่มีแดดจ้าก็ให้ผลดีเช่นกัน
เคล็ดลับ: อุปกรณ์เสริมที่เป็นประโยชน์
- - แผ่นรีเฟลกเตอร์ขนาดเล็ก: สำหรับลดเงาที่เด่นชัด
- - ร่ม: สำหรับกั้นแสง
คุณสมบัติที่เป็นประโยชน์: การเตือนบริเวณสว่างโพลน
เมื่อถ่ายภาพในสภาวะแสงจ้า บางส่วนในภาพอาจได้รับแสงมากเกินไปจนมองไม่เห็นรายละเอียด (“ส่วนที่สว่างเกินไป”) คุณสมบัติการเตือนบริเวณสว่างโพลน (หรือที่เรียกว่า “แสงกะพริบ” หรือ “ลายม้าลาย”) จะเตือนคุณว่ามีบริเวณสว่างโพลนเกิดขึ้นโดยทำให้เกิดการกะพริบเป็นสีดำเมื่ออยู่ในโหมดดูภาพ ซึ่งเป็นเครื่องมือที่ช่วยให้คุณปรับการชดเชยแสงได้อย่างแม่นยำ สำหรับกล้องบางรุ่น คุณอาจต้องเปิดใช้งานก่อน โปรดดูรายละเอียดเพิ่มเติมในคู่มือการใช้งานกล้องของคุณ
3. การตั้งค่ากล้อง
ปรับแต่งภาพตามต้องการด้วยรูปแบบภาพ
การเปิดรับแสง
ผมมักจะถ่ายภาพโดยใช้โหมด Aperture-priority AE (Av) และปรับค่าการชดเชยแสงเมื่อจำเป็น
การกำหนดค่าด้วยตนเอง
ผมไม่ค่อยได้ปรับแต่งค่าพารามิเตอร์ต่างๆ เท่าใดนัก แต่เวลาที่ต้องทำ ผมมักจะปรับการตั้งค่าของรูปแบบภาพมากกว่า ผมจะใช้รูปแบบภาพ ‘ทิวทัศน์’, ‘มาตรฐาน’ หรือ ‘ภาพตามจริง’ โดยขึ้นอยู่กับสีของดอกไม้
ตัวอย่างเช่น ผมใช้ 'ภาพตามจริง' กับดอกไม้ที่มีโทนสีเข้ม เนื่องจากผมรู้สึกว่ารูปแบบภาพ 'ทิวทัศน์' ทำให้สีสันดูอิ่มตัวเกินไป ผมตั้งค่าพารามิเตอร์ของความคมชัดไปที่ ‘+3’ ซึ่งเป็นระดับเดียวกับค่าความคมชัดเริ่มต้นสำหรับรูปแบบภาพ (มาตรฐาน)
เคล็ดลับ: สร้างรูปแบบภาพที่กำหนดโดยผู้ใช้
หากต้องการภาพที่มีเอกลักษณ์ในแบบของคุณเอง นอกจากจะปรับค่าพารามิเตอร์ของรูปแบบภาพที่มีอยู่แล้ว คุณยังสามารถสร้างรูปแบบภาพของคุณเองได้ภายในกล้องหรือด้วยซอฟต์แวร์ Digital Photo Professional จากนั้นจึงบันทึกหรืออัพโหลดไปยังกล้องเพื่อเป็นรูปแบบภาพที่กำหนดโดยผู้ใช้ ซึ่งคุณสามารถดูเอฟเฟ็กต์ที่ได้ในขณะถ่ายภาพด้วย
4. คุณสมบัติอื่นๆ ที่เป็นประโยชน์
ใช้คุณสมบัติเหล่านี้เพื่อถ่ายภาพให้สวยขึ้นได้อย่างง่ายดาย
AF 1 จุด: เพื่อให้ได้โฟกัสที่คมชัดตรงกลางดอกไม้
EF100mm f/2.8L Macro IS USM/ Aperture-priority AE (1/30 วินาที, f/9, EV -1)/ ISO 100/ WB: อัตโนมัติ
การโฟกัสให้ได้อย่างแม่นยำตรงกลางดอกไม้อาจเป็นเรื่องยาก แต่ผมกลับทำได้อย่างง่ายดายแม้จะมีลมพัดเบาๆ เมื่อใช้โหมด AF 1 จุด หรือที่เรียกว่า “AF แบบจุดเล็กจุดเดียว” ในกล้องบางรุ่น
โหมด HDR: สำหรับฉากที่มีความเปรียบต่างอย่างชัดเจนระหว่างแบ็คกราวด์กับโฟร์กราวด์
EF100mm f/2.8L Macro IS USM/ Aperture-priority AE (1/10 วินาที, f/14)/ ISO 100/ WB: อัตโนมัติ/ HDR (สีธรรมชาติ)
นี่คือภาพดอกกุหลาบที่ถ่ายในเรือนกระจก ส่วนสว่างบนกลีบดอกและใบไม้ที่อยู่ในเงานั้นมีความสว่างที่แตกต่างกันอย่างชัดเจน ส่วนแบ็คกราวด์จะมืดสนิทหากผมปรับค่าเปิดรับแสงโดยดูที่ตัวดอกไม้เป็นหลัก
การใช้ฟังก์ชั่น HDR (โหมด “ควบคุมแสงพื้นหลัง HDR” ในกล้องบางรุ่น) ช่วยแก้ปัญหานี้ได้ โดยการนำเอาภาพที่ถ่ายคร่อมโดยใช้ค่าการเปิดรับแสงต่างกันสามภาพมารวมกัน ซึ่งจะช่วยคงรายละเอียดทั้งในส่วนที่สว่างและมืดเอาไว้ได้ คุณจึงสามารถมองเห็นรายละเอียดบนใบไม้ในภาพที่ได้
เลนส์ที่ใช้: EF100mm f/2.8L Macro IS USM
เลนส์ EF100mm f/2.8L Macro IS USM มีความสามารถในการถ่ายทอดภาพอันยอดเยี่ยม ที่รูรับแสงกว้างสุด เลนส์จะให้โบเก้ที่นุ่มนวลโดยส่วนที่อยู่ในโฟกัสยังคงมีความคมชัด และเมื่อใช้รูรับแสงแคบ จะสามารถแสดงพื้นผิวและรายละเอียดได้อย่างคมชัดไปถึงเส้นใบบนใบไม้แต่ละใบ และทางยาวโฟกัสเทียบเท่าฟูลเฟรม 100 มม. ก็เหมาะสำหรับการถ่ายภาพดอกไม้จากด้านนอกแปลงดอกไม้ด้วย
สำหรับเคล็ดลับเพิ่มเติมเกี่ยวกับการถ่ายภาพดอกไม้ โปรดดูที่:
ควรใช้เลนส์ใดในการถ่ายภาพดอกไม้ให้มีโบเก้ขนาดใหญ่ในส่วนโฟร์กราวด์
ฉันจะถ่ายภาพดอกไม้ให้ดูเกินจริงได้อย่างไร
การถ่ายภาพดอกไม้: วิธีสร้างวงกลมโบเก้ที่สว่างจ้าให้สวยแจ่มด้วยเลนส์มาโคร
รับข่าวสารล่าสุดเกี่ยวกับการถ่ายภาพ รวมถึงเคล็ดลับและกลเม็ดต่างๆ
ร่วมเป็นส่วนหนึ่งของชุมชนชาว SNAPSHOT
ลงทะเบียนตอนนี้!เกี่ยวกับผู้เขียน
นิตยสารรายเดือนที่เชื่อว่าความสุขของการถ่ายภาพจะยิ่งเพิ่มขึ้น เมื่อผู้ถ่ายภาพได้เรียนรู้เกี่ยวกับฟังก์ชั่นต่างๆ ของกล้องมากยิ่งขึ้น นิตยสารเล่มนี้เผยแพร่ข่าวสารเกี่ยวกับกล้องรุ่นใหม่ๆ รวมถึงคุณสมบัติของกล้องและนำเสนอเทคนิคการถ่ายภาพอย่างหลากหลาย
จัดพิมพ์โดย Impress Corporation
เกิดเมื่อปี 1956 Tanaka เป็นหนึ่งในช่างภาพที่หาตัวจับยาก ซึ่งได้สร้างผลงานไว้หลากหลายแนวจากมุมมองที่เป็นแบบฉบับของตัวเอง เขาถ่ายภาพในรูปแบบต่างๆ มากมายตั้งแต่สิ่งที่มองเห็นในชีวิตประจำวัน เช่น แมลงและดอกไม้ ไปจนถึงภาพทิวทัศน์ ตึกสูง และดวงดาวบนท้องฟ้าเลยทีเดียว นอกเหนือจากการถ่ายภาพแล้ว Tanaka ยังพัฒนาวิธีการของตัวเองในกระบวนการปรับแต่งภาพรวมทั้งการรีทัชและการพิมพ์ขึ้นมาอีกด้วย