เราจะถ่ายภาพอย่างไรให้ถ่ายทอดความรู้สึกโล่งกว้างได้ การจัดองค์ประกอบภาพที่มีประสิทธิภาพ เอฟเฟ็กต์เลนส์ และฟังก์ชั่นของกล้องใดที่เรานำมาใช้ได้แม้ในกรอบภาพที่มีความจำกัด ในบทความนี้ เราจะเรียนรู้เคล็ดลับในการเพิ่มความโล่งกว้างให้ภาพถ่ายของคุณ (เรื่องโดย: Tatsuya Tanaka)
ใช้เลนส์มุมกว้างอย่างมั่นใจ และสังเกตการจัดวางภาพบริเวณมุมรับภาพแนวนอน
ความรู้สึกโล่งกว้างเกิดขึ้นได้จากการใช้องค์ประกอบภาพที่ดูกว้างกว่าตัวแบบจริง แม้ว่ามุมรับภาพที่ใกล้เคียงกับสายตามนุษย์จะมีระยะโฟกัสที่ 24 มม. แต่กลับให้สัมผัสของระยะห่างระหว่างโฟร์กราวด์และแบ็คกราวด์ประมาณ 50 มม. ความลึกที่ส่วนซ้อนทับระหว่างมุมรับภาพแนวนอนกับด้านหน้าและด้านหลังจึงกลายมาเป็นจุดสำคัญในการสร้างความรู้สึกโล่งกว้างที่รับรู้ได้ คุณสามารถใช้เลนส์ที่มีระยะโฟกัส 24 มม. หรือต่ำกว่านั้นหากคุณคิดถึงการทำงานของเลนส์เพียงอย่างเดียว ตัวอย่างที่ดีในการถ่ายภาพเช่นนี้เห็นได้จากภาพด้านล่าง สายตามนุษย์รับรู้ได้ถึงความโล่งกว้างจากองค์ประกอบภาพที่ถ่ายโดยวางตัวแบบหลักไว้กลางหน้าจอพร้อมกับแสดงแบ็คกราวด์รวมไปถึงพื้นที่ที่ล้อมรอบ
คุณสามารถนำวิธีการจัดองค์ประกอบภาพต่างๆ เช่น กฎสามส่วน กฎสองส่วน และเส้นนำสายตา มาใช้เพื่อสร้างความรู้สึกโล่งกว้างได้
องค์ประกอบสำคัญ
- ถ่ายทอดรูปแบบต่างๆ ที่ทอดตัวกว้างกว่าหน้าจอโดยใช้กฎสามส่วน กฎสองส่วน และเส้นนำสายตา
- เปลี่ยนค่ารูรับแสงเพื่อถ่ายทอดความห่างระหว่างตัวแบบและแบ็คกราวด์
- ใช้เลนส์มุมกว้างเพื่อสร้างภาพถ่ายที่ตราตรึงใจได้มากกว่าที่เป็น
- ถ่ายทอดความกว้างใหญ่ไพศาลโดยการถ่ายท้องฟ้าเป็นส่วนใหญ่ เพื่อตัดกันระหว่างตัวแบบกับพื้นดินหรือทะเลในกรอบภาพเดียวกัน
- ให้ความสำคัญกับการเกลี่ยแสงในส่วนสว่างโดยใช้การชดเชยแสง
ปรับพื้นที่ว่างและสีสันเพื่อถ่ายทอดความโล่งกว้างอย่างได้ผล
EOS-1Ds Mark III/ EF24-70mm f/2.8L USM/ FL:24 มม./ Aperture-priority AE (1 วินาที, f/10, -0.3EV)/ ISO 100/ WB: แสงแดด
เทคนิคการจัดองค์ประกอบภาพ: กฎสองส่วน
ระยะโฟกัส: 24 มม.
ภาพถ่ายทิวทัศน์มุมกว้างที่ถ่ายตอนอาทิตย์ขึ้นจากที่สูง ผมใช้มุมรับภาพกว้างที่เป็นเอกลักษณ์ของเลนส์มุมกว้างนั้นๆ และพยายามถ่ายให้ได้การเกลี่ยแสงที่สวยงามของประกายแสงในยามเช้าที่ทอดตัวจากพื้นที่สว่างไปยังพื้นที่มืดสี่ทิศทาง การใช้เส้นระหว่างท้องฟ้าและภูเขาเพื่อแบ่งสัดส่วนขององค์ประกอบภาพเป็นสองส่วน ทำให้ผมสามารถถ่ายทอดความสว่างที่แตกต่างกันแบบไล่ระดับซึ่งเกิดจากแสงที่ทอทอดจากทางขวาไปยังพื้นที่มืดทางซ้ายได้ ทำให้เกิดความรู้สึกโล่งกว้างที่สวยงาม
ตัวอย่างการจัดองค์ประกอบภาพที่ถ่ายทอดความโล่งกว้างในภาพถ่าย
การสร้างความกว้างขวางด้วยเส้นนำสายตา – ถ่ายทอดความโล่งกว้างด้วยคลื่นที่ซัดเข้าฝั่ง
ความกว้างใหญ่ของทะเลถูกเน้นให้โดดเด่นขึ้นเมื่อจัดองค์ประกอบภาพให้เห็นคลื่นที่กำลังซัดเข้าฝั่งและแผ่กระจายฟองออกไป จากยอดคลื่นสีขาวที่ส่วนบนหน้าจอจนถึงปลายระลอกคลื่นที่ซัดสาดขึ้นมาบนฝั่ง นอกจากนี้ การสร้างเส้นแนวนอนในส่วนแบ็คกราวด์ยังแสดงถึงระยะที่ห่างไกลออกไปได้ด้วย
การสร้างความรู้สึกกว้างขวางโดยใช้ความเปรียบต่าง – จัดวางเส้นแนวนอนอย่างจงใจ
แม้ว่าองค์ประกอบภาพแบบนี้ถูกนำมาใช้กับกลุ่มเมฆในช่วงดวงอาทิตย์ตก แต่ผู้ชมภาพจะไม่สามารถรับรู้ถึงความโล่งกว้างได้หากคุณถ่ายเพียงแค่ท้องฟ้าโดยไม่มีสิ่งอื่นๆ ช่วยสร้างความเปรียบต่าง ดังนั้น ผมจึงจัดวางภาพโดยให้พื้นดินด้านหน้าเข้ามาในส่วนโฟร์กราวด์ของภาพเพื่อสร้างตัดกับมหาสมุทรที่อยู่ห่างออกไป เพื่อที่จะถ่ายทอดความรู้สึกที่กว้างขวางออกมา
เกิดเมื่อปี 1956 Tanaka เป็นหนึ่งในช่างภาพที่หาตัวจับยาก ซึ่งได้สร้างผลงานไว้หลากหลายแนวจากมุมมองที่เป็นแบบฉบับของตัวเอง เขาถ่ายภาพในรูปแบบต่างๆ มากมายตั้งแต่สิ่งที่มองเห็นในชีวิตประจำวัน เช่น แมลงและดอกไม้ ไปจนถึงภาพทิวทัศน์ ตึกสูง และดวงดาวบนท้องฟ้าเลยทีเดียว นอกเหนือจากการถ่ายภาพแล้ว Tanaka ยังพัฒนาวิธีการของตัวเองในกระบวนการปรับแต่งภาพทั้งการรีทัชและการพิมพ์ขึ้นมาอีกด้วย