เราจะบันทึกมิติที่มองเห็นด้วยตาบนพื้นที่สี่เหลี่ยมเล็กได้อย่างไร เราจะถ่ายภาพที่ถ่ายทอดความลึกที่เด่นชัดได้อย่างไร การถ่ายทอดความมีมิติและความลึกนั้น ผู้ถ่ายภาพจะต้องพิจารณาถึงองค์ประกอบที่จำเป็นสักเล็กน้อย ในบทความนี้เราจะทำความรู้จักกับองค์ประกอบเหล่านั้นว่ามีอะไรบ้าง (เรื่องโดย: Tatsuya Tanaka)
ปรับมุมกล้องและสังเกตผลที่แตกต่างของความสว่างและรูรับแสงในภาพ
ภาพถ่ายคือการนำเสนอภาพในรูปแบบ 2 มิติ เมื่อต้องการจะเน้นถึงความมีมิติและความลึกในภาพภาพหนึ่ง สำคัญที่คุณต้องใส่ใจกับองค์ประกอบภาพพร้อมกับมุมกล้องขณะที่ถ่ายภาพ เช่น วัตถุสามมิติที่ประกอบด้วยเส้นตรงหลายเส้น เช่น สะพานหรืออาคาร อาจมองเห็นเพียงสองมิติเมื่อถ่ายจากด้านหน้า แต่เมื่อปรับเปลี่ยนมุมกล้องเล็กน้อย ภาพจะเริ่มมีมุมมองแบบสามมิติขึ้นเมื่อมองเห็นวัตถุในส่วนแบ็คกราวด์อยู่ในภาพด้วย กรณีเดียวกัน หากมีวัตถุอยู่ในระยะโฟร์กราวด์และแบ็คกราวด์เพื่อการเปรียบเทียบ จะรู้สึกถึงความแตกต่างของขนาดได้เด่นชัดขึ้น วิธีนี้ช่วยขับเน้นระยะห่างและสร้างความลึกในภาพ อีกประเด็นที่สำคัญมากคือความสว่างของสี แม้ในเวลาที่คุณมีวัตถุเพียงชิ้นเดียว ความแตกต่างของความสว่างจากด้านหน้าและด้านหลังก็ช่วยสร้างมิติได้เช่นกัน จะเห็นได้จากภาพเฟิร์นด้านล่างนี้ สิ่งที่ช่วยสร้างมิติที่มีความลึกในภาพถ่ายสองมิตินี้ก็คือลักษณะของตัวแบบที่ปรากฏและความแตกต่างของสี
เทคนิคการจัดองค์ประกอบภาพที่ทรงประสิทธิภาพที่สุดแบบหนึ่งคือการจัดองค์ประกอบภาพตามแนวเส้นทแยงมุมและมีจุดนำสายตาผู้ชมได้ นอกจากนี้ คุณยังสามารถขับเน้นมิติภาพโดยใช้การจัดองค์ประกอบทั้งสองร่วมกันโดยการปรับค่ารูรับแสงเพื่อตั้งใจทำให้โฟร์กราวด์หรือแบ็คกราวด์เบลอมากขึ้นได้
องค์ประกอบสำคัญ
- ใช้วิธีการจัดองค์ประกอบภาพตามแนวเส้นทแยงมุมหรือมีจุดนำสายตาผู้ชมเพื่อสร้างความรู้สึกแบบป็อปอัพหรือเอฟเฟ็กต์ที่ดึงความสนใจของผู้ชมจากด้านหน้าไปยังด้านหลังของภาพได้
- ลองเปลี่ยนมุมกล้องเพื่อสร้างเอฟเฟ็กต์เปอร์สเปคทีฟระหว่างตัวแบบและแบ็คกราวด์
- ให้ความสำคัญกับการให้มีหลายๆ ตัวแบบ เพื่อให้เห็นระยะห่างในภาพเด่นชัดขึ้น
- ปรับค่ารูรับแสงเพื่อสร้างโฟร์กราวด์หรือแบ็คกราวด์เบลอซึ่งจะช่วยขับเน้นมิติของตัวแบบให้ชัดเจนมากขึ้น
- ใช้ฟังก์ชั่นการชดเชยแสงในกล้องเพื่อเพิ่มความแตกต่างของความสว่างระหว่างตัวแบบกับแบ็คกราวด์
ใช้ขนาดของตัวแบบเพื่อขับเน้นมิติและความลึก
EOS-1Ds Mark III/ EF16-35mm f/2.8L USM/ FL: 28 มม./ Aperture-priority AE (0.8 วินาที, f/11)/ ISO 160/ WB: อัตโนมัติ
เทคนิคการจัดองค์ประกอบภาพ: การจัดองค์ประกอบภาพตามแนวเส้นทแยงมุม (กากบาท), การสร้างจุดนำสายตา
ทางยาวโฟกัส: 28 มม.
ภาพเฟิร์นที่ถ่ายจากมุมด้านล่างโดยใช้เลนส์ซูมมุมกว้าง ใบเฟิร์นตัวแบบหลักปรากฏในลักษณะที่บิดเบี้ยวที่สุด ขณะที่วัตถุที่ไกลออกไปในระยะภาพดูเล็กลง ซึ่งสร้างมิติจากความแตกต่างของขนาดและความลึกให้ชัดขึ้น สร้างองค์ประกอบที่นำสายตาผู้ชมได้ ขณะเดียวกัน การเลือกตำแหน่งสถานที่ที่กึ่งกลางมีมืดทึบยังสร้างความเปรียบต่างของความสว่างได้ด้วย เมื่อใช้ร่วมกับลักษณะรูปกากบาทที่สร้างขึ้นจากการจัดองค์ประกอบภาพตามแนวเส้นทแยงมุมของภาพใบเฟิร์น ก่อให้เกิดภาพที่มีมิติชัดราวกับว่ากึ่งกลางของภาพนูนขึ้นมา
องค์ประกอบภาพที่มีมิติและความลึกในภาพ
องค์ประกอบที่มีมิติและความลึกในภาพ
ผมวางตำแหน่งสะพานให้อยู่ตามแนวเส้นทแยงมุมและถ่ายภาพจากมุมต่ำเพื่อให้โฟร์กราวด์และแบ็คกราวด์ดูแตกต่างอย่างชัดเจน ด้วยการจัดองค์ประกอบภาพตามแนวเส้นทแยงมุม วัตถุที่อยู่ในระยะโฟร์กราวด์จะดูใหญ่ ขณะที่วัตถุในระยะแบ็คกราวด์จะดูเล็ก ช่วยแสดงมิติของขนาดและความลึกได้
มิติที่เกิดขึ้นจากโบเก้ - การเบลออย่างมีประสิทธิภาพ
”โบเก้” หมายถึงเอฟเฟ็กต์ในภาพที่ปรากฏในลักษณะที่เบลอกว่าปกติ เนื่องจากคุณขยับออกห่างจากจุดโฟกัส เอฟเฟ็กต์โบเก้จะช่วยนำสายตาผู้ชมภาพไปยังจุดโฟกัส โดยสิ่งรอบข้างที่อยู่นอกระยะโฟกัสนั้นช่วยสร้างมิติให้เกิดขึ้นในภาพ
เกิดเมื่อปี 1956 Tanaka เป็นหนึ่งในช่างภาพที่หาตัวจับยาก ซึ่งได้สร้างผลงานไว้หลากหลายแนวจากมุมมองที่เป็นแบบฉบับของตัวเอง เขาถ่ายภาพในรูปแบบต่างๆ มากมายตั้งแต่สิ่งที่มองเห็นในชีวิตประจำวัน เช่น แมลงและดอกไม้ ไปจนถึงภาพทิวทัศน์ ตึกสูง และดวงดาวบนท้องฟ้าเลยทีเดียว นอกเหนือจากการถ่ายภาพแล้ว Tanaka ยังพัฒนาวิธีการของตัวเองในกระบวนการปรับแต่งภาพทั้งการรีทัชและการพิมพ์ขึ้นมาอีกด้วย