#สวัสดีจากสิงคโปร์: การถ่ายภาพสถาปัตยกรรมจาก 3 ยุคในเตียงบาห์รู
หากคุณมาเที่ยวที่สิงคโปร์และกำลังมองหาสถานที่ที่เต็มไปด้วยกลิ่นอายของท้องถิ่นและสถาปัตยกรรมที่น่าสนใจ ลองมาเที่ยวชมเตียงบาห์รู ย้อนกลับไปในช่วงทศวรรษ 1920 ย่านเตียงบาห์รูเป็นเขตพื้นที่การเคหะของรัฐที่เก่าแก่ที่สุดแห่งหนึ่งในสิงคโปร์ และยังเป็นศูนย์รวมอพาร์ตเมนต์สูงระฟ้าแห่งใหม่ แฟลตเตี้ยๆ ก่อนสมัยสงครามที่เก่าแก่ และตึกแถวที่เป็นมรดกทางประวัติศาสตร์มากมาย Finbarr Fallon (@fin.barr) ผู้ที่อาศัยอยู่ในย่านนี้มาเป็นเวลานานและช่างภาพสถาปัตยกรรมจะพาเราไปทัวร์สั้นๆ และแสดงสถานที่ถ่ายภาพบางจุดให้เราดู (ภาพและเรื่องโดย Finbarr Fallon)
เตียงบาห์รู: ความรู้สึกถึงขนาดอันน่าพิศวงและมุมมองที่หลากหลาย
เป็นเวลานานหลายปีแล้วที่ผมเรียกเตียงบาห์รูว่า “บ้าน” และสิ่งที่ผมรักคือการที่สถานที่แห่งนี้สามารถรวมเอามิติแห่งกาลเวลาและพื้นที่อันหลากหลายเข้าไว้ด้วยกัน อาคารเตี้ยๆ จากยุคก่อนสงครามที่เก่าแก่ตั้งอยู่เคียงข้างอพาร์ตเมนต์สูงระฟ้า และแม้อาคารทั้งสองประเภทจะเป็นที่พักอาศัยเหมือนกัน แต่กลับมีความเป็นมาและรูปลักษณ์ที่แตกต่างกันอย่างสิ้นเชิง
พลังที่แสดงถึงความเป็นเตียงบาห์รูยงสะท้อนให้เห็นได้ในการดำเนินวิถีชีวิตประจำวันของผู้คนในพื้นที่ เมื่อเดินไปตามทางเดินที่มีหลังคาของอาคารจากยุคก่อนสงครามในเช้าวันที่มีแดดสดใส จะไม่มีผู้คนมากนักขณะแสงยามเช้าตรู่ค่อยๆ สาดส่องลงมาต่ำๆ เป็นแนวยาว แสงสีทองที่นิ่งเงียบเช่นนี้ทำให้จิตใจสงบได้ราวกับเวทมนตร์ แต่เมื่อคุณเลี้ยวพ้นหัวมุมเข้าสู่ตลาด ภาพที่เห็นจะเปลี่ยนเป็นความวุ่นวายและคึกคักอย่างเหลือเชื่อ ผู้คนต่างวัยจำนวนมากถือถุงพลาสติกในมือข้างหนึ่งและอีกข้างถือดอกไม้สด มีกลิ่นอาหารร้อนๆ ทำเสร็จใหม่ๆ ลอยมาจากชั้นบน
การผสมผสานระหว่างความแออัดกับความหนาแน่นที่มากน้อยเหล่านี้เองที่ผมรัก พื้นที่แห่งนี้มีเอกลักษณ์ไม่เหมือนใครและทำให้เกิดความรู้สึกชวนพิศวงเกี่ยวกับขนาดและการผสมผสานกันของมุมมองต่างๆ ในขณะที่ย่านพักอาศัยที่เป็นมรดกตกทอดมาให้ความรู้สึกไม่แออัดคล้ายกัน และอาคารที่พักเตี้ยๆ ในเตียงบาห์รูเป็นที่อยู่อาศัยหลายยูนิต ที่แห่งนี้กลับสามารถคงความรู้สึกของการอยู่ร่วมกันในชุมชนไว้ได้อย่างชัดเจน
ฉากที่ 1: แฟลตยุคหลังสงครามแบบใช้บันได
เมื่อเดินไปตามถนนเตียงบาห์รูทางทิศตะวันออกจากสถานี MRT เตียงบาห์รู สถาปัตยกรรมอันเป็นเอกลักษณ์ที่คุณจะได้เห็นเป็นลำดับแรกอาจเป็นแฟลตแบบใช้บันไดหมายเลขบล็อก 17 ถึง 50 รวมถึงแฟลตที่อยู่ในภาพด้านล่าง
EOS 5DS R + EF24-70mm f/4L IS USM ที่ 64 มม., f/8, 1/80 วินาที, ISO 160
บันไดบนถนนเตียงบาห์รูขณะพระอาทิตย์ตก
ช่องหน้าต่างและลักษณะภายนอกที่เป็นแนวโค้งด้วยบันไดนอกอาคารในภาพด้านบนอาจดูเหมือนกับบันไดของอาคารแบบอาร์ตเดโคที่เก่าแก่กว่าในพื้นที่เดียวกัน ซึ่งเราจะได้เห็นต่อไปในบทความ แต่รายละเอียดเหล่านี้ถูกเพิ่มเข้ามาเพื่อทำให้รูปลักษณ์มีความนุ่มนวลขึ้นต่างจากอาคารที่เป็นสี่เหลี่ยมตั้งฉากทั่วไปในสมัยนั้น
ขณะพระอาทิตย์ตก แสงจะส่องตรงมาทางทิศตะวันตกตามแนวถนนเตียงบาห์รู ซึ่งเป็นโอกาสที่ดีในการถ่ายภาพบนพื้นที่เขียวขจีที่รายล้อมไปด้วยอาคารที่อยู่อาศัย
การสร้างความลึก พื้นผิวสำหรับสายตา และจุดสนใจ
แสงจะนุ่มนวลและอบอุ่นกว่าในช่วงเวลาที่แสงเป็นสีทอง และคุณสามารถใช้ประโยชน์จากเงาที่ยาวในการสร้างเอฟเฟ็กต์ให้น่าประทับใจได้
ต้นไม้สูงใหญ่ที่กระจายอยู่ระหว่างตัวอาคารช่วยเพิ่มพื้นผิวที่สัมผัสได้ด้วยตา เมื่อถ่ายภาพเข้าหาดวงอาทิตย์โดยมีแสงแดดส่องลอดลงมาต่ำๆ ระหว่างต้นไม้ คุณจะสามารถสร้างแสงเรืองรองได้ราวกับภาพวาด ผมรอคอยอย่างตั้งใจให้มีคนเดินผ่านเข้ามาในเฟรมภาพ ซึ่งจะทำให้มองเห็นขนาดของสถาปัตยกรรม คนในภาพจะดูเป็นเงาซิลูเอตต์ตัดกับฉากหลังสีขาว จึงทำหน้าที่เป็นจุดโฟกัสที่สามารถดึงความสนใจของผู้ชมเข้าไปในภาพได้
เคล็ดลับ: ระวังมดแดง!
หากคุณถ่ายภาพบนพื้นหญ้าในบริเวณนี้ โปรดระวังมดแดงด้วย หากยืนอยู่นิ่งเป็นเวลานานเกินไป มดแดงจะไต่ขึ้นมาตามขาของคุณและกัดคุณ ดังนั้นจึงควรขยับตัวเข้าไว้!
ข้อควรรู้: พื้นที่ในและนอกเขตอนุรักษ์
แฟลตยุคหลังสงครามที่เราเห็นด้านบน (บล็อก 17 ถึง 50) ถูกสร้างขึ้นในช่วงท้ายของยุค 1940 และต้นยุค 1950 หลังสงครามโลกครั้งที่สอง แต่แฟลตเหล่านี้ไม่ได้เก่าแก่ที่สุดในบริเวณ ยังมีอาคารอีก 20 หลัง (บล็อก 55 ถึง 82) ทางใต้ของ Moh Guan Terrace ที่ถูกสร้างขึ้นในยุค 1930 จนถึงต้นยุค 1940 ก่อนสงครามโลกครั้งที่สอง แฟลตในยุคก่อนสงครามเหล่านี้ได้รับสถานะอนุรักษ์จากรัฐบาลสิงคโปร์ในปี 2003 ซึ่งหมายความว่างานก่อสร้างหรือดัดแปลงใดๆ ของอาคารนับแต่ปีนั้นจะต้องรักษามรดกทางประวัติศาสตร์และลักษณะของสถานที่เอาไว้
เอื้อเฟื้อแผนที่โดย©องค์กรพัฒนาเขตเมือง (สิงคโปร์) (ฉบับภาษาอังกฤษ), ©Onemap (ฉบับภาษาอังกฤษ)
ข้อมูลถูกต้อง ณ เดือนมีนาคม 2022 สงวนลิขสิทธิ์
พื้นที่แรเงาสีแดงคืออาณาเขตของพื้นที่อนุรักษ์
การผสมผสานความเก่าแก่กับความทันสมัย
แม้ผู้คนมากมายจะอาศัยอยู่ในเตียงบาห์รูมาหลายทศวรรษแล้ว แต่ที่แห่งนี้ก็ยังเป็นสถานที่ยอดนิยมในการอยู่อาศัยและพักผ่อนด้วยเช่นกัน โดยเฉพาะอย่างยิ่งสำหรับคนทำงานวัยหนุ่มสาว ในอดีตเคยเกิดความกลัวต่อการเปลี่ยนแปลงของพื้นที่ (ฉบับภาษาอังกฤษ) ซึ่งอาจทำให้เตียงบาห์รูสูญเสียเอกลักษณ์ที่แท้จริงไปในที่สุด เพื่อตอบสนองการเปลี่ยนแปลงนี้ ผู้อยู่อาศัยจึงริเริ่มดำเนินการต่างๆ เพื่อรักษาสมดุลระหว่างความเก่าแก่กับความทันสมัยเอาไว้ หากคุณเดินไปตามถนน คุณจะยังคงเห็นธุรกิจครอบครัวเก่าแก่ตั้งอยู่เคียงข้างร้านขายเสื้อผ้าอิสระและร้านอาหารแบบโมเดิร์นที่ทันสมัยกว่า
ฉากที่ 2: ตึกรูปเกือกม้า
EOS 5DS R + EF70-200mm f/4L IS USM ที่ 200 มม., f/7.1, 1/320 วินาที, ISO 250
บล็อก 78 Moh Guan Terrace มีชื่อเล่นว่า “ตึกเกือกม้า” เนื่องจากรูปทรงอันเป็นเอกลักษณ์ เกร็ดน่ารู้: อาคารนี้ยังเป็นการพัฒนาของการเคหะแห่งแรกอีกด้วยที่มีหลุมหลบภัย ซึ่งสะท้อนถึงยุคสมัยที่อาคารนี้ถูกสร้างขึ้น
ผมมักจะค้นหามุมมองที่น่าสนใจใหม่ๆ ที่จะใช้ในการถ่ายภาพอยู่เสมอ และการเดินขึ้นไปบนบันไดและทางเดินในอาคารสูงของการเคหะนั้นทำให้ประหลาดใจได้ตลอดเวลา ผมถ่ายภาพนี้จากตึกสูงของการเคหะในบริเวณใกล้เคียงโดยใช้เลนส์เทเลโฟโต้ การมองจากด้านบนลงไปเบื้องล่างให้มุมมองที่ไม่เหมือนกับมุมมองจากถนนทั่วไป และทำให้สามารถซูมเข้าไปยังรายละเอียดบางอย่างได้
ซูมเข้าไปถึงรายละเอียด
สิ่งของตกแต่งดั้งเดิมในสถาปัตยกรรม
สิ่งที่ดึงดูดความสนใจของผมคือสิ่งของตกแต่งดั้งเดิมบางอย่างในสถาปัตยกรรม เช่น หน้าต่างทำจากกระจกสีเขียวอันเป็นเอกลักษณ์ ซึ่งถูกนำมาใช้เพื่อลดความร้อนจากแสงอาทิตย์ อุปกรณ์ติดตั้งเหล่านี้นำเข้ามาจากประเทศอังกฤษและจัดจำหน่ายโดยบริษัท Crittal Manufacturing อันมีชื่อเสียง แม้หลายชิ้นจะถูกแทนที่ด้วยอุปกรณ์ที่ทันสมัยกว่าไปแล้วตลอดหลายปีที่ผ่านมา แต่คุณจะยังสามารถเห็นสิ่งของตกแต่งแบบดั้งเดิมได้ที่นี่!
ลักษณะการออกแบบอื่นๆ ที่เป็นเอกลักษณ์
อาคารจากยุคก่อนสงครามในเตียงบาห์รูได้รับแรงบันดาลใจมาจากสไตล์ Streamline Moderne ซึ่งเป็นอาร์ตเดโคประเภทหนึ่ง ในการเดินทางของผม ผมได้พบเห็นอาคารแบบอาร์ตเดโคหลายแห่งทั่วยุโรป แต่การได้เห็นว่าลักษณะการออกแบบของที่นี่ได้รับการปรับเปลี่ยนให้เหมาะกับภูมิอากาศแบบร้อนชื้นของสิงคโปร์นับเป็นสิ่งที่น่าสนใจ คุณจะเห็นการออกแบบเช่นนี้ได้จากอพาร์ตเมนต์ห้องหัวมุมในภาพด้านบน เช่น ระเบียงที่มีการระบายอากาศตามธรรมชาติเพื่อให้ภายในอาคารเย็นโดยไม่ต้องใช้เครื่องปรับอากาศ และกันสาดแนวโค้งเหนือหน้าต่างที่อยู่ทางด้านขวามือ
Canon EOS RP + EF24-70mm f/4L IS USM
อีกมุมมองหนึ่งของตึกรูปเกือกม้า เงาจากตึกฝั่งตรงข้ามทำให้เกิดขอบมืดตามธรรมชาติซึ่งช่วยเพิ่มความโดดเด่นของรายละเอียดในการตกแต่งแบบอาร์ตเดโคตรงกลางอาคาร
ลองใช้วิธีนี้: มองหารายละเอียดในขณะที่คุณเดินไปรอบๆ
สไตล์ Streamline Moderne ได้รับแรงบันดาลใจมาจากรูปทรงตามหลักอากาศพลศาสตร์ของยานพาหนะในยุค 1920 และ 1930 ลักษณะที่เด่นชัดคือรูปทรงโค้ง มุมที่โค้งมน และเส้นตรงยาว รวมถึงรายละเอียดอื่นๆ เช่น หลังคาแบบเรียบและหน้าต่างที่เรียงตัวกันเป็นแนว คุณหามันเจอหรือไม่ รายละเอียดการตกแต่งภายนอกอันน่าสนใจใดอีกที่คุณสังเกตเห็น เทคนิคการถ่ายภาพสถาปัตยกรรมแบบใดที่คุณสามารถใช้เพื่อดึงความสนใจไปยังรายละเอียดเหล่านั้นได้ อาคารสมัยใหม่ในประเทศของคุณมีรายละเอียดเช่นนี้หรือไม่
จุลสารโดยองค์กรพัฒนาเขตเมืองสิงคโปร์ (ฉบับภาษาอังกฤษ) ที่น่าสนใจเล่มนี้มีข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับลักษณะดั้งเดิมอันเป็นเอกลักษณ์ที่พบในแฟลตยุคก่อนสงคราม
อ่านเพิ่มเติมได้ที่:
ข้อแนะนำการถ่ายภาพสถาปัตยกรรมแบบน้อยแต่มาก
ฉากที่ 3: แฟลต HDB
EOS 5DS R + EF11-24mm f/4L USM ที่ 12 มม., f/8, 1/80 วินาที, ISO 50
แฟลต HDB บนถนน Kim Tian
ความสนใจในระยะหลังเกี่ยวกับเตียงบาห์รูอยู่ที่แฟลตในยุคประวัติศาสตร์ก่อนสงครามและแฟลตหลังสงครามแบบใช้บันได แต่เสน่ห์จากการผสมผสานกันระหว่างความเก่าแก่กับความทันสมัยก็เห็นได้ในสถาปัตยกรรมเช่นกัน และเตียงบาห์รูยังเป็นที่ตั้งของอพาร์ตเมนต์สูงระฟ้าสร้างใหม่หลายแห่งซึ่งมีชื่อเรียกว่า “แฟลต HDB” ตามหน่วยงานรัฐบาลผู้สร้างอีกด้วย แม้อพาร์ตเมนต์เหล่านี้จะมีการออกแบบที่เน้นประโยชน์ใช้สอยมากกว่าอาคารในพื้นที่เก่าแก่กว่าสองแห่งที่เราเห็นด้านบน แต่ก็สะท้อนให้เห็นถึงแนวโน้มที่เปลี่ยนแปลงไปในการเคหะตลอดเวลาหลายทศวรรษที่ผ่านมา
ใช้แสงด้านข้างระดับต่ำเพื่อดึงความมีมิติออกมาและใช้เงาในการสร้างขอบมืดตามธรรมชาติ
อาคารที่ตั้งอยู่บนถนน Kim Tian เหล่านี้เป็นหนึ่งในอาคารที่สูงที่สุดในบริเวณและมองเห็นได้จากสวนสาธารณะ Kim Pong ในยามเช้าตรู่ ผมเลือกถ่ายภาพโดยใช้แสงจากด้านข้างในระดับต่ำเพื่อให้เงาที่ชัดเจนนั้นช่วยเพิ่มความมีมิติให้รูปทรงของอาคาร นี่เป็นหนึ่งในวิธีการจัดแสงที่ผมชื่นชอบ! เงาที่เกิดจากอาคารใกล้เคียงช่วยเพิ่มขอบมืดตามธรรมชาติและดึงความสนใจไปยังตัวอาคาร
เคล็ดลับ: ใช้เลนส์มุมกว้างอัลตร้าไวด์และแก้ไขเส้นแนวดิ่งที่บรรจบกันในกระบวนการปรับแต่ง
ในงานสถาปัตยกรรมเชิงพาณิชย์ ผมใช้เลนส์ทิลต์-ชิฟต์ของ Canon ในการรักษาความตรงให้เส้นแนวตั้ง อย่างไรก็ตาม เมื่อถ่ายภาพเพื่อนันทนาการ ผมมักจะใช้เลนส์ซูมมุมกว้างอัลตร้าไวด์เนื่องจากชื่นชอบความเร็วและความยืดหยุ่นของเลนส์ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อถ่ายภาพโดยไม่ใช้ขาตั้งกล้อง หากต้องถ่ายภาพอาคารสูงเช่นแฟลตเหล่านี้ ผมจะแก้ไขเส้นแนวดิ่งที่บรรจบกันในกระบวนการปรับแต่งภาพ
สถานที่อื่นๆ ในเตียงบาห์รู
EOS RP + EF24-70mm f/4L IS USM ที่ 50 มม., f/8, 1/200 วินาที, ISO 160
อาคารยุคก่อนสงครามเมื่อมองจากถนน ส่วนผสมระหว่างธุรกิจสมัยใหม่กับธุรกิจเก่าแก่ใช้พื้นที่ชั้นล่างของอาคาร ในขณะที่มองเห็นอพาร์ตเมนต์สูงของการเคหะที่ใหม่กว่าได้ในแบ็คกราวด์
EOS RP + EF24-70mm f/4L IS USM ที่ 45 มม., f/8, 1/200 วินาที, ISO 160
บล็อก 81 และ 82 บนถนน Tiong Poh มีชื่อเรียกอีกอย่างหนึ่งว่า “แฟลตเครื่องบิน” เนื่องจากทั้งสองอาคารดูคล้ายปีกของเครื่องบินเมื่อมองจากระยะไกล
EOS RP + EF85mm f/1.2L USM, f/6.3, 1/80 วินาที, ISO 500
ชานบันไดและทางเดินส่วนรวมของแฟลต HDB อาจให้มุมมองที่น่าสนใจ คุณสามารถสำรวจได้ตามสบาย (และอย่าลืมเคารพพื้นที่ส่วนตัวและสิทธิความเป็นส่วนตัวของผู้อยู่อาศัยด้วย) คุณอาจได้พบกับผู้อยู่อาศัยที่เป็นมิตรหรือเพื่อนช่างถ่ายภาพที่มาสำรวจสถานที่แห่งเดียวกัน!
นอกจากนี้ เตียงบาห์รูยังมีอะไรให้ทำอีก
1) อาหาร
อย่าลืมแวะชมตลาดเตียงบาห์รู ซึ่งมีอาหารท้องถิ่นสำหรับมื้อเช้าหรือมื้อกลางวันให้เลือกมากมาย หรือคุณอาจเลือกพักผ่อนหย่อนใจที่ร้านอาหารสักแห่งหรือร้านกาแฟท้องถิ่นแบบดั้งเดิมในละแวกนั้น
2) สำรวจตรอกด้านหลัง
มีทางเดินเท้ามากมายด้านหลังอาคารที่ให้ทิวทัศน์ทางสถาปัตยกรรมที่น่าสนใจ เช่น บันไดเวียนสำหรับหนีไฟ
หากคุณสนใจการถ่ายภาพมรดกของสิงคโปร์ อย่าลืมไปเยี่ยมชมร้านค้าที่ได้รับการอนุรักษ์ด้วย คุณจะได้พบกับมรดกของเตียงบาห์รูในร้านนั้น!
เที่ยวชมมรดกทางสถาปัตยกรรมผ่านการถ่ายภาพ (ฉบับภาษาอังกฤษ)
อ่านเพิ่มเติมได้ที่:
6 วิธีในการถ่ายภาพสถาปัตยกรรมด้วยชุดเลนส์
รับข่าวสารล่าสุดเกี่ยวกับการถ่ายภาพ รวมถึงเคล็ดลับและกลเม็ดต่างๆ
ร่วมเป็นส่วนหนึ่งของชุมชนชาว SNAPSHOT
ลงทะเบียนตอนนี้!เกี่ยวกับผู้เขียน
Finbarr Fallon เป็นช่างภาพสถาปัตยกรรม ศิลปินสาขาทัศนศิลป์ และนักออกแบบผู้อาศัยอยู่ในสิงคโปร์นับตั้งแต่ปี 2016 เขาเป็นผู้ก่อตั้ง FFCO (Finbarr Fallon Creative Office) ซึ่งผลิตสื่อด้านสถาปัตยกรรมร่วมกับนักออกแบบ สถาปนิก และองค์กรจากต่างชาติ
เขารักษาสมดุลระหว่างการถ่ายภาพเชิงพาณิชย์กับโปรเจ็คต์ส่วนตัวเป็นอย่างดี และชื่นชอบการบันทึกภาพระบบภูมิอากาศในเขตร้อนชื้น เช่น ฝนที่ตกหนักในฤดูมรสุมเป็นพิเศษ ผลงานของเขาได้รับรางวัล Blueprint Architecture Photography และได้รับการจัดแสดงที่พิพิธภัณฑ์แห่งชาติสิงคโปร์ หอศิลป์แห่งชาติสิงคโปร์ และพิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์ศิลปะ ArtScience
เว็บไซต์: https://finbarrfallon.com/
Instagram: @fin.barr