การจัดแสงในการถ่ายภาพทิวทัศน์ (2): เปิดรับแสงน้อยเพื่อเพิ่มอารมณ์ให้กับภาพ
แม้ว่าภาพที่ดีมักจะเป็นภาพที่ได้รับแสงอย่างเพียงพอ แต่ก็มีบางครั้งที่การเปิดรับแสงน้อยกว่าปกติจนส่วนที่เป็นเงามืดสนิทจะทำให้ภาพน่าประทับใจได้มากยิ่งขึ้น ดังเช่นสองภาพตัวอย่างต่อไปนี้ ซึ่งช่างภาพจะมาเล่าถึงกระบวนการคิดที่อยู่เบื้องหลังการตัดสินใจถ่ายภาพทั้งสอง (เรื่องโดย Koichi Hibino, Takashi Karaki, Digital Camera Magazine)
EOS R5/ RF100-500mm f/4.5-7.1L IS USM/ FL: 135 มม./ Aperture-priority AE (f/16, 1/10 วินาที, EV -1.7)/ ISO 100/ WB: แสงแดด/ ฟิลเตอร์ PL
วันและเวลา: 6 พฤศจิกายน เวลา 7.30 น.
สถานที่: ทะเลสาบสึงารุ ชิระคามิโกะ จังหวัดอาโอโมริ ประเทศญี่ปุ่น
ภาพโดย: Koichi Hibino
ในบทความนี้ คุณจะได้เรียนรู้เกี่ยวกับ:
1. แสงในฐานะที่เป็นตัวแบบ
2. ความเปรียบต่างที่เด่นชัดในภาพแบบโลว์คีย์
3. วิธีเปิดรับแสงน้อยกว่าปกติโดยไม่ต้องใช้โหมดการเปิดรับแสงแบบแมนนวล
1. ขับเน้นแสงที่สวยงามบนใบไม้ในฤดูใบไม้ร่วง
ทะเลสาบสึงารุ ชิระคามิโกะเป็นทะเลสาบเทียมที่เกิดจากเขื่อนสึงารุ แต่ทะเลสาบแห่งนี้อยู่ท่ามกลางธรรมชาติอันงดงามที่มีทิวทัศน์เปลี่ยนแปลงไปตามฤดูกาลเช่นกัน
ด้านบนเป็นภาพที่ถ่ายในยามเช้าตรู่ของวันหนึ่งในช่วงปลายฤดูใบไม้ร่วง ในเช้าที่มีอากาศเย็นเช่นนี้ รอบๆ ทะเลสาบจะเต็มไปด้วยหมอก ผมแนะนำให้คุณเริ่มถ่ายภาพก่อนพระอาทิตย์ขึ้น เนื่องจากวิวทิวทัศน์จะเปลี่ยนไปเรื่อยๆ ในขณะที่พระอาทิตย์กำลังขึ้น และหากคุณเป็นเหมือนผม คุณคงรู้สึกเพลิดเพลินไปกับการถ่ายภาพจนลืมเวลาไปเลยทีเดียว!
เทคนิคที่ 1: ตัดสินใจเลือกองค์ประกอบที่จะเป็นจุดสนใจมาหนึ่งอย่าง
จากจุดถ่ายภาพ ผมเห็นองค์ประกอบ 3 อย่างที่น่าจะถ่ายขึ้นกล้องในฉากนี้ ได้แก่
- หมอก
- ต้นไม้ที่ยืนต้นตายอยู่ในน้ำ
- ต้นเมเปิ้ลที่เต็มไปด้วยใบสีแดง
ทุกองค์ประกอบล้วนเป็นตัวแบบที่โดดเด่น แต่คุณจะสามารถถ่ายภาพได้ง่ายขึ้นหากเลือกเพียงองค์ประกอบเดียวเพื่อใช้เป็นตัวแบบและจัดองค์ประกอบภาพโดยใช้ตัวแบบนั้น ในภาพนี้ ผมเลือกใบไม้ในฤดูใบไม้ร่วง ซึ่งมีแสงแดดตกกระทบอย่างสวยงามในยามเช้าตรู่ จากนั้นผมจึงจัดองค์ประกอบภาพให้สมดุลโดยจัดวางต้นไม้ตายและหมอกให้อยู่ในตำแหน่งที่ช่วยขับเน้นใบไม้สีแดงที่กำลังรับแสงแดด
ภาพนี้มีต้นไม้ตายเป็นตัวแบบหลัก
เทคนิคที่ 2: ใช้การบีบภาพของเลนส์เทเลโฟโต้เพื่อเพิ่มความหนาแน่น
เมื่อเห็นฉากตระการตาที่ครอบคลุมพื้นที่เป็นบริเวณกว้าง คุณคงจะอยากใช้เลนส์มุมกว้างเพื่อเก็บองค์ประกอบทั้งหมดให้อยู่ในภาพ แต่หากทำเช่นนั้นโดยไม่ได้เลือกตัวแบบใดไว้ในใจ คุณอาจได้ภาพที่ทำให้ความสนใจของผู้ชมกระจัดกระจายไปทั่ว
ในฉากที่กินพื้นที่กว้างเช่นนี้ คุณอาจจะถ่ายภาพได้ง่ายกว่าหากใช้เลนส์ที่มีมุมรับภาพแคบๆ เช่น เลนส์มาตรฐานหรือเลนส์เทเลโฟโต้ จากนั้นจึงจัดเฟรมภาพโดยเลือกพื้นที่เพียงส่วนเดียวเท่านั้น
ในภาพนี้ ผมใช้เลนส์เทเลโฟโต้ เอฟเฟ็กต์การบีบภาพของเลนส์เทเลโฟโต้จะทำให้เลเยอร์ต่างๆ ในภาพดูเหมือนอยู่ใกล้กัน ภาพจึงดูหนาแน่นขึ้นและลดพื้นที่ว่างระหว่างองค์ประกอบต่างๆ ที่อาจรบกวนสายตาของผู้ชม
TL;DR: ฉากยิ่งกว้าง ยิ่งต้องเลือกจุดสนใจหลักให้ดี เลนส์มุมกว้างอาจไม่ใช่ตัวเลือกที่ดีที่สุดเสมอไปหากคุณต้องการภาพที่ได้อารมณ์!
เทคนิคที่ 3: ลดการเปิดรับแสงเพื่อเพิ่มอารมณ์ในภาพ
ผมใช้ค่าการชดเชยแสงติดลบ (EV -1.7) เพื่อเปิดรับแสงในฉากให้น้อยกว่าปกติ แสงแดดบนใบไม้สีแดงจะได้โดดเด่นออกมา หรือจะพูดอีกอย่างหนึ่งว่า “เปิดรับแสงให้ใบไม้สีแดง” ก็ได้
จุดถ่ายภาพ: สะพานโอกาวะชิระคามิ ทะเลสาบสึงารุ ชิระคามิโกะ
จุดถ่ายภาพนี้ใช้เวลาขับรถประมาณ 30 นาทีจากใจกลางเมืองฮิโรซากิ โดยขับผ่านตัวเขื่อนไปตามถนนหลวงสาย 28 คุณจะไม่หลงทางแน่นอนเพราะเขื่อนนี้เป็นโครงสร้างคอนกรีตขนาดใหญ่และเป็นเขื่อนคอนกรีตที่ใหญ่ที่สุดในจังหวัดอาโอโมริ
พึงระวัง: จอดรถในลานจอดและอย่าจอดริมถนน
ระหว่างทาง คุณจะเห็นจุดถ่ายภาพอื่นๆ อีก แม้ว่าอาจจะน่าลงไปถ่ายภาพ แต่คุณไม่ควรจอดรถตรงริมถนนเนื่องจากอาจเป็นการรบกวนผู้อื่น ให้หาลานจอดรถแทน
2. ดึงความสนใจไปยังน้ำตก
EOS R5/ RF15-35mm f/2.8L IS USM/ FL: 15 มม./ Manual exposure (f/16, 3.2 วินาที)/ ISO 50/ WB: 5,100K
วันและเวลา: 7 กันยายน เวลา 13.48 น.
สถานที่: น้ำตกชิวางาระ (ฉบับภาษาอังกฤษ) จังหวัดเฮียวโงะ ประเทศญี่ปุ่น
ภาพโดย: Takashi Karaki
น้ำตกในถ้ำ
น้ำตกชิวางาระมีโครงสร้างที่ไม่เหมือนใคร จึงเป็นที่สนใจของบรรดาผู้ที่ชื่นชอบน้ำตกในประเทศญี่ปุ่น น้ำตกสูง 10 เมตรจะไหลลดหลั่นลงมาในถ้ำที่แสงแดดสามารถส่องเข้ามาทางช่องเปิดในผนังหินเท่านั้น จึงมีบรรยากาศที่ดูลึกลับเหนือจริง และผมต้องการถ่ายทอดบรรยากาศเช่นนี้ออกมาในภาพ
เปิดรับแสงให้น้ำตกและหญ้ามอส
ไม่ต้องกลัวว่ารายละเอียดในส่วนเงาจะมืดลง แม้เงาเหล่านั้นจะกินพื้นที่ส่วนใหญ่ในภาพของคุณก็ตาม ในภาพนี้ ผมใช้ประโยชน์จากความเปรียบต่างสูงในการเปิดรับแสงให้หญ้ามอสและน้ำตก ซึ่งเป็นองค์ประกอบที่สว่างที่สุดในฉาก ส่วนที่มืดกว่าจึงมืดลงไปอีก จนกระทั่งหลายๆ ส่วนกลายเป็นเงาดำ แต่เงามืดเหล่านี้จะช่วยให้ภาพดูเรียบง่ายขึ้นและดึงความสนใจของผู้ชมไปยังหญ้ามอสและน้ำตก ความเปรียบต่างสูงเช่นนี้ยิ่งเพิ่มอารมณ์ความรู้สึกให้กับภาพ
เลนส์มุมกว้างอัลตร้าไวด์จะช่วยให้คุณมีตัวเลือกมากขึ้นในที่แคบ
เนื่องจากในถ้ำมีพื้นที่ค่อนข้างแคบ ผมจึงเลือกใช้เลนส์มุมกว้างอัลตร้าไวด์เพื่อให้มีตัวเลือกในการจัดเฟรมภาพมากขึ้น เลนส์ RF15-35mm f/2.8L IS USM มีซีลป้องกันสภาพอากาศ ซึ่งช่วยปกป้องเลนส์จากน้ำกระเซ็นได้ แต่ก็ขอให้คุณนำผ้าเช็ดเลนส์และผ้าขนหนูไปด้วยเพื่อเช็ดความชื้นออกจากอุปกรณ์!
จุดถ่ายภาพ: น้ำตกชิวางาระ
คำแนะนำ:
1. เตรียมตัวให้พร้อมสำหรับการเดิน 30 นาทีในภูมิประเทศที่สมบุกสมบัน
น้ำตกชิวางาระตั้งอยู่ในหุบเขาที่รายล้อมไปด้วยหน้าผาสูงชันมากมาย คุณต้องเดินไปตามเส้นทางที่ค่อนข้างสูงชันกว่าจะไปถึง และจะต้องข้ามแม่น้ำด้วย ดังนั้น อย่าลืมสวมใส่รองเท้าที่เหมาะสำหรับการเดินป่า
2. เวลาที่เหมาะสำหรับการถ่ายภาพที่สุด: ช่วงบ่าย
เพราะเป็นเวลาที่แสงแดดจะส่องเข้ามาในถ้ำ
3. มีลานจอดรถ
แต่มีพื้นที่จำกัด
เทคนิคการใช้กล้อง: 2 วิธีเปิดรับแสงน้อยกว่าปกติโดยไม่ต้องใช้โหมด M
1. การชดเชยแสง
วิธีใช้จะขึ้นอยู่กับกล้อง บางรุ่นจะมีวงแหวนปรับค่าการชดเชยแสง ในขณะที่บางรุ่นจะใช้การกดปุ่ม หากไม่แน่ใจ ให้ศึกษาข้อมูลเพิ่มเติมจากคู่มือการใช้กล้องของคุณ
ดูข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับการชดเชยแสงได้ที่
พื้นฐานเกี่ยวกับกล้อง #4: การชดเชยแสง
2. การวัดแสงแบบจุดและล็อค AE
โหมดนี้ช่วยให้คุณเลือกพื้นที่ที่ต้องการเปิดรับแสงได้ และยังเป็นเทคนิคที่ดีสำหรับฉากที่มีแสงย้อนหลัง! หากต้องการทราบขั้นตอนอย่างละเอียด โปรดเลื่อนไปยังด้านล่างของบทความ เคล็ดลับการถ่ายภาพแนวสตรีท: วิธีการทำให้ภาพถ่ายดูมีพลังด้วยเงา
ดูข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับโหมดการวัดแสงได้ที่
พื้นฐานเกี่ยวกับกล้อง #7: การวัดแสง
คำถามที่พบบ่อยเกี่ยวกับการตั้งค่ากล้อง #9: ฉากแบบไหนที่ควรใช้ล็อค AE
เกี่ยวกับผู้เขียน
นิตยสารรายเดือนที่เชื่อว่าความสุขของการถ่ายภาพจะยิ่งเพิ่มขึ้น เมื่อผู้ถ่ายภาพได้เรียนรู้เกี่ยวกับฟังก์ชั่นต่างๆ ของกล้องมากยิ่งขึ้น นิตยสารเล่มนี้เผยแพร่ข่าวสารเกี่ยวกับกล้องรุ่นใหม่ๆ รวมถึงคุณสมบัติของกล้องและนำเสนอเทคนิคการถ่ายภาพอย่างหลากหลาย
จัดพิมพ์โดย Impress Corporation
หลังจากผ่านประสบการณ์การเป็นโค้ชกีฬา ต่อด้วยการทำงานในแวดวงการผลิตนิตยสารและบรรณาธิการมาเป็นเวลา 10 ปี Karaki ก็ย้ายไปยังเมืองโยนาโงะในจังหวัดท็อตโตริ ซึ่งเขาได้กลายเป็นที่รู้จักจากผลงานการถ่ายภาพทิวทัศน์ในภูมิภาคซันอินของญี่ปุ่น ผลงานของเขาได้รับการตีพิมพ์ใน จุลสาร Amazing Village ซึ่งมีเนื้อหาเกี่ยวกับหมู่บ้านสวยๆ ในญี่ปุ่นที่จัดทำขึ้นภายใต้โครงการความร่วมมือ CANON × Discover Japan ในปี 2017 และภาพทะเลหมอกที่ช่องเขาอาเคชิในจังหวัดท็อตโตริก็เป็นหนึ่งใน 12 ภาพที่ได้รับคัดเลือกจากการท่องเที่ยวแห่งประเทศญี่ปุ่น (JNTO) ให้เป็นตัวแทนของญี่ปุ่น
Instagram: @karakky0918