เคล็ดลับการถ่ายภาพแนวสตรีท: วิธีการทำให้ภาพถ่ายดูมีพลังด้วยเงา
การถ่ายภาพแนวสตรีทช่วยให้คุณสามารถใช้ประโยชน์จากแสงที่มีอยู่ให้ได้มากที่สุดเพื่อให้ได้ภาพอย่างที่คุณต้องการ นักถ่ายภาพท่านหนึ่งได้บอกเล่ากับเราถึงวิธีการที่เขาถ่ายภาพที่บอกเล่าเรื่องราวผ่านการใช้เงาทำให้ภาพดูลึกลับและให้อารมณ์เหมือนย้อนกลับไปในอดีตภาพนี้ (รายงานโดย: Kazuyoshi Tanabe, Digital Camara Magazine)
EOS 5D Mark III/ EF24-105 มม. f/4L IS USM/ FL: 104 มม./ Aperture-priority AE (f/8, 1/125 วินาที, EV -1.0)/ ISO 800/ WB: ออโต้
แสงแบบไหนที่เหมาะสำหรับการถ่ายภาพเงา
ในการถ่ายภาพแนวสตรีทนั้น คุณจะไม่สามารถควบคุมแสงได้เหมือนการถ่ายภาพอื่นบางประเภท คุณจำเป็นต้องทำงานกับแสงที่มีอยู่และจัดการให้แสงนั้นเหมาะสมและดีที่สุดสำหรับคุณ ซึ่งการจะทำเช่นนั้นให้สำเร็จได้ คุณจะต้องอ่านทิศทางและคุณภาพของแสงให้ได้
เรียนรู้เพิ่มเติมเกี่ยวกับทิศทางและคุณภาพของแสงได้ใน:
การจัดแสงพื้นฐาน: แสงแข็งและแสงนุ่ม
รู้จักทิศทางของแสงในภาพถ่ายของคุณ
โดยทั่วไปแล้ว การจะทำให้ได้เงาที่เด่นชัดมีพลัง คุณจำเป็นต้องใช้การจัดแสงด้านหลังหรือการจัดแสงด้านข้าง การจัดแสงด้านหน้าจะทำให้เงาดูอ่อนลง แล้วจะทำอย่างไร ถ้าเราไม่สามารถควบคุมแสงได้ สิ่งสำคัญก็คือจุดที่คุณยืนนั่นเอง
ขั้นตอนที่ 1: การจัดองค์ประกอบภาพ
ขั้นตอนที่ 2: การหาวัตถุที่เป็นองค์ประกอบหลักของภาพ
ขั้นตอนที่ 3: การตั้งค่าการเปิดรับแสง
ขั้นตอนที่ 1: จัดตำแหน่งตัวคุณเองเพื่อให้ได้แสงที่ต้องการ
ในภาพนี้ ผมเข้าไปในตรอกมุงหลังคาที่เป็นตลาดค้าขายแล้วหันกล้องออกไปด้านนอก ที่ใดก็ตามที่มีหลังคาบังร่มก็เหมาะที่จะสร้างความเปรียบต่าง วิธีการนี้ยังใช้ได้กับการถ่ายภาพในวันที่มีเมฆมากหรือฝนตกด้วย ซึ่งแสงจะมีการกระจายตัวมากกว่าและทำให้เกิดเงาที่อ่อนกว่า
ขั้นตอนที่ 2: การหาวัตถุที่เป็นองค์ประกอบหลักของภาพ
สำหรับภาพนี้ ผมใช้เทคนิค “การตกปลา” ซึ่งเป็นเทคนิคที่มีการกำหนดฉากหลังและการจัดองค์ประกอบของภาพไว้ก่อนไม่มากก็น้อย แล้วค่อยรอวัตถุที่เป็นองค์ประกอบหลักที่เหมาะสม แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าคุณจะใช้เทคนิค “การล่า” ไม่ได้ จริง ๆ แล้วสามารถใช้ได้เหมือนกัน ในขณะที่มองหาวัตถุที่เป็นองค์ประกอบหลักของภาพ จะต้องดูขอบเขตที่แสงและเงามาบรรจบกันด้วย ซึ่งมักจะมีวัตถุที่เป็นองค์ประกอบหลักของภาพที่อาจจะหลุดออกจากความสนใจของเราอยู่เสมอ อย่างเช่นจักรยานในภาพด้านล่าง เป็นต้น
เคล็ดลับระดับมือโปร: ควรกำหนดเงาในกรอบให้ภาพมากน้อยแค่ไหน
หากไม่แน่ใจ ให้ลองใช้อัตราส่วนของแสงต่อเงาเป็น 1:1 จากนั้นค่อยปรับเอา ยิ่งสัดส่วนของเงามีมากเท่าไหร่ การจัดวางองค์ประกอบภาพก็จะยิ่งดูเรียบง่ายขึ้น นอกจากนี้ ยังช่วยให้สามารถดึงความสนใจของผู้ดูไปยังวัตถุที่เป็นองค์ประกอบหลักของภาพและสื่อความหมายของภาพอย่างที่คุณต้องการได้ง่ายขึ้น
ขั้นตอนที่ 3: ปรับการเปิดรับแสงในส่วนที่ต้องการเน้น
เมื่อเจอวัตถุที่เป็นองค์ประกอบหลักของภาพแล้ว ให้คุณปรับการเปิดรับแสงในส่วนที่ต้องการเน้น วิธีการนี้จะช่วยให้เงาดูเข้มมากขึ้น เป็นการเพิ่มความเปรียบต่างนั่นเอง ถ้าคุณใช้กล้องแบบมิเรอร์เลส (Mirrorless) ช่องมองภาพอิเล็กทรอนิกส์ช่วยให้คุณสามารถดูความสว่างของบริเวณที่ต้องการเน้นและพื้นที่ของเงาได้ รวมทั้งยังแสดง ฮิสโตแกรม อีกด้วย ลองนำไปใช้ให้เป็นประโยชน์กันดู
สำหรับภาพหลัก ผมได้ปรับการเปิดรับแสงสำหรับบริเวณภายนอกอาคารที่สว่าง ซึ่งจะทำให้วัตถุที่อยู่ภายในอาคารที่มืดกว่ากลายเป็นภาพซิลูเอตต์ นอกจากนั้น วิธีการนี้ยังเป็นเหมือนกลไกที่ช่วยดึงรายละเอียดภายในตัวอาคารให้หายไปในความมืดอีกด้วย
จากตัวอย่างข้างต้น การเปิดรับแสงให้กับส่วนที่ต้องการเน้นทำให้เกิดความเปรียบต่างที่เด่นชัดซึ่งทำให้ภาพดูน่าสนใจ
เคล็ดลับ: ในโหมดการเปิดรับแสงแบบกึ่งอัตโนมัติ ให้ใช้การวัดแสงเฉพาะจุดและ AE Lock เพื่อเปิดรับแสงสำหรับส่วนที่ต้องการเน้น
ขั้นตอนที่ 1:
กดปุ่ม [Q] ที่ด้านหลังของกล้องเพื่อเปิดเมนู Quick Control
ขั้นตอนที่ 2:
แตะหรือไปที่ไอคอน โหมดการวัดแสง (อยู่ที่ใดที่หนึ่งของไอคอนต่าง ๆ ทางด้านซ้ายมือ) จากนั้นเลือก “การวัดแสงเฉพาะจุด”
ขั้นตอนที่ 3:
คุณจะเห็นวงกลมปรากฏที่ตรงกลางของหน้าจอ ขยับกล้องให้วงกลมอยู่บริเวณที่สว่างที่สุดในกรอบของคุณ กล่าวคือ บริเวณที่คุณต้องการเปิดการรับแสงนั่นเอง บนช่องมองภาพแบบอิเล็กทรอนิกส์หรือ Live View หากเปิดฟังก์ชันจำลองการเปิดรับแสง คุณจะเห็นพื้นที่อื่นของภาพมืดลง
เราได้กำหนดวงกลมการวัดแสงเฉพาะจุดเอาไว้ให้เพื่อทำให้มองเห็นได้ชัดเจนมากขึ้น
ขั้นตอนที่ 4:
ล็อกการเปิดรับแสงโดยกดปุ่ม AE Lock โดยปุ่มดังกล่าวจะมีลักษณะคล้ายเครื่องหมายดอกจัน “*” วิธีนี้จะช่วยในการจัดองค์ประกอบภาพใหม่ได้โดยที่ไม่ต้องเปลี่ยนการตั้งค่าการเปิดรับแสงแต่อย่างใด
สัญลักษณ์ * จะปรากฏขึ้นเพื่อบ่งบอกว่าการเปิดรับแสงถูกล็อกเอาไว้ในจุดที่คุณทำการวัดแสงตามขั้นตอนที่ 3
ขั้นตอนที่ 5:
หากเงายังมืดไม่พอ คุณสามารถใช้ การชดเชยแสงติดลบ ซึ่งจะช่วยทำให้ภาพโดยรวมมีความมืดขึ้นอีกด้วย (สามารถดูได้ที่: เพิ่มเงาเพื่อเน้นทางกลับบ้านให้ดูโดดเด่น)
ดูเคล็ดลับเพิ่มเติมเกี่ยวกับการใช้เงาในการถ่ายภาพแนวสตรีท/แสงธรรมชาติได้ที่:
พระอาทิตย์ขึ้นและพระอาทิตย์ตก: ถ่ายภาพสตรีทให้ได้ความเปรียบต่างที่น่าทึ่ง
การจัดแสงธรรมชาติ: แสงส่องเป็นแนวบนป่าในฤดูใบไม้ร่วง
การจัดแสงธรรมชาติ: ภาพพอร์ตเทรตแบบไฮคีย์พร้อมเงาที่มีลวดลาย
การจัดองค์ประกอบเฟรมภาพซิลูเอตต์: วิธีสร้างความโดดเด่นให้กับแสง เงา ความเปรียบต่าง ความลึก และเฟรมธรรมดาๆ
เกี่ยวกับผู้เขียน
นิตยสารรายเดือนที่เชื่อว่าความสุขของการถ่ายภาพจะยิ่งเพิ่มขึ้น เมื่อผู้ถ่ายภาพได้เรียนรู้เกี่ยวกับฟังก์ชั่นต่างๆ ของกล้องมากยิ่งขึ้น นิตยสารเล่มนี้เผยแพร่ข่าวสารเกี่ยวกับกล้องรุ่นใหม่ๆ รวมถึงคุณสมบัติของกล้องและนำเสนอเทคนิคการถ่ายภาพอย่างหลากหลาย
จัดพิมพ์โดย Impress Corporation
Tanabe เกิดที่ฟุกุโอกะในปี ค.ศ. 1968 เขาจบการศึกษาจากภาควิชาการถ่ายภาพจากมหาวิทยาลัยศิลปะโอซาก้า จากนั้นเขาเดินทางไปยังสหรัฐอเมริกา ซึ่งเขาได้ทำการศึกษาเพิ่มเติมที่ชิคาโก เซนต์หลุยส์ และนิวยอร์ก หลังจากกลับมาที่ญี่ปุ่นอีกครั้ง เขาได้ทำงานในสำนักงานวิจัยในภาควิชาการถ่ายภาพที่มหาวิทยาลัยเดิมของเขา เขาเป็นช่างภาพอิสระมาตั้งแต่ปี ค.ศ. 1998 และเป็นสมาชิกคนหนึ่งของสมาคมช่างภาพมืออาชีพประเทศญี่ปุ่น ในปี ค.ศ. 2008 เขาได้จัดแสดงผลงานเดี่ยวในนิทรรศการชื่อว่า “Memory” และเขายังเป็นผู้เขียนหนังสือ Watashi, shashin ga umaku narimashita [ผมกลายเป็นคนถ่ายรูปเก่ง]