การจัดแสงธรรมชาติ: เพิ่มเงาเพื่อเน้นทางกลับบ้านให้ดูโดดเด่น
การชดเชยแสงสามารถใช้ในการสื่ออารมณ์ภาพอย่างมีศิลปะได้ ในบทความนี้ มาดูกันว่าช่างภาพคนหนึ่งใช้การชดเชยแสงเพื่อเพิ่มเงารอบๆ ตัวแบบของเธอและสร้างเอฟเฟ็กต์ “สปอตไลต์” ให้ตัวแบบดูโดดเด่นได้อย่างไร (เรื่องโดย: Ikuko Tsurumaki, Digital Camera Magazine)
EOS M50/ EF-M18-150mm f/3.5-6.3 IS STM/ FL: 28 มม. (เทียบเท่า 45 มม.)/ Aperture-priority AE (f/7.1, 1/160 วินาที, EV-1.7)/ ISO 100/ WB: เมฆครึ้ม
เรื่องราวเบื้องหลังภาพนี้:
ขณะนั้นเป็นเวลาหลัง 5 โมงเย็น แสงยามเย็นสว่างจ้าส่องมาทางด้านหน้าจากตำแหน่งที่ต่ำลงไปบนทางเดินหินเล็กๆ ที่อยู่ระหว่างราวบันไดบนเนิน
การจัดองค์ประกอบภาพ
ฉันต้องการดึงความสนใจไปยังทางลาดที่แคบชันให้ได้มากที่สุด จึงถ่ายภาพจากมุมที่แทบจะเป็นการมองจากบนลงล่างโดยตรง การถ่ายภาพในแนวนอนช่วยให้ฉันถ่ายต้นไม้และโครงสร้างที่อยู่ด้านข้างให้เป็นกรอบของทางเดินได้
ฉันเลือกมุมรับภาพที่ใกล้เคียงกับมาตรฐาน จากนั้นจึงค่อยๆ ปรับแต่งทีละน้อย พร้อมกับคอยดูตำแหน่งของราวจับและต้นไม้ไปด้วย ตลอดเวลาที่ถ่าย ฉันจะคอยตรวจดูให้แน่ใจว่าองค์ประกอบภาพรักษาบรรยากาศของฉากเอาไว้อย่างที่ฉันเห็น
จุดโฟกัสอยู่ที่ฝาท่อระบายน้ำบนทางเดิน
การใช้เงาเพื่อให้ภาพดูเรียบง่ายขึ้น
ระดับแสงที่เหมาะสมซึ่งกล้องกำหนดให้จะบันทึกรายละเอียดทั้งหมดในฉาก แต่เนื่องจากมีรายละเอียดที่รบกวนสายตาเหล่านั้น ทางเดินเล็กๆ ที่มีแสงอาทิตย์ส่องจึงไม่โดดเด่นพอ
ฉันตัดสินใจทำให้ภาพเรียบง่ายขึ้นโดยใช้การชดเชยแสงเป็นลบ ซึ่งเปลี่ยนวัตถุรอบๆ ทางเดินให้กลายเป็นเงาและทำให้ทางเดินโดดเด่นขึ้นมา
การวิเคราะห์แสงและการเปิดรับแสง
ทิศทางของแสง: แสงจากด้านหลังในมุมเฉียงซึ่งเกิดจากตำแหน่งที่ต่ำและส่องลงมาโดยตรงบนทางเดินเล็กๆ ที่ปูด้วยหินในจุด (A)
(A) ตัวแบบหลักในภาพ: ทางเดินหินที่มีแสงอาทิตย์สีทองยามเย็นส่องโดยตรง
(B) และ (C): กำแพงอิฐและต้นไม้ที่ขนาบข้างบันได ทั้งสองอย่างนี้อยู่ในเงามืด และฉันรวมเข้ามาในภาพด้วยเพื่อให้จุด (A) ดูโดดเด่นมากยิ่งขึ้น
การอ่านฮิสโตแกรม: ภาพโลว์คีย์
ฉันตัดสินใจแล้วว่าจะทำให้องค์ประกอบที่อยู่รอบจุดสนใจหลักในจุด (A) มืดลงเพื่อเพิ่มความโดดเด่น แต่คำถามคือ ต้องมืดลงแค่ไหน
การชดเชยแสงเพื่อให้ได้เอฟเฟ็กต์ที่ฉันต้องการในจุด (A) ทำให้เกิดส่วนที่มืดและการสูญเสียรายละเอียดในจุด (B) และ (C)
วิธีจัดการกับจุด (A), (B) และ (C)
สำหรับจุด (A): สร้างเงาเพื่อให้ทางเดินดูโดดเด่น
ระดับแสง “ที่เหมาะสม”: ทางเดินไม่โดดเด่น
เมื่อทั้งภาพได้รับแสงในระดับที่เหมาะสม (การชดเชยแสง: 0) ทุกอย่างดูสว่าง และแสงอาทิตย์ที่ส่องลงบนทางเดินดูไม่โดดเด่น
ตัวแบบหลักในภาพนี้คือจุด (A) ซึ่งเป็นทางเดินสั้นๆ ตรงเชิงบันไดที่อาบไล้ด้วยแสงยามเย็น ฉันใช้จุดนี้เป็นเกณฑ์ในการเปิดรับแสง และใช้การชดเชยแสงเป็นลบขณะที่มองผ่านช่องมองภาพ ฉันหยุดปรับที่ค่า EV-1.7 เมื่อเงาที่ทอดยาวของรั้วลวดสีเขียวซึ่งทาบทับลงไปบนทางเดินหินดูมืดพอแล้ว
สำหรับจุด (B) และ (C): ปรับแต่งเงาในกระบวนการปรับแต่งภาพ
หลังจากใช้การชดเชยแสงแล้ว จุด B และ C กลับมืดเกินไปจนสูญเสียรายละเอียดไปมาก เพื่อให้ความเปรียบต่างโดยรวมมีความสมดุล ฉันจึงตัดสินใจทำให้สองจุดนั้นสว่างขึ้นเล็กน้อย
ในกระบวนการปรับแต่งภาพ ฉันไม่เห็นความแตกต่างมากนักเมื่อเพิ่มพารามิเตอร์ “เงา” ฉันจึงเพิ่มค่า “สีดำ” แทน ฉันได้ผลลัพธ์ที่ต้องการเมื่อใช้ค่า “สีดำ: +34”
ดูข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับการใช้เงาและความเปรียบต่างเพื่อการถ่ายทอดภาพอย่างสร้างสรรค์ได้ที่:
พระอาทิตย์ขึ้นและพระอาทิตย์ตก: ถ่ายภาพสตรีทให้ได้ความเปรียบต่างที่น่าทึ่ง
การจัดแสงธรรมชาติ: เพิ่มความพิเศษให้กับภาพพอร์ตเทรตในสภาพแวดล้อม
3 วิธีในการถ่ายภาพฉากฤดูหนาวสีเดียวให้ดูน่าสนใจ
รับข่าวสารล่าสุดเกี่ยวกับการถ่ายภาพ รวมถึงเคล็ดลับและกลเม็ดต่างๆ
ร่วมเป็นส่วนหนึ่งของชุมชนชาว SNAPSHOT
ลงทะเบียนตอนนี้!เกี่ยวกับผู้เขียน
นิตยสารรายเดือนที่เชื่อว่าความสุขของการถ่ายภาพจะยิ่งเพิ่มขึ้น เมื่อผู้ถ่ายภาพได้เรียนรู้เกี่ยวกับฟังก์ชั่นต่างๆ ของกล้องมากยิ่งขึ้น นิตยสารเล่มนี้เผยแพร่ข่าวสารเกี่ยวกับกล้องรุ่นใหม่ๆ รวมถึงคุณสมบัติของกล้องและนำเสนอเทคนิคการถ่ายภาพอย่างหลากหลาย
จัดพิมพ์โดย Impress Corporation
เกิดที่โตเกียวในปี 1972 Tsurumaki เริ่มเรียนรู้การถ่ายภาพในระหว่างที่ทำงานในบริษัทโฆษณา และผันตัวมาเป็นช่างภาพหลังจากผ่านการเป็นผู้ช่วยช่างภาพระยะหนึ่ง ปัจจุบัน เธอมีส่วนร่วมในกิจกรรมต่างๆ ได้แก่ การถ่ายภาพนิตยสาร การเขียนบทความ และกำกับการถ่ายภาพการบรรยายและสัมมนาต่างๆ