การจัดแสงธรรมชาติ: เพิ่มความพิเศษให้กับภาพพอร์ตเทรตในสภาพแวดล้อม
การเรียนรู้วิธีการอ่านสภาพแสงเป็นทักษะที่จำเป็นมากสำหรับการถ่ายภาพ! ในบทความต่อเนื่องชุด “การจัดแสงธรรมชาติ” นี้ เราจะมาดูวิธีการที่ช่างภาพใช้ในการวิเคราะห์แสงโดยรอบ ซึ่งทำให้ได้ภาพถ่ายที่งดงามยิ่งขึ้น
ในบางครั้ง หัวใจสำคัญของแสงที่สวยงามไม่ได้อยู่ที่แสง แต่เป็นเงาต่างหาก มาดูกันว่าช่างภาพสารคดีทำให้ภาพพอร์ตเทรตในสภาพแวดล้อมดูโดดเด่นยิ่งขึ้นด้วยการหาตำแหน่งที่เหมาะสมเพื่อจัดวางตัวแบบได้อย่างไร วิธีการนี้อาจเป็นประโยชน์สำหรับคุณในการถ่ายภาพพอร์ตเทรตท่องเที่ยวหรือวัฒนธรรมครั้งต่อไปด้วยเช่นกัน! (เรื่องโดย: Kentaro Kumon, Digital Camera Magazine)
EOS RP/ RF35mm f/1.8 Macro IS STM/ FL: 35 มม./ Manual exposure (f/8, 1/640 วินาที)/ ISO 200/ WB: แสงในร่ม
เรื่องราวเบื้องหลังภาพนี้:
ภาพนี้เป็นหนึ่งในชุดภาพถ่ายที่ผมได้บันทึกเรื่องราวของชีวิตในเมืองและหมู่บ้านประมงอันแสนเรียบง่าย ณ คาบสมุทรโนโตะ (ฉบับภาษาอังกฤษ) ในเมืองอิชิกาวะ ประเทศญี่ปุ่น
ผมถ่ายภาพนี้ในยามบ่ายวันหนึ่งของฤดูหนาว เมื่อพระอาทิตย์ที่กำลังเคลื่อนตัวลงส่องแสงที่สวยงามอาบไล้กระท่อมไม้และหัวไชเท้าญี่ปุ่นที่ตากไว้อยู่ตรงประตูกระท่อม ชายในภาพซึ่งเป็นเจ้าของบ้านกำลังจะออกจากบริเวณที่พักพอดีเมื่อผมเห็นเขา ผมรู้สึกว่าเขาดูดีเมื่อสวมเสื้อนอกและยืนอยู่ตรงนั้น ผมจึงส่งเสียงเรียกและขออนุญาตถ่ายภาพ
คอยสังเกตเงาเอาไว้ เพราะเงาสามารถช่วยในการจัดแสงให้น่าประทับใจได้!
ในวันที่มีอากาศแจ่มใส คุณอาจจะอยากมองหาแสงที่สวยงาม แต่อย่าลืมว่าเงานั้นเกิดจากแสง หากคุณหันมาสนใจเงาแทน คุณจะพบกับแสงอันน่าประทับใจซึ่งคุณอาจพลาดไปได้
ในฉากนี้ แหล่งกำเนิดแสงอยู่นอกเฟรมภาพ ซึ่งส่องมาจากระหว่างต้นไม้กับอาคารที่อยู่ฝั่งตรงข้าม ทำให้เกิดเป็นเงาที่เห็นได้ชัดเจน
ผมตั้งใจทำให้ระดับแสงดูมืดลงเล็กน้อยเพื่อให้ได้ความเปรียบต่างที่มากขึ้น และคอยระมัดระวังความเข้มของเงาที่ทาบลงบนตัวแบบผู้ชายด้วยในขณะเดียวกัน ผมปรับโทนสีในกระบวนการปรับแต่งภาพเพื่อขับเน้นบรรยากาศจากพระอาทิตย์ตกในยามเย็น
การหาตำแหน่งที่เหมาะสมในการจัดวางตัวแบบเป็นสิ่งสำคัญหากต้องการความเปรียบต่างที่ดูมีความสมดุล
การวิเคราะห์แสงและการเปิดรับแสง
ทิศทางของแสง: แสงจากด้านข้างส่องไปที่ตัวแบบในภาพพอร์ตเทรตจากด้านบนขวา
(A) ตัวแบบของภาพพอร์ตเทรต ผมตัดสินใจให้ครึ่งหนึ่งของตัวแบบอยู่ในเงาเพื่อเพิ่มอารมณ์ของภาพ
(B) เงาที่เกิดจากตัวอาคารและต้นไม้ เป็นองค์ประกอบสำคัญของภาพนี้
เพื่อให้ได้การจัดแสงที่มีความสมดุล ควรคงโทนสีเขียวของพื้นหญ้าเอาไว้แม้พื้นที่ส่วนใหญ่จะอยู่ในเงา
การอ่านฮิสโตแกรม: คุณจำเป็นต้องดูให้แน่ใจว่าใบหน้าของตัวแบบโดดเด่นออกมา
ฮิสโตแกรมแสดงให้เห็นสีดำที่ชัดเจน (B) ในด้านล่างขวาของภาพ และเรายังเห็นด้วยว่านอกจากสีดำแล้ว องค์ประกอบส่วนใหญ่ในภาพคือโทนน้ำหนักกลาง ใบหน้าของตัวแบบ (A) อยู่ในโทนน้ำหนักกลาง
เพื่อให้แน่ใจว่าใบหน้าของเขาโดดเด่นออกมาและไม่กลืนไปกับส่วนอื่นๆ ผมจึงจัดตำแหน่งให้เขายืนในจุดที่แสงส่องลงบนใบหน้าของเขา แต่ลำตัวในส่วนที่เหลือตั้งแต่หน้าอกลงไปถึงเท่านั้นให้อยู่ในส่วนที่เป็นเงา วิธีนี้จะช่วยดึงความสนใจไปยังใบหน้าของเขาได้
วิธีจัดการกับ (A) และ (B)
สำหรับจุด (A): ปรับตำแหน่งการยืนของตัวแบบด้วยความระมัดระวัง
ภาพดูไม่น่าประทับใจเมื่อไม่มีเงาบนตัวแบบ
ผมต้องอาศัยการสื่อสารที่ดีกับตัวแบบในภาพพอร์ตเทรตของผม ผมให้เขายืนในจุดที่ใบหน้าจะได้รับแสงและลำตัวท่อนล่างถูกบดบังอยู่ในเงา ซึ่งทำให้เกิดอารมณ์ความรู้สึกได้มากกว่าการที่ทั้งตัวของเขาได้รับแสง
อย่าลืม: สื่อสารด้วยความสุภาพและให้เกียรติกัน คนแปลกหน้าที่คุณเดินเข้าไปหาไม่ได้มีหน้าที่ในการเป็นตัวแบบให้กับภาพถ่ายของคุณ และหากพวกเขายอมให้คุณถ่ายภาพ นั่นเป็นน้ำใจของพวกเขา จะเป็นการดีเช่นกันหากคุณแบ่งปันภาพถ่ายกับพวกเขาหลังจากนั้น
ดูเคล็ดลับในการถ่ายภาพพอร์ตเทรตท่องเที่ยวและวัฒนธรรมได้ที่นี่:
รีวิวกล้อง EOS M6 Mark II: เดินทางผจญภัยในยอกยาการ์ตา
สำหรับจุด B: สร้างบรรยากาศ "พระอาทิตย์ตก" ด้วยการปรับเส้นโค้งโทนสี
ขณะนั้นเป็นเวลาเกือบบ่าย 3 โมง แต่ผมต้องการให้แสงในภาพดูมีความอบอุ่นคล้ายกับแสงในยามเย็น ผมจึงต้องอาศัยการปรับช่องสีแดงและสีน้ำเงินของเส้นโค้งโทนสีในกระบวนการปรับแต่งภาพ
- ช่องสีแดง (R): เพิ่มไฮไลต์จากกึ่งกลางเส้นโค้งเป็นต้นไป
- ช่องสีน้ำเงิน (B): ลดไฮไลต์จากกึ่งกลางเส้นโค้งเป็นต้นไป
วิธีนี้จะช่วยเพิ่มโทนสีแดงอมชมพูให้กับภาพและทำให้ส่วนที่มืดดูมีโทนสีน้ำเงินมากขึ้น จึงเกิดเป็นแสงที่คุณจะได้เมื่อถ่ายภาพในขณะพระอาทิตย์ตก
ดูวิธีที่ช่างภาพอีกท่านใช้แสงจากด้านข้างและเงาให้เป็นประโยชน์ในการถ่ายภาพพอร์ตเทรตที่แตกต่างออกไปอย่างสิ้นเชิงได้ที่:
การจัดแสงธรรมชาติ: ภาพพอร์ตเทรตแบบไฮคีย์พร้อมเงาที่มีลวดลาย
หากเกิดแรงบันดาลใจในการออกไปสำรวจสถานที่แห่งใหม่และบันทึกภาพทัศนียภาพต่างๆ รวมถึงผู้คนที่คุณได้พบ ลองดูเคล็ดลับและเทคนิคในอีบุ๊กของเราที่จะช่วยให้คุณถ่ายภาพได้ดีขึ้นในขณะเดินทางท่องเที่ยว!
[eBook] เทคนิคเลนส์สำหรับการถ่ายภาพท่องเที่ยว
ดูกรณีศึกษาเพิ่มเติมเกี่ยวกับวิธีการที่ช่างภาพใช้แสงธรรมชาติในการถ่ายภาพให้สวยงามได้ที่บทความ:
การจัดแสงธรรมชาติ: ชานชาลารถไฟในยามเช้า
การจัดแสงธรรมชาติ: ภาพดอกไม้แบบมาโครเทเลโฟโต้ในแสงยามเย็น
การจัดแสงธรรมชาติ: ภาพพอร์ตเทรตแบบไฮคีย์พร้อมเงาที่มีลวดลาย
รับข่าวสารล่าสุดเกี่ยวกับการถ่ายภาพ รวมถึงเคล็ดลับและกลเม็ดต่างๆ
ร่วมเป็นส่วนหนึ่งของชุมชนชาว SNAPSHOT
ลงทะเบียนตอนนี้!เกี่ยวกับผู้เขียน
นิตยสารรายเดือนที่เชื่อว่าความสุขของการถ่ายภาพจะยิ่งเพิ่มขึ้น เมื่อผู้ถ่ายภาพได้เรียนรู้เกี่ยวกับฟังก์ชั่นต่างๆ ของกล้องมากยิ่งขึ้น นิตยสารเล่มนี้เผยแพร่ข่าวสารเกี่ยวกับกล้องรุ่นใหม่ๆ รวมถึงคุณสมบัติของกล้องและนำเสนอเทคนิคการถ่ายภาพอย่างหลากหลาย
จัดพิมพ์โดย Impress Corporation
Kumon เกิดที่โตเกียวเมื่อปี 1981 เขาได้ถ่ายภาพให้กับสื่อสิ่งพิมพ์และโปรเจ็กต์โฆษณามากมายทั้งในญี่ปุ่นและต่างประเทศ และยังได้ตีพิมพ์คอลเลคชั่นภาพถ่ายอีกหลายชุด เช่น Daichi no Hana (พฤกษาแห่งโลก: วิถีชีวิตและคำสวดภาวนาของชาวเนปาล) (ตีพิมพ์โดย Toho Shuppan), Koyomi Kawa (แม่น้ำปฏิทิน) (ตีพิมพ์โดย Heibonsha) และ BANEPA (ตีพิมพ์โดย Seikyusha) รวมถึงหนังสือเรียงความภาพถ่าย Goma no Youhinten (ร้านสไตล์ตะวันตกของ Goma) (ตีพิมพ์โดย Keiseisha) ซึ่งได้แรงบันดาลใจมาจากประสบการณ์ของเขาในเมืองบานีปา ประเทศเนปาล ในปี 2012 เขาได้รับรางวัลช่างภาพหน้าใหม่ดีเด่นจากสมาคมช่างภาพญี่ปุ่น สำหรับโปรเจ็กต์ถ่ายภาพในปัจจุบัน เขาได้เดินทางไปยังเมืองและหมู่บ้านต่างๆ ที่อยู่ริมแม่น้ำและคาบสมุทรเพื่อค้นหาและบันทึกภาพสถานที่และวิถีชีวิตของผู้คนที่นั่นในแง่มุมที่ไม่เหมือนใคร