ฤดูหนาวทำให้เกิดทิวทัศน์ที่สวยงาม แต่เมื่อทุกสิ่งรอบตัวคุณเป็นสีขาวและปกคลุมไปด้วยหิมะ คุณจะใช้ความคิดสร้างสรรค์ในการถ่ายภาพฉากนั้นด้วยวิธีที่แตกต่างไปจากเดิมได้อย่างไร ลองใช้ไอเดียทั้งสามต่อไปนี้ (เรื่องโดย: Yuki Imaura, Rika Takemoto, Digital Camera Magazine)
EOS 5D Mark II/ EF70-300mm f/4-5.6L IS USM/ FL: 300 มม./ Aperture-priority AE (f/10, 1/1,000 วินาที, EV+1.0)/ ISO 200/ WB: 4,600K
ภาพโดย: Yuki Imaura
1. สร้างภาพถ่ายให้เป็นสามมิติยิ่งขึ้น: เล่นกับแสงและเงา
เมื่อผมถ่ายภาพด้านบน ผมรู้สึกทึ่งกับหิมะสีขาวละเอียดนุ่มนิ่มบนทางลาดที่อยู่ไกลออกไปนี้ ซึ่งชวนให้ผมนึกถึงผิวพรรณขาวเนียนผุดผ่องของผู้หญิงบางคน ผมต้องการเก็บบันทึกพื้นผิวนี้ไว้ จึงใส่ใจกับการเปิดรับแสงเป็นพิเศษ เพื่อรักษาความสว่างให้ใกล้เคียงกับสิ่งที่ผมเห็นด้วยตาของตัวเองให้มากที่สุดเท่าที่ทำได้ ซึ่งปัจจัยที่ช่วยทำให้ถ่ายภาพนี้ได้สำเร็จมีอยู่สองประการดังนี้
i) จัดวางเงาในที่ๆ เหมาะสมเพื่อทำให้ฉากสื่ออารมณ์ได้ดียิ่งขึ้น
เมื่อพูดถึงการถ่ายภาพพื้นผิวหิมะ สิ่งสำคัญก็คือ เงา ลองนึกดูว่า หากไม่มีบริเวณที่ที่มีเงา เฟรมภาพทั้งเฟรมจะไม่มีอะไรเลยนอกจากสีขาว
ปัจจัยนี้ใช้กับภาพหลัก ซึ่งเงาของต้นไม้ที่ทอดบนผิวหิมะเป็นจุดสนใจหลัก ต้นไม้ห้าต้นตรงกึ่งกลางด้านขวาเป็นตัวแบบหลัก แต่เส้นที่เกิดจากเงาของต้นไม้ทางด้านซ้ายช่วยทำให้องค์ประกอบภาพมีความสมดุล
ii) ใช้การชดเชยแสงเพื่อไม่ให้หิมะดูมืดเกินไป
เนื่องจากหิมะนั้นสะท้อนแสงมาก จึงอาจ “หลอก” ตัววัดแสงของกล้องให้เปิดรับแสงน้อยเกินไป หากคุณกำลังใช้โหมดการเปิดรับแสงแบบอัตโนมัติ/กึ่งอัตโนมัติโดยไม่มีการชดเชยแสง
จากประสบการณ์ของผม ค่าการชดเชยแสงประมาณ EV+1.0 ก็เพียงพอแล้วเมื่อถ่ายภาพหิมะในวันที่ท้องฟ้าแจ่มใส
ข้อควรระวัง: อย่าตั้งค่าการชดเชยแสงตามใจชอบ ก่อนที่จะกดปุ่มชัตเตอร์ ต้องแน่ใจเสมอว่าส่วนที่สว่างไม่ได้สว่างจ้าเกินไป!
มาเรียนรู้ว่าฮิสโตแกรมจะสามารถช่วยคุณได้อย่างไรได้ในบทความนี้
เมื่อคุณถ่ายภาพหิมะโดยไม่มีการชดเชยแสง การที่หิมะสะท้อนได้สูงจะทำให้ตัววัดแสงของกล้องเข้าใจว่าฉากนั้นสว่างกว่าความเป็นจริง ด้วยเหตุนี้ ภาพถ่ายจึงได้รับแสงน้อยเกินไปและดูมืด
2. ใช้ประโยชน์จากความเปรียบต่างระหว่างการหยุดนิ่งกับการเคลื่อนไหว
EOS 5D Mark II/ EF70-300mm f/4-5.6L IS USM/ FL: 300 มม./ Aperture-priority AE (f/18, 1.6 วินาที, EV+0.7)/ ISO 100/ WB: 3,200K
ภาพโดย: Yuki Imaura
น้ำแข็งย้อยซึ่งเป็นตัวแบบหลักของภาพนี้ ก่อตัวขึ้นเมื่อน้ำที่กระเซ็นขึ้นมาจากสายน้ำไหลแรงเบื้องล่างแข็งตัวในสภาพอากาศเย็นจัด
ภาพถ่ายฉากในฤดูหนาวเช่นนี้มักลงเอยด้วยการที่ทั้งตัวแบบหลักและแบ็คกราวด์อยู่ในเฉดสีขาว ซึ่งอาจดูธรรมดามาก ดังนั้น เพื่อที่จะทำให้ภาพน่าสนใจยิ่งขึ้น ผมจึงตัดสินใจถ่ายภาพด้วยความเร็วชัตเตอร์ที่ช้าลงเพื่อจับภาพการเคลื่อนไหวของสายน้ำที่ไหลเชี่ยวอยู่เบื้องล่าง สายน้ำที่มีการเคลื่อนไหวตลอดเวลานั้นตัดกับความสงบนิ่งของน้ำแข็งย้อยได้อย่างน่าสนใจ
เคล็ดลับ: หากต้องการใช้ความเร็วชัตเตอร์ที่ช้าลงเมื่อถ่ายภาพหิมะ/น้ำแข็งในเวลากลางวัน ให้ใช้ฟิลเตอร์ ND ที่มืดขึ้น
เมื่อถ่ายภาพน้ำแข็งหรือหิมะกลางแจ้งในเวลากลางวัน การสะท้อนแสงสูงอาจทำให้การลดความเร็วชัตเตอร์ลงเป็นเรื่องยากพอๆ กับที่คุณต้องการให้ภาพได้รับแสงมากเกินไป คุณอาจจำเป็นต้องใช้ค่ารูรับแสงที่แคบ ซึ่งจะเพิ่มความเสี่ยงที่ทำให้คุณภาพของภาพลดลงเนื่องจากการเลี้ยวเบนของแสง ปัญหาดังกล่าวสามารถหลีกเลี่ยงได้ด้วยการใช้ฟิลเตอร์ ND ที่มืดขึ้น เช่น ฟิลเตอร์ ND64 หรือ ND400 ซึ่งจะลดความเร็วชัตเตอร์ลงประมาณ 6 สต็อปหรือ 8.65 สต็อปตามลำดับ ถ้าคุณใช้กล้องระบบ EOS R เมาท์อะแดปเตอร์ฟิลเตอร์แบบ Drop-in EF-EOS R พร้อมฟิลเตอร์ ND แบบปรับได้จะมีเอฟเฟ็กต์ฟิลเตอร์สูงสุดถึง ND500 (ความเร็วชัตเตอร์ 9 สต็อป)
อ่านเพิ่มเติมเกี่ยวกับฟิลเตอร์ ND ได้ที่:
คำถามที่พบบ่อยเกี่ยวกับเลนส์ #5: ฟิลเตอร์ ND มีข้อดีและข้อเสียอย่างไรบ้าง
ข้อควรรู้: การถ่ายภาพในร่มเงาจะช่วยให้คุณลดความเร็วชัตเตอร์ลงได้มากขึ้น แต่จะไม่จับภาพความสว่างไสวเป็นประกายของน้ำแข็งและหิมะ
3. เปลี่ยนหิมะตกให้เป็นวงกลมโบเก้
EOS 5D Mark III/ EF24-105mm f/4L IS USM/ FL: 70 มม./ Aperture-priority AE (f/4, 1/200 วินาที, EV-0.7)/ ISO 200/ WB: แสงแดด
ภาพโดย: Rika Takemoto
ภาพด้านบนเป็นภาพสวนสาธารณะที่ผมไปบ่อยๆ ซึ่งกลายเป็นดินแดนมหัศจรรย์ของฤดูหนาวในชั่วข้ามคืน ผมรู้สึกสนใจต้นไม้กลุ่มนี้และความสมมาตรของพวกมัน ผมต้องการถ่ายภาพที่มีความรู้สึกเหนือจริงโดยมีต้นไม้เป็นจุดสนใจหลัก
องค์ประกอบสำคัญของภาพ
i) การจัดองค์ประกอบภาพ
ผมซูมเข้าไปที่ลำต้นของต้นไม้เพื่อถ่ายภาพครอปที่ดึงความสนใจไปยังตำแหน่งของต้นไม้ที่มีความสมมาตรกัน
ii) สร้างวงกลมโบเก้จากหิมะ
หิมะที่กำลังตกนั้นมักถูกถ่ายภาพเป็นเส้น แต่ผมจับภาพหิมะให้เป็นวงกลมโบเก้โดยใช้รูรับแสงกว้างสุดของเลนส์และยิงแฟลชเสริมเพื่อหยุดหิมะให้อยู่กับที่ วงกลมโบเก้จากหิมะเป็นหัวใจสำคัญในการสร้างบรรยากาศเหมือนฝันของภาพนี้ หิมะสีขาวดูโดดเด่นตัดกับลำต้นของต้นไม้ในแบ็คกราวด์ และการซูมเข้าไปใกล้ทำให้วงกลมดูใหญ่ขึ้น
ดูเพิ่มเติมได้ที่: เทคนิคการใช้แฟลชติดกล้อง #6: วงกลมโบเก้ที่น่ามหัศจรรย์ในวันฝนตก
iii) ใช้ WB (แสงแดด)
การเปลี่ยนสมดุลแสงขาวให้เป็น “แสงแดด” จะเพิ่มโทนสีน้ำเงินอย่างแนบเนียน ซึ่งช่วยสื่อถึงความรู้สึกหนาวเย็น
iv) การชดเชยแสงเป็นลบ
พอคาดได้ว่าสีเข้มๆ ที่ลำต้นของต้นไม้อาจทำให้กล้องตั้งค่าการรับแสงที่สว่างเกินไป ผมจึงใช้การชดเชยแสงเป็นลบ
เคล็ดลับ: ปัจจัยที่เปลี่ยนรูปลักษณ์ของวงกลมโบเก้
ยิ่งทางยาวโฟกัสยาว วงกลมโบเก้ยิ่งมีขนาดใหญ่
ยิ่งรูรับแสงกว้าง (ค่า f ต่ำ) วงกลมโบเก้ยิ่งดูนุ่มนวล
การปรับความเข้มของแสงแฟลชยังช่วยเปลี่ยนระดับความชัดเจนของหิมะที่โดดเด่นออกมาจากแบ็คกราวด์ของภาพ
ถ่ายที่ระยะ 24 มม.
ภาพถ่ายด้านบนเป็นภาพฉากเดียวกัน ซึ่งถ่ายที่ระยะ 24 มม. จากจุดที่อยู่ไกลออกไปเล็กน้อย วงกลมโบเก้จากหิมะดูเล็กลงมาก แทนที่จะเป็นวงกลมโบเก้ขนาดใหญ่ลอยอยู่ในอากาศ วงกลมเหล่านั้นกลับดูคล้ายกลีบดอกไม้ที่ปลิวลงมาจากท้องฟ้า จึงทำให้ได้ฉากที่ดูต่างออกไปพอสมควร
คุณคิดวิธีอื่นๆ ในการเพิ่มชีวิตชีวาให้กับทิวทัศน์สีขาวในฤดูหนาวออกหรือไม่ แบ่งปันภาพถ่ายของคุณได้ที่ My Canon Story แล้วร่วมลุ้นโอกาสในการตีพิมพ์กับเรา!
อ่านเคล็ดลับและเทคนิคเพิ่มเติมเกี่ยวกับการถ่ายภาพฉากที่ปกคลุมไปด้วยหิมะได้ที่:
2 จุดถ่ายภาพฤดูหนาวอันงดงามในฮอกไกโด
วิธีการป้องกันกล้องของคุณสำหรับการถ่ายภาพในสภาพอากาศหนาวเย็น
การผจญภัยในการถ่ายภาพที่ประเทศไอซ์แลนด์กับเอ็ดวิน มาร์ติเนส
รับข่าวสารล่าสุดเกี่ยวกับการถ่ายภาพ รวมถึงเคล็ดลับและกลเม็ดต่างๆ
ร่วมเป็นส่วนหนึ่งของชุมชนชาว SNAPSHOT
ลงทะเบียนตอนนี้!เกี่ยวกับผู้เขียน
นิตยสารรายเดือนที่เชื่อว่าความสุขของการถ่ายภาพจะยิ่งเพิ่มขึ้น เมื่อผู้ถ่ายภาพได้เรียนรู้เกี่ยวกับฟังก์ชั่นต่างๆ ของกล้องมากยิ่งขึ้น นิตยสารเล่มนี้เผยแพร่ข่าวสารเกี่ยวกับกล้องรุ่นใหม่ๆ รวมถึงคุณสมบัติของกล้องและนำเสนอเทคนิคการถ่ายภาพอย่างหลากหลาย
จัดพิมพ์โดย Impress Corporation
Yuki Imaura เป็นช่างภาพทิวทัศน์ เกิดเมื่อปี 1986 ที่จังหวัดไซตามะ เขาเริ่มต้นทำงานบรรณาธิการให้กับนิตยสารหลายฉบับ ปัจจุบันผันตัวเป็นช่างภาพอิสระ และถ่ายภาพทิวทัศน์ธรรมชาติต่างๆ รวมถึงสัตว์ป่าทั่วประเทศญี่ปุ่นอย่างแข็งขัน นอกจากนี้ เขายังเขียนบทความให้กับนิตยสารต่างๆ และเป็นวิทยากรด้านการถ่ายภาพอีกด้วย
Rika เป็นช่างภาพทิวทัศน์ที่เริ่มต้นจากการถ่ายภาพเป็นกิจกรรมยามว่างตั้งแต่ปี 2004 และเริ่มดูแลเว็บไซต์แชร์ภาพถ่ายในปี 2007 เธอเรียนรู้การถ่ายภาพจากช่างภาพทิวทัศน์ธรรมชาติอย่าง Yoshiteru Takahashi ก่อนจะผันตัวเป็นช่างภาพอิสระ นับแต่นั้นมา เธอก็ได้ถ่ายภาพทิวทัศน์หลากหลายรูปแบบทั่วญี่ปุ่น (รวมถึงต่างประเทศด้วย)