พระอาทิตย์ขึ้นและพระอาทิตย์ตก: ถ่ายภาพสตรีทให้ได้ความเปรียบต่างที่น่าทึ่ง
มีเหตุผลหลายข้อว่าทำไมช่างภาพจึงชื่นชอบการถ่ายภาพขณะพระอาทิตย์ขึ้นและตก หนึ่งในนั้นคือความงดงามของดวงอาทิตย์ที่กำลังขึ้นหรือตก และแสงอันสวยงามที่คุณได้ก็เป็นเหตุผลอีกข้อ ต่อไปนี้คือเคล็ดลับในการวางแผนและการตัดสินใจจากช่างภาพสองท่านที่ช่วยให้ภาพถ่ายมีความเปรียบน่าตื่นตาตื่นใจ (เรื่องโดย Kazuyuki Okajima, Takashi Karaki, Kazuo Nakahara, Digital Camera Magazine)
ฉาก 1: เงาบนทางเท้าในยามเย็น
EOS R/ RF24-105mm f/4L IS USM/ FL: 40 มม./ Program AE (f/7.1, 1/400 วินาที, EV±0)/ ISO 100/ WB: เมฆครึ้ม
ภาพและเรื่องโดย: Kazuyuki Okajima
เมื่อมองลงไปยังทางเท้า ผมรู้สึกหลงเสน่ห์ไปกับเงาสวยๆ ทอดยาวซึ่งเกิดจากผู้คนที่เดินผ่านไปมา แล้วผมก็ตัดสินใจถ่ายภาพ เมื่อมองผ่าน EVF ฉากนี้กลับดูไม่ค่อยมีชีวิตชีวาเท่าใดนัก ผมจึงปรับเปลี่ยนการตั้งค่าบางอย่างและรอจนกระทั่งองค์ประกอบในเฟรมเกิดเป็นภาพที่น่าประทับใจ
1. ถ่ายภาพในขณะที่ไม่มีเงามากจนเกินไป
หากส่วนประกอบต่างๆ ในองค์ประกอบภาพของคุณรวมกันแล้วไม่มีความพอดี ไม่ว่าคุณจะเพิ่มความเปรียบต่างในการตั้งค่า รูปแบบภาพ เพียงเท่าใด ก็ไม่สามารถทำให้ภาพดูดีได้ ในภาพนี้ ผมรอจนกระทั่งได้ทั้งสภาวะแสงและจังหวะเวลาที่ทำให้เงามีความโดดเด่นอย่างน่าประทับใจ ความเข้มของแสงนั้นขึ้นอยู่กับสภาพอากาศ และความยาวของเงาก็ขึ้นอยู่กับช่วงเวลาของวัน สถานที่ที่คุณใช้ถ่ายภาพก็มีความสำคัญเช่นกัน
เงามากเกินไป: ภาพดูรกตา
สภาวะแสงน้อยและไม่สม่ำเสมอ: เงาดูไม่โดดเด่น
2. ใช้ EVF ช่วยในการปรับสีและความเปรียบต่าง
สำหรับภาพนี้ ผมพยายามเลือกใช้การตั้งค่าที่ช่วยให้ผมได้ภาพที่เหมือนกับสิ่งที่มองเห็นด้วยตาเปล่า ซึ่งในภาพนี้นั้น:
- รูปแบบภาพ (เน้นรายละเอียด): ช่วยในการแสดงรูปร่างของเงาและรายละเอียดบนพื้นผิวของทางเท้าได้อย่างชัดเจน
- สมดุลแสงขาว (เมฆครึ้ม): ดึงเอาความอบอุ่นของแสงออกมาได้มากกว่าการตั้งค่า AWB (เน้นบรรยากาศ) และสมดุลแสงขาว (แสงแดด)
ภาพที่คุณเห็นใน EVF ซึ่งเหมือนกับสิ่งที่มองเห็นด้วยตาเปล่าช่วยให้ปรับโทนสีภาพได้ง่ายขึ้น
รูปแบบภาพ (เน้นรายละเอียด)
สมดุลแสงขาว (เมฆครึ้ม)
เคล็ดลับ: เอฟเฟ็กต์ที่ได้จากพารามิเตอร์บางชนิดของรูปแบบภาพ (เช่น ‘ความเปรียบต่าง’) จะสามารถมองเห็นได้ใน EVF หรือ Live View แต่พารามิเตอร์อื่น เช่น ‘ความคมชัด’ จะมองเห็นได้ยากกว่า คุณจึงควรทำความคุ้นเคยว่าผลที่ได้จากพารามิเตอร์แต่ละแบบเป็นอย่างไร
คุณอาจสนใจอ่านบทความนี้:
เทคนิคในการใช้รูปแบบภาพเพื่อยกระดับการถ่ายภาพทิวทัศน์
ฉาก 2: สะพานสูงชันตัดกับพระอาทิตย์เจิดจ้า
EOS-1D X/ EF100-400mm f/4.5-5.6L IS II USM + Extender EF2xIII/ FL: 800 มม./ Manual exposure (f/11, 1/320 วินาที, EV±0)/ WB: อัตโนมัติ
ภาพและเรื่องโดย: Takashi Karaki
นี่คือสะพานเอชิมะ (ฉบับภาษาอังกฤษ) ซึ่งเป็นที่รู้จักกันในอีกชื่อหนึ่งว่า “Betabumi-zaka” (ทางชันที่ต้องเหยียบคันเร่งจนมิด) หรือ “สะพานรถไฟเหาะ” เนื่องจากความลาดชันในระดับสูงสุด สะพานนี้มีชื่อเสียงมากหลังจากปรากฏในโฆษณารถยนต์ทางโทรทัศน์ เพื่อเน้นให้เห็นความชันอันเหลือเชื่อ ผมจึงตัดสินใจใช้ประโยชน์จากเอฟเฟ็กต์การบีบมุมมองภาพของเลนส์ซูเปอร์เทเลโฟโต้ การจะถ่ายภาพให้ออกมาดีนั้นจำเป็นต้องมีการวางแผนสักเล็กน้อย
1. ใช้แอพเพื่อช่วยในการเลือกสถานที่ถ่ายภาพที่ดีที่สุด จากนั้นจึงไปสำรวจสถานที่
สิ่งสำคัญข้อหนึ่งในการถ่ายภาพคือ ต้องรู้ว่าเมื่อใดพระอาทิตย์จะอยู่ในตำแหน่งเหนือสะพานเมื่อมองจากจุดถ่ายภาพที่ผมเลือก
ผมใช้แอพ Sun Surveyor ซึ่งไม่เพียงแต่ช่วยบอกเวลาพระอาทิตย์ขึ้นเท่านั้น แต่ยังบอกตำแหน่งของพระอาทิตย์ในสถานที่และเวลาต่างๆ ด้วย
การสำรวจสถานที่ก่อนทำการถ่ายภาพจริงเป็นสิ่งที่สำคัญมากเช่นกัน เพราะจะช่วยทำให้ผมมั่นใจว่าอยู่ในจุดที่ถูกต้องพร้อมด้วยอุปกรณ์ที่เหมาะสมเพื่อจัดเฟรมภาพตามที่ผมต้องการได้ เดิมทีผมตั้งใจจะถ่ายภาพจากไหล่สะพาน แต่คิดได้ว่าฝั่งตรงข้ามเป็นตำแหน่งที่ดีกว่า
2. คาดคะเนตำแหน่งของดวงอาทิตย์และถ่ายภาพในเวลาที่เหมาะสม
หากพูดถึงเรื่องความสวยงาม สิ่งที่สำคัญที่สุดของการถ่ายภาพนี้คือ ต้องแน่ใจว่าส่วนที่สูงที่สุดของสะพานอยู่ในแนวเดียวกันกับดวงอาทิตย์อย่างเหมาะเจาะ แม้ว่าแอพจะบอกคุณได้่ว่าดวงอาทิตย์จะอยู่ในตำแหน่งใด ณ เวลาที่คุณต้องการ แต่ความจริงแล้ว ดวงอาทิตย์จะเคลื่อนตัวไปทางขวาเล็กน้อยในขณะที่กำลังขึ้น ระหว่างการถ่ายภาพ ผมจึงค่อยๆ ขยับไปทางขวาอย่างช้าๆ เพื่อรักษาเฟรมภาพเดิมไว้
เคล็ดลับ: จะเป็นการดีหากคุณมีขาตั้งกล้องที่ขยับหัวได้ เพราะจะช่วยให้คุณเปลี่ยนองค์ประกอบภาพเป็นแนวตั้งหรือแนวนอนได้อย่างง่ายดาย
ผมถ่ายภาพนี้ทันทีหลังจากพระอาทิตย์โผล่พ้นขอบฟ้า และพระอาทิตย์ถูกตัวสะพานบังไว้
3. อุปกรณ์: EF100-400mm f/4.5-5.6L IS II USM+ Extender EF2xIII
เนื่องจากผมต้องการให้ถ่ายภาพสะพานได้เต็มเฟรม ผมจึงใช้เลนส์ EF100-400mm f/4.5-5.6L IS II USM กับท่อต่อเลนส์ 2 เท่าเพื่อให้ถ่ายภาพได้ที่ระยะสูงสุด 800 มม. การทำเช่นนี้จะช่วยให้ได้เอฟเฟ็กต์การบีบมุมมองภาพที่ชัดเจน ซึ่งส่งผลต่ออารมณ์ภาพได้มากขึ้น
ผมชอบเลนส์รุ่นนี้เพราะมีความละเอียดสูง แม้แต่ตัวแบบที่อยู่ไกล ก็ยังสามารถแสดงรายละเอียดได้ชัดเจนมาก
4. ระวังการเกิดแสงสว่างโพลน!
สำหรับภาพนี้ ผมระมัดระวังเรื่องระดับแสงเป็นพิเศษเพื่อไม่ให้เกิดแสงสว่างโพลนบนดวงอาทิตย์
ข้อควรรู้: วิธีการอ่านฮิสโตแกรม
ในฉากที่มีความเปรียบต่างสูง เช่น เมื่อคุณถ่ายภาพเงาหรือดวงอาทิตย์ สิ่งสำคัญคือคุณต้องแน่ใจว่าจะไม่สูญเสียรายละเอียดมากเกินไปในพื้นที่มืดหรือสว่าง ฮิสโตแกรมของคุณจะแสดงการกระจายตัวของพิกเซลสีดำ โทนกลาง และสีขาวในภาพ และจะช่วยบอกได้ว่าคุณจำเป็นต้องปรับค่าการเปิดรับแสงหรือไม่ ต่อไปนี้คือเทคนิคการอ่านฮิสโตแกรม
เคล็ดลับ: หากคุณถ่ายภาพด้วย EVF หรือใน Live View คุณสามารถแสดงฮิสโตแกรมเป็นภาพซ้อนได้ขณะถ่ายภาพ
แสงสว่างโพลน
ส่วนที่สว่างหลายจุดทำให้ฮิสโตแกรมค่อนข้างเอียงไปทางขวา มีพิกเซลอยู่ทางด้านขวาสุด (สีขาวล้วน) ซึ่งบ่งบอกว่าอาจมีรายละเอียดที่หายไปในส่วนที่สว่าง
ระดับแสงที่เหมาะสม
ในภาพนี้ พิกเซลส่วนใหญ่จะอยู่ตรงกลาง ส่วนสูงสุดที่อยู่ทางซ้ายมือสะท้อนส่วนที่เป็นเงาในใบไม้ แต่ไม่มีพิกเซลอยู่ในด้านขวาหรือซ้ายสุดเลย ซึ่งแสดงให้เห็นว่าไม่มีส่วนที่มืดเกินไปหรือส่วนสว่างโพลนภายในภาพ
ส่วนที่มืดเกินไป
ภาพโดยรวมดูมืด ซึ่งเป็นสาเหตุว่าทำไมฮิสโตแกรมจึงเอียงไปทางซ้าย มีพิกเซลอยู่ทางด้านซ้ายสุด (สีดำล้วน) ซึ่งบ่งบอกว่าอาจมีรายละเอียดที่หายไปในส่วนที่เป็นเงา
ข้อควรรู้: เป็นเรื่องปกติสำหรับบางฉากที่จะมีสีดำหรือขาวมากเกินไป
ยกตัวอย่างเช่น หากคุณถ่ายภาพหิมะหรือภาพพอร์ตเทรตที่แสดงอารมณ์ในสภาวะแสงน้อยหน้าแบ็คกราวด์สีดำ คุณจะได้เห็นระดับของสีขาวหรือดำที่สูงในฮิสโตแกรม แต่หากคุณไม่ต้องการให้ฉากดูสุดขั้วจนเกินไป คุณอาจต้องปรับระดับแสงตามความเหมาะสม
เรียนรู้เพิ่มเติมเกี่ยวกับการถ่ายภาพแสงและเงาได้ที่:
การถ่ายภาพอาหารในสไตล์ Chiaroscuro ให้ดูน่าตื่นตาตื่นใจ
ดูข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับการถ่ายภาพขณะพระอาทิตย์ขึ้นและตกได้ที่:
ภาพที่ชวนระลึกถึงบรรยากาศยามเย็น – ถ่ายทอดบรรยากาศยามเย็นด้วยแสงและเงา
ถ่ายภาพสีสันสดใสและร้อนแรงของพระอาทิตย์ยามรุ่งอรุณ
วิธีการถ่ายภาพนี้: ช่วงเวลาทองบนท้องถนน
รับข่าวสารล่าสุดเกี่ยวกับการถ่ายภาพ รวมถึงเคล็ดลับและกลเม็ดต่างๆ
ร่วมเป็นส่วนหนึ่งของชุมชนชาว SNAPSHOT
ลงทะเบียนตอนนี้!เกี่ยวกับผู้เขียน
นิตยสารรายเดือนที่เชื่อว่าความสุขของการถ่ายภาพจะยิ่งเพิ่มขึ้น เมื่อผู้ถ่ายภาพได้เรียนรู้เกี่ยวกับฟังก์ชั่นต่างๆ ของกล้องมากยิ่งขึ้น นิตยสารเล่มนี้เผยแพร่ข่าวสารเกี่ยวกับกล้องรุ่นใหม่ๆ รวมถึงคุณสมบัติของกล้องและนำเสนอเทคนิคการถ่ายภาพอย่างหลากหลาย
จัดพิมพ์โดย Impress Corporation
เกิดที่เมืองฮอกไกโดในปี 1982 Nakahara ผันเข้าสู่วงการถ่ายภาพหลังจากทำงานในบริษัทผลิตสารเคมี เขาถ่ายภาพที่ Vantan Design Institute เป็นหลักและเป็นผู้บรรยายในเวิร์คช็อปและสัมมนาด้านการถ่ายภาพ นอกเหนือจากการทำงานถ่ายภาพโฆษณา เขายังเป็นหนึ่งในผู้ดำเนินงานเว็บไซต์ที่ให้ข้อมูลด้านการถ่ายภาพอย่าง studio9 อีกด้วย
Kazuyuki Okajima เกิดเมื่อปี 1967 ที่เมืองฟุกุโอกะ และจบการศึกษาจาก Tokyo School of Photography (ปัจจุบันชื่อ: Tokyo Visual Arts) หลังจากทำงานเป็นผู้ช่วยในสตูดิโอและผู้ช่วยช่างภาพ เขาก็ผันตัวมาเป็นช่างภาพอิสระ นอกจากจะทำงานเป็นช่างภาพโฆษณาและนิตยสารแล้ว เขายังเดินทางไปทั่วโลกเพื่อถ่ายภาพมากมายที่สามารถถ่ายทอดอารมณ์ได้อย่างลึกซึ้งราวกับบทกวี อีกทั้งยังตีพิมพ์สิ่งพิมพ์มากมาย รวมถึงคอลเลคชั่นภาพถ่ายที่มีชื่อว่า Dingle และจัดนิทรรศการแสดงผลงานมาแล้วหลายครั้ง รวมถึง “The Light and Wind of Dingle,” “Shio-sai” (Tidal Tints) และ “Let’s Go to School”
หลังจากผ่านประสบการณ์การเป็นโค้ชกีฬา ต่อด้วยการทำงานในแวดวงการผลิตนิตยสารและบรรณาธิการมาเป็นเวลา 10 ปี Karaki ก็ย้ายไปยังเมืองโยนาโงะในจังหวัดท็อตโตริ ซึ่งเขาได้กลายเป็นที่รู้จักจากผลงานการถ่ายภาพทิวทัศน์ในภูมิภาคซันอินของญี่ปุ่น ผลงานของเขาได้รับการตีพิมพ์ใน จุลสาร Amazing Village ซึ่งมีเนื้อหาเกี่ยวกับหมู่บ้านสวยๆ ในญี่ปุ่นที่จัดทำขึ้นภายใต้โครงการความร่วมมือ CANON × Discover Japan ในปี 2017 และภาพทะเลหมอกที่ช่องเขาอาเคชิในจังหวัดท็อตโตริก็เป็นหนึ่งใน 12 ภาพที่ได้รับคัดเลือกจากการท่องเที่ยวแห่งประเทศญี่ปุ่น (JNTO) ให้เป็นตัวแทนของญี่ปุ่น
Instagram: @karakky0918