ช่วงเวลาทองเป็นช่วงเวลามหัศจรรย์ก่อนดวงทิตย์ตก (หรือหลังดวงอาทิตย์ขึ้น) เมื่อทุกสิ่งทุกอย่างเปล่งประกายท่ามแสงนุ่มนวลและอบอุ่น คุณไม่จำเป็นต้องขับรถไปไกลถึงต่างจังหวัดหรือริมทะเลเพื่อถ่ายภาพน่าประทับใจ ซึ่งต่างจากที่เห็นได้ในหลายๆ ภาพ ช่างภาพรายหนึ่งจะมาแบ่งปันวิธีที่เขาใช้ถ่ายภาพนี้ขณะเดินทางบนท้องถนน (เรื่องโดย: Haruki)
EOS 5D Mark III/ EF70-300mm f/4-5.6L IS USM/ FL: 120มม./ Aperture-priority AE (f/11, 1/3,200 วินาที, EV±0)/ ISO 400/ WB: การใช้แฟลช
ผมบังเอิญพบดวงอาทิตย์ที่กำลังลับขอบฟ้าครั้งนี้ขณะเดินทางกลับที่พักช่วงเย็นวันหนึ่งในออสเตรเลีย โทนสีทองเจิดจ้าของท้องฟ้าทางตะวันตก ตลอดจนบรรดารถยนต์ที่กำลังมุ่งหน้ากลับบ้าน ล้วนชวนให้นึกถึงการหมดวันไปอีกวันหนึ่ง
ขั้นตอนที่ 1: ใช้ทางยาวโฟกัสยาวเพื่อให้องค์ประกอบภาพดูเป็นระเบียบ
ภาพนี้ถ่ายจากที่นั่งผู้โดยสารด้านหน้า ผมต้องการจัดองค์ประกอบภาพที่มีองค์ประกอบต่อไปนี้:
- ระยะห่างระหว่างรถที่ผมนั่งอยู่กับรถยนต์คันข้างหน้า (ตัวแบบหลักที่เป็นเป้าหมาย) และ
- ทิวทัศน์โดยรอบ (รวมถึงดวงอาทิตย์และไฟจราจร)
เพื่อให้การจัดองค์ประกอบภาพได้ผล ผมเลือกทางยาวโฟกัสเทเลโฟโต้ระดับกลางที่ 120 มม. ซึ่งจะดึงท้องฟ้าและดวงอาทิตย์เข้ามามากพอที่จะให้น้ำหนักทางสายตาในปริมาณพอเหมาะ และยังช่วยป้องกันไม่ให้ภาพรกเกินไป เอฟเฟ็กต์การบีบภาพทำให้ระยะห่างระหว่างรถยนต์กับท้องฟ้าดูงดงามไร้ที่ติ
เลนส์ที่ใช้: EF70-300mm f/4-5.6L IS USM
เมื่อต้องเดินทางระยะไกล คุณคงไม่สามารถนำอุปกรณ์ทุกอย่างติดตัวไปได้ หากต้องการเลนส์ที่ใช้ได้สารพัดประโยชน์ ควรเลือกเลนส์ซูม เลนส์ซูมเทเลโฟโต้นี้ให้เอฟเฟ็กต์โคลสอัพอันน่าทึ่งด้วยทางยาวโฟกัสสูงสุด 300 มม. ซึ่งเหมาะสำหรับการถ่ายภาพฉากหลากหลายรูปแบบ
คุณอาจสนใจอ่านบทความนี้:
อะไรคือข้อแตกต่างระหว่างเลนส์เทเลโฟโต้ 200 มม. และ 300 มม.
ขั้นตอนที่ 2: ใช้ความเร็วชัตเตอร์สูงๆ และรูรับแสงแคบ
เนื่องจากผมถ่ายภาพตัวแบบที่เคลื่อนไหว (รถยนต์คันหน้า) ขณะที่ตัวเองอยู่บนรถที่เคลื่อนที่ ผมจำเป็นต้องใช้ความเร็วชัตเตอร์สูงมากเพื่อให้ได้ภาพที่คมชัด ผมยังต้องการให้ทั้งภาพอยู่ในโฟกัสไปจนถึงต้นปาล์มในส่วนแบ็คกราวด์เช่นกัน
ดังนั้น ผมจึงใช้ f/11 ในโหมด Aperture-priority AE ซึ่งให้ความเร็วชัตเตอร์ 1/3,200 วินาที ซึ่งเป็นสมดุลที่ดีระหว่างระยะชัดลึกกับความเร็วชัตเตอร์ ทำให้ถ่ายภาพได้อย่างคมชัดโดยที่ไม่เห็นปัญหากล้องสั่น
การถ่ายภาพจากที่นั่งผู้โดยสารด้านหน้า
ระยะห่างถึงรถคันหน้าอยู่ที่ประมาณ 20 ถึง 30 เมตร ขณะนั่งบนที่นั่งผู้โดยสารด้านหน้าของรถมินิแวน ซึ่งสูงกว่าเล็กน้อยเมื่อเทียบกับรถข้างหน้าเรา ผมเตรียมเลนส์เทเลโฟโต้ไว้พร้อมและรอโอกาสเหมาะๆ ที่จะลั่นชัตเตอร์
ขั้นตอนที่ 3: ใช้ WB ‘แสงแฟลช’ เพื่อเพิ่มความเข้มข้นของโทนสีทอง
ไฮไลต์ของภาพนี้คือ ดวงอาทิตย์สีทองก่อนลับขอบฟ้าและลักษณะที่แสงอันอบอุ่นอาบไล้ทุกสิ่งทุกอย่าง เพื่อถ่ายทอดโทนสีที่โดดเด่นให้สวยงามยิ่งกว่าที่ผมเห็นเบื้องหน้า ผมเลือกการตั้งค่าสมดุลแสงขาว ‘ใช้แฟลช’ ซึ่งเพิ่มความเข้มข้นของโทนสีเหลือง คุณสามารถใช้ ‘เมฆครึ้ม’ หรือ ‘แสงในร่ม’ ได้เช่นกัน แต่ ‘ใช้แฟลช’ (หรือ ‘แสงแฟลช’ บนกล้องบางรุ่น) ให้เอฟเฟ็กต์ที่ชัดเจนที่่สุด
สิ่งที่ไม่ต้องใช้: AWB
การตั้งค่าสมดุลแสงขาวอัตโนมัติ (AWB) จะลบล้างโทนสีอุ่น ซึ่งส่งผลให้ได้ภาพที่ไม่ค่อยสื่อถึงมนต์เสน่ห์แห่งช่วงเวลาทอง
สำหรับเคล็ดลับเพิ่มเติมเกี่ยวกับการถ่ายภาพยามเย็น โปรดดูที่:
ถ่ายทอดบรรยากาศยามเย็นด้วยแสงและเงา
การตัดสินใจในการถ่ายภาพทิวทัศน์: ถ่ายยามเช้าหรือยามเย็นดีกว่ากัน
รับข่าวสารล่าสุดเกี่ยวกับการถ่ายภาพ รวมถึงเคล็ดลับและกลเม็ดต่างๆ
ร่วมเป็นส่วนหนึ่งของชุมชนชาว SNAPSHOT
ลงทะเบียนตอนนี้!
เกี่ยวกับผู้เขียน
นิตยสารรายเดือนที่เชื่อว่าความสุขของการถ่ายภาพจะยิ่งเพิ่มขึ้น เมื่อผู้ถ่ายภาพได้เรียนรู้เกี่ยวกับฟังก์ชั่นต่างๆ ของกล้องมากยิ่งขึ้น นิตยสารเล่มนี้เผยแพร่ข่าวสารเกี่ยวกับกล้องรุ่นใหม่ๆ รวมถึงคุณสมบัติของกล้องและนำเสนอเทคนิคการถ่ายภาพอย่างหลากหลาย
จัดพิมพ์โดย Impress Corporation
เกิดเมื่อปี 1959 ที่ฮิโรชิมา Haruki เป็นช่างภาพและผู้กำกับภาพ เขาจบการศึกษาจากคณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัย Kyushu Sangyo และร่วมงานในกิจกรรมเกี่ยวกับงานถ่ายภาพพอร์ตเทรตสำหรับสื่อเป็นหลัก ทั้งงานโฆษณา นิตยสาร และดนตรี