การจัดองค์ประกอบเฟรมภาพซิลูเอตต์: วิธีสร้างความโดดเด่นให้กับแสง เงา ความเปรียบต่าง ความลึก และเฟรมธรรมดาๆ
หนึ่งในบททดสอบสายตาของช่างภาพที่สำคัญที่สุดคือการถ่ายฉากธรรมดาๆ ให้กลายเป็นภาพที่น่าสนใจได้ทันที โดยไม่ต้องใช้แสงเทียม การปรับแต่งภาพ หรือเอฟเฟ็กต์พิเศษใดๆ ซึ่งในจุดนี้เองที่เทคนิคการจัดองค์ประกอบภาพและความสามารถในการใช้ประโยชน์จากแสง เงา ความเปรียบต่าง และแนวเส้นจะมีประโยชน์ ช่างภาพสตรีทรายหนึ่งจะมาวิเคราะห์ภาพถ่ายของเธอและบอกเล่าเรื่องราวศิลปะเบื้องหลังภาพถ่ายผ้าที่ตากไว้นี้ ลองใช้เทคนิคเหล่านี้เมื่อคุณเดินถ่ายภาพในครั้งต่อไป (เรื่องโดย: Ikuko Tsurumaki, Digital Camera Magazine)
EOS M100/ EF-M11-22 f/4-5.6 IS STM/ FL: 11 มม. (เทียบเท่า 18 มม.)/ Aperture-priority AE (f/8, 1/800 วินาที, EV -0.3)/ ISO 100/ WB: แสงในร่ม
แบ็คกราวด์
ฉันถ่ายภาพนี้ระหว่างที่เดินเล่นไปตามถนนเก่าแก่แปลกตาย่านที่พักอาศัยในกรุงเวนิส ประเทศอิตาลี ภาพผ้าที่ตากไว้ระหว่างอาคารสองหลังชวนให้ฉันรู้สึกโหยหาอดีต ส่วนเงาที่เด่นชัดซึ่งเกิดจากแสงแดดจ้าในฤดูร้อนยิ่งทำให้ฉากดูน่าประทับใจขึ้น แม้ว่าภาพนี้ดูธรรมดามาก แต่ก็สื่อถึงเรื่องราวชีวิตประจำวันในฤดูร้อนของเวนิสได้อย่างน่าสนใจจนฉันอดไม่ได้ที่จะถ่ายภาพนี้ไว้
ความท้าทาย
ตัวแบบที่ดูธรรมดาอย่างราวตากผ้ามักถูกมองข้ามไปได้ง่ายๆ เพราะเป็นสิ่งของทั่วไป ฉันต้องทำให้ราวตากผ้าเป็นจุดรวมความสนใจของภาพ และเงามืดของอาคารที่ทอดลงบนถนนก็เป็นเครื่องมือที่ดีเยี่ยม
ตัวเลือกทางยาวโฟกัส: ทำไมต้องใช้มุมกว้างอัลตร้าไวด์
หลักๆ แล้วฉันตั้งใจที่จะแสดงให้เห็นถึงลักษณะการตากผ้าพวกนั้น ฉันอยากถ่ายอาคารรอบๆ เพราะมีความสำคัญต่อบริบทของภาพ แต่ฉันก็ต้องการให้อย่างน้อยผ้าที่ตากไว้ดูเด่นไม่แพ้กัน
ดังนั้นฉันจึงใช้ทางยาวโฟกัสต่างๆ กันเพื่อลองหาทางยาวที่สามารถถ่ายผ้าที่ตากไว้ให้ดูใหญ่และคมชัด แต่ยังคงสื่อถึงบริบทโดยรอบอยู่ ท้ายที่สุดแล้ว มุมรับภาพที่ดีที่สุดคือที่สุดฝั่งมุมกว้างของเลนส์ซูมมุมกว้าง ซึ่งเป็นฝั่งมุมกว้างที่สุดของเลนส์ซูมมุมกว้างของฉันและถ่ายภาพแบบฟูลเฟรม 35 มม. ได้เทียบเท่ากับทางยาวโฟกัส 18 มม. มุมกว้างอัลตร้าไวด์จะช่วยเพิ่มมุมมองเปอร์สเป็คทีฟและสร้างความลึก ดังที่เราจะได้เห็นในภายหลังในบทความนี้
การจัดองค์ประกอบเฟรมภาพซิลูเอตต์คืออะไร
หากในฉากมีเงามืด การจัดวางเงาไว้ที่ขอบภาพจะสร้างเอฟเฟ็กต์กรอบภาพ เทคนิคการจัดองค์ประกอบภาพแบบนี้สามารถเพิ่มความโดดเด่นให้กับตัวแบบที่อาจกลืนหายไปกับทิวทัศน์ส่วนที่เหลือ
วิธีที่ฉันใช้เทคนิคนี้
A: จัดวางเงาจากอาคารให้ล้อมรอบตัวแบบ
B: จัดวางตัวแบบให้อยู่ตรงกลางเพื่อดึงดูดความสนใจของผู้ชม
C: ใช้แนวเส้นที่เกิดจากถนนเพื่อสร้างความลึก
D: เส้นทแยงมุมที่แยกแสงและเงาออกจากกันจะเพิ่มความลึกให้มากขึ้น
A: จัดวางเงาจากอาคารให้ล้อมรอบตัวแบบ
นี่คือเฟรมภาพซิลูเอตต์ของฉัน ฉันจัดองค์ประกอบภาพให้เงาล้อมรอบตัวแบบทั้ง 3 มุม ในขณะที่ตัวแบบมีแสงแดดส่อง เอฟเฟ็กต์กรอบภาพจะดึงดูดสายตาของผู้ใช้ไปที่ราวตากผ้าตรงกลาง
อย่ากลัวที่จะรวมเงาไว้ให้มากที่สุดในภาพ วิธีนี้จะสร้างความเปรียบต่างที่เด่นชัดขึ้นซึ่งตัดกับพื้นที่ขนาดเล็กที่มีแสงส่องและมีตัวแบบของคุณอยู่ ทำให้ตัวแบบดูเด่นยิ่งขึ้น ผลลัพธ์ที่ได้คือภาพที่น่าประทับใจยิ่งขึ้น
ไม่มีเอฟเฟ็กต์กรอบภาพ
ในภาพนี้มีเงามากเกินไปและไม่ได้เสริมความเด่นให้กับราวตากผ้า ทำให้ภาพนี้ดูเหมือนภาพสแน็ปช็อตทั่วไปที่ไม่น่าประทับใจนัก
B: จัดวางตัวแบบให้อยู่ตรงกลางเพื่อดึงดูดความสนใจของผู้ชม
การจัดวางตัวแบบให้อยู่ตรงกลางหรือใกล้จุดกึ่งกลางของภาพเป็นวิธีที่ตรงที่สุดในการบอกผู้ชมว่า “นี่คือจุดที่ฉันอยากให้คุณมอง” แต่เทคนิคนี้อาจทำให้ได้ภาพที่ดูน่าเบื่อได้ง่ายๆ ในภาพนี้ ความสัมพันธ์ระหว่างตัวแบบหลักกับสภาพแวดล้อมที่ฉันถ่ายด้วยเลนส์มุมกว้างช่วยเพิ่มความน่าสนใจและความหมายมากขึ้นให้กับภาพถ่าย
C: ใช้เส้นนำสายตาที่เกิดจากถนนเพื่อสร้างความลึก
ฉันถ่ายภาพนี้จากสุดปลายถนน โดยตั้งใจหาจุดที่ถนนจะสร้างเส้นนำสายตาแนวทแยงมุม ซึ่งวิธีนี้จะเพิ่มเอฟเฟ็กต์มุมมองเปอร์สเป็คทีฟและทำให้ฉากดูกว้างและมีความลึกมากขึ้น นอกจากนี้ ฉันยังจัดวางภาพซิลูเอตต์ที่เกิดจากราวตากผ้าอีกราวซึ่งอยู่ห่างออกไปบนถนนในจุดที่เป็นจุดรวมสายตา วิธีนี้จะรวมองค์ประกอบภาพทั้งหมดเข้าด้วยการและทำให้เกิดสมดุล
คุณอาจสนใจอ่านบทความนี้:
ภาพโคลสอัพระยะ 24 มม.: 3 แบบฝึกหัดง่ายๆ เพื่อฝึกใช้มุมมองเปอร์สเปคทีฟมุมกว้างให้ชำนาญ
D: เส้นทแยงมุมที่แยกแสงและเงาออกจากกันจะเพิ่มความลึกให้มากขึ้น ภาพมีข้อความ
ทิศทางของแสงแดดทำให้แนวอาคารอยู่ฝั่งตรงข้ามกับแสงแดด พร้อมทั้งทอดเงาทึบลงบนถนนตรงหน้าฉัน ซึ่งสร้างความเปรียบต่างสูงมากในเฟรม ขณะที่ฉันจัดเฟรมภาพเพื่อให้เงาเป็นกรอบล้อมราวตากผ้า ฉันก็ปรับการจัดองค์ประกอบภาพเพื่อให้ส่วนที่สว่างและส่วนที่เป็นเงากินพื้นที่ของภาพอย่างละครึ่งตามแนวเส้นทแยงมุม และเส้นนี้ยังช่วยเพิ่มความลึกและมิติให้กับภาพอีกด้วย
ศึกษาเคล็ดลับเพิ่มเติมเกี่ยวกับวิธีเปลี่ยนฉากธรรมดาๆ ในชีวิตประจำวันให้ดูพิเศษได้ที่:
วิธีการถ่ายภาพภาพสิ่งของธรรมดาให้ดูน่าทึ่ง
การจัดแสงธรรมชาติ: เพิ่มเงาเพื่อเน้นทางกลับบ้านให้ดูโดดเด่น
ภาพทิวทัศน์เทเลโฟโต้: ถ่ายทอดความสงบนิ่งตัดกับการเคลื่อนไหว
พระอาทิตย์ขึ้นและพระอาทิตย์ตก: ถ่ายภาพสตรีทให้ได้ความเปรียบต่างที่น่าทึ่ง
ดูแนวคิดการถ่ายภาพสตรีทที่สำคัญเพิ่มเติมได้ใน:
ควรใช้สีสันอย่างไรเพื่อดึงความสนใจไปที่ตัวแบบ
ทฤษฎีเกสตัลท์ในการถ่ายภาพสตรีท
รับข่าวสารล่าสุดเกี่ยวกับการถ่ายภาพ รวมถึงเคล็ดลับและกลเม็ดต่างๆ
ร่วมเป็นส่วนหนึ่งของชุมชนชาว SNAPSHOT
ลงทะเบียนตอนนี้!เกี่ยวกับผู้เขียน
นิตยสารรายเดือนที่เชื่อว่าความสุขของการถ่ายภาพจะยิ่งเพิ่มขึ้น เมื่อผู้ถ่ายภาพได้เรียนรู้เกี่ยวกับฟังก์ชั่นต่างๆ ของกล้องมากยิ่งขึ้น นิตยสารเล่มนี้เผยแพร่ข่าวสารเกี่ยวกับกล้องรุ่นใหม่ๆ รวมถึงคุณสมบัติของกล้องและนำเสนอเทคนิคการถ่ายภาพอย่างหลากหลาย
จัดพิมพ์โดย Impress Corporation
เกิดที่โตเกียวในปี 1972 Tsurumaki เริ่มเรียนรู้การถ่ายภาพในระหว่างที่ทำงานในบริษัทโฆษณา และผันตัวมาเป็นช่างภาพหลังจากผ่านการเป็นผู้ช่วยช่างภาพระยะหนึ่ง ปัจจุบัน เธอมีส่วนร่วมในกิจกรรมต่างๆ ได้แก่ การถ่ายภาพนิตยสาร การเขียนบทความ และกำกับการถ่ายภาพการบรรยายและสัมมนาต่างๆ