ภาพแนวสตรีทที่น่าทึ่งที่สุดให้ความแตกต่างในการมองสิ่งที่เราพบเห็นทั่วไปในทุกๆ วัน ในบทความนี้ เราจะมาเผยไอเดียในการสร้างสรรค์ภาพถ่ายตัวแบบที่ดูธรรมดาให้โดดเด่นไม่ซ้ำใคร (เรื่องโดย: Ikuko Tsurumaki, Kazuo Nakahara)
EOS 5D Mark III/ EF16-35mm f/2.8L II USM/ FL: 24 มม./ Aperture-priority AE (f/2.8, 1/125 วินาที, EV±0)/ ISO 10000/ WB: 5,700K
ภาพโดย Kazuo Nakahara
บางครั้ง คุณจะพบมุมที่น่าสนใจในสถานที่ที่ไม่คาดคิดมากที่สุด วันหนึ่งขณะที่ผมนั่งผ่อนคลายในร้านกาแฟ ผมเหลือบมองสมาร์ทโฟนของตัวเองบนโต๊ะ และพบว่ามันได้กลายเป็นหน้าต่างสู่โลกใหม่ หรือต้องบอกว่าเป็นโลกใต้น้ำของตู้ปลาที่อยู่ใกล้เคียง ซึ่งสะท้อนภาพบนหน้าจอ
ไอเดียที่ 1: มองหาภาพสะท้อนในวัตถุที่คาดไม่ถึง
การจัดวางสิ่งของเคียงข้างกันอย่างแปลกตาจะสร้างความน่าสนใจ
การเห็นโลกอีกใบหนึ่งสะท้อนอยู่บนวัตถุธรรมดาทั่วๆ ไปให้ความรู้สึกค่อนข้างเหนือจริง ถ้วยกาแฟข้างๆ สมาร์ทโฟนก็อยู่ในภาพสะท้อนเช่นกัน ซึ่งเป็นการจัดวางวัตถุที่ดูไม่เข้ากันให้อยู่ร่วมกันอย่างมีเสน่ห์จนผมต้องถ่ายภาพเก็บไว้ ดังนั้น ผมจึงถ่ายภาพโดยใช้มุมกว้างซึ่งช่วยให้ผมเก็บภาพตู้ปลาส่วนใหญ่ไว้ได้
ทำให้ภาพถ่ายสมบูรณ์แบบ
ในการถ่ายภาพลักษณะเช่นนี้ สิ่งสำคัญคือ:
1. จับโฟกัสที่ภาพสะท้อน ใช้ MF หากคุณไม่ได้จุดโฟกัสเมื่อใช้ AF หากคุณจับโฟกัสบนสมาร์ทโฟน คุณจะไม่สามารถถ่ายภาพสะท้อนได้อย่างเหมาะสม
2. หยุดการเคลื่อนไหว ผมเลือกใช้ความเร็วชัตเตอร์ที่สามารถหยุดการเคลื่อนไหวของปลา เพื่อสร้างเอฟเฟ็กต์เหนือจริงที่สมบูรณ์แบบ
ภาพเสีย: ภาพสะท้อน "หายไป" เมื่อคุณจับโฟกัสผิดที่
EOS 5D Mark III/ EF16-35mm f/2.8L II USM/ FL: 35 มม./ Aperture-priority AE (f/2.8, 1/125 วินาที, EV±0)/ ISO 12800/ WB: 5,700K
ภาพโดย Kazuo Nakahara
เนื่องจากผมจับโฟกัสที่สมาร์ทโฟนทั้งเครื่องแทนที่จะจับเฉพาะหน้าจอ ผมจึงไม่ได้ภาพสะท้อนของตู้ปลาและภาพที่ได้กลับเป็นภาพวัตถุบนโต๊ะที่ดูธรรมดาๆ
อ่านบทความต่อไปนี้สำหรับข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับการถ่ายภาพสะท้อน:
เคล็ดลับในการถ่ายภาพสะท้อนบนผิวน้ำ: เพลิดเพลินกับแอ่งน้ำ!
สร้างโลกแห่งความสงบเยือกเย็นด้วยภาพเงาสะท้อนบนผิวน้ำและค่าสมดุลแสงขาว
ไอเดียที่ 2: รวมซับเฟรมไว้ในภาพเพื่อสร้างมุมแทนความรู้สึกของผู้ชม
EOS 5D Mark III/ EF50mm f/1.2L USM/ FL: 50 มม./ Aperture-priority AE (f/2, 1/250 วินาที, EV+0.7)/ ISO 100/ WB: อัตโนมัติ
ภาพโดย Ikuko Tsurumaki
ผมถ่ายภาพรถยนต์วินเทจนี้จากที่นั่งผู้โดยสารด้านหน้าของรถคันข้างหลัง ผมใช้วิธีจัดองค์ประกอบภาพโดยรวมส่วนต่างๆ ของฝากระโปรงรถและขอบหน้าต่างรถที่ผมนั่งอยู่เข้ามาด้วย เพื่อสร้างมุมแทนความรู้สึกของผู้ชม (Subjective)
คุณรู้สึกเหมือนกำลังนั่งอยู่ที่เบาะหน้าไหม นี่คือผลของมุมแทนความรู้สึกของผู้ชม ซึ่งทำให้ผู้ชมเกิดภาพลวงตาว่าตัวเองอยู่ในฉากนั้นๆ ด้วย ไม่ใช่เพียงผู้สังเกตการณ์เท่านั้น การจับเฟรมภาพในลักษณะนี้จะทำให้ภาพดูน่าสนใจและนำเสนอเรื่องราว ซึ่งสร้างจินตนาการให้ผู้ชมได้มาก
คุณอาจสนใจอ่านบทความนี้เช่นกัน:
เทคนิคการถ่ายภาพด้วยเลนส์มาตรฐาน: การใช้มุมมองเพื่อดึงให้คนดูเข้าไปอยู่ในภาพ
EF50mm f/1.8 STM: รีวิวพร้อมเคล็ดลับการจัดองค์ประกอบภาพที่มีประโยชน์
ทำไมช่างภาพมืออาชีพจึงชื่นชอบ EF50mm f/1.4 USM: คุณสมบัติพิเศษและเคล็ดลับการใช้งาน
ทำไมผมจึงเลือกใช้ค่า f/2
สำหรับฉากนี้ ผมเลือกใช้ค่ารูรับแสงที่ค่อนข้างกว้างคือ f/2 ซึ่งมากกว่าความเร็วชัตเตอร์หนึ่งสต็อปจากค่ารูรับแสงกว้างสุดเล็กน้อย นั่นเป็นเพราะ:
- ผมกำลังถ่ายภาพจากรถยนต์ที่กำลังแล่นอยู่และจำเป็นต้องใช้ความเร็วชัตเตอร์สูงๆ
- ผมต้องการถ่ายภาพที่มีโบเก้สวยๆ ในส่วนโฟร์กราวด์โดยใช้เลนส์ 50 มม. และ
- เมื่อทำให้บริเวณรอบๆ รถยนต์วินเทจ (ซึ่งอยู่ในโฟกัส) ดูนุ่มนวลขึ้น ผมจึงสามารถทำให้รถยนต์ดู “โดดเด่น” ได้
ทำให้ภาพถ่ายสมบูรณ์แบบ
การถ่ายภาพขณะกำลังเคลื่อนที่นับเป็นความท้าทาย เนื่องจากสภาวะที่เปลี่ยนแปลงตลอดเวลา ในฉากนี้ ผมตั้งใจที่จะ:
1. หามุมกล้องที่ทำให้รถยนต์วินเทจดูน่าดึงดูดใจ
2. ตรวจดูให้มั่นใจว่าระยะห่างระหว่างรถของผมกับรถยนต์วินเทจไม่มากจนเกินไป และ
3. ถ่ายภาพในจังหวะที่เหมาะที่สุด โดยให้ทิวทัศน์โดยรอบเสริมรถยนต์วินเทจสีฟ้าให้ดูโดดเด่น
นอกจากนี้ ผมยังต้องมั่นใจว่าไม่มีส่วนประกอบใดในส่วนแบ็คกราวด์ที่ดึงความสนใจไปจากภาพ
ภาพเสีย: เมื่อไม่ใช้ซับเฟรม ภาพจะดูน่าเบื่อ
EOS 5D Mark III/ EF50mm f/1.2L USM/ FL: 50 มม./ Aperture-priority AE (f/1.4, 1/1000 วินาที, EV+0.7)/ ISO 100/ WB: อัตโนมัติ
ภาพโดย Ikuko Tsurumaki
ภาพนี้ถ่ายโดยไม่ใช้เอฟเฟ็กต์ซับเฟรมที่เกิดจากหน้าต่างรถยนต์ จึงไม่มีบริบทและคุณไม่สามารถบอกได้ว่าฉากนี้ถ่ายจากภายในรถยนต์อีกคันหนึ่ง เมื่อภาพขาดการบอกเล่าเรื่องราว จึงดูค่อนข้างธรรมดาและไม่น่าสนใจ
อ่านวิธีอื่นๆ ในการสร้างกรอบให้ภาพถ่ายของคุณได้จากบทความนี้
วิธีสร้างกรอบให้ภาพถ่าย
รับข่าวสารล่าสุดเกี่ยวกับการถ่ายภาพ รวมถึงเคล็ดลับและกลเม็ดต่างๆ
ร่วมเป็นส่วนหนึ่งของชุมชนชาว SNAPSHOT
ลงทะเบียนตอนนี้!
เกี่ยวกับผู้เขียน
นิตยสารรายเดือนที่เชื่อว่าความสุขของการถ่ายภาพจะยิ่งเพิ่มขึ้น เมื่อผู้ถ่ายภาพได้เรียนรู้เกี่ยวกับฟังก์ชั่นต่างๆ ของกล้องมากยิ่งขึ้น นิตยสารเล่มนี้เผยแพร่ข่าวสารเกี่ยวกับกล้องรุ่นใหม่ๆ รวมถึงคุณสมบัติของกล้องและนำเสนอเทคนิคการถ่ายภาพอย่างหลากหลาย
จัดพิมพ์โดย Impress Corporation
เกิดที่เมืองฮอกไกโดในปี 1982 Nakahara ผันเข้าสู่วงการถ่ายภาพหลังจากทำงานในบริษัทผลิตสารเคมี เขาถ่ายภาพที่ Vantan Design Institute เป็นหลักและเป็นผู้บรรยายในเวิร์คช็อปและสัมมนาด้านการถ่ายภาพ นอกเหนือจากการทำงานถ่ายภาพโฆษณา เขายังเป็นหนึ่งในผู้ดำเนินงานเว็บไซต์ที่ให้ข้อมูลด้านการถ่ายภาพอย่าง studio9 อีกด้วย
เกิดที่โตเกียวในปี 1972 Tsurumaki เริ่มเรียนรู้การถ่ายภาพในระหว่างที่ทำงานในบริษัทโฆษณา และผันตัวมาเป็นช่างภาพหลังจากผ่านการเป็นผู้ช่วยช่างภาพระยะหนึ่ง ปัจจุบัน เธอมีส่วนร่วมในกิจกรรมต่างๆ ได้แก่ การถ่ายภาพนิตยสาร การเขียนบทความ และกำกับการถ่ายภาพการบรรยายและสัมมนาต่างๆ