การจัดแสงธรรมชาติ: แสงส่องเป็นแนวบนป่าในฤดูใบไม้ร่วง
คุณได้ใช้ความพยายามอย่างเต็มที่ในการค้นหา สังเกต และถ่ายตัวแบบของคุณในสภาพแสงที่สวยงาม แต่คุณทราบหรือไม่ว่าการปรับแต่งขั้นพื้นฐานเพียงเล็กน้อยสามารถทำให้ภาพสวยๆ ของคุณดูดียิ่งขึ้นไปอีก ช่างภาพทิวทัศน์จะมาเล่าให้เราฟังถึงเรื่องราวที่อยู่เบื้องหลังภาพอันน่าตื่นตาตื่นใจของแสงอาทิตย์ที่ส่องลงไปบนป่าสนในฤดูใบไม้ร่วงนี้ (เรื่องโดย: Toshiki Nakanishi, Digital Camera Magazine)
EOS R/ EF100-400mm f/4.5-5.6L IS II USM/ FL: 200 มม./ Flexible-priority AE (f/11, 1/25 วินาที, EV ±0)/ ISO 100/ WB: แสงแดด
เรื่องราวเบื้องหลังภาพนี้
ต้นลาร์ชญี่ปุ่นเป็นต้นสนเพียงสปีชีส์เดียวในญี่ปุ่นที่เปลี่ยนสีในฤดูใบไม้ร่วง และภาพนี้เป็นภาพป่าต้นลาร์ชที่ขึ้นเรียงกันอย่างสวยงามบนเนินเขา
หาแสงให้พบ
เนื่องจากต้นไม้มีความสูงที่แตกต่างกัน ผมจึงตัดสินใจว่าจะหามุมที่แสงแดดจ้าอันอบอุ่นในยามเช้าส่องลงมาจากด้านข้างโดยส่องไปยังต้นไม้ที่สูงที่สุดเท่านั้น มุมนี้ทำให้ภาพดูมีมิติมากขึ้นและทำให้ต้นไม้ที่ถูกแดดส่องดูน่าประทับใจยิ่งขึ้นด้วย
ภาพนี้ถ่ายหลังจากพระอาทิตย์ขึ้นได้ไม่นานในเดือนพฤศจิกายน ซึ่งเป็นเพียงช่วงเวลาเดียวของปีที่มุมของแสงอาทิตย์จะส่องลงไปบนยอดไม้ สภาวะที่เหมาะสมสำหรับการถ่ายภาพเช่นนี้คือวันที่อากาศแจ่มใส มีแดดจ้า และมีหมอกน้อยที่สุด
จังหวะเวลาก็เป็นสิ่งสำคัญเช่นกัน แสงที่ส่องลงมาเป็นแนวแคบๆ นั้นจะคงอยู่เพียงไม่กี่นาทีก่อนจะขยายกว้างขึ้น
ความสำคัญของเงา
เทรนด์ในช่วงนี้คือการใช้เทคนิคช่วงไดนามิกเรนจ์สูง (HDR) เพื่อให้ได้ภาพที่มีความสว่างโดยรวมมากกว่าซึ่งจะแสดงให้เห็นโทนสีเกินกว่าที่ดวงตาของมนุษย์สามารถมองเห็นได้ แต่อย่าลืมว่า พื้นที่ส่วนที่ซ่อนอยู่ในเงาคือสิ่งที่ทำให้ภาพมีความลึก การมีเงาอยู่ในภาพทำให้แสงสว่างโดดเด่นมากขึ้น และแสงก็แสดงให้เราเห็นว่าเงามีความสำคัญเพียงใดเช่นกัน
โดยส่วนตัวแล้ว ผมรู้สึกว่าภาพที่มีส่วนที่คุณมองไม่เห็นนั้นทำให้เกิดจินตนาการได้มากขึ้น
การวิเคราะห์แสงและการเปิดรับแสง
ทิศทางของแสง: แสงจากด้านข้างที่สว่างจ้าจากดวงอาทิตย์หลังพระอาทิตย์ขึ้นซึ่งส่องตรงลงไปบนต้นไม้ที่สูงที่สุด (A) จากทางด้านขวาของเฟรมภาพที่มุม 90 องศา
(A): ต้นไม้ที่สูงที่สุดในป่าที่ได้รับแสงอาทิตย์
(B): ต้นไม้ที่ไม่ได้รับแสงอาทิตย์
เปิดรับแสงให้เหมาะสม: ควบคุมส่วนที่เป็นเงา
เพื่อให้ได้ภาพที่ผมต้องการซึ่งเน้นให้เห็นแนวของแสงในจุด (A) ผมจะต้องเปิดรับแสงในส่วนของต้นไม้ที่ได้รับแสงในจุด (A) และรักษาระดับแสงให้ต่ำในโทนกลางไปจนถึงส่วนเงาในจุด (B)
เป้าหมายในการปรับแต่งภาพ: เพิ่มความมีมิติของต้นไม้ในจุด (A)
การถ่ายภาพในเวลาที่เหมาะสมและเปิดรับแสงให้ต้นไม้ในจุด (A) เป็นเพียงขั้นตอนหนึ่งของการถ่ายภาพนี้เท่านั้น ขั้นตอนถัดมาคือปรับเงาในจุด (B) ให้อยู่ในระดับที่เหมาะสม
ในกระบวนการปรับแต่งภาพ ผมได้ทำการปรับแต่งโดยใช้ Tone Curve ในการเพิ่มไฮไลต์ให้มากขึ้นเล็กน้อยและปรับลดส่วนเงาลงมาให้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้ อาจมีส่วนที่มืดเกินไปได้บ้าง แต่ผมจำเป็นต้องควบคุมไว้ในระดับที่ไม่ทำให้ภาพสูญเสียความมีมิติไป
ขั้นตอนที่ 1: การปรับแต่งโทนสีขั้นพื้นฐาน
ในหน้าจอควบคุมการปรับแต่งขั้นพื้นฐานของซอฟต์แวร์ปรับแต่งภาพ (Lightroom) ผม:
- เพิ่มไฮไลต์และสีขาว
- ลดส่วนที่เป็นเงา
การปรับค่าเช่นนี้จะแยกไฮไลต์และเงาในภาพออกจากกันเพื่อให้ต้นไม้ที่ได้รับแสงแดดในจุด (A) โดดเด่นมากยิ่งขึ้น
ขั้นตอนที่ 2: เพิ่มความเปรียบต่างโดยใช้ Tone Curve
จากนั้นผมจึงเพิ่มความเปรียบต่างเล็กน้อยโดยใช้ Tone Curve
สิ่งสำคัญคือการรักษารายละเอียดในส่วนที่เป็นเงาเอาไว้เล็กน้อยเพื่อให้ภาพยังคงมีการเกลี่ยโทนสีที่มองเห็นได้อยู่
ดูข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับการจัดแสงในการถ่ายภาพทิวทัศน์ได้ที่:
การถ่ายภาพทิวทัศน์ให้งดงามภายใต้สภาวะแสงที่เปลี่ยนแปลงตลอดเวลา
การตัดสินใจในการถ่ายภาพทิวทัศน์: แสงด้านหน้าหรือแสงด้านหลัง
ทำความเข้าใจช่วงไดนามิกเรนจ์: วิธีหลีกเลี่ยงแสงสว่างโพลนที่ไม่จำเป็น
หากต้องการแรงบันดาลใจในการถ่ายภาพทิวทัศน์ อ่านได้ที่:
วิธีการถ่ายภาพนี้: การเพิ่มความพิเศษให้กับภาพทิวทัศน์ในป่าอันกว้างใหญ่
วิธีเมทริกซ์: เพิ่มความหลากหลายให้ภาพถ่ายของคุณด้วยวิธีการที่เป็นระบบ
การจัดแสงธรรมชาติ: ภาพดอกไม้แบบมาโครเทเลโฟโต้ในแสงยามเย็น
รับข่าวสารล่าสุดเกี่ยวกับการถ่ายภาพ รวมถึงเคล็ดลับและกลเม็ดต่างๆ
ร่วมเป็นส่วนหนึ่งของชุมชนชาว SNAPSHOT
ลงทะเบียนตอนนี้!เกี่ยวกับผู้เขียน
นิตยสารรายเดือนที่เชื่อว่าความสุขของการถ่ายภาพจะยิ่งเพิ่มขึ้น เมื่อผู้ถ่ายภาพได้เรียนรู้เกี่ยวกับฟังก์ชั่นต่างๆ ของกล้องมากยิ่งขึ้น นิตยสารเล่มนี้เผยแพร่ข่าวสารเกี่ยวกับกล้องรุ่นใหม่ๆ รวมถึงคุณสมบัติของกล้องและนำเสนอเทคนิคการถ่ายภาพอย่างหลากหลาย
จัดพิมพ์โดย Impress Corporation
เกิดปี 1971 ในโอซาก้า หลังจากศึกษาการถ่ายภาพด้วยตัวเอง Nakanishi ย้ายสถานที่ดำเนินกิจกรรมถ่ายภาพของตนไปยังเมือง Biei ที่อำเภอ Kamikawa-gun ในฮอกไกโด นอกจากถ่ายภาพทิวทัศน์ที่โฟกัสที่แสงเป็นหลักแล้ว เขายังสร้างสรรค์ผลงานที่เน้นถึงความงามของธรรมชาติในจินตนาการอีกด้วย เขามีตำแหน่งเป็นหัวหน้า PHOTO OFFICE ของ atelier nipek