วิธีเมทริกซ์: เพิ่มความหลากหลายให้ภาพถ่ายของคุณด้วยวิธีการที่เป็นระบบ
คุณถ่ายภาพโดยใช้เลนส์เดิม มุมกล้องเดิม จากมุมมองเดิมที่ทำให้ได้ภาพที่แบบเดิมๆ มาตลอดใช่หรือไม่ วิธีหนึ่งที่จะช่วยฝึกการเพิ่มความหลากหลายให้กับภาพถ่ายของคุณคือ วิธีเมทริกซ์ ลองใช้วิธีนี้ดู แล้วคุณจะประหลาดใจกับภาพที่ถ่ายได้ (เรื่องโดย GOTO AKI, Digital Camera Magazine)
ขั้นตอนที่ 1: เริ่มต้นด้วยเมทริกซ์การจัดองค์ประกอบภาพ
คุณอาจได้พบตัวแบบสำหรับการถ่ายภาพที่น่าสนใจ แต่อย่าเพิ่งรีบร้อนถ่ายภาพจากจุดที่คุณอยู่ในทันที! เพราะตำแหน่งที่คุณยืนอยู่อาจไม่ใช่มุมที่ดีที่สุด
เพื่อให้ได้องค์ประกอบภาพที่ดีที่สุด คุณอาจจะอยากลองใช้ทางยาวโฟกัสและมุมถ่ายภาพหลายๆ แบบร่วมกัน ให้คุณสร้างเมทริกซ์ขึ้นมาเพื่อช่วยในการบันทึกว่าคุณได้ลองผสมผสานค่าอะไรไปแล้วบ้าง จุดประสงค์ไม่ใช่เพื่อถ่ายภาพให้สวยงามจากการใช้ค่าต่างๆ ร่วมกัน (แม้ว่าคุณจะสามารถท้าทายตนเองได้หากต้องการ) แต่ให้ใช้เมทริกซ์เพื่อช่วยในการถ่ายทอดภาพได้หลากหลายมากขึ้นจากตัวแบบเดียวกัน
นี่คือเมทริกซ์ที่ผมใช้ ภาพที่ผมถ่ายอยู่ด้านล่าง
1. ภาพแรกของผม: ภาพด้านหน้าจากระยะไกล (= “มุมกว้าง”)
สภาพแสงและเถาไม้เลื้อยที่เกี่ยวพันต้นไม้อยู่คือสิ่งที่เตะตาผม มุมจากด้านหน้านี้ถ่ายภาพได้เหมือนกับสิ่งที่ตาผมเห็นในตอนแรก
2. อีกด้านหนึ่งของต้นไม้: ภาพระยะไกลจาก “ด้านหลัง”
นี่ช่วยให้ผมได้เห็นว่าภาพจะเป็นอย่างไรเมื่อมีแสงย้อนจากด้านหลัง
3. ระยะใกล้จากด้านหลัง
ผมเข้าไปใกล้ขึ้นและถ่ายภาพไม้เลื้อยในระยะใกล้ ใบไม้สีเขียวอมเหลืองดูโดดเด่นมากขึ้นเมื่อมีแสงย้อนจากด้านหลัง ซึ่งดึงดูดความสนใจของผม ผมจึงขยับเข้าไปเพื่อถ่ายภาพในระยะใกล้
4. ใกล้เข้าไปอีก
ภาพระยะใกล้มากของเถาไม้เลื้อยนี้แสดงให้เห็นรายละเอียดมากขึ้น หากมีเลนส์มาโคร คุณจะสามารถเข้าใกล้ได้ยิ่งกว่านี้อีก!
5. มุมต่ำ ระยะไกล
ถ่ายโดยมองขึ้นไปจากรากของต้นไม้
6. มุมต่ำ ระยะใกล้
สำหรับภาพก่อนๆ ผมถ่ายโดยใช้ทางยาวโฟกัสเดียวกันมาตลอด ในที่สุดผมจึงเปลี่ยนทางยาวโฟกัสในภาพนี้ และถ่ายทอดสีสันและรายละเอียดของใบไม้ในแสงที่สวยงาม
เคล็ดลับที่ 1: พยายามเตือนตนเองให้ลองใช้เมทริกซ์
สถานที่หรือตัวแบบหนึ่งอาจดูไม่ดีจากมุมหนึ่ง แต่กลับดูน่าทึ่งจากมุมอื่นๆ ถึงอย่างนั้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อถ่ายภาพทิวทัศน์ เรามักจะออกจากจุดนั้นๆ เพื่อไปถ่ายภาพอย่างอื่นต่อหลังจากเพิ่งถ่ายภาพได้จากมุมเดียว พยายามเตือนตัวเองให้ลองใช้มุมและทางยาวโฟกัสต่างๆ ร่วมกันด้วยเมทริกซ์ อันที่จริง คุณอาจจะพิมพ์เมทริกซ์ออกมาก็ได้ แล้วกาเครื่องหมายลงไปในช่องที่ได้ลองใช้แล้ว
เคล็ดลับที่ 2: เปลี่ยนเลนส์ของคุณเมื่อจำเป็น
คอยเปลี่ยนเลนส์เป็นครั้งคราวหากคุณคิดว่าจะทำให้ถ่ายภาพได้ดีขึ้น ดูวิธีการใช้เลนส์ประเภทต่างๆ กันให้เกิดประโยชน์สูงสุดได้ที่นี่
ขั้นตอนที่ 2: เพิ่มมุมรับแสงเข้าไปในเมทริกซ์ของคุณ
เมื่อพร้อมจะก้าวสู่ระดับที่สูงขึ้นจากการใช้เมทริกซ์การจัดองค์ประกอบภาพ คุณสามารถเพิ่มรายการใหม่เข้าไปในเมทริกซ์ได้ นั่นคือ ‘แสง’
การเปลี่ยนตำแหน่ง มุม และแนวของกล้องสามารถเปลี่ยนสภาพแสงในภาพของคุณได้ นี่คือภาพตัวอย่างของผม 3 ภาพ
1. ตำแหน่งที่ต่ำกว่าทำให้เอฟเฟ็กต์ของแสงสะท้อนเปลี่ยนแปลงไป
เงาของต้นไม้บนหิมะ ส่วนที่สว่างเกิดจากแสงที่ส่องผ่านต้นไม้ลงมา
ตำแหน่งที่ต่ำมาก
ถ่ายโดยให้กล้องของผมอยู่บนพื้นเพื่อดึงความสนใจไปยังแสงให้มากขึ้น ตำแหน่งที่ต่ำทำให้ภาพสื่อถึงความลึกได้ดียิ่งขึ้น
เบื้องหลังการถ่ายภาพ
ในการถ่ายภาพที่สอง ผมนอนลงบนหิมะเพื่อให้กล้องอยู่เหนือพื้นพอดี
2. การถ่ายภาพในแนวตั้งทำให้แสงสะท้อนดูน่าประทับใจมากยิ่งขึ้น
เมื่อพูดถึง “แสง” หลายคนจะนึกถึงแสงอาทิตย์ แต่อย่าลืมว่าแสงมีอยู่ในทุกสิ่งและทุกที่ ไม่ว่าจะเป็นในก้อนเมฆ สายฝน ในรูปแบบแสงสะท้อน แสงโดยตรง แสงย้อนจากด้านหลัง ฯลฯ อย่าลืมสังเกตสิ่งที่อยู่นอกช่องมองภาพหรือภาพใน Live View ของคุณด้วย
ในภาพตัวอย่างด้านล่าง ผมสังเกตเห็นว่ามีแสงสะท้อนบนผิวน้ำ จึงเปลี่ยนแนวการถ่ายภาพเพื่อให้แสงสะท้อนนั้นเป็นตัวแบบ
ก่อน
ขณะที่ผมมองดูคลื่นและลักษณะการเปลี่ยนแปลงของคลื่น เมฆบนท้องฟ้าก็สว่างขึ้น
หลัง
แสงที่ส่องมาจากระหว่างก้อนเมฆสะท้อนบนผิวน้ำ เกิดเป็นพื้นผิวที่น่าสนใจ ผมจึงเปลี่ยนแนวของกล้องเพื่อถ่ายภาพนี้และจัดเฟรมเพื่อให้แสงนั้นเป็นจุดสนใจหลักในภาพ
3. การเปลี่ยนมุมถ่ายภาพจะเปิดโอกาสในการเกิดสภาพแสงแบบใหม่ๆ
ผมถ่ายภาพด้านล่างนี้จากจุดที่ห่างกันโดยใช้เวลาเดินไม่ถึง 10 วินาที ไม่ใช่เรื่องยากนักหากคุณมีความตั้งใจในการมองหาโอกาส!
ถ่ายจากทิศเหนือ หันไปทางใต้
ผมถ่ายภาพจากมุมนี้เพื่อให้เห็นรูปร่างและลักษณะของแผ่นน้ำแข็ง แต่ในขณะถ่ายภาพ ผมสังเกตเห็นว่ามีแสงส่องมาจากทางด้านขวาของเฟรม (ทิศตะวันตก) จึงตัดสินใจขยับตามไปเพื่อดูว่าจะได้ภาพแบบใด
ถ่ายจากทิศตะวันออก หันไปทางตะวันตก
นี่คือภาพที่ผมถ่ายจากอีกจุดหนึ่งซึ่งอยู่ห่างจากจุดแรกออกไป 90 องศา ตรงข้ามกับแหล่งกำเนิดแสง แสงสะท้อนทำให้เกิดเส้นทางสีทองบนผิวน้ำ
ขั้นตอนที่ 3: เพิ่มการตั้งค่าเลนส์ลงไปในเมทริกซ์
คุณสามารถเพิ่มการตั้งค่าเลนส์ลงไปในเมทริกซ์ได้ด้วย จุดเริ่มต้นที่ง่ายที่สุดคือ ค่ารูรับแสง (ค่า f) ลองใช้ค่า f ที่แตกต่างกัน แล้วดูว่าการเปลี่ยนระยะชัดและระดับของโบเก้เปลี่ยนลักษณะของภาพไปอย่างไร
ภาพทั้งสองด้านล่างมีจุดโฟกัสจุดเดียวกันคือ บนผิวน้ำในส่วนบนของเฟรมภาพ สังเกตว่าระดับของโบเก้เปลี่ยนไปอย่างไร และส่งผลให้อารมณ์ของภาพเปลี่ยนไปอย่างไร จะเห็นได้ว่าค่า f เป็นอีกหนึ่งตัวแปรที่คุณสามารถใช้ในการเพิ่มความหลากหลายให้กับการถ่ายทอดภาพอย่างสร้างสรรค์
ถ่ายที่ค่า f/2.8
ระยะชัดตื้นที่รูรับแสงกว้างสุดที่ f/2.8 ทำให้ต้นไม้เบลออย่างนุ่มนวลในภาพสะท้อน ภาพที่ได้จึงดึงความสนใจของเราไปที่พื้นที่ว่างและบรรยากาศ
ถ่ายที่ค่า f/8
การใช้รูรับแสงที่แคบกว่าจะทำให้ความสนใจของเรามุ่งไปที่พื้นผิวของต้นไม้และผิวน้ำ
อ่านเพิ่มเติมเกี่ยวกับผลของการตั้งค่ารูรับแสงที่แตกต่างกันได้ใน:
จุดโฟกัส: การตั้งค่ารูรับแสงสำหรับฉากต่างๆ
---
สรุป
ตัวอย่างในบทความนี้มาจากการถ่ายภาพทิวทัศน์ แต่วิธีนี้สามารถใช้ได้ในการฝึกถ่ายภาพประเภทอื่นด้วย ไม่ว่าคุณจะอยู่ในที่ร่มหรือกลางแจ้ง คุณสามารถเพิ่มตัวแปรอื่นๆ ที่คุณอยากจะศึกษาได้ เมื่อคุณคุ้นเคยมากขึ้นว่าตัวแปรแต่ละชนิดส่งผลอย่างไรต่อภาพถ่าย คุณจะเห็นความเป็นไปได้มากขึ้นในแต่ละฉากและตัวแบบที่คุณพบเห็น นอกจากนี้ ภาพถ่ายที่คุณเก็บสะสมไว้ในระหว่างฝึกฝนจะช่วยเพิ่มความหลากหลายให้แฟ้มผลงานของคุณด้วย
อย่ารอช้า ลองสร้างเมทริกซ์ของคุณแล้วเริ่มถ่ายภาพตอนนี้เลย
หากคุณต้องการไอเดียเพิ่มเติมเกี่ยวกับวิธีการฝึกถ่ายภาพ โปรดอ่านบทความต่อไปนี้:
ถ่ายภาพได้ดียิ่งขึ้นด้วย 3 เคล็ดลับง่ายๆ !
3 โจทย์ท้าทายที่ดูเหมือนง่าย แต่ยกระดับทักษะการถ่ายภาพของคุณได้
รับข่าวสารล่าสุดเกี่ยวกับการถ่ายภาพ รวมถึงเคล็ดลับและกลเม็ดต่างๆ
ร่วมเป็นส่วนหนึ่งของชุมชนชาว SNAPSHOT
ลงทะเบียนตอนนี้!เกี่ยวกับผู้เขียน
เกิดเมื่อปี 1972 ที่จังหวัดคานากาวะ จบการศึกษาจาก Sophia University และ Tokyo College of Photography Goto เผยแพร่ผลงานคอลเลคชั่นภาพถ่ายที่มีชื่อว่า "LAND ESCAPES" และยังมีส่วนร่วมในผลงานอื่นๆ อีก อาทิ "water silence" การแสดงผลงานศิลปะที่ผสานภาพถ่ายกับวิดีโอเข้าไว้ด้วยกัน
นิตยสารรายเดือนที่เชื่อว่าความสุขของการถ่ายภาพจะยิ่งเพิ่มขึ้น เมื่อผู้ถ่ายภาพได้เรียนรู้เกี่ยวกับฟังก์ชั่นต่างๆ ของกล้องมากยิ่งขึ้น นิตยสารเล่มนี้เผยแพร่ข่าวสารเกี่ยวกับกล้องรุ่นใหม่ๆ รวมถึงคุณสมบัติของกล้องและนำเสนอเทคนิคการถ่ายภาพอย่างหลากหลาย
จัดพิมพ์โดย Impress Corporation