เทคนิคการถ่ายภาพแบบใดที่คุณสามารถใช้เพื่อให้ได้ภาพเจ๋งๆ ของรถแข่งขณะที่แล่นฉิวรอบสนามแข่ง ช่างภาพกีฬาแข่งรถ Hirohiko Okugawa จะมาแบ่งปันเทคนิคให้เราทราบกัน ในตอนที่ 1 นี้ เราจะมาเรียนรู้เคล็ดลับในการพัฒนาการถ่ายภาพแบบแพนกล้อง (เรื่องโดย: Hirohiko Okugawa จากคู่มือการถ่ายภาพด้วย EOS R7 โดย Digital Camera Magazine)
EOS R7/ RF24-105mm f/4L IS USM/ FL: 45 มม. (เทียบเท่า 72 มม.)/ Shutter-priority AE (f/4, 1/30 วินาที)/ ISO 100/ WB: อัตโนมัติ
1. ภาพแบบแพนกล้องสุดคลาสสิก
ภาพแบบแพนกล้องเป็นหนึ่งในภาพที่น่าตื่นเต้นที่สุดในการถ่ายภาพกีฬาแข่งรถ นอกจากนี้ยังน่าจะเป็นภาพประเภทแรกๆ ที่ผู้รักการถ่ายภาพกีฬาแข่งรถตั้งเป้าที่จะถ่ายเมื่ออยู่ที่สนามแข่ง!
AF: AF จุดเดียวเป็นหลัก การตรวจจับตัวแบบจะขึ้นอยู่กับฉาก
โดยทั่วไปแล้วการตรวจจับยานพาหนะด้วยกล้องซีรีย์ EOS R รุ่นใหม่ๆ อย่าง EOS R7 จะได้ผลดีเยี่ยมจนผมสามารถปล่อยให้กล้องทำหน้าที่จับโฟกัสได้เลย แต่ถ้าคุณเป็นเหมือนกับผมและชอบการโฟกัสที่มีความแม่นยำยิ่งขึ้น คุณอาจชอบใช้ AF จุดเดียวและปิดการตรวจจับตัวแบบสำหรับยานพาหนะบางประเภท
รถ GT: AF จุดเดียว และปิดการตรวจจับตัวแบบ
สำหรับรถ GT และยานพาหนะแบบปิดอื่นๆ ที่ใกล้เคียงกัน กรอบ AF มักจะเคลื่อนที่และเปลี่ยนรูปร่างเวลาเปิดการตรวจจับตัวแบบไว้ ซึ่งทำให้ยากที่จะตรวจดูว่าโฟกัสอยู่ในพื้นที่ที่ต้องการหรือไม่ ผมจึงใช้ AF จุดเดียวและปิดการตรวจจับตัวแบบ
รถแข่งฟอร์มูล่า: เปิดการตรวจจับตัวแบบ
สำหรับรถแข่งฟอร์มูล่า คุณสมบัติการตรวจจับยานพาหนะจะตรวจจับหมวกกันน็อคของนักแข่งและปรับตำแหน่งกรอบ AF ให้สอดคล้องกันโดยอัตโนมัติ จุดนี้เป็นจุดที่ผมมักจะใช้โฟกัสอยู่แล้ว ดังนั้นในกรณีนี้ การตรวจจับตัวแบบจึงช่วยได้มาก!
เคล็ดลับระดับมือโปร: มองหาส่วนใดส่วนหนึ่งเพื่อจดจ่อในขณะที่คุณแพนกล้อง
คุณสมบัติการตรวจจับยานพาหนะใช้หารถยนต์ได้ดีจนคุณอาจอยากแพนกล้องและถ่ายภาพรถทุกคันที่ตรวจพบได้ แต่เพื่อโอกาสดีที่สุดในการถ่ายภาพสวยๆ ควรเจาะจงมองไปที่บางอย่าง เช่น หมวกกันน็อคของนักแข่ง หากคุณกำลังถ่ายภาพรถแข่งฟอร์มูล่า
ความเร็วชัตเตอร์: ฝึกฝนจนกว่าคุณจะถ่ายภาพสวยๆ ได้ด้วยความเร็ว 1/125 วินาที
ภาพด้านล่างนี้ถ่ายด้วยความเร็วชัตเตอร์ในระดับต่างๆ ซึ่งทุกภาพใช้ทางยาวโฟกัสเทียบเท่าฟูลเฟรม 168 มม. และถ่ายจากจุดเดียวกัน เป็นภาพรถแข่งตรงหัวโค้งที่สองของสนามซูซูกะเซอร์กิต ซึ่งเป็นสนามกีฬาแข่งรถแห่งหนึ่งที่ขับยากที่สุดในโลก ลองสังเกตให้ดีว่าความเร็วชัตเตอร์เปลี่ยนรูปร่างหน้าตาขององค์ประกอบอื่นๆ นอกเหนือจากตัวรถไปอย่างไร เช่น พื้นยางมะตอย ยางรถ ขอบถนน และเหล่าผู้ชมที่อยู่ด้านหลัง
แม้ว่าทางยาวโฟกัสและปัจจัยอื่นๆ จะส่งผลต่อภาพที่ได้ แต่ภาพตัวอย่างเหล่านี้ก็แสดงให้เห็นว่า เมื่อถ่ายด้วยความเร็วประมาณ 1/125 วินาทีหรือต่ำกว่านั้นจะช่วยเพิ่มโอกาสในการถ่ายภาพแบบแพนกล้องได้สวยงาม ลองถ่ายภาพทดสอบแล้วจึงปรับความเร็วชัตเตอร์ให้สอดคล้องกัน
1/500 วินาที
เมื่อถ่ายด้วยความเร็วชัตเตอร์ 1/500 วินาที พื้นยางมะตอย ยางรถ ขอบถนน และผู้ชมดูเป็นภาพเบลอจากการเคลื่อนไหวเล็กน้อย ซึ่งไม่สื่อถึงความเร็วใดๆ เลย
1/250 วินาที
เมื่อถ่ายด้วยความเร็วชัตเตอร์ 1/250 วินาที จะมองเห็นการเคลื่อนไหวของล้อรถได้ชัดเจน แต่ยังสื่อถึงความเร็วในองค์ประกอบของแบ็คกราวด์ได้ไม่ดีนัก
1/125 วินาที
เมื่อถ่ายด้วยความเร็วชัตเตอร์ 1/125 วินาที เราเริ่มรู้สึกถึงการเคลื่อนไหวทั้งในส่วนของยางรถและองค์ประกอบของแบ็คกราวด์
1/60 วินาที
เมื่อถ่ายด้วยความเร็วชัตเตอร์ 1/60 วินาที จะรู้สึกถึงความเร็วได้มากยิ่งขึ้น และทำให้เกิดภาพเบลอจากการเคลื่อนไหวมากจนเหล่าผู้ชมที่อยู่ด้านหลังดูเลือนราง
เคล็ดลับระดับมือโปร: ทางลัดสู่ความชำนาญในการแพนกล้องคือ การถ่ายภาพให้มากขึ้น
ลองฝึกแพนกล้องทุกครั้งที่คุณมีโอกาส คุณจะรู้สึกคุ้นชินมากขึ้นกับวิธีการขยับกล้องให้เหมาะสม รวมทั้งความเร็วชัตเตอร์ที่คุณต้องใช้เพื่อให้ได้ผลลัพธ์อย่างที่ต้องการ ยิ่งฝึกฝนมากเท่าไร ก็จะยิ่งพัฒนาได้เร็วขึ้นเท่านั้น!
ลองการถ่ายภาพต่อเนื่องดูไหม
แน่นอนว่ากล้องที่มีความเร็วสูงในการถ่ายภาพต่อเนื่องจะช่วยเพิ่มโอกาสให้คุณถ่ายภาพสำเร็จได้มากขึ้น สำหรับกล้องที่ออกแบบมาเพื่อการถ่ายภาพแอ็คชันระดับมืออาชีพ เช่น EOS R7 คุณจะสามารถถ่ายภาพได้ด้วยความเร็วสูงถึง 30 fps ด้วยชัตเตอร์อิเล็กทรอนิกส์ ซึ่งเร็วเป็นสองเท่าของชัตเตอร์กลที่มีความเร็วสูงสุดที่ 15 fps สมมติว่ามีอัตราความสำเร็จเท่ากัน นั่นหมายความว่าคุณมีโอกาสที่จะถ่ายภาพสำเร็จได้มากขึ้นเป็นสองเท่า!
อย่างไรก็ตาม ชัตเตอร์อิเล็กทรอนิกส์ก็มาพร้อมกับปัญหาที่อาจเกิดขึ้นได้ เช่น ความบิดเบี้ยวจาก Rolling Shutter ดังนั้น คุณควรเลือกฉากที่จะใช้ให้ดี (บทความส่วนนี้จะอธิบายเคล็ดลับในการหลีกเลี่ยงความบิดเบี้ยวจาก Rolling Shutter ที่เห็นได้ชัดเจน) เทคโนโลยีช่วยเพิ่มความสะดวกสบายก็จริง แต่การเสริมสร้างทักษะและเทคนิคของคุณเองก็จะช่วยพัฒนาฝีมือในฐานะช่างภาพด้วย
อ่านเพิ่มเติมได้ที่
โหมดชัตเตอร์และโหมดถ่ายภาพต่อเนื่อง: ควรใช้แต่ละโหมดเมื่อใด
หรือคุณอาจอยากลองโหมดถ่ายภาพต่อเนื่องแบบ RAW ที่เปิดใช้งานฟังก์ชั่นถ่ายภาพล่วงหน้าไว้ ซึ่งจะบันทึกภาพล่วงหน้าได้สูงสุด 0.5 วินาทีก่อนที่คุณจะลั่นชัตเตอร์! อ่านข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่
คำถามที่พบบ่อยเกี่ยวกับการตั้งค่ากล้อง: การถ่ายต่อเนื่องแบบ RAW และการถ่ายภาพล่วงหน้าคืออะไร
การจัดองค์ประกอบภาพ: ทำให้เรียบง่ายเข้าไว้ ลองจัดเฟรมโดยตั้งใจว่าจะครอปภาพดู
การแพนกล้องเป็นเทคนิคที่ยากจะฝึกฝนให้เชี่ยวชาญ หากต้องการเพิ่มโอกาสความสำเร็จในการถ่ายภาพขณะที่คุณยังไม่ค่อยมีประสบการณ์มากนัก ให้จัดองค์ประกอบภาพและขยับเลนส์อย่างเรียบง่ายที่สุดเท่าที่จะทำได้ อย่าคิดถึงการจัดเฟรมมากเกินไป เพียงแค่ตั้งเป้าว่าจะถ่ายภาพรถให้คมชัดเวลาที่คุณแพนกล้องก็พอแล้ว ไม่เป็นไรหากคุณไม่สามารถจัดรถให้อยู่ตรงกลางเฟรมได้พอดี ตราบใดที่ยังเผื่อที่ว่างรอบๆ ด้านหน้าหรือด้านหลังไว้มากพอสำหรับการครอป
ก่อนครอปภาพ
หลังครอปภาพ
ภาพดูน่าประทับใจมากขึ้นหลังการครอปภาพ
คุณจะครอปได้มากน้อยเพียงใดก่อนที่จะทำให้คุณภาพของภาพลดลงนั้นก็ขึ้นอยู่กับความละเอียดต่ำสุดที่คุณจำเป็นต้องใช้ รวมถึงความละเอียดสูงสุดของกล้อง สำหรับกล้อง EOS R7 ความละเอียด 32.5 ล้านพิกเซล จะได้ภาพ 6940 x 4640 พิกเซล ซึ่งสูงกว่าความละเอียดระดับ 4K มาก
อ่านเพิ่มเติมได้ที่
นำเสนอผลงานที่ดีที่สุดของคุณ: เคล็ดลับในการคัดเลือกและปรับแต่งภาพถ่ายกีฬา
เคล็ดลับระดับมือโปร: ทำให้การเคลื่อนไหวของเลนส์ง่ายขึ้นด้วย
ยกตัวอย่างเช่น หากคุณถ่ายภาพจากมุมซ้าย คุณอาจอยากถ่ายภาพสองครั้งซึ่งจะต้องแพนกล้องไปในทิศทางที่แตกต่างกัน โดยครั้งแรกถ่ายเมื่อรถเข้าโค้ง (แพนกล้องจากซ้ายไปขวา) และถ่ายอีกครั้งเมื่อรถออกจากโค้งไปแล้ว (แพนกล้องจากขวาไปซ้าย) การถ่ายภาพเช่นนี้จะมีความซับซ้อนมากกว่าและเพิ่มโอกาสที่จะเกิดข้อผิดพลาด คุณควรถ่ายที่ทางออกแทน เพราะจะสร้างความคุ้นชินกับการเคลื่อนไหวได้ง่ายกว่า
2. ยกระดับไปอีกขั้น: ภาพแบบแพนกล้องที่ใช้ความเร็วชัตเตอร์ต่ำพิเศษ
EOS R7/ RF24-105mm f/4L IS USM/ FL: 45 มม. (เทียบเท่า 72 มม.)/ Shutter-priority AE (f/13, 1/15 วินาที)/ ISO 100/ WB: อัตโนมัติ
หลังจากที่คุณมีความชำนาญมากขึ้นในการแพนกล้อง ลองท้าทายทักษะตัวเองด้วยการใช้ความเร็วชัตเตอร์ที่ต่ำลง เช่น 1/30 วินาที หรือแม้แต่ 1/15 วินาที ซึ่งจะทำให้เกิดภาพเบลอจากการเคลื่อนไหวอย่างน่าประทับใจในบริเวณโดยรอบ จึงควรเน้นให้เด่นขึ้นโดยการถ่ายภาพให้กว้างขึ้นเพื่อให้กินพื้นที่ของเฟรมมากขึ้น
ความท้าทายหลัก: มีภาพเบลอจากการเคลื่อนไหวมากขึ้น และมีส่วนคมชัดที่เล็กลง
เมื่อถ่ายภาพด้วยความเร็วชัตเตอร์ที่ต่ำถึง 1/30 หรือ 1/15 วินาที การเคลื่อนไหวของยานพาหนะจะทำให้มีภาพเบลอจากการเคลื่อนไหวมากขึ้นที่ด้านหน้าและด้านหลังของยานพาหนะ พูดอีกอย่างหนึ่งก็คือ ส่วนเล็กๆ ของรถจะดูคมชัด
1/160 วินาที
1/15 วินาที
ในภาพด้านบนที่ถ่ายด้วยความเร็วชัตเตอร์ 1/15 วินาที มีเพียงส่วนหนึ่งของประตูรถเท่านั้นที่ไม่ปรากฏภาพเบลอจากการเคลื่อนไหว
เวลาที่เหมาะสมที่สุด: ในระหว่างช่วงด้านในของเส้นเข้าโค้ง
ส่วนที่ไม่ปรากฏภาพเบลอจากการเคลื่อนไหวจะดูเล็กที่สุดเมื่อรถวิ่งเป็นเส้นตรง หรือวิ่งที่เส้นด้านนอกในระหว่างเข้าโค้ง หากต้องการเพิ่มโอกาสในการถ่ายภาพให้สำเร็จมากขึ้นโดยใช้ความเร็วชัตเตอร์ที่ต่ำมาก ให้เล็งไปที่รถเมื่ออยู่ด้านในของเส้นเข้าโค้ง
เส้นเข้าโค้งคือเส้นทางที่รถจะใช้วิ่งเมื่อเข้าโค้ง แม้ว่าแนววิถีจริงจะขึ้นอยู่กับหลายปัจจัย แต่ก็มักจะเริ่มจากเส้นด้านนอกของสนามแข่ง เลี้ยวเข้าในเพื่อแตะด้านในของสนามที่อยู่ใกล้กับมุมยอดของหัวโค้ง จากนั้นจึงออกไปยังเส้นด้านนอกของสนาม
เคล็ดลับระดับมือโปร: เปลี่ยนประสิทธิภาพแสดงผลเป็น “ราบรื่น”
กล้องอย่าง EOS R7 มีการตั้งค่าการแสดงผล “ราบรื่น” ซึ่งมีอัตราแสดงผลสูงสุดถึง 120 fps ทำให้ภาพตัวอย่างดูลื่นไหลขึ้นเวลาแพนกล้อง การตั้งค่าเริ่มต้นไว้ช้าๆ อาจดูกระตุกเวลาแพนกล้องตามตัวแบบที่เคลื่อนที่ไวมาก
--
โปรดติดตามบทความตอนที่ 2 ซึ่งเราจะมาเรียนรู้เพิ่มเติมเกี่ยวกับเทคนิคการถ่ายภาพกีฬาแข่งรถและฟังก์ชั่นกล้องที่เป็นประโยชน์!
คุณอาจสนใจบทความต่อไปนี้
ช่างภาพ 7 คนจะมาเล่าถึง: การตั้งค่าโฟกัสอัตโนมัติและโหมดขับเคลื่อนที่สลับใช้ตามฉากนั้นๆ
5 การตั้งค่าพื้นฐานของกล้อง EOS R5/ EOS R6 ที่ปรับแต่งได้ตามต้องการตั้งแต่ต้น
การตั้งค่ากล้อง 7 แบบที่ช่วยให้ถ่ายภาพได้ราบรื่นขึ้นแต่มักถูกมองข้าม
เกี่ยวกับผู้เขียน
นิตยสารรายเดือนที่เชื่อว่าความสุขของการถ่ายภาพจะยิ่งเพิ่มขึ้น เมื่อผู้ถ่ายภาพได้เรียนรู้เกี่ยวกับฟังก์ชั่นต่างๆ ของกล้องมากยิ่งขึ้น นิตยสารเล่มนี้เผยแพร่ข่าวสารเกี่ยวกับกล้องรุ่นใหม่ๆ รวมถึงคุณสมบัติของกล้องและนำเสนอเทคนิคการถ่ายภาพอย่างหลากหลาย
จัดพิมพ์โดย Impress Corporation
เส้นทางการเป็นช่างภาพของ Okugawa เริ่มตั้งแต่ครั้งยังเป็นนักเรียน ตอนที่เขาต้องการถ่ายภาพกีฬาแข่งรถ ผลงานของเขาได้รับเลือกให้จัดแสดงในนิทรรศการภาพถ่ายกีฬาแข่งรถของ Canon Japan เป็นเวลา 3 ปีติดต่อกัน และเขายังได้ถ่ายภาพการแข่งรถฟอร์มูล่าวัน เจแปนนิส กรังด์ปรีซ์ ทุกครั้งตั้งแต่ปี 2530 ที่สนามซูซูกะและสนามฟูจิ โดยได้แบ่งเวลาถ่ายภาพและทำงานประจำด้านประชาสัมพันธ์จนกระทั่งเขาก่อตั้งบริษัทประชาสัมพันธ์ของตนเองในปี 2549 ปัจจุบัน Okugawa รับหน้าที่ถ่ายภาพกีฬาแข่งรถให้กับพอร์ทัลข่าว Car Watch ที่ดำเนินงานโดย Impress Corporation