หากพูดถึงการถ่ายภาพการแสดงดอกไม้ไฟ วิธีที่นิยมใช้คือการเปิดรูรับแสงไว้เป็นเวลานาน โดยใช้กล้องที่มีเลนส์มุมกว้างยึดติดกับขาตั้งและใช้รีโมทเป็นตัวกดชัตเตอร์ แล้วเราจะได้ผลลัพธ์แบบใดหากใช้เลนส์เทเลโฟโต้โดยไม่ใช้รีโมทกดชัตเตอร์ในขณะที่ถ่ายภาพโดยถือด้วยมือแทน คุณอาจจะพบว่าตัวเองกำลังถ่ายภาพอันน่าตื่นเต้นของดอกไม้ไฟที่สวยงามก็เป็นได้ ในบทความนี้ ผมจะอธิบายวิธีการถ่ายภาพดอกไม้ไฟดังกล่าว (บรรณาธิการโดย studio9)
สิ่งสำคัญสำหรับการถ่ายภาพดอกไม้ไฟ
คุณอาจสงสัยว่าจะถ่ายภาพดอกไม้ไฟเช่นนั้นได้อย่างไร แต่ความจริงแล้วมันง่ายกว่าที่คุณคิด เมื่อคุณทำการตั้งค่ากล้องไว้ล่วงหน้า การถ่ายภาพดอกไม้ไฟก็เป็นเรื่องง่าย เพียงแค่ขยับกล้องไปตามที่คุณต้องการเมื่อถึงเวลา!
สิ่งที่คุณต้องใช้
• กล้องที่สามารถถ่ายโดยเปิดรับแสงได้เป็นเวลานาน
ในการถ่ายภาพครั้งนี้ ผมใช้โหมด Bulb [B] โปรดทราบว่าสำหรับกล้อง EOS ระดับเริ่มต้นใช้งานบางรุ่น การตั้งค่าความเร็วชัตเตอร์ไว้ที่ 30 วินาทีหรือมากกว่าในขณะที่อยู่ในโหมดแมนนวล ([M]) จะทำให้กล้องเปลี่ยนไปใช้โหมด [B] โดยอัตโนมัติ คุณควรตรวจสอบคู่มือการใช้งานเพื่อยืนยันวิธีการตั้งค่าที่ต้องการ
แม้ว่าโหมด [M] ก็สามารถใช้ได้เช่นกัน แต่ผมขอแนะนำให้ใช้โหมด Bulb เพราะใช้งานง่าย แต่หากคุณถ่ายภาพโดยใช้โหมด [M] ควรตั้งค่าความเร็วชัตเตอร์ไว้ที่ 1 ถึง 3 วินาที
• เลนส์เทเลโฟโต้
เนื่องจากการถ่ายภาพในครั้งนี้จะเน้นไปที่ตัวดอกไม้ไฟ การใช้เลนส์เทเลโฟโต้จึงสะดวกกว่าการใช้เลนส์มุมกว้าง แม้แต่เลนส์คิทแบบเทเลโฟโต้ก็สามารถใช้ได้เช่นกัน เลนส์ที่ใช้งานได้ง่ายคือเลนส์ที่มีระยะโฟกัสโดยประมาณตั้งแต่ 100 ถึง 200 มม. (เทียบเท่าฟอร์แมตฟิล์ม 35 มม.)
ลองใช้ขาตั้งกล้องแบบขาเดียวถ้าคุณมี เพราะคุณจะต้องใช้เลนส์เทเลโฟโต้ตลอดการถ่ายภาพ ความคิดที่ดีอีกอย่างหนึ่งคือการติดตั้งหัวบอลด้วยในขณะที่ถ่ายภาพ
*ตัวอย่างภาพในบทความนี้ถ่ายด้วยเลนส์ EF70-200mm f/4L IS USM ทั้งหมด
การตั้งค่ากล้อง
การตั้งค่ากล้องนั้นเป็นแบบเดียวกับการตั้งค่าเพื่อถ่ายภาพดอกไม้ไฟทั่วไป
- โหมด Bulb
- ISO100, f/11 (f/8 - 16)
- โฟกัสแบบแมนนวล (MF)
- ระบบป้องกันภาพสั่น OFF
ขั้นตอนการถ่ายภาพดอกไม้ไฟโดยละเอียด
1. โฟกัสไปที่ฉากหลัง (ดอกไม้ไฟ)
ขั้นแรก ตั้งโฟกัสไปที่ดอกไม้ไฟ เมื่อกล้องถูกตั้งค่าเป็นโฟกัสแบบแมนนวล (MF) อาจจะยากต่อการจับโฟกัสที่ดอกไม้ไฟที่ถูกจุดออกมา แต่สำหรับการถ่ายครั้งนี้ ไม่จำเป็นต้องใช้ความแม่นยำในการโฟกัสเท่าใดนัก แค่โฟกัสให้ภาพดูมีความ "คมชัดพอสมควร" ก็เพียงพอ ดังนั้น ให้โฟกัสเฉพาะสิ่งที่โดดเด่นออกมา เช่น อาคารในระยะไกล คุณไม่จำเป็นต้องมีโฟกัสที่แม่นยำจนเกินไป เนื่องจากคุณจะต้องขยับกล้องในภายหลังเพื่อทำให้เกิดภาพเบลอ
2. จัดเฟรมให้ดอกไม้ไฟ
กำหนดเฟรมให้ดอกไม้ไฟอยู่ในตำแหน่งที่พอดีกับจอเมื่อถูกยิงขึ้นสู่ท้องฟ้า คอยสังเกตว่าดอกไม้ไฟดวงแรกๆ แตกออกตรงส่วนไหนของท้องฟ้า
ตั้งกล้องของคุณไว้ที่ระยะเทเลโฟโต้ที่เหมาะสมไว้ก่อนเพื่อให้แน่ใจว่าดอกไม้ไฟอยู่ในจอพอดี เมื่อคุณเริ่มคุ้นเคยกับมันแล้ว คุณสามารถค่อยๆ เพิ่มกำลังในการซูมได้
ด้วยการฝึกฝนที่มากขึ้น คุณจะสามารถตั้งกล้องของคุณให้พร้อมก่อนดอกไม้ไฟแตกออกได้ดีขึ้น การถ่ายภาพจะประสบความสำเร็จมากขึ้นหากคุณคอยดู ดอกไม้ไฟ ในขณะที่ถูกยิงขึ้นไปบนท้องฟ้า
การใช้เส้นแสงเป็นตัวนำทาง ทำให้การติดตามดอกไม้ไฟนั้นง่ายขึ้น
3. กดปุ่มชัตเตอร์ค้างไว้
เมื่อคุณกำหนดเฟรมภาพเรียบร้อยแล้ว ให้กดปุ่มชัตเตอร์ค้างไว้ และในขณะที่คุณกดปุ่มชัตเตอร์ค้างไว้นั้น ให้กดลงไปจนสุด!
เพราะกล้องกำลังอยู่ในโหมด Bulb ชัตเตอร์จะเปิดรับแสงเป็นเวลานานในขณะที่กดปุ่มชัตเตอร์ค้างไว้ คุณจะไม่สามารถถ่ายภาพที่ดีได้หากปล่อยปุ่มชัตเตอร์เร็วเกินไป กดค้างไว้ประมาณ 1 ถึง 3 วินาทีในขณะที่ดูภาพดอกไม้ไฟผ่านช่องมองภาพหรือบนหน้าจอ จากนั้นจึงค่อยปล่อยชัตเตอร์
หากคุณขยับกล้องหรือปรับวงแหวนโฟกัสในช่วงสองสามวินาทีที่คุณกดปุ่มชัตเตอร์ค้างไว้ คุณจะได้ภาพที่งดงามและดูเป็นศิลปะ!
เทคนิคการถ่ายภาพให้สวยงามและมีศิลปะ
เทคนิคที่ 1: ขยับกล้องของคุณ
เทคนิคที่ง่ายที่สุดคือการขยับกล้องของคุณ เมื่อคุณกำหนดเฟรมภาพดอกไม้ไฟและกดปุ่มชัตเตอร์เรียบร้อยแล้ว ให้คุณขยับกล้องไปทางใดก็ได้ที่ต้องการ เพื่อทำให้กล้องสั่นโดยตั้งใจ
และเพียงแค่ขยับกล้องไปตามที่คุณต้องการ คุณก็จะได้ภาพที่สวยงามเช่นนี้
ในภาพนี้ ผมกดปุ่มชัตเตอร์ในขณะที่ดอกไม้ไฟสีแดงแตกตัวออก และปล่อยปุ่มหลังจากที่ขยับกล้องไปรอบๆ
ความเร็วชัตเตอร์ที่ใช้คือ 0.8 วินาที
-
ต้องแน่ใจว่าขยับกล้องด้วยความรวดเร็ว
หัวใจสำคัญคือการขยับกล้องด้วยความรวดเร็ว ซึ่งจะทำให้เส้นในภาพดูมีชีวิตชีวา หากคุณขยับช้าเกินไป เส้นจะดูไม่เป็นธรรมชาติ หรือดอกไม้ไฟอาจจะแตกออกแล้วหายไปก่อนตั้งแต่แรก
สำหรับภาพนี้ ผมกดปุ่มชัตเตอร์ค้างไว้และรอโดยจัดกล้องให้พร้อมถ่ายก่อนที่ดอกไม้ไฟจะแตกออก ทำให้จับภาพใจกลางของดอกไม้ไฟเอาไว้ได้
ความเร็วชัตเตอร์ที่ใช้คือ 3.4 วินาที
ปิดระบบป้องกันการสั่นไหว!
เนื่องจากคุณต้องการที่จะขยับกล้อง คุณจึงต้องปิดระบบป้องกันการสั่นไหว หากเปิดทิ้งไว้ เส้นแสงที่ได้จะดูสั่นแบบไม่เป็นธรรมชาติ
โปรดทราบว่าทิศทางการเคลื่อนที่จะออกมาตรงข้ามกับในภาพที่คุณถ่าย
ขณะที่ขยับกล้องเพื่อเล็งตำแหน่ง จำไว้ว่าทิศทางที่เส้นแสงจะลากออกไปนั้นจะตรงกันข้ามกับทิศทางที่คุณขยับกล้อง
ดังนั้น หากคุณขยับกล้องไปทางขวา เส้นแสงจะลากออกไปทางซ้าย
ความเร็วชัตเตอร์ที่ใช้คือ 0.7 วินาที
เทคนิคที่ 2: ปรับโฟกัส
เทคนิคนี้อาจยากขึ้นมาอีกระดับหนึ่ง ขณะที่กดปุ่มชัตเตอร์ค้างไว้ ลองหมุนวงแหวนปรับโฟกัสดูเพื่อให้กล้องหลุดออกจากโฟกัสในขณะที่เปิดรับแสง เทคนิคนี้เรียกว่าการเบลอโฟกัส (โฟกัสในขณะเปิดรับแสง)
เพื่อให้ง่ายขึ้น ผมจึงติดตั้งกล้องไว้บนขาตั้งเพื่อให้กล้องอยู่นิ่งในขณะที่ทำการปรับโฟกัสเพียงอย่างเดียว โฟกัสนั้นมีความคมชัดในตอนแรก แต่ผมค่อยๆ ปรับกล้องออกจากโฟกัสขณะที่ดอกไม้ไฟกระจายตัวออก จึงทำให้ได้ภาพดอกไม้ไฟที่มีลักษณะเป็นหยดน้ำ
ความเร็วชัตเตอร์ที่ใช้คือ 1.8 วินาที
ขาตั้งกล้องถือเป็นสิ่งสำคัญในการยึดกล้องให้นิ่งขณะที่ปรับโฟกัส หากคุณต้องการถ่ายภาพแบบด้านบน ให้ลองทำดู!
ความเร็วชัตเตอร์ที่ใช้คือ 2.2 วินาที
หลังจากทำให้กล้องของคุณหลุดจากระยะโฟกัสและถ่ายภาพแล้ว ให้ปรับโฟกัสใหม่อีกครั้งเพื่อเตรียมถ่ายภาพต่อไป
เทคนิคที่ 3: ขยับทั้งตัวกล้องและจุดโฟกัส
ขั้นต่อไป เราจะลองขยับทั้งตัวกล้องและโฟกัส เทคนิคนี้ผสมผสานเทคนิคที่ 1 และ 2 เข้าด้วยกัน เมื่อดูเผินๆ อาจดูเหมือนยาก แต่เทคนิคนี้สามารถทำได้โดยการสั่นกล้องเช่นกัน ดังนั้นความจริงแล้วจึงง่ายกว่าเทคนิคที่ 2 ซึ่งคุณต้องถือกล้องไว้นิ่งๆ เพื่อถ่ายภาพ
ภาพนี้ผมกดชัตเตอร์ค้างไว้เมื่อดอกไม้ไฟแตกตัวออก และในขณะที่สั่นกล้องอย่างช้าๆ ก็หมุนวงแหวนปรับโฟกัสเพื่อให้เลนส์หลุดออกจากโฟกัส
ความเร็วชัตเตอร์ที่ใช้คือ 2.9 วินาที
ความเร็วชัตเตอร์ที่ใช้คือ 1.3 วินาที
—
คุณสามารถถ่ายภาพดอกไม้ไฟที่มีวงกลมโบเก้ได้ด้วย
มีดอกไม้ไฟบางชนิดที่ส่องแสงวาบปะทุขึ้นมาเมื่อแตกตัวออก เพราะแสงที่วาบขึ้นมาแต่ละครั้งนั้นคือแหล่งกำเนิดแสงที่เป็นจุด คุณจึงสามารถสร้างวงกลมโบเก้ได้ด้วยการเบลอโฟกัส ทำให้คุณถ่ายภาพดอกไม้ไฟที่ส่องประกายราวอัญมณีที่กระจายเต็มท้องฟ้าในยามค่ำคืน
ความเร็วชัตเตอร์ที่ใช้คือ 3.5 วินาที
—
ลองยืดระยะเวลาปรับโฟกัสให้ช้าลงเมื่อคุณเริ่มคุ้นเคยกับมันแล้ว
เมื่อคุณเริ่มคุ้นเคยกับเทคนิคนี้ คุณควรลองยืดระยะเวลาในการขยับกล้องและหมุนวงแหวนปรับโฟกัสออกไป ตัวอย่างเช่น คุณอาจลองขยับแค่กล้องในวินาทีแรก และหมุนวงแหวนปรับโฟกัสภายในเวลาที่เหลือ
ในภาพนี้ ผมถ่ายภาพดอกไม้ไฟที่กำลังแตกตัวออก ผมจับภาพเส้นเล็กๆ นั้นไว้ก่อนแล้วจึงทำให้กล้องหลุดออกจากโฟกัสในภายหลัง สำหรับดอกไม้ไฟที่มืดกว่านี้ ผมแนะนำให้ใช้ค่า f ภายในระยะ f/8
ความเร็วชัตเตอร์ที่ใช้คือ 2.8 วินาที
---
ในบทความนี้ ผมได้แนะนำเทคนิคสำหรับการถ่ายภาพดอกไม้ไฟที่แตกต่างไปจากเดิม
หากมีเวลาเหลือหลังจากถ่ายภาพดอกไม้ไฟตามปกติแล้ว คุณสามารถสนุกสนานไปกับการลองถ่ายภาพแบบที่ผมแสดงให้ดูได้ ผมแนะนำเทคนิคนี้สำหรับผู้ที่รู้สึกว่าตัวเองกำลังถ่ายภาพแบบเดิมๆ ซ้ำแล้วซ้ำเล่า
ต้องลองดูสักครั้งนะ!
studio9
เว็บไซต์ด้านการถ่ายภาพของญี่ปุ่นที่เริ่มต้นเมื่อปี 2011 ด้วยสโลแกนว่า "ให้การถ่ายภาพใกล้ตัวคุณยิ่งขึ้น" เว็บไซต์นี้นำเสนอเนื้อหาที่เป็นประโยชน์กับทุกคนที่ชอบการถ่ายภาพ นอกจากเนื้อหาบนเว็บไซต์แล้ว studio9 ยังมีการจัดสัมมนาและเวิร์กช็อปอีกด้วย