ในกลุ่มเลนส์ EF จาก Canon รุ่นที่มีตัวอักษร "IS" อยู่ในชื่อเลนส์ หมายถึง เลนส์ที่มีระบบ Image Stabilizer ซึ่งเป็นคุณสมบัติที่ช่วยลดการสั่นไหวของกล้องอยู่ในตัว เป็นเวลานานกว่า 15 ปีแล้วนับตั้งแต่มีการเปิดตัวเลนส์ EF ที่มีคุณสมบัติ IS เป็นครั้งแรก แต่ถึงอย่างนั้น บางแง่มุมของคุณสมบัตินี้ เช่น ความหลากหลายของโหมด IS และการควบคุมการใช้งาน กลับยังไม่เป็นที่รู้จักสำหรับผู้ใช้อีกจำนวนมาก ในบทความนี้ ผมจะนำเสนอฟังก์ชั่นต่างๆ ของระบบ IS นอกเหนือจากความสามารถในการลดการสั่นไหวของกล้อง
หน้า: 1 2
ความแตกต่างระหว่างระบบ IS ในเลนส์และในกล้อง
มักกล่าวกันว่าอาการกล้องสั่นไหวจะเกิดขึ้นเวลาที่ถ่ายภาพแบบถือด้วยมือ โดยใช้ความเร็วชัตเตอร์ที่ช้ากว่า “1/ทางยาวโฟกัส” วินาที ความเร็วชัตเตอร์อาจช้าลง เมื่อคุณถ่ายภาพในสถานที่ที่มืดหรือในที่แสงน้อย และทำให้เลี่ยงจากอาการกล้องสั่นไปได้ยากถ้าคุณถ่ายภาพโดยถือกล้องด้วยมือ เทคโนโลยีที่ Canon พัฒนาขึ้นมาเพื่อรับมือกับปัญหานี้ ก็คือคุณสมบัติ IS นั่นเอง เมื่อเลนส์เอียงเพราะการสั่นไหวของกล้อง แสง (ภาพ) จากตัวแบบก็จะไม่ตรงกันกับแกนออพติคอล กลไกการทำงานพื้นฐานของ IS คือ ทำให้ภาพถ่ายนิ่งโดยการขยับชิ้นส่วนในระบบออพติคอลภายในเลนส์ (ชุดออพติคแก้ไข) ตามปริมาณการสั่นไหว เมื่อการแก้ไขเกิดขึ้นภายในเลนส์ เราเรียกสิ่งนี้ว่า ระบบ IS ในเลนส์ ในทางกลับกัน การชดเชยการสั่นไหวโดยการขยับเซนเซอร์ภาพภายในบอดี้กล้อง เรียกว่า ระบบ IS ในบอดี้กล้อง ซึ่งผู้ใช้จำนวนมากไม่รู้ถึงความแตกต่างระหว่างสองระบบนี้
ภาพที่ผ่านเลนส์มาจะส่งตรงเข้าไปในกล้องตามภาพไดอะแกรม กรณีที่ใช้ระบบ IS ในเลนส์ ภาพที่แก้ไขแล้วจะสะท้อนผ่านกระจกหลักและส่งตรงไปยังช่องมองภาพและเซนเซอร์ AF ก่อนเปิดรับแสง หลังจากกระจกหลักดีดตัวขึ้นจากนั้น ม่านชัตเตอร์จะเปิดออกระหว่างการเปิดรับแสงเพื่อให้ภาพไปถึงเซนเซอร์ภาพ ขณะเดียวกัน ระบบ IS ในบอดี้กล้องจะทำการแก้ไขโดยขยับเซนเซอร์ภาพตามปริมาณการสั่นไหว ทั้งสองระบบจะแก้ไขภาพถ่ายที่บันทึกไว้แล้ว แต่จะแตกต่างกันในเรื่องสถานะของภาพที่ส่งไปยังช่องมองภาพและเซนเซอร์ AF ขณะที่ลั่นชัตเตอร์ เนื่องจากปัญหาจากการสั่นไหวจะได้รับการแก้ไขภายในเลนส์สำหรับระบบในเลนส์ ภาพจะถูกปรับให้นิ่งก่อนจะไปถึงช่องมองภาพ ทำให้ภาพที่ส่งไปถึงช่องมองภาพมีความชัดใส เอื้อให้จัดเฟรมภาพได้อย่างแม่นยำและง่าย ในลักษณะเดียวกัน ภาพที่ส่งไปยังเซนเซอร์ AF ก็จะนิ่ง ช่วยเพิ่มความเสถียรของภาพและความเร็วในการคำนวณค่า AF มากยิ่งขึ้นโดยเฉพาะในสภาวะแสงน้อย นอกจากนี้ ระบบในเลนส์ยังเพิ่มความยืดหยุ่นในการปรับใช้ดีไซน์เชิงออพติคอลที่เหมาะสมกับแต่ละเลนส์ ข้อได้เปรียบหลายประการที่ระบบ IS ในเลนส์มอบให้ในการถ่ายภาพจริง เป็นเหตุผลที่ทำให้ระบบนี้ได้รับการยอมรับและสนับสนุนจากผู้ใช้จำนวนมาก
ระบบ IS ในเลนส์
ก่อนลั่นชัตเตอร์
A: ช่องมองภาพ
B: กระจก
C: ชุดออพติคแก้ไข
D: เซนเซอร์ AF
E: เซนเซอร์ภาพ
เมื่อลั่นชัตเตอร์
A: ช่องมองภาพ
B: กระจก
C: ชุดออพติคแก้ไข
D: เซนเซอร์ AF
E: เซนเซอร์ภาพ
ระบบ IS ในบอดี้กล้อง
ก่อนลั่นชัตเตอร์
A: ช่องมองภาพ
B: กระจก
D: เซนเซอร์ AF
E: เซนเซอร์ภาพ
เมื่อลั่นชัตเตอร์
A: ช่องมองภาพ
B: กระจก
D: เซนเซอร์ AF
E: เซนเซอร์ภาพ
ในกล้อง SLR แสง (ภาพ) ที่ผ่านเลนส์จะสะท้อนจากกระจกหลักกึ่งโปร่งแสง และไปยังช่องมองภาพผ่านทางปริซึม ภาพที่ผ่านกระจกหลักจะสะท้อนจากกระจกด้านหลัง ก่อนจะส่งไปยังเซนเซอร์ AF เมื่อลั่นชัตเตอร์ กระจกจะดีดตัวเพื่อให้ภาพผ่านไปแตะเซนเซอร์ภาพ สิ่งที่ระบบ IS ในเลนส์แตกต่างจากระบบ IS ในบอดี้กล้อง คือภาพจะได้รับการแก้ไขก่อนส่งไปยังกระจกสะท้อน
โหมด IS และการควบคุม IS
ปัจจุบัน ระบบ IS ที่นำมาใช้ในเลนส์ EF แบ่งออกได้เป็น 2 ประเภท ประเภทแรก คือ IS ทั่วไปสำหรับการแก้ไขการสั่นแบบมุมองศา (ความเอียงของกล้อง) อีกประเภทหนึ่ง คือ Hybrid IS ที่สามารถจัดการกับการสั่นในแนวดิ่งได้ด้วย ซึ่งจะส่งผลชัดเจนยิ่งขึ้นเมื่อถ่ายภาพมาโคร ปัจจุบัน Hybrid IS มีเฉพาะในรุ่น EF100mm f/2.8L Macro IS USM เท่านั้น คุณสมบัติ IS บนเลนส์ EF มาพร้อมกับโหมด 3 โหมด แต่ละโหมดทำงานเพื่อแก้ไขการสั่นไหวของกล้องในวิธีที่แตกต่างกัน ตัวเลือกที่ได้ผลดีที่สุดในการถ่ายภาพทั่วไป คือ โหมด 1 ขณะเดียวกัน โหมด 2 เหมาะสำหรับการถ่ายภาพแบบแพนกล้อง ที่การแก้ไขการสั่นไหวจะหยุดเฉพาะในทิศทางที่ถ่ายภาพเท่านั้น เมื่อระบบตรวจพบโดยอัตโนมัติว่ามีการแพนกล้องโดยใช้เลนส์ โหมด 3 ซึ่งพบได้ในเลนส์เทเลโฟโต้รุ่นล่าสุด ออกแบบมาเพื่อให้ผู้ใช้ที่ต้องการถ่ายภาพตัวแบบที่คาดเดาการเคลื่อนไหวได้ยาก เช่น ในการแข่งขันกีฬา เมื่อมีการปรับองค์ประกอบภาพหรือมีการแพนกล้องแบบฉับพลันในโหมด 1 หรือโหมด 2 การใช้งานเบื้องต้นของคุณสมบัติ IS อาจทำให้เกิดอาการกระตุกชั่วคราวบนภาพในช่องมองภาพ เพื่อป้องกันไม่ให้ปัญหาดังกล่าวเกิดขึ้น จึงมีการพัฒนาโหมด 3 ซึ่งทำการแก้ไขการสั่นไหวระหว่างเปิดรับแสงหลังจากลั่นชัตเตอร์เท่านั้น แทนที่จะแก้ไขภาพในช่องมองภาพ โหมดนี้เหมาะสำหรับผู้ใช้ระดับมืออาชีพที่ต้องการการจับถือกล้องที่มั่นคงเมื่อกล้องติดตั้งเลนส์เทเลโฟโต้ โดยไม่ต้องมาคอยกังวลเกี่ยวการกระตุกของภาพในช่องมองภาพ
บางเลนส์มาพร้อมกับสวิตช์สำหรับเลือกโหมด IS ขณะที่เลนส์อื่นๆ จะสลับโหมด IS เองโดยอัตโนมัติ เลนส์สำหรับช่างภาพมือสมัครเล่นระดับสูงและมืออาชีพส่วนมากจะมีสวิตช์เลือกโหมด ขณะที่เลนส์สำหรับผู้ใช้ทั่วๆ ไปจะมีเพียงสวิตช์ เปิด/ปิดระบบ IS เท่านั้น อย่างไรก็ดี แม้ในกลุ่มเลนส์ที่มีเพียงสวิตช์ เปิด/ปิด บางรุ่นก็สามารถตรวจจับการแพนกล้องและสลับไปใช้งาน IS โหมด 2 ได้เช่นเดียวกัน เราจึงขอแนะนำให้คุณศึกษาคู่มือการใช้งานเลนส์ที่ใช้อยู่ เพื่อดูว่าเลนส์ของคุณรองรับการใช้งานดังกล่าวได้หรือไม่
มีผู้ใช้จำนวนมากที่ไม่แน่ใจว่าพวกเขาต้องปิดระบบ IS ไหมเมื่อตั้งกล้องบนขาตั้งกล้อง แท้จริงแล้ว ตั้งแต่เปิดตัวเลนส์ EF300mm f/2.8L IS USM ในเดือนกรกฎาคม 1999 เลนส์ EF ทุกรุ่นที่มีคุณสมบัติ IS ก็มาพร้อมกับฟังก์ชั่นการตรวจจับที่จะปิดใช้งานระบบ IS โดยอัตโนมัติ เมื่อต่อกล้องเข้ากับขาตั้งกล้อง สำหรับเลนส์ที่มาพร้อมสวิตช์เลือกโหมด คุณอาจจะต้องสลับโหมดตามแต่สถานการณ์ แต่สำหรับเลนส์ที่ใช้คุณสมบัติ IS ที่เพิ่งผ่านการพัฒนาใหม่ล่าสุด คุณสามารถเปิดไว้ได้ตลอดเวลา หากไม่จำเป็นต้องปิดใช้งานเนื่องจากสภาวะแวดล้อม
โครงแบบของชุดระบบ IS
A: ทิศทางที่ชุดออพติคแก้ไขเคลื่อนที่
B: แผงวงจร
C: PSD
D: แม่เหล็ก
E: IRED
F: สลักยึดท่อเลนส์ชุดออพติคแก้ไข
G: แกน (แผ่นฟลักซ์แม่เหล็ก)
H: ชุดออพติคแก้ไข
I: ท่อเลนส์ชุดออพติคแก้ไข
J: เพลานำ
K: กลไกล็อคชุดออพติคแก้ไข
ปริมาณการเคลื่อนที่ของชุดออพติคแก้ไขในระบบ IS จะคำนวณโดยเซนเซอร์ไจโรตรวจจับการสั่นไหวขนาดจิ๋ว (PSD) สองตัวที่ทำหน้าที่ตรวจจับการสั่นไหวของกล้องในแนวตั้งและแนวนอนในรูปแบบความเร่งของมุมองศา เมื่อกดปุ่มชัตเตอร์ลงครึ่งหนึ่ง ล็อคสำหรับชุดออพติคแก้ไขจะถูกปลดออก เซนเซอร์ไจโรตรวจจับการสั่นไหว (PSD) จะตรวจจับการสั่นไหวของกล้อง และส่งสัญญาณการตรวจจับไปยังไมโครคอมพิวเตอร์ ซึ่งจะแปลงสัญญาณการตรวจจับเป็นสัญญาณการสั่นไหวให้กับชุดออพติคแก้ไข จากนั้น จะส่งสัญญาณการสั่นไหวไปยังวงจรการขับเคลื่อนเพื่อเริ่มเคลื่อนชุดออพติคแก้ไข