หลักพื้นฐานเกี่ยวกับสมดุลแสงขาวช่วยสร้างโทนสีได้ดังใจนึก
คุณภาพของภาพที่ดีเกิดจากการจัดวางองค์ประกอบต่างๆ ของภาพ เช่น ตัวแบบและองค์ประกอบภาพ อย่างเหมาะสม โดยมีโทนสีเป็นองค์ประกอบที่สำคัญไม่ยิ่งหย่อนไปกว่ากัน เราสามารถเปลี่ยนอารมณ์ของภาพได้อย่างชัดเจนเพียงแค่เปลี่ยนโทนสีของภาพเท่านั้น ในบทความนี้ ผมจะแนะนำวิธีตั้งค่าสมดุลแสงขาว (WB) ซึ่งใช้เพื่อเปลี่ยนโทนสีของภาพ (บรรณาธิการโดย studio9)
เปลี่ยนสมดุลแสงขาวด้วยตัวเอง
เมื่อคุณเริ่มต้นใช้งานกล้อง DSLR หรือกล้องมิเรอร์เลสเป็นครั้งแรก คุณอาจรู้สึกตกตะลึงไปกับการตั้งค่าต่างๆ ที่มีมากมายเสียจนไม่รู้ว่าจะเริ่มต้นตรงไหนดี หากคุณตั้งใจจะลดจำนวนการตั้งค่าที่จะต้องกำหนดลง และหันไปใช้คุณสมบัติแบบอัตโนมัติต่างๆ แทนแล้ว คุณควรลองปรับ สมดุลแสงขาว (WB) ด้วยตนเองทุกครั้งที่เป็นไปได้ เพียงแค่เปลี่ยนโทนสีของภาพ ผลกระทบที่เกิดจากองค์ประกอบของภาพ เช่น ตัวแบบและองค์ประกอบภาพ ที่ปรากฏทางสายตาต่อผู้ชม สำหรับรูปถ่ายเดียวกันนั้นก็จะ เปลี่ยนแปลงไปอย่างมาก
การตั้งค่าสมดุลแสงขาวแบบ 3+2 ที่ควรฝึกฝน
โดยปกติ สมดุลแสงขาวคือฟังก์ชั่นที่ใช้สำหรับแก้ไขโทนสีของภาพเพื่อสะท้อนสีสันที่แท้จริงของตัวแบบ ไม่ว่าแสงสว่างโดยรอบจะเป็นเช่นไร อย่างไรก็ดี ผมจะขอแนะนำสมดุลแสงขาวในฐานะ ฟังก์ชั่นที่ตั้งค่าโทนสีในภาพให้เหมาะสมกับความต้องการของคุณ
เมื่อคุณปรับเปลี่ยนสมดุลแสงขาว ภาพที่ได้อาจมี โทนสีแดง หรือ โทนสีน้ำเงิน (แม้ว่าจะตั้งค่าอย่างเหมาะสมแล้ว โทนสีที่ได้อาจดูเหมือนสีที่คุณมองเห็นจริงด้วยตาเปล่า) ดังนั้น หากจะเปลี่ยนสมดุลแสงขาวควรคำนึงถึงข้อสำคัญนี้
ก่อนอื่น ให้ตรวจสอบโหมดสมดุลแสงขาวว่ามีให้ใช้งานในกล้องของคุณหรือไม่ วิธีการตรวจสอบโหมดอาจแตกต่างกันไปตามรุ่นของกล้องที่ใช้ ดังนั้น โปรดศึกษาข้อมูลจากคู่มือการใช้งานกล้องของคุณ เนื่องจากสมดุลแสงขาวเป็นการตั้งค่าที่ใช้กันทั่วไป โดยปกติจึงสามารถเข้าใช้งานได้ด้วยการกดปุ่มเพียงหนึ่งหรือสองครั้ง
เมนูการตั้งค่าสมดุลแสงขาวที่คุณเห็นจะมีลักษณะแบบนี้หรือคล้ายคลึงกัน
โดยจะมีโหมดให้เลือกใช้งานมากมาย ได้แก่ แสงแดด แสงในร่ม เมฆครึ้ม หลอดไฟทังสเตน และแสงหลอดฟลูออเรสเซนต์ขาว หากคุณเพิ่งเริ่มต้นถ่ายภาพเป็นครั้งแรก การฝึกใช้งานโหมดต่างๆ มากมายในคราวเดียวอาจเป็นเรื่องยาก ดังนั้น คุณควร เริ่มจากการฝึกฝนสามโหมดแรกนี้เสียก่อน
ได้แก่ แสงหลอดฟลูออเรสเซนต์ขาว แสงแดด และ เมฆครึ้ม, โพล้เพล้, พระอาทิตย์ตก
โหมดเหล่านี้จะเปลี่ยนโทนสีของภาพดังที่แสดงด้านล่าง
หากโทนสีของการตั้งค่าแสงแดด ถือว่าเป็นโทนสีแบบ "ปกติ" โทนสีของภาพจะปรากฏเป็นโทนสีน้ำเงินเมื่อใช้แสงหลอดฟลูออเรสเซนต์ขาว และเป็นโทนสีแดงเมื่อใช้เมฆครึ้ม ง่ายๆ เท่านี้เอง
เพียงแค่ 3 โหมดนี้ก็มากเพียงพอสำหรับการเริ่มต้นแล้ว เมื่อคุณฝึกใช้จนเกิดความชำนาญแล้ว จึงค่อยฝึกฝนเพิ่มอีกสองโหมด เพียงเท่านี้คุณก็จะใช้งานโหมดได้ครบตามที่ต้องการ
โหมดสองโหมดที่เหลือคือ หลอดไฟทังสเตน และแสงในร่ม โหมดหลอดไฟทังสเตนจะทำให้ภาพมีโทนสีน้ำเงินกว่าโหมดแสงหลอดฟลูออเรสเซนต์ขาว ขณะที่โหมดแสงในร่มจะทำให้ภาพมีโทนสีแดงกว่าโหมดเมฆครึ้ม วิธีที่ดีที่จะช่วยให้เข้าใจหลักการนี้คือ
เมื่อคุณฝึกฝนใช้โหมดเหล่านี้จนเกิดความชำนาญแล้ว คุณก็พร้อมแล้วสำหรับก้าวสำคัญ
การตั้งค่าที่แนะนำสำหรับฉากต่างๆ
แม้ว่าการปรับค่าสมดุลแสงขาวจะขึ้นอยู่กับความต้องการของช่างภาพแต่ละคน แต่ผมจะขอแนะนำวิธีการตั้งค่าบางส่วนดังต่อไปนี้
*ภาพตัวอย่างนี้เป็นภาพที่พัฒนาขึ้นจากไฟล์ RAW เดียวกัน โดยมีการปรับเฉพาะการตั้งค่าสมดุลแสงขาวเท่านั้น ส่วนการตั้งค่าอื่นๆ นอกเหนือจากสมดุลแสงขาว เช่น ความสว่างและความเปรียบต่างยังคงเหมือนเดิม
ภาพถ่ายที่ให้ความรู้สึกละเอียดอ่อนและโปร่งแสง
ขอแนะนำให้ใช้ โหมดหลอดฟลูออเรสเซนต์ขาว เย็นเพื่อถ่ายภาพดังกล่าว โดยเฉพาะอย่างยิ่งภาพดอกไม้ในวันที่แสงแดดสดใส
แม้ว่าภาพที่ได้อาจมีโทนสีน้ำเงินมากกว่าความเป็นจริงก็ตาม แต่ยังมีเส่น่ห์ของความโปร่งแสงแสดงให้เห็นอย่างชัดเจน เมื่อภาพถ่ายมีโทนสีน้ำเงินก็มักจะทำให้ภาพมืดลงด้วยเช่นกัน ดังนั้น กุญแจสำคัญคือ ทำให้ภาพของคุณสว่างขึ้น ประมาณ +0.7 ถึง 1.3
นอกจากนี้ เมื่อถ่ายภาพในโหมดแสงแดด ภาพด้านบนจะปรากฏออกมาในแบบที่แสดงด้านล่าง
ในภาพนี้ โทนสีโดยรวมเป็นสีโทนอุ่น ซึ่งเพิ่มความอบอุ่นให้กับภาพ
ภาพถ่ายที่ให้ความรู้สึกเย็นและมืดสลัว
โทนสีเย็น เหมาะสำหรับภาพที่ต้องการถ่ายทอดความรู้สึกเย็นและมืดสลัวเช่นกัน คุณสามารถเลือกใช้โหมดหลอดฟลูออเรสเซนต์ขาวหรือแม้แต่หลอดไฟทังสเตน ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับฉากที่ถ่าย โหมดทั้งสองนี้เหมาะอย่างยิ่งสำหรับเก็บภาพความชื่นชมที่มีต่อทิวทัศน์ยามค่ำคืนและภาพเงาซิลลูเอตต์
ในภาพนี้ ผมเก็บภาพเงาซิลลูเอตต์ของเจดีย์สูงห้าชั้นที่วัดเซนโซจิในกรุงโตเกียว ผมถ่ายภาพนี้ด้วยโหมดแสงหลอดไฟทังสเตน ซึ่งช่วยสร้างความรู้สึกเย็นและมืดสลัว
ภาพด้านล่างนี้เป็นรูปถ่ายเดียวกันแต่ถ่ายด้วยโหมดแสงแดด
โทนสีจึงออกไปในโทนอบอุ่นเล็กน้อยเสมือนถ่ายภาพในช่วงโพล้เพล้ ภาพนี้อาจทำให้บอกได้ยากว่าเป็นภาพที่ถ่ายทอดความรู้สึกเย็นและมืดสลัวหรือไม่ เพราะว่าผมถ่ายช็อตนี้ในช่วงเวลาเย็น ดังนั้นสีสันที่ปรากฏในภาพจึงดูใกล้เคียงกับสีทีุ่คุณมองเห็นด้วยตาเปล่ามากกว่า
ถ่ายภาพพระอาทิตย์ยามอัสดงได้อย่างสวยสดงดงาม
เมื่อคุณเริ่มต้นปรับค่าสมดุลแสงขาวด้วยตนเอง คุณจะสามารถถ่ายภาพทิวทัศน์ยามเย็นให้สวยประทับใจได้มากยิ่งขึ้น ในช่วงยามเย็น ให้ตั้งค่าสมดุลแสงขาวเพื่อขับเน้นโทนสีอบอุ่นให้ชัดเจนขึ้น
ผมเลือกถ่ายช็อตนี้ในโหมด แสงในร่ม คุณอาจเจอภาพทิวทัศน์เช่นนี้ระหว่างที่เดินเล่นรอบเมืองในเวลาเย็น คุณอาจเลือกถ่ายภาพนี้ในโหมดเมฆครึ้ม หรือหากอยากได้ภาพที่แปลกตาออกไป อาจทดลองใช้โหมดแสงในร่มก็ได้เช่นกัน
ภาพด้านล่างนี้เป็นรูปถ่ายเดียวกันแต่ถ่ายด้วยโหมดแสงแดด
ภาพนี้โทนสีน้ำเงินจะถูกขับเน้นให้เด่นชัดขึ้นเล็กน้อย และไม่มีทางที่เราจะเห็นบรรยากาศของพระอาทิตย์ตกดินได้ ขณะที่โทนสีเหล่านี้อาจดูใกล้เคียงกับสีที่มองเห็นด้วยตาตนเองมากกว่า ดังนั้น เรามักเชื่อมโยงพระอาทิตย์ตกดินเข้ากับโทนสีส้มที่เข้มกว่านี้
สรุป: ใช้โหมด "แสงแดด" เป็นโหมดอ้างอิง
ในบทความนี้ผมแนะนำตัวอย่างเพียงบางส่วนเท่านั้น แต่เห็นได้ง่ายว่าเพียงแค่ปรับค่าสมดุลแสงขาวเท่านั้น ภาพที่ออกมาก็จะ เปลี่ยนไปอย่างชัดเจน
สามโหมดแรกที่คุณควรฝึกฝนให้ชำนาญ ได้แก่ โหมด หลอดฟลูออเรสเซนต์ขาว แสงแดด และเมฆครึ้ม หลังจากที่คุณเริ่มคุ้นเคยกับโหมดเหล่านี้แล้ว ควรศึกษาวิธีใช้งานอีกสองโหมดเพิ่มเติม ได้แก่ หลอดไฟทังสเตน และ แสงในร่ม เพื่อสื่ออารมณ์ของภาพถ่ายได้หลากหลายยิ่งขึ้น
หากการนำโหมดทั้งหมดไปใช้งานดูยากเกินไป ควรมุ่งความสนใจไปที่การถ่ายภาพและพิจารณาว่าคุณต้องการให้ภาพออกมาในโทนสีน้ำเงินหรือสีแดงมากกว่า ดังนั้น ควรจดจำลำดับของโหมดสมดุลแสงขาวห้าโหมดและเอฟเฟ็กต์ของโหมดเหล่านี้ให้ดี
studio9
เว็บไซต์ด้านการถ่ายภาพของญี่ปุ่นที่เริ่มต้นเมื่อปี 2011 ด้วยสโลแกนว่า "ให้การถ่ายภาพใกล้ตัวคุณยิ่งขึ้น" เว็บไซต์นี้นำเสนอเนื้อหาที่เป็นประโยชน์กับทุกคนที่ชอบการถ่ายภาพ นอกจากเนื้อหาบนเว็บไซต์แล้ว studio9 ยังมีการจัดสัมมนาและเวิร์กช็อปอีกด้วย