บทสัมภาษณ์นักพัฒนาเกี่ยวกับกล้อง EOS 80D (ตอนที่ 2): ช่องมองภาพแบบออพติคอลและเซนเซอร์การวัดแสง
กล้อง EOS 80D มีความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีมากมาย ในตอนที่ 2 ของบทสัมภาษณ์ ซึ่งถ่ายทอดความหลงใหลของนักพัฒนา เราได้สอบถามนักพัฒนาถึงข้อดีที่ได้รับจากเทคโนโลยีต่างๆ เช่น ช่องมองภาพแบบออพติคอลที่ครอบคลุมพื้นที่ 100% แม้ว่ากล้อง EOS 80D จะมีขนาดปานกลาง และมีเซนเซอร์การวัดแสงแบบใหม่ก็ตาม (ผู้สัมภาษณ์: Ryosuke Takahashi ภาพหมู่: Takehiro Kato)
(แถวหลัง จากซ้ายมือ) Kohei Furuya (ศูนย์วิจัยและพัฒนา ICP 2)/ Koji Ikeda (ศูนย์พัฒนา ICP 2)/ Terutake Kadohara (ศูนย์วิจัยและพัฒนา ICP 2)/ Takashi Ichinomiya (ศูนย์วิจัยและพัฒนา ICP 2)/ Yuichiro Sugimoto (แผนก ICP 1)
(แถวหน้า จากซ้ายมือ) Takashi Kishi (ศูนย์พัฒนา ICP 2)/ Masahiro Kobayashi (แผนก ICP 2)/ Nobuyuki Inoue (ศูนย์พัฒนา ICP 2)/ Koji Sato (ศูนย์พัฒนา ICP 1)/ Yutaka Watanabe (ศูนย์พัฒนา ICP 1)
ข้อดีของการมีช่องมองภาพแบบออพติคอลที่ครอบคลุมพื้นที่ประมาณ 100%
- ช่วยเล่าให้เราฟังถึงเบื้องหลังทางเทคนิคที่ทำให้ได้ช่องมองภาพแบบออพติคอลที่ครอบคลุมพื้นที่ประมาณ 100% และข้อดีของช่องมองภาพชนิดนี้ที่มีต่อผู้ใช้หน่อยครับ
Inoue: ข้อดีที่โดดเด่นที่สุดของการมีช่องมองภาพที่ครอบคลุมประมาณ 100% คือ ช่วยให้คุณสามารถจัดเฟรมภาพได้อย่างแม่นยำโดยใช้ช่องมองภาพได้ ในส่วนของเบื้องหลังทางเทคนิค จำเป็นต้องอาศัยการปรับแต่งที่แม่นยำจึงจะได้พื้นที่ครอบคลุมถึง 100% ในอดีต สำหรับขนาดบอดี้กล้องในระดับนี้ เราไม่สามารถได้ช่องมองภาพที่ครอบคลุมถึง 100% ได้ เนื่องจากการจะได้พื้นที่ที่จำเป็นสำหรับการปรับแต่งนั้นทำได้ยาก เราจึงแก้ไขปัญหาเหล่านี้โดยการพัฒนากลไกการปรับแต่งใหม่สำหรับ EOS 80D
โครงสร้างภายในของกล้อง EOS 80D
A: เพนทาปริซึม
B: แฟลชติดกล้อง
C: กระจกสะท้อนภาพหลัก
D: กระจกรอง
E: เซนเซอร์ AF
F: ชัตเตอร์
G: เซนเซอร์ภาพ
H: จอภาพ LCD แบบปรับหมุนได้หลายทิศทาง
I: เซนเซอร์การวัดแสง
- แสดงว่าเป็นไปไม่ได้ที่จะได้ช่องมองภาพที่ครอบคลุม 100% โดยเพียงแค่เพิ่มขนาดของเพนทาปริซึมหรือครับ
Inoue: แม้ว่าการมีเพนทาปริซึมที่ใหญ่ขึ้นจะยังเป็นสิ่งจำเป็น แต่ในทางเทคนิค การปรับหน้าจอช่องมองภาพเพื่อให้เข้ากับขนาดของพิกเซลของภาพเป็นเรื่องที่ยาก ดังนั้น สิ่งที่เปลี่ยนแปลงไปในกล้อง EOS 80D คือ การมีช่องมองภาพที่ครอบคลุมประมาณ 100% ขณะเดียวกันก็กินพื้นที่น้อยมากแม้จะพิจารณาถึงสิ่งเหล่านี้แล้วก็ตาม
A: เพนทาปริซึม
B: แสงช่วยนำสำหรับให้ความสว่างบนหน้าจอ LCD โปร่งแสง
C: LCD โปร่งแสง (PN-LCD)
D: หน้าจอโฟกัส
E: ปริซึม LCD แสดงข้อมูล
F: LCD สำหรับแสดงข้อมูลภายนอกระยะชัดลึกของช่องมองภาพ
G: เซนเซอร์การวัดแสง RGB+IR
H: เลนส์ใกล้ตา
ระบบออพติคอลของช่องมองภาพ
นอกเหนือจากการใช้เพนทาปริซึมกระจกขนาดใหญ่แล้ว ความแม่นยำในการยึดยังได้รับการพัฒนาให้ดีขึ้นเพื่อให้ได้ช่องมองภาพที่ครอบคลุมประมาณ 100% อีกทั้งยังนำจอภาพ LCD โปร่งแสงมาใช้ในการแสดงข้อมูลต่างๆ ได้หลายรูปแบบ
ระบบขับเคลื่อนกระจกแบบใหม่ทำงานเงียบเชียบขึ้นและลดการสั่นสะเทือนของกล้อง
- ความพยายามทางเทคนิคใดบ้างที่ทำให้ได้การถ่ายภาพต่อเนื่องความเร็วสูง
Inoue: ความเร็วในการถ่ายภาพต่อเนื่องสูงสุดอยู่ที่ประมาณ 7 fps ซึ่งเทียบเท่ากับความเร็วในกล้อง EOS 70D อย่างไรก็ดี กล้อง EOS 80D ได้พัฒนาขึ้นในแง่ของระบบการขับเคลื่อนและการควบคุมการเคลื่อนของกระจก การพัฒนาระบบขับเคลื่อนกระจกนี้จะช่วยให้กล้องทำงานอย่างเงียบเชียบ และเกิดแรงกระแทกที่น้อยมากระหว่างการถ่ายภาพต่อเนื่องความเร็วสูงประมาณ 7 fps ในส่วนของเทคโนโลยี เราปรับปรุงกลไกการขับเคลื่อนกระจก พร้อมทั้งพัฒนาระบบขับเคลื่อนกระจกใหม่ ซึ่งจะเชื่อมต่อโดยตรงกับมอเตอร์ระหว่างการเคลื่อนไหวขึ้นและลง ไม่เพียงเท่านั้น ยังมีความแตกต่างจากระบบเดิมที่การทำงานจะเชื่อมโยงกับการเคลื่อนไหวของกระจกหลัก โดยกลไกลแบบใหม่ในกล้อง EOS 80D จะช่วยขับเคลื่อนกระจกรองโดยตรงอีกด้วย
A: กลไกป้องกันการเคลื่อนของกระจกหลัก
B: กลไกการขับเคลื่อนกระจกรอง
C: มอเตอร์ขับเคลื่อน
- ประโยชน์ของการขับเคลื่อนกระจกรองโดยตรงมีอะไรบ้าง
Inoue: การขับเคลื่อนโดยตรงทำให้เราสามารถหยุดการเคลื่อนไหวของกระจกรองในการขับเคลื่อนกลไก AF ได้อย่างรวดเร็ว และช่วยให้การทำงานหลายๆ ด้านมีความแม่นยำมากขึ้น มอเตอร์ที่พัฒนาขึ้นใหม่มาพร้อมกับเซนเซอร์แบบหมุนที่ควบคุมการเคลื่อนไหวได้อย่างแม่นยำ ดังนั้น การทำงานจึงเงียบเชียบยิ่งขึ้นและการสั่นสะเทือนของกล้องลดน้อยลง
- กล้องสามารถลดเสียงการทำงานและการสั่นสะเทือนด้วยวิธีใด
Inoue: เราลดความเร็วลงทันทีก่อนที่บานกระจกจะพลิกขึ้น และก่อนที่กระจกหลักจะกระตุกเมื่อบานกระจกพลิกลง จากนั้นเราจะลดความเร็วลงอีกก่อนที่กระจกรองจะเกิดการกระตุก
- กระจกหลักและกระจกรองขับเคลื่อนด้วยมอเตอร์คนละตัวใช่หรือไม่
Inoue: ไม่ครับ ทั้งสองบานขับเคลื่อนด้วยมอเตอร์ตัวเดียวกัน หากจะอธิบายในรายละเอียดก็คือ มอเตอร์จะขับเคลื่อนกระจกรอง ขณะที่กระจกหลักเคลื่อนที่ไปพร้อมๆ กับกระจกรอง
- วิธีนี้แตกต่างจากวิธีเดิมนะครับ
Inoue: ใช่ครับ ก่อนหน้านี้ไม่มีกล้องที่ใช้กลไกดังกล่าว
เซนเซอร์การวัดแสงแบบใหม่ตรวจหาแสงอินฟราเรดคลื่นสั้น (IR) ได้
- ช่วยอธิบายเพิ่มเติมเกี่ยวกับเซนเซอร์วัดแสง RGB+IR ความละเอียด 7,560 พิกเซลหน่อยครับ
Ichinomiya: กล้อง EOS 80D สามารถกำหนดการกระจายของสีภายในภาพได้ โดยการวัดสี RGB ด้วยเซนเซอร์วัดแสง ซึ่งผู้ใช้จะได้รับประโยชน์อย่างหนึ่งคือ สามารถควบคุมการปรับระดับแสงอัตโนมัติ (AE) บนใบหน้าคนได้อย่างเหมาะสมโดยการใช้การตรวจจับสีผิว นอกจากนี้ ยังสามารถควบคุม AF ได้อย่างแม่นยำด้วยจุด AF เมื่อตั้งการเลือกจุด AF 45 จุดไว้ที่บริเวณสีผิว
เซนเซอร์วัดแสง RGB+IR ความละเอียด 7,560 พิกเซลบนกล้อง EOS 80D
- ในอดีต ประสิทธิภาพของเซนเซอร์ AE จะระบุได้จากจำนวนโซนของการวัดแสง แต่ขณะนี้ไม่มีการวัดแสงโดยใช้โซนเข้ามาเกี่ยวข้องแล้วใช่หรือไม่
Ichinomiya: ภาพจะถูกแบ่งออกเป็นโซนต่างๆ เพื่อวัดความสว่างและคำนวณการเปิดรับแสงเหมือนเช่นเคย นอกจากนี้ EOS 80D ยังสามารถควบคุมการเปิดรับแสงได้อย่างแม่นยำตามสีของตัวแบบ ทั้งนี้ ส่วนหนึ่งเนื่องมาจากเซนเซอร์ IR ที่ตอบสนองอย่างรวดเร็วต่อแสงอินฟราเรดคลื่นสั้น (IR) ที่มองไม่เห็นด้วยตาเปล่า
- จากมุมมองของผู้ใช้งาน ข้อดีของความสามารถในตรวจหาแสง IR มีอะไรบ้าง
Ichinomya: มีข้อดีหลักๆ อยู่สองข้อด้วยกัน ข้อแรก ช่วยเพิ่มความแม่นยำในการตรวจสอบฉากต่างๆ เช่น ฉากต้นไม้กลางแจ้งและพระอาทิตย์ตกดิน เพราะนอกเหนือจากสีเขียว สีแดง และแสงที่สามารถมองเห็นได้อื่นๆ แล้ว ฉากเหล่านี้ยังมีปริมาณแสงอินฟราเรดเป็นจำนวนมาก การตรวจหาแสดงอินฟราเรดจะช่วยให้สามารถถ่ายทอดฉากต้นไม้และพระอาทิตย์ตกออกมาได้อย่างสดใสมีชีวิตชีวา ข้อดีข้อที่สองคือ ความแตกต่างของ AF ที่เกิดขึ้นจากแหล่งกำเนิดแสงที่แตกต่างกันมีน้อยมาก ซึ่งความแตกต่างของ AF ที่เกิดขึ้นเล็กน้อยนี้สามารถแก้ไขได้ด้วยการตรวจหาลำแสง IR
- ตั้งแต่มีการเปิดตัวเซนเซอร์วัดแสงแบบใหม่ ระบบ Scene Detection ของ EOS เปลี่ยนแปลงไปอย่างไรบ้าง
Furuya: โดยทั่วไป ดังที่เราได้อธิบายถึงเซนเซอร์วัดแสง RGB+IR ความละเอียด 7,560 พิกเซลไปแล้ว ข้อดีของเซนเซอร์ใหม่นี้ก็คือความแม่นยำสูงในการตรวจสอบฉากต้นไม้และพระอาทิตย์ตก รวมถึงความแม่นยำของ AE และ AF ที่เพิ่มขึ้นในการตรวจจับสีที่เหมือนกับสีผิว ขณะที่กล้องยังคงคุณสมบัติเดิมที่สามารถตรวจสอบฉากพระอาทิตย์ตกหรือต้นไม้ เซนเซอร์วัดแสงแบบใหม่ให้ความแม่นยำมากขึ้นกว่าที่เคย
ความก้าวหน้าและการพัฒนาที่ทำให้การถ่ายภาพเป็นเรื่องง่ายยิ่งขึ้น
- "สมดุลแสงขาวอัตโนมัติ (เน้นโทนขาว)" มีคุณสมบัติที่โดดเด่นอย่างไรบ้าง
Furuya: การตั้งค่าสมดุลแสงขาวอัตโนมัติที่มีในกล้องยังคงรักษาโทนสีอบอุ่นไว้เล็กน้อยขณะที่คุณถ่ายภาพภายใต้แสงจากหลอดไฟทังสเตน การตั้งค่าโหมดนี้มีให้เลือกในกล้อง EOS 80D เช่นกัน เพียงแต่เปลี่ยนชื่อเป็น "เน้นบรรยากาศ" ขณะเดียวกัน ตัวเลือก "เน้นโทนขาว" ใหม่จะช่วยลดเอฟเฟ็กต์จากหลอดไฟทังสเตนเพื่อให้ภาพมีสีขาวในโทนที่ขาวมากขึ้นกว่าเดิม
สมดุลแสงขาวอัตโนมัติ (เน้นบรรยากาศ)
สมดุลแสงขาวอัตโนมัติ (เน้นโทนขาว)
ฉากประเภทใดที่ใช้กับตัวเลือก "เน้นโทนขาว" ได้ดี
Furuya: ตัวเลือกนี้มีประโยชน์เมื่อคุณต้องการถ่ายภาพสีของชุดเจ้าสาวในงานแต่งงานที่เน้นโทนสีขาวมากขึ้่น หรือในกรณีที่ต้องการกำจัดโทนสีแสงและเน้นสีขาวที่คมชัดในขณะถ่ายภาพที่ร้านอาหารหรือร้านค้า
- โหมดฟิลเตอร์สร้างสรรค์เพิ่งเพิ่มเข้ามาในวงแหวนเลือกโหมด ช่วยอธิบายถึงวัตถุประสงค์ที่เพิ่มโหมดนี้หน่อยครับ
Kobayashi: ในกล้อง EOS 70D มีคุณสมบัติฟิลเตอร์สร้างสรรค์ด้วยเช่นกัน แต่ในกล้อง EOS 80D คุณสมบัตินี้จะรวมอยู่ในโหมดฟิลเตอร์สร้างสรรค์ใหม่ร่วมกับเอฟเฟ็กต์ HDR เพื่อให้สามารถเข้าใช้งานตัวเลือกฟิลเตอร์สร้างสรรค์ได้ง่ายขึ้น ในอดีต คุณต้องเลือกคุณสมบัตินี้จากเมนู แต่ขณะนี้สามารถเลือกได้จากหน้าจอ Quick Control บนกล้อง EOS 80D ได้ เพียงแค่หมุนวงแหวนเลือกโหมดเท่านั้น
ฟิลเตอร์สร้างสรรค์ถูกเพิ่มเข้าไปในวงแหวนเลือกโหมดในกล้อง EOS 80D
- เมื่อเข้าสู่โหมด HDR จากเมนูการถ่ายภาพ คุณจะสามารถปรับช่วงไดนามิกเรนจ์ได้ แต่หากใช้โหมดฟิลเตอร์สร้างสรรค์ ดูเหมือนว่าจะไม่สามารถปรับช่วงไดนามิกเรนจ์ได้ ในกรณีนี้มีปัจจัยใดเข้ามาเกี่ยวข้องบ้าง
Furuya: โหมด HDR ของโหมดฟิลเตอร์สร้างสรรค์นั้นมีไว้ให้ผู้ใช้เพลิดเพลินไปกับคุณสมบัติได้ง่ายดายยิ่งขึ้น ดังนั้นเราจึงกำหนดการปรับช่วงไดนามิกเรนจ์ไว้ที่ "อัตโนมัติ"
- มีการเพิ่มตัวเลือกการแก้ไขความบิดเบี้ยวใหม่เข้าไปในคุณสมบัติการแก้ไขความคลาดเคลื่อนของเลนส์ คุณสมบัติการแก้ไขนี้รองรับเลนส์กี่รุ่น และคุณช่วยเล่าถึงลักษณะเด่นของคุณสมบัตินี้ได้หรือไม่
Furuya: ตามค่าเริ่มต้น กล้อง EOS 80D มาพร้อมกับข้อมูลการแก้ไขความคลาดเคลื่อนของเลนส์ 30 รุ่น หากไม่มีข้อมูลสำหรับเลนส์ที่คุณใช้งานอยู่ คุณสามารถลงทะเบียนได้โดยใช้ EOS Utility กล้องจะสามารถจัดเก็บข้อมูลเลนส์ได้สูงสุดถึง 40 รุ่น สำหรับเลนส์ที่มาพร้อมกับข้อมูลการแก้ไขความคลาดเคลื่อนของเลนส์ในตัว คุณสามารถแก้ไขได้โดยไม่ต้องลงทะเบียนเลนส์โดยใช้ EOS Utility
- การใช้รูปแบบภาพ "Fine Detail" ส่งผลต่อภาพถ่ายที่ออกมาอย่างไรบ้าง
Furuya: คุณสมบัติรูปแบบภาพในกล้อง EOS 80D มาพร้อมกับตัวเลือกสำหรับปรับความคมชัด ได้แก่ "Fineness" และ "Threshold" เมื่อคุณเลือก "Fine Detail" ตัวเลือกความคมชัดเหล่านี้จะถูกตั้งค่าเป็น "1" โดยอัตโนมัติ ซึ่งคุณสามารถใช้ตัวเลือกดังกล่าวเพื่อถ่ายทอดความละเอียดของเส้นขอบหรือพื้นผิวของตัวแบบได้ โดยความเปรียบต่างจะถูกตั้งค่าไว้ในระดับที่ต่ำกว่าการตั้งค่า "มาตรฐาน" เพื่อให้การขับเน้นพื้นผิวและการไล่โทนสีทำได้ง่ายยิ่งขึ้น คุณยังสามารถใช้ตัวเลือกรูปแบบภาพนี้ หากต้องการพัฒนาไปอีกขั้นด้วยการสร้างสรรค์ผลงานภาพถ่ายที่มีพื้นผิวเหมือนกับภาพวาด
Ryosuke Takahashi
เกิดที่จังหวัดไอชิเมื่อปี 1960 Takahashi เริ่มทำงานอิสระในปี 1987 หลังจากทำงานในสตูดิโอถ่ายภาพโฆษณาและสำนักพิมพ์ และเนื่องจากรับถ่ายภาพให้กับนิตยสารชื่อดัง เขาจึงได้เดินทางจากที่อยู่ประจำ คือ ญี่ปุ่นและจีน ไปยังสถานที่ต่างๆ ทั่วโลก และเขาก็เป็นสมาชิกคนหนึ่งของ Japan Professional Photographers Society (JPS) ด้วย
Digital Camera Magazine
นิตยสารรายเดือนที่เชื่อว่าความสุขของการถ่ายภาพจะยิ่งเพิ่มขึ้น เมื่อผู้ถ่ายภาพได้เรียนรู้เกี่ยวกับฟังก์ชั่นต่างๆ ของกล้องมากยิ่งขึ้น นิตยสารเล่มนี้เผยแพร่ข่าวสารเกี่ยวกับกล้องรุ่นใหม่ๆ รวมถึงคุณสมบัติของกล้องและนำเสนอเทคนิคการถ่ายภาพอย่างหลากหลาย
จัดพิมพ์โดย Impress Corporation