ผู้เชี่ยวชาญขอแชร์: เคล็ดลับและเทคนิคในการถ่ายภาพแมวไม่ซ้ำใคร
ใครๆ ก็ชอบรูปแมว และถ้าคุณชื่นชอบทั้งแมวและการถ่ายภาพ ก็คงอดใจไม่ไหวที่จะต้องถ่ายภาพน้องแมวที่ได้พบเจอ ไม่ว่าจะเป็นแมวที่ตัวเองเลี้ยง แมวจากศูนย์พักพิง หรือแมวจรจัดตามท้องถนน! แต่ถึงอย่างนั้น การจับภาพความร่าเริงมีชีวิตชีวาของน้องแมวก็อาจทำได้ยากกว่าที่คิด ช่างภาพแมว Ryosuke Miyoshi (@ryostory1124) จะมาแบ่งปันเคล็ดลับและเทคนิคในการถ่ายภาพวินาทีสำคัญใน 3 สถานการณ์ที่แตกต่างกัน (เรื่องโดย Ryosuke Miyoshi, Digital Camera Magazine)
EOS R8/ RF14-35mm f/4L IS USM/ FL: 14 มม./ Manual exposure (f/8, 1/320 วินาที)/ ISO 100
สถานการณ์ที่ 1: ค่อยเป็นค่อยไปและใช้ความระมัดระวังกับแมวที่ไม่คุ้นเคย
การสร้างความสัมพันธ์กับแมวนั้นสำคัญมากหากคุณต้องการภาพที่แสดงสีหน้าท่าทางและบุคลิกเฉพาะตัว ซึ่งมักจะแสดงออกมาเมื่อน้องแมวรู้สึกผ่อนคลายกับคุณแล้ว
การได้รับความไว้ใจจากแมวอาจต้องใช้เวลาอยู่บ้าง โดยเฉพาะอย่างยิ่งหากมันระแวงมนุษย์ ลองเว้นระยะห่างและอยู่เงียบๆ ไม่รบกวนจนกว่าเจ้าเหมียวจะรู้สึกคุ้นเคยกับคุณมากขึ้น
เทคนิคที่ 1: ใช้เลนส์เทเลโฟโต้หากพบแมวเป็นครั้งแรก
RF135mm f/1.8L IS USM
แนะนำให้ใช้: เลนส์เทเลโฟโต้ความเร็วสูง
เลนส์เทเลโฟโต้ช่วยให้คุณถ่ายภาพแมวได้เต็มเฟรมมากขึ้นโดยที่ยืนอยู่ในระยะห่างที่ไม่เป็นการรบกวน (เพื่อสร้างความสบายใจให้เจ้าเหมียว!)
หากคุณมีเลนส์เทเลโฟโต้ “ความเร็วสูง” กล่าวคือ เลนส์ที่มีรูรับแสงกว้างสุดที่กว้าง (“สว่าง”) อย่าง RF135mm f/1.8L IS USM คุณยังสามารถสร้างเอฟเฟ็กต์แบ็คกราวด์เบลอ (“โบเก้”) สวยๆ ที่ทำให้แมวดูโดดเด่นออกมาจากแบ็คกราวด์ยุ่งๆ ได้ดีขึ้น
ผมแนะนำให้เปลี่ยนไปใช้เลนส์ที่สั้นกว่านี้ (เลนส์ซูมมาตรฐานหรือเลนส์มุมกว้าง) ก็ต่อเมื่อคุณได้เจอแมวนอกบ้านตัวเดิมสองสามครั้งและมันไม่ขยับหนีเวลาคุณเข้าใกล้
เทคนิคที่ 2: เปิดฟังก์ชั่นชัตเตอร์เงียบ
แมวเป็นสัตว์ที่หูไวมาก จึงอาจเกิดความเครียดเมื่อได้ยินเสียงที่ไม่คุ้นเคยอยู่ใกล้ๆ เช่น เสียงเตือนของ AF หรือชัตเตอร์กล้อง อย่าลืมเปิดฟังก์ชั่นชัตเตอร์เงียบ ซึ่งจะใช้ได้ในกล้องระบบ EOS R รุ่นใหม่ๆ เช่น EOS R8 ฟังก์ชั่นนี้จะปิดใช้งานเสียงเตือนและเสียงชัตเตอร์ทั้งหมด เพื่อให้คุณถ่ายภาพได้อย่างเงียบเชียบและหลีกเลี่ยงการทำให้น้องเหมียวขนปุยตกใจ
เทคนิคที่ 3: เข้าใกล้แมวอย่างช้าๆ และระมัดระวัง ใช้การถ่ายภาพต่อเนื่องความเร็วสูงและ Servo AF
เมื่อคุณสร้างความสัมพันธ์กับแมวแล้ว อาจลองใช้เลนส์สั้นๆ ถ่ายภาพ เลนส์ซูมมุมกว้างอัลตร้าไวด์อาจให้ผลลัพธ์ที่ค่อนข้างมีเอกลักษณ์เฉพาะ อย่างเช่นภาพในตอนต้นของบทความนี้ ซึ่งถ่ายที่ระยะสุดฝั่ง 14 มม. ของเลนส์ RF14-35mm f/4L IS USM
เปิดฟังก์ชั่นต่อไปนี้บนกล้องของคุณ
- ฟังก์ชั่นชัตเตอร์เงียบ
- การถ่ายภาพต่อเนื่องความเร็วสูง
- Servo AF
จากนั้น ขณะที่ตรวจเช็กองค์ประกอบภาพในช่องมองภาพหรือหน้าจอ LCD ให้ค่อยๆ ขยับเข้าหาแมวอย่างเงียบเชียบและระมัดระวัง จนกว่าคุณจะได้ภาพถ่ายที่สมบูรณ์แบบ
---
อ่านเพิ่มเติมได้ที่
โหมดชัตเตอร์และโหมดถ่ายภาพต่อเนื่อง: ควรใช้แต่ละโหมดเมื่อใด
5 เคล็ดลับเพื่อการตรวจจับและติดตามตัวแบบที่ดียิ่งขึ้น
---
เคล็ดลับระดับมือโปรเพื่อเข้าใกล้แมวที่ไม่คุ้นเคย
- สวมใส่เสื้อผ้าสีอ่อนหรือสีสดใส
แมวมองเห็นโทนสีได้จำกัด และสีที่พวกมันเห็นก็ดูทึบทึมกว่าเมื่อเทียบกับมนุษย์ แต่ผมสังเกตเห็นว่าถ้าผมใส่เสื้อผ้าสีเข้ม น้องแมวจะตื่นกลัวได้ง่ายกว่า ผมจึงมักจะใส่เสื้อผ้าสีอ่อนหรือสีสดใสเวลาออกไปถ่ายภาพแมวข้างนอก
- เคารพพื้นที่ปลอดภัยและขอบเขตของน้องแมว
สิ่งสำคัญไม่ใช่การที่คุณได้ถ่ายภาพแมว แต่เป็นการที่พวกมันยอมให้คุณถ่ายภาพ หากแมวไม่เต็มใจให้ถ่ายภาพ คุณก็ไม่ควรฝืนบังคับ
สถานการณ์ที่ 2: เมื่อคุณต้องการทำให้เกิดสมดุลระหว่างระดับแสงกับระยะชัดอย่างเหมาะเจาะ
EOS R8/ RF14-35mm f/4L IS USM/ FL: 14 มม./ Manual exposure (f/7.1, 1/125 วินาที)/ ISO 100
บางครั้ง รายละเอียดของแบ็คกราวด์ก็มีความสำคัญไม่ต่างจากตัวแมว คุณอาจพบเจอบางฉากที่ต้องปรับสมดุลระหว่างระยะชัดและระดับแสงให้พอดีอย่างที่ผมทำในฉากด้านบนนี้
ปัญหาของผม
สี่เหลี่ยมผืนผ้าสีแดง: ผมจับโฟกัสที่แมว
เนื่องจากแสงย้อนจากด้านหลังทำให้ภาพดูมืดลง ผมจึงเปิดรูรับแสงให้กว้างถึง f/4 ในตอนแรกเพื่อเปิดรับแสงเข้ามามากขึ้น แต่ระยะชัดตื้นที่ได้ทำให้ใบไม้ดูเบลอเล็กน้อย แม้ว่าผมจะอยากให้ใบไม้ดูคมชัดและอยู่ในโฟกัสก็ตาม การปรับรูรับแสงให้แคบลงมากเกินไปอาจทำให้ได้รับแสงน้อยเกินไปจนแก้ไขไม่ได้ และผมก็ไม่อยากลดทอนความไวแสง ISO และความเร็วชัตเตอร์เช่นกัน
คำถามคือ คุณจะทำอย่างไรให้มั่นใจได้ว่าได้ภาพที่ต้องการในเมื่อเจ้าเหมียวอาจขยับตัวหนีได้ตลอดเวลา
เทคนิค: เปลี่ยนโหมดการจำลองการแสดงผลเป็น “ระดับแสง + ระยะชัด”
ตามค่าเริ่มต้นของกล้อง ภาพตัวอย่างที่คุณเห็นใน EVF หรือหน้าจอ LCD จะไม่แสดงผลกระทบจากการตั้งค่าของคุณสำหรับระยะชัด แต่จะแสดงเพียงการจำลองระดับแสงเท่านั้น การเปิดใช้งานการตั้งค่า “ระดับแสง + ระยะชัด” ซึ่งมีในเลนส์รุ่นที่เข้ากันได้กับกล้องระบบ EOS R รุ่นใหม่ๆ ส่วนใหญ่ จะช่วยให้คุณเข้าใจมากขึ้นว่าภาพถ่ายในขั้นสุดท้ายจะดูเป็นอย่างไรหากใช้การตั้งค่ารูรับแสงนั้น ซึ่งจะมีประโยชน์อย่างยิ่งในการถ่ายภาพสวยๆ ในเทคเดียว หรืออย่างน้อยก็ก่อนที่น้องแมวตัวแบบหลักจะตัดสินใจว่าถ่ายแบบพอแล้วและเดินออกจากภาพไป!
ฟังก์ชั่นนี้ช่วยให้ผมตัดสินใจเลือกใช้ f/7.1 ซึ่งเพียงพอแล้วที่จะทำให้ใบไม้ด้านหลังอยู่ในโฟกัสโดยไม่ทำให้ภาพดูมืดเกินไป ในขั้นตอนสุดท้าย ผมได้ปรับมุมกล้องเล็กน้อยเพื่อให้แสงแดดที่เข้ามาทางใบไม้สร้างแฉกแสง การจำลองระยะชัดจะช่วยให้คุณเห็นตัวอย่างรูปร่างของแฉกแสงด้วย!
สถานการณ์ที่ 3: ภาพการกระโดดที่ได้จังหวะพอดี
EOS R8/ RF14-35mm f/4L IS USM/ FL: 14 มม./ Manual exposure (f/4.5, 1/250 วินาที)/ ISO 100
การที่จะจับภาพแมวกระโดดกลางอากาศให้ได้จังหวะพอดีไม่ใช่เรื่องง่าย ถ้านิ้วของคุณเลื่อนไปกดชัตเตอร์เพียงแค่ตอนที่แมวเริ่มกระโดด ก็อาจสายเกินไปแล้ว
ฟังก์ชั่นก่อนถ่ายภาพในโหมดถ่ายต่อเนื่องแบบ RAW ช่วยให้จับภาพช่วงเวลาสำคัญอย่างนี้ได้ง่ายขึ้นมาก โดยจะบันทึกภาพล่วงหน้าสูงสุด 0.5 วินาทีตั้งแต่คุณกดชัตเตอร์ลงครึ่งหนึ่งไปจนถึงกดลงจนสุด
ภาพด้านบนนี้เป็นตัวอย่างหนึ่งที่แสดงให้เห็นว่าฟังก์ชั่นนี้มีประโยชน์มากเพียงใด เจ้าเหมียวเริ่มกระโดดไปแล้วตอนที่ผมกดปุ่มชัตเตอร์ลงครึ่งหนึ่ง ดังนั้น ถ้าไม่ได้ใช้ฟังก์ชั่นถ่ายภาพล่วงหน้า ผมก็คงถ่ายภาพนี้ไม่ทัน
ฟังก์ชั่นการถ่ายภาพล่วงหน้าช่วยให้ถ่ายภาพการกระโดดสุดปังได้อย่างไร
ภาพที่ 1 ถึง 4: เมื่อกดชัตเตอร์ลงครึ่งหนึ่ง คุณสมบัติการถ่ายภาพล่วงหน้าของกล้องจึงเริ่มบันทึก และถ่ายภาพทั้ง 4 นี้ก่อนที่ชัตเตอร์จะถูกกดลงจนสุด ภาพช่วงเวลาสำคัญที่สุดบังเอิญเป็นภาพแรกที่ถูกบันทึก
ภาพที่ 5: แมวลงสู่พื้นในจังหวะที่ผมกดชัตเตอร์ลงจนสุด
ภาพที่ 5 และ 6: ภาพเหล่านี้ถูกถ่ายหลังจากกดชัตเตอร์ลงจนสุด ซึ่งถ้าไม่ได้ใช้ฟังก์ชั่นการถ่ายภาพล่วงหน้า ก็อาจเป็นภาพเพียงชุดเดียวที่ได้จากการบันทึกภาพการกระโดด
วิธีเปิดใช้งานฟังก์ชั่นการถ่ายภาพล่วงหน้า
ขั้นตอนที่ 1
ค้นหาและเลือก “โหมดถ่ายต่อเนื่องแบบ RAW” ในเมนู SHOOT (สีแดง) หมายเลขแท็บจะขึ้นอยู่กับรุ่นของกล้อง
ขั้นตอนที่ 2
เลือก “เปิดใช้งาน”
ขั้นตอนที่ 3
เมื่อเปิดใช้งานโหมดถ่ายต่อเนื่องแบบ RAW แล้ว จะสามารถใช้ฟังก์ชั่นการถ่ายภาพล่วงหน้าได้ เลือกเพื่อเปิดใช้งาน
อ่านเพิ่มเติมเกี่ยวกับการทำงานของโหมดถ่ายต่อเนื่องแบบ RAW และการถ่ายภาพล่วงหน้า รวมถึงวิธีใช้ฟังก์ชั่นดังกล่าวได้ใน
คำถามที่พบบ่อยเกี่ยวกับการตั้งค่ากล้อง: การถ่ายต่อเนื่องแบบ RAW และการถ่ายภาพล่วงหน้าคืออะไร
เคล็ดลับพิเศษ: ช่วงเวลาใดที่เหมาะกับการถ่ายภาพแมวที่สุด
แมวจะตื่นตัวมากที่สุดเมื่อใด
แมวจะตื่นตัวมากที่สุดในเวลาที่อากาศเย็นสบาย ไม่ร้อนและไม่หนาวเกินไป
เวลาอากาศร้อน แมวจะตื่นตัวในตอนเย็นและตอนกลางคืนมากกว่า คุณอาจไม่ค่อยเห็นน้องเหมียวมากนักในตอนกลางวัน เพราะพวกมันมักจะไปหาที่สบายๆ งีบหลับ
ในประเทศที่มีสี่ฤดู แมวจะตื่นตัวตลอดทั้งวันในช่วงฤดูใบไม้ผลิและฤดูใบไม้ร่วงซึ่งอากาศจะอุ่นขึ้น พฤติกรรมของแมวในฤดูหนาวจะตรงข้ามกับในฤดูร้อน พวกมันจะเที่ยวเดินหรือนอนอาบแดดในช่วงบ่าย แต่จะขดตัวหลับในที่อุ่นสบายยามค่ำคืน
คำแนะนำเกี่ยวกับอากัปกิริยาที่น่าถ่ายภาพของน้องเหมียว
แมวส่วนใหญ่จะทำความสะอาดตัวเองทันทีหลังกินอาหาร ก่อนอื่น ให้ลองถ่ายภาพต่อเนื่องเวลาที่พวกมันทำท่าทางแบบนั้น คุณอาจจะได้ภาพที่ดูน่าสนใจหลายช็อต โดยเฉพาะอย่างยิ่งถ้ากล้องของคุณมีคุณสมบัติการถ่ายภาพต่อเนื่องความเร็วสูงที่สูงมาก เช่น ความเร็วสูงสุด 40 เฟรมต่อวินาทีของกล้อง EOS R8
ศึกษาเคล็ดลับและไอเดียเพิ่มเติมเกี่ยวกับการถ่ายภาพแมวได้ใน
การถ่ายภาพแมว: ประกายตาและเคล็ดลับอื่นๆ สำหรับการถ่ายภาพลูกแมวให้ดูน่ารักมีชีวิตชีวา
ไอเดียสำหรับการถ่ายภาพแมวในฉากกลางแจ้ง
3 ไอเดียสำหรับถ่ายภาพแมวแสนน่ารัก
เคล็ดลับ 5 ข้อ สำหรับการถ่ายภาพสัตว์เลี้ยงเพื่อภาพแมวที่ดีขึ้น
เกี่ยวกับผู้เขียน
นิตยสารรายเดือนที่เชื่อว่าความสุขของการถ่ายภาพจะยิ่งเพิ่มขึ้น เมื่อผู้ถ่ายภาพได้เรียนรู้เกี่ยวกับฟังก์ชั่นต่างๆ ของกล้องมากยิ่งขึ้น นิตยสารเล่มนี้เผยแพร่ข่าวสารเกี่ยวกับกล้องรุ่นใหม่ๆ รวมถึงคุณสมบัติของกล้องและนำเสนอเทคนิคการถ่ายภาพอย่างหลากหลาย
จัดพิมพ์โดย Impress Corporation
ช่างภาพแมว Miyoshi ซึ่งได้รับยกย่องให้เป็นหนึ่งใน “10 อันดับช่างภาพไวรัลแห่งปี 2020” ของชมรม Tokyo Camera Club หวังว่าจะใช้งานอดิเรกอย่างการถ่ายภาพของตนเองแสดงให้โลกได้เห็นถึงเสน่ห์ของแมวจากศูนย์พักพิง
อินสตาแกรม: @ryostory1124