คำถามที่พบบ่อยเกี่ยวกับการตั้งค่ากล้อง 12: อะไรคือข้อแตกต่างระหว่างเซนเซอร์แบบเส้นและเซนเซอร์แบบกากบาท
เรียนรู้เพิ่มเติมเกี่ยวกับความหมายของคำว่า "เซนเซอร์แบบเส้น" และ "เซนเซอร์แบบกากบาท" โดยผมจะแจกแจงส่วนประกอบในรายละเอียดและอธิบายว่าเซนเซอร์ทั้งสองมีความแตกต่างกันอย่างไร (เรื่องโดย: Ryosuke Takahashi)
เซนเซอร์ AF ประกอบด้วยเซนเซอร์แบบเส้น ซึ่งคือจุดของเซนเซอร์เดี่ยว (CMOS หรืออื่นๆ) ที่นำมาจัดเรียงเป็นเส้น ทำหน้าที่คำนวณระยะห่างระหว่างตัวแบบกับกล้องตามข้อมูลที่ได้รับ ซึ่งเซนเซอร์นี้มีการใช้เทคโนโลยีที่เรียกว่า "การตรวจจับระยะ" ซึ่งมีกลไกการทำงานพื้นฐานเหมือนกับกลไกลของระบบโฟกัสอัตโนมัติแบบ Phase-difference โดยเซนเซอร์แบบเส้นในแนวนอนจะตรวจจับในแนวตั้ง ขณะที่เซนเซอร์แบบเส้นในแนวตั้งจะตรวจจับในแนวนอน
เซนเซอร์แบบกากบาทคือเซนเซอร์ AF ที่มีเซนเซอร์แบบเส้นตัดกัน ซึ่งทำให้สามารถตรวจวัดได้อย่างแม่นยำยิ่งขึ้น เนื่องจากเซนเซอร์แบบเส้นที่ตรวจจับไปในทิศทางหนึ่งนั้นจะซ้อนทับกับเซนเซอร์แบบเส้นที่ตรวจจับในทิศทาง "ตรงกันข้าม" ที่จุดเดียวกัน อีกนัยหนึ่งคือ เซนเซอร์แบบกากบาทสามารถตรวจจับทั้งในแนวตั้งและแนวนอนได้นั่นเอง นี่ไม่เพียงลดข้อผิดพลาดในการตรวจจับเท่านั้น แต่ยังช่วยป้องกันปัญหาต่างๆ เช่น จุดกึ่งกลางของภาพหลุดจากระยะโฟกัส (เมื่อจับโฟกัสบนแบ็คกราวด์โดยไม่ได้ตั้งใจ) รวมทั้งป้องกันการเกิดข้อผิดพลาดในการโฟกัสอัตโนมัติ แม้ว่าตัวแบบจะขาดความเป็นสามมิติ เช่น ในกรณีของเส้นแนวนอนหรือภาพต้นไม้เดี่ยวๆ
เซนเซอร์แบบเส้น
เซนเซอร์แบบกากบาท
A: เซนเซอร์แบบเส้นในแนวตั้ง—ตรวจจับเส้นของตัวแบบในแนวนอน
B: เซนเซอร์แบบเส้นในแนวนอน—ตรวจจับเส้นของตัวแบบในแนวตั้ง
เซนเซอร์แบบเส้นใช้เพื่อตรวจจับเส้นในแนวตั้งหรือแนวนอนสำหรับตำแหน่ง AF นั้นๆ ในทางกลับกัน เซนเซอร์แบบกากบาทสามารถตรวจจับเส้นทั้งในแนวตั้งและแนวนอนสำหรับตำแหน่ง AF เดียวกันได้ จึงทำให้ได้ AF ที่มีความแม่นยำสูง
โดยหลักแล้ว อาจกล่าวได้ว่ายิ่งเราใช้เซนเซอร์แบบกากบาทที่มีค่าสูงขึ้นเท่าใด ประสิทธิภาพการตรวจจับ AF ก็จะสูงขึ้นเท่านั้น อีกทั้งการโฟกัสในแต่จะจุด AF ยังมีความแม่นยำคงที่อีกด้วย นอกจากนี้ เนื่องจากขนาดของบอดี้กล้องมีความเชื่อมโยงกับการจัดวางเซนเซอร์ AF อย่างมาก โดยทั่วไปการติดตั้งเซนเซอร์ AF ขนาดใหญ่ในกล้องขนาดใหญ่จึงทำได้ง่ายขึ้น ดังนั้น กล้องขนาดใหญ่จึงมีแนวโน้มที่จะมีเซนเซอร์แบบกากบาทที่มีจำนวนมากกว่า
ภาพประกอบแสดงรูปแบบของ AF สำหรับกล้อง EOS 7D Mark II
A: Cross-type AF: f/5.6 (แนวตั้ง) + f/5.6 (แนวนอน)
B: Dual cross-type AF: f/2.8 (ทแยงมุมด้านขวา) + f/2.8 (ทแยงมุมด้านซ้าย) + f/5.6 (แนวตั้ง) + f/5.6 (แนวนอน)
ตัวอย่างเช่น EOS 7D Mark II ซึ่งเป็นกล้องแบบ APS-C รุ่นเรือธงของ Canon ใช้เซนเซอร์แบบกากบาทสำหรับจุด AF ทั้ง 65 จุด จึงทำให้ได้ AF ที่มีความแม่นยำสูงมากเนื่องจากเซนเซอร์ตรวจจับเส้นทั้งในแนวตั้งและแนวนอน
EOS 70D/ EF70-200mm f/4L IS USM/ FL: 200 มม. (เทียบเท่ากับ 320 มม.)/Aperture-Priority AE (f/4, 1/320 วินาที, EV-0.3)/ ISO 100/WB: อัตโนมัติ
เซนเซอร์แบบกากบาทช่วยให้เราโฟกัสไปที่สัตว์ที่เคลื่อนไหวต่อเนื่องได้อย่างง่ายดาย ดังเช่นในภาพนี้ ผมสามารถจับโฟกัสที่ดวงตาของตัวแบบตามที่ตั้งใจไว้ได้ จุด AF 19 จุดในกล้อง EOS 70D ประกอบด้วยเซนเซอร์แบบกากบาททั้งหมด
EOS 70D/ EF70-200mm f/4L IS USM/ FL: 200 มม. (เทียบเท่ากับ 320 มม.)/ Aperture-Priority AE (f/4, 1/1,600 วินาที, EV+0.3)/ ISO 100/ WB: อัตโนมัติ
การโฟกัสที่ผิดพลาดเกิดขึ้นได้ยากมากหากกล้องของคุณใช้เซนเซอร์แบบกากบาท เนื่องจากเซนเซอร์ชนิดนี้ตรวจจับเส้นได้ทั้งสองทิศทาง แม้แต่กับตัวแบบที่กลืนไปกับแบ็คกราวด์ เซนเซอร์แบบกากบาทมีประสิทธิภาพอย่างเห็นได้ชัดเมื่อใช้กับตัวแบบที่มีรูปร่างบางเบา เช่น เสาเรือในภาพด้านบน
Ryosuke Takahashi
เกิดที่จังหวัดไอชิเมื่อปี 1960 Takahashi เริ่มทำงานอิสระในปี 1987 หลังจากทำงานในสตูดิโอถ่ายภาพโฆษณาและสำนักพิมพ์ และเนื่องจากรับถ่ายภาพให้กับนิตยสารชื่อดัง เขาจึงได้เดินทางจากที่อยู่ประจำ คือ ญี่ปุ่นและจีน ไปยังสถานที่ต่างๆ ทั่วโลก และเขาก็เป็นสมาชิกคนหนึ่งของ Japan Professional Photographers Society (JPS) ด้วย
Digital Camera Magazine
นิตยสารรายเดือนที่เชื่อว่าความสุขของการถ่ายภาพจะยิ่งเพิ่มขึ้น เมื่อผู้ถ่ายภาพได้เรียนรู้เกี่ยวกับฟังก์ชั่นต่างๆ ของกล้องมากยิ่งขึ้น นิตยสารเล่มนี้เผยแพร่ข่าวสารเกี่ยวกับกล้องรุ่นใหม่ๆ รวมถึงคุณสมบัติของกล้องและนำเสนอเทคนิคการถ่ายภาพอย่างหลากหลาย
จัดพิมพ์โดย Impress Corporation