เลนส์เดี่ยว EF35mm f/1.4L II USM ได้สร้างความแตกต่างครั้งใหญ่ให้แก่โลกแห่งการถ่ายภาพดาราศาสตร์ โดยมอบคุณภาพของภาพอันยอดเยี่ยมผ่านการใช้เทคโนโลยีใหม่อันเป็นกรรมสิทธิ์เฉพาะของ Canon ช่างภาพมืออาชีพได้ทำการทดสอบเพื่อวัดประสิทธิภาพอันน่าทึ่งของเลนส์เดี่ยวนี้ (เรื่องโดย Tatsuya Tanaka)
EOS 6D/ EF35mm f/1.4L II USM/ FL: 35 มม./ Manual Exposure (f/1.4, 10 วินาที)/ ISO 2000/ WB: อัตโนมัติ
ประสิทธิภาพอันน่าทึ่งแม้ใช้ค่ารูรับแสงกว้างสุดที่ f/1.4
การถ่ายภาพดาราศาสตร์เป็นวิธีถ่ายภาพตัวแบบสองชนิดที่แตกต่างกันอย่างมากนั่นคือ วัตถุบนท้องฟ้าและทิวทัศน์ไว้ในภาพเดียว ทำให้สามารถถ่ายทอดโลกอีกใบที่สายตาของมนุษย์ไม่อาจมองเห็นได้
เลนส์มุมกว้างที่มีรูรับแสงกว้างสุดและสว่างมักนำมาใช้เพื่อถ่ายภาพในเวลากลางคืนซึ่งมีแสงสว่างน้อยมากๆ สำหรับผม เลนส์ที่พึ่งพาได้สำหรับการถ่ายภาพดังกล่าวคือ EF35mm f/1.4L USM เนื่องจากทางยาวโฟกัส 35 มม. ช่วยให้ผมได้องค์ประกอบภาพที่ใกล้เคียงกับภาพที่มองเห็นได้ด้วยตาเปล่า อย่างไรก็ดี แม้ว่าเลนส์จะมีรูรับแสงที่สว่าง แต่เราต้องลดค่ารูรับแสงลงเพื่อให้ได้ภาพถ่ายคุณภาพสูงโดยไม่มีปัญหาความคลาดเกิดขึ้น ด้วยเหตุนี้ เราจะมาดูเลนส์ซึ่งเป็นที่มาของบทความนี้กัน นั่นคือ EF35mm f/1.4L II USM
สำหรับการถ่ายภาพดาราศาสตร์ ภาพถ่ายที่ดีคือภาพที่ดาวทุกดวงในภาพได้รับการถ่ายทอดออกมาเป็นจุดแสงสว่างที่มีขนาดเท่าๆ กัน เมื่อถ่ายภาพท้องฟ้าที่เต็มไปด้วยดวงดาวด้วยเลนส์รุ่นก่อนหน้าคือ EF35mm f/1.4L USM โดยใช้รูรับแสงกว้างสุด เราจะเห็นความคลาดที่บริเวณมุมทั้งสี่ของเฟรมได้อย่างชัดเจน และบ่อยครั้งดวงดาวซึ่งควรจะปรากฏขึ้นเป็นจุดแสงกลมๆ จะเกิดบิดเบี้ยวไปเป็นรูปทรงรี อีกทั้งมีขอบเป็นสีม่วง ซึ่งปัญหาเหล่านี้เรียกว่า "เฮโลแบบ Sagittal" และ "ความคลาดสี" ซึ่งเกิดขึ้นบ้างในเลนส์ทุกชนิด ดังนั้น เมื่อคุณลงมือถ่ายภาพจริง จึงไม่มีทางเลือกอื่นนอกจากลดค่ารูรับแสงลงและเลือกค่า f ที่จะไม่ทำให้เกิดความคลาดสีที่มองเห็นได้
อย่างไรก็ดี ความคลาดสีและความบิดเบี้ยวของดวงดาวที่บริเวณมุมทั้งสี่ของเฟรมสามารถแก้ไขให้ดีขึ้นได้ด้วยเลนส์ EF35mm f/1.4L II USM แม้ใช้ค่ารูรับแสงกว้างสุดก็ตาม ดังนั้น เราจึงสามารถถ่ายทอดภาพดวงดาวออกมาเป็นจุดแสงที่สว่างสม่ำเสมอกันทั่วทั้งภาพได้ด้วยการใช้ประโยชน์จากเลนส์ประกอบที่พัฒนาขึ้นใหม่ที่เรียกว่า ชิ้นเลนส์ Blue Spectrum Refractive Optics (BR) และชิ้นเลนส์แก้ไขความคลาดทรงกลมสองชิ้น โดย BR Optics ซึ่งอยู่ตรงกึ่งกลางเลนส์ BR สามารถแก้ไขความคลาดสีได้เป็นผลสำเร็จ โดยการหักเหแสงสีน้ำเงินที่ทำให้เกิดความคลาดสีได้อย่างมาก
เรียนรู้เพิ่มเติมเกี่ยวกับเลนส์ BR ได้จากบทความดังต่อไปนี้
ชิ้นเลนส์ BR (Blue Spectrum Refractive Optics)
อุปกรณ์ที่ต้องมีสำหรับการถ่ายภาพดาราศาสตร์ในปัจจุบัน
ผลงานของผมที่อยู่ด้านบนสุดของบทความนี้เป็นภาพถ่ายท้องฟ้าที่เต็มไปด้วยดวงดาวซึ่งถ่ายที่หมู่เกาะอามามิซึ่งตั้งอยู่ท่ามกลางหมู่เกาะริวกิว เพื่อหยุดการเคลื่อนไหวของดวงดาว ผมจึงกำหนดค่ารูรับแสงไว้สูงสุดที่ f/1.4 และตั้งค่าความเร็วชัตเตอร์ไว้สั้นๆ ที่ 10 วินาที ผมสามารถถ่ายภาพท้องฟ้าที่เต็มไปด้วยดวงดาวด้วยรูรับแสงกว้างสุดที่ f/1.4 ได้ ส่วนหนึ่งก็เพราะเวลาในการเปิดรับแสงสั้นลง
ดวงดาวค่อยๆ เคลื่อนที่ไปอย่างต่อเนื่องโดยทำมุมสิบห้าองศาในทุกชั่วโมง ดังนั้น สิ่งสำคัญคือคุณต้องเลือกความเร็วชัตเตอร์ที่เหมาะสมสำหรับถ่ายภาพดวงดาวให้ออกมาเป็นจุดแสงที่สว่างไสว โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อถ่ายภาพจากตำแหน่งที่ตายตัวโดยมีเพียงกล้องและขาตั้งกล้องเท่านั้น ฉะนั้น เลนส์รุ่นนี้ซึ่งให้คุณภาพของภาพในระดับสูงพอสมควรแม้ใช้ค่ารูรับแสงกว้างสุดจึงทำให้เราสามารถถ่ายภาพดาราศาสตร์โดยใช้ความเร็วชัตเตอร์สูงได้ และทำได้ดีกว่าเลนส์รุ่นก่อนหน้าด้วยซ้ำไป
ขณะที่ผมกำลังตรวจสอบภาพ ณ สถานที่ที่ถ่าย และขยายบริเวณมุมทั้งสี่ของภาพ ผมต้องประหลาดใจเป็นครั้งแรก เพราะเมื่อผมพิจารณาภาพที่ขยายขึ้นมานั้น ผมสังเกตเห็นว่าความคลาดสีในภาพที่ถ่ายด้วยเลนส์ชนิดนี้แตกต่างจากภาพที่ถ่ายด้วยเลนส์รุ่นก่อนหน้าอย่างชัดเจน ผมได้ประจักษ์ด้วยตาตนเองถึงคุณภาพในการถ่ายทอดภาพอันโดดเด่นของเลนส์เดี่ยวมุมกว้างในวันนี้ แม้อาจกล่าวได้ว่าปัญหาความคลาดนั้นเป็นเรื่องปกติของระบบเลนส์แบบออพติคอลก็ตาม แต่การเปิดตัวเลนส์ BR ในครั้งนี้อาจเปลี่ยนมุมมองดังกล่าวให้เป็นไปในทางที่ดีขึ้นได้ เลนส์รุ่นนี้จึงเป็นเลนส์ที่ขาดไม่ได้เลยในการถ่ายภาพดาราศาสตร์ของผม
ภาพใหม่: EF35mm f/1.4L II USM (กำลังขยายภาพและขอบของภาพ 100%)
ภาพเก่า: EF35mm f/1.4L USM (กำลังขยายภาพและขอบของภาพ 100%)
แกลเลอรี่ภาพถ่าย
ความสามารถอันยอดเยี่ยมในการถ่ายทอดภาพได้อย่างเหนือชั้นของเลนส์รุ่นนี้เห็นได้ชัดเมื่อเราใช้ถ่ายภาพดาราศาสตร์ อีกทั้งยังเห็นได้จากการถ่ายภาพทิวทัศน์ประเภทอื่นๆ อีกด้วย คุณจะได้เห็นทั้งประสิทธิภาพการถ่ายทอดภาพในระดับสูง จุดนอกโฟกัสที่ลดลง การแสดงโทนสีที่สวยสดงดงาม และความสามารถอันหลากหลายที่จำเป็นสำหรับการถ่ายภาพผลงานของคุณ ซึ่งจะผมจะนำมาแสดงในที่นี้
EOS 5D Mark II/ EF35mm f/1.4L II USM/ FL: 35 มม./ Aperture-priority AE (f/13, 1/100 วินาที, EV-1.0)/ ISO 200/ WB: แสงแดด
การลดค่ารูัรับแสงทำให้ภาพคมชัดจนถึงบริเวณมุมทั้งสี่ของภาพ
ผมถ่ายภาพน้ำตกในเทือกเขาที่กำลังไหลพรั่งพรูให้ดูคมชัดโดยการเพิ่มค่า f เป็น f/13 ซึ่งช่วยสร้างโฟกัสที่คมชัดไปทั่วทั้งภาพ อีกทั้งความเปรียบต่างระหว่างไฮไลต์ของต้นไม้ที่เขียวชอุ่มและเงาของพื้นผิวบนก้อนหินยังทำให้ภาพดูสง่างามอีกด้วย
EOS 5D Mark III/ EF35mm f/1.4L II USM/ FL: 35 มม./ Aperture-priority AE (f/1.4, 1/500 วินาที, EV+0.3)/ ISO 100/ WB: อัตโนมัติ
ดึงเสน่ห์ของดอกไม้ให้เห็นเด่นชัดด้วยค่ารูรับแสงกว้างสุดที่ f/1.4
ผมถ่ายภาพระยะใกล้ของดอกบีโกเนียขนาดใหญ่ที่กำลังเบ่งบานประชันความงามกันในระยะโฟกัสใกล้สุดที่ 28 ซม. โดยใช้กำลังขยายสูงสุด 0.21 เท่า โดยมีเอกเฟ็กต์โบเก้ที่งดงามเป็นตัวสร้างเสน่ห์ให้ดอกไม้
EOS 5D Mark II/ EF35mm f/1.4L II USM/ FL: 35 มม./ Manual exposure (f/8, 1/80 วินาที)/ ISO 200/ WB: แสงแดด
ประสิทธิภาพในการถ่ายทอดภาพอันยอดเยี่ยมซึ่งแสดงการเกลี่ยแสงที่ละเอียดของโทนสีของก้อนเมฆ
ผมถ่ายภาพพระอาทิตย์ตกดินที่อยู่ท่ามกลางหมู่เมฆครึ้มบนท้องฟ้าทางทิศตะวันตกจากแนวพุ่มไม้ โดยมีต้นเฟิร์นขนาดใหญ่อยู่ในส่วนโฟร์กราวด์ นอกจากภาพจะมีสภาวะความเปรียบต่างสูงแล้ว การเกลี่ยแสงอย่างมากในจุดไฮไลต์และเงาต่างๆ ยังเปลี่ยนไปในช่วงเพียงเสี้ยววินาที แม้ว่าการค้นหาการเปิดรับแสงที่เหมาะสมจะเป็นความท้าทายอย่างหนึ่ง แต่ผมเลือกที่จะถ่ายทอดการเกลี่ยแสงในแบบต่างๆ โดยไม่ทำให้ภาพเกิดส่วนที่สว่างจ้าหรือมืดเกินไป
รับข่าวสารล่าสุดเกี่ยวกับการถ่ายภาพ รวมถึงเคล็ดลับและกลเม็ดต่างๆ ได้โดย ลงทะเบียนกับเรา!
เกี่ยวกับผู้เขียน
เกิดเมื่อปี 1956 Tanaka เป็นหนึ่งในช่างภาพที่หาตัวจับยาก ซึ่งได้สร้างผลงานไว้หลากหลายแนวจากมุมมองที่เป็นแบบฉบับของตัวเอง เขาถ่ายภาพในรูปแบบต่างๆ มากมายตั้งแต่สิ่งที่มองเห็นในชีวิตประจำวัน เช่น แมลงและดอกไม้ ไปจนถึงภาพทิวทัศน์ ตึกสูง และดวงดาวบนท้องฟ้าเลยทีเดียว นอกเหนือจากการถ่ายภาพแล้ว Tanaka ยังพัฒนาวิธีการของตัวเองในกระบวนการปรับแต่งภาพรวมทั้งการรีทัชและการพิมพ์ขึ้นมาอีกด้วย