EOS 7D/ EF70-200mm f/2.8L IS USM/ FL: 200 มม./ Aperture-priority AE (f/2.8, 1/5000 วินาที, EV±0)/ ISO 400/ WB: อัตโนมัติ
การถ่ายภาพกีฬาเอ็กซ์ตรีม: จริงๆ แล้วส่งผลถึงอะไรบ้าง
การถ่ายภาพกีฬาเป็นสิ่งท้าทาย: คุณต้องรับมือกับการเคลื่อนไหวรวดเร็วในสภาพแสงที่อาจไม่ดีนัก อีกทั้งยังมีปัจจัยภายนอกต่างๆ เช่น สภาพอากาศ ที่อาจก่อให้เกิดปัญหาไม่คาดคิด เมื่อถ่ายภาพกีฬาเอ็กซ์ตรีม คุณจะพบปัญหาเพิ่มเติมเกี่ยวกับการเคลื่อนไหวที่คาดเดาไม่ได้และสภาพแวดล้อมที่มีการเปลี่ยนแปลงตลอดเวลา
แน่นอนว่า การถ่ายภาพนักกีฬาเอ็กซ์ตรีมที่กำลังผาดโผนเสี่ยงตายนั้นอาจทำให้ได้ภาพชวนอ้าปากค้าง หากถ่ายทอดออกมาได้สมบูรณ์แบบ แต่เนื่องจากการเคลื่อนไหวของตัวแบบไม่ได้จำกัดอยู่แค่พื้นที่ในสนามหรือลานอีกต่อไป การถ่ายภาพโดยขาดการเตรียมพร้อมที่เหมาะสมอาจทำให้คุณเสี่ยงที่จะมีอุปกรณ์เสียหายหรือแม้แต่ร่างกายได้รับบาดเจ็บเช่นกัน มีครั้งหนึ่งที่ผมเข้าไปใกล้นักเบรคแดนซ์มากเกินไปจนถูกเตะเข้าที่ใบหน้า แม้เลนส์กล้องจะรอดมาได้ แต่หน้าของผมมีรอยแตกลึกและนิ้วฟกช้ำเลยทีเดียว
ดังนั้น ควรคำนึงถึงความปลอดภัยอยู่เสมอ และต่อไปนี้เป็นเคล็ดลับบางประการเกี่ยวกับการถ่ายภาพกีฬาเอ็กซ์ตรีมให้สวยที่สุดอย่างปลอดภัย
1. อุปกรณ์: แพ็คกระเป๋าให้เบาและเท่าที่จำเป็น
ในสถานการณ์ส่วนใหญ่ การถ่ายภาพกีฬาเอ็กซ์ตรีมมักเกิดขึ้นในพื้นที่ที่เข้าถึงยาก หรือในสถานที่ที่คุณไม่สามารถวางกองอุปกรณ์ทิ้งไว้ขณะออกไปถ่ายภาพ เช่น ในเมือง นอกจากนี้ คุณยังต้องมีความคล่องตัวในการหาตำแหน่งหรือมุมที่เหมาะเจาะที่สุดเพื่อจับภาพการเคลื่อนไหว แพ็คกระเป๋าให้เบาและเท่าที่จำเป็น: พกเฉพาะเลนส์ที่คุณต้องใช้และนำกล้องสำรองติดตัวไปด้วยหากทำได้
บอดี้กล้อง: มองหารุ่นที่คงทนต่อสภาพอากาศ
เนื่องจากสภาพแวดล้อมและสภาพอากาศเปลี่ยนไปอยู่ตลอดเวลา การมีกล้องที่คงทนต่อสภาพอากาศ เช่น กล้องในซีรีย์ Canon EOS 5D หรือ EOS-1DX จึงมีประโยชน์อย่างแน่นอน
เลนส์: ขึ้นอยู่กับลักษณะของกีฬาและระยะห่างจากตัวแบบที่เคลื่อนไหว
ผมเลือกใช้เลนส์ตามลักษณะของกีฬาและระยะที่ผมสามารถเข้าไปใกล้ตัวแบบที่เคลื่อนไหว
หากผมถ่ายภาพตัวแบบที่เคลื่อนไหวได้จากระยะไกลเท่านั้น เช่น จากที่นั่งผู้ชมหรือด้านหลังฝูงชนจำนวนมาก เลนส์ซูมเทเลโฟโต้อย่างเช่น เลนส์ 70-200mm f/2.8 หรือเลนส์ที่มีทางยาวโฟกัสยาวกว่าจะมีประโยชน์ แต่หากสามารถเข้าไปใกล้ได้ ผมมักจะเลือกใช้เลนส์มุมกว้างเพื่อสื่ออารมณ์การเคลื่อนไหวของนักกีฬาให้มากที่สุด
แน่นอนว่าเลนส์โปรดส่วนตัวของผมคงหนีไม่พ้นเลนส์มุมกว้างอย่างเลนส์ฟิชอายหรือเลนส์ 16-35mm f/2.8 เมื่อนักกีฬาเคลื่อนไหว เราต้องใช้มุมกว้างเพื่อช่วยแสดงถึงพลังของการเคลื่อนไหวนั้นๆ ซึ่งทำได้โดยใช้ประโยชน์จากเลนส์มุมกว้างที่มักขยายระยะห่างให้ดูกว้างขึ้น
เคล็ดลับ: วิธีใช้เลนส์มุมกว้างให้เกิดประโยชน์สูงสุด
หากต้องการให้เอฟเฟ็กต์มุมกว้างมีประสิทธิภาพสูงสุด ควรขยับเข้าใกล้ตัวแบบและย่อตัวใกล้กับพื้น และควรเก็บภาพการเคลื่อนไหวเมื่อถึงจุดสูงสุด เพื่อให้ได้ภาพการกระโดดที่จุดสูงที่สุด
ภาพ A: มุมต่ำกว่า ใกล้การเคลื่อนไหวมากกว่า
EOS 5D Mark II/ EF16-35mm f/2.8L II USM/ FL: 16 มม./ Manual exposure (f/8, 1/320 วินาที, EV±0)/ ISO 100/ WB: อัตโนมัติ
สำหรับภาพนี้ผมย่อตัวลงใกล้กับพื้นดินเพื่อขับเน้นให้เห็นระดับความสูงของการกระโดด ซึ่งยังช่วยให้เอฟเฟ็กต์มุมกว้างมีประสิทธิภาพสูงสุดอีกด้วย
ภาพ B: อยู่ห่างจากการเคลื่อนไหว
EOS 5D Mark II/ EF16-35mm f/2.8L II USM/ FL: 16 มม./ Manual exposure (f/8, 1/400 วินาที, EV±0)/ ISO 100/ WB: อัตโนมัติ
ภาพนี้ถ่ายจากจุดที่อยู่ไกลจากการเคลื่อนไหวเล็กน้อยในมุมที่สูงขึ้น คุณจะสังเกตเห็นว่าตอนนี้ระดับความสูงของการกระโดดดูลดลง
ภาพ A
ภาพ B
ภาพสองภาพนี้ถ่ายด้วยเลนส์ตัวเดียวกัน แต่จากมุมและระยะห่างที่ต่างกัน ในภาพ A นักสเก็ตบอร์ดดูเหมือนกระโดดครอบคลุมพื้นที่สองในสามของเฟรม แต่ในภาพ B จะครอบคลุมพื้นที่เพียงหนึ่งในสามของเฟรมเท่านั้น
2. การตั้งค่ากล้อง: ลองเล่นกับความเร็วชัตเตอร์
ทุกคนทราบดีว่าความเร็วชัตเตอร์สูงจะช่วยหยุดการเคลื่อนไหว แต่ความเร็วชัตเตอร์ต่ำสามารถสร้างเอฟเฟ็กต์ภาพเบลอจากการเคลื่อนไหวได้อย่างสวยงาม ซึ่งช่วยถ่ายทอดการเคลื่อนไหวที่รวดเร็วของนักกีฬาได้ อันที่จริง ในบางสถานการณ์ เช่น การแข่งจักรยานเสือภูเขา เทคนิคการหยุดการเคลื่อนไหวไม่ได้สื่อถึงความเร็วด้วยซ้ำไป
ในงานหรือการแข่งขันใหญ่ๆ ส่วนของแบ็คกราวด์มักดูวุ่นวายและเต็มไปด้วยองค์ประกอบที่ดึงความสนใจไปจากภาพ เช่น แบนเนอร์ของผู้สนับสนุน ผู้ชม หรือแม้แต่พืชพันธุ์ต่างๆ การแพนกล้องโดยใช้ความเร็วชัตเตอร์ที่ต่ำลงจะช่วย "ลด" องค์ประกอบในแบ็คกราวด์เหล่านี้ลงและดึงจุดสนใจกลับไปที่ตัวแบบของคุณได้
เคล็ดลับ: หากต้องการสร้างภาพแบบแพนกล้องด้วยความเร็วชัตเตอร์ที่สูงขึ้น ให้ใช้เลนส์ที่มีทางยาวโฟกัสยาวขึ้น
ภาพเคลื่อนไหวจากการแพนกล้องที่ความเร็วชัตเตอร์ 1/30 วินาที อาจทำให้ภาพเบลอมากเกินไป เนื่องจากมีแนวโน้มที่เราจะทำให้กล้องสั่นโดยธรรมชาติ จึงควรใช้ทางยาวโฟกัสที่ยาวขึ้น เช่น เลนส์ 70-200 มม. เพื่อเพิ่มโอกาสในการถ่ายภาพแบบแพนกล้องได้สำเร็จ เพราะเลนส์ที่มีทางยาวโฟกัสยาวขึ้นจะสร้างการเคลื่อนไหวมากขึ้นในส่วนแบ็คกราวด์ ทำให้แน่ใจว่าแม้เราจะใช้ความเร็วชัตเตอร์ที่สูงถึง 1/100 วินาที ก็ยังมีโอกาสที่จะได้ภาพนักกีฬาที่คมชัดพร้อมกับภาพเบลอจากการเคลื่อนไหวในส่วนแบ็คกราวด์
การหยุดการเคลื่อนไหวด้วยความเร็วชัตเตอร์สูงใช้ได้ผลในบางกรณี...
EOS 5D Mark II/ EF16-35mm f/2.8L USM/ FL: 35 มม./ Manual exposure (f/4, 1/3000 วินาที, EV±0)/ ISO 500/ WB: อัตโนมัติ
...แต่ไม่เสมอไป
EOS 5D Mark IV/ EF70-200mm f/2.8L IS USM/ FL: 115 มม./ Manual exposure (f/8, 1/800 วินาที, EV±0)/ ISO 400/ WB: อัตโนมัติ
สังเกตว่านักขับดูเหมือนเกือบจะหยุดนิ่ง นอกจากนี้ยังมีองค์ประกอบต่างๆ ในแบ็คกราวด์ที่ดึงความสนใจไปจากภาพ
การแพนกล้องช่วยเพิ่มการเคลื่อนไหวและขจัดความวุ่นวายในส่วนแบ็คกราวด์
EOS 5D Mark IV/ EF70-200mm f/2.8L IS USM/ FL: 150 มม./ Shutter-priority AE (f/6.3, 1/160 วินาที, EV-0.3)/ ISO 100/ WB: อัตโนมัติ
ภาพนี้เป็นภาพนักขับคนเดียวกันกับภาพก่อนหน้านี้ และใช้เทคนิคการแพนกล้องที่ 1/160 วินาที นักขับอยู่ในระยะโฟกัสมากขึ้นและดูเหมือนว่ากำลังแล่นไปด้วยความเร็ว
3. จัดเฟรมและวางองค์ประกอบภาพให้ดูน่าสนใจ
ในการถ่ายภาพกีฬาเอ็กซ์ตรีมซึ่งทุกอย่างขึ้นอยู่กับการแสดงบริบท ส่วนใหญ่เราต้องการแสดงให้ผู้ชมเห็นว่าการผาดโผนยากเพียงใด นักกีฬากระโดดได้สูงไหม เส้นทางยากและอันตรายหรือไม่ การแข่งขันทั้งหมดเกิดขึ้นที่ไหน
การที่จะทราบข้อมูลดังกล่าว ผู้ชมจำเป็นต้องเห็นจุดที่นักกีฬาออกตัว จุดสูงสุดของการเคลื่อนไหว แม้แต่บริเวณที่พวกเขาลงสู่พื้นดิน การจัดเฟรมและวางองค์ประกอบภาพจึงสำคัญอย่างมาก คุณต้องไม่ลดทอนความโดดเด่นของการเคลื่อนไหวโดยทำให้สิ่งกีดขวางต่างๆ ดูเล็กกว่าความเป็นจริง และต้องไม่ทำให้ผู้ชมรู้สึกว่าภาพดูเป็นนามธรรมเกินกว่าจะเข้าใจว่าเกิดอะไรขึ้น
1. การแสดงสีหน้าท่าทางกับการแสดงบริบท
EOS-1D X/ EF70-200mm f/2.8L IS USM/ FL: 195 มม./ Manual exposure (f/2.8, 1/1000 วินาที, EV±0)/ ISO 800/ WB: Manual
บางครั้ง คุณอาจต้องการขยับเข้าใกล้เพื่อดึงความสนใจไปที่สีหน้าท่าทาง เช่น เมื่อนักกีฬากำลังเพ่งสมาธิหรือแสดงให้เห็นถึงความมุ่งมั่นตั้งใจอย่างมากดังเช่นในภาพนี้ อย่างไรก็ดี การจัดเฟรมภาพที่แน่นขนัดอาจทำให้คุณมองไม่เห็นจุดที่ออกตัว ลงสู่พื้นดิน หรือรู้สึกถึงสถานที่การแข่งขัน ทำให้สื่ออารมณ์ถึงการเคลื่อนไหวได้ไม่ดีเท่าที่ควร
EOS-1D X/ EF70-200mm f/2.8L IS USM/ FL: 70 มม./ Manual exposure (f/2.8, 1/1000 วินาที, EV±0)/ ISO 1250/ WB: Manual
ภาพนี้ถ่ายนักกีฬาคนเดียวกันโดยคำนึงถึงสภาพแวดล้อมรอบข้าง ตอนนี้คุณจะเห็นจุดที่นักกีฬาออกตัวจนถึงจุดสูงสุดของการเคลื่อนไหว
วิธีที่ดีที่สุดที่คุณควรคำนึงถึงคือ กีฬาเอ็กซ์ตรีมต้องการมุมภาพแบบ "สุดขั้ว" ไม่ว่าจะเป็นมุมกว้างเพื่อเก็บบริบทของภาพ หรือถ่ายในระยะใกล้มากๆ เพื่อถ่ายทอดอารมณ์
2. ความสำคัญของจังหวะเวลา
EOS 5D Mark IV/ EF70-200mm f/2.8L IS USM/ FL: 135 มม./ Aperture-priority AE (f/3.5, 1/2500 วินาที, EV±0)/ ISO 125/ WB: อัตโนมัติ
การจะได้ภาพที่ส่งผลทางอารมณ์มากที่สุด จังหวะเวลาคือสิ่งจำเป็น ลองเปรียบเทียบภาพนี้กับภาพด้านล่าง จะเห็นว่าระดับความสูงในภาพนี้ดูน้อยกว่า เนื่องจากไม่ได้เก็บภาพขณะนักกีฬาอยู่ในจุดสูงสุดของการเคลื่อนไหว
EOS 5D Mark IV/ EF70-200mm f/2.8L IS USM/ FL: 135 มม./ Aperture-priority AE (f/3.5, 1/2500 วินาที, EV±0)/ ISO 125/ WB: อัตโนมัติ
นักกีฬาถูกจัดเฟรมภาพอย่างสวยงามเข้ากับแบ็คกราวด์ขณะที่กระโดดขึ้นในจุดสูงสุดพอดี ลักษณะท่าทางและการครอปภาพทำให้เรามองเห็นสถานที่ที่เขาอยู่และจุดที่เขาจะเคลื่อนที่ไป
4. เตรียมตัวให้พร้อม
ท้ายที่สุดแล้ว การถ่ายภาพกีฬาเอ็กซ์ตรีมต้องอาศัยการเตรียมความพร้อม ไม่ต่างจากการถ่ายภาพประเภทอื่นๆ เนื่องจากเป็นกีฬาที่มีความเสี่ยงสูง การเคลื่อนไหวผาดโผนจึงทำได้เพียงไม่กี่ครั้งหากมีโอกาสที่จะทำซ้ำได้ คุณจึงต้องเตรียมตัวให้พร้อมที่จะเก็บภาพในช่วงเวลาเพียงไม่กี่ครั้งนั้นให้ได้
ควรปฏิบัติดังต่อไปนี้เสมอ
- มีแรงบันดาลใจ: ไอเดียสร้างสรรค์มีอยู่ทุกหนทุกแห่ง มองสิ่งที่ผู้คนกำลังทำและนึกถึงวิธีนำเสนอภาพนั้นสู่สายตาผู้ชมในสไตล์ของคุณเอง
ก่อนถ่ายภาพจริง:
- ทำความคุ้นเคยกับกีฬา วิธีหนึ่งที่ทำได้คือเข้าอินเทอร์เน็ตไปชมวิดีโอกีฬาที่คุณจะถ่ายภาพ
- ใช้เวลาสำรวจสถานที่ถ่ายภาพหากสามารถทำได้ ซึ่งจะช่วยให้คุณวางแผนเรื่องมุมภาพและได้ไอเดียในการถ่ายภาพอีกด้วย
- สื่อสารกับนักกีฬา แสดงภาพถ่ายจากการสำรวจสถานที่ให้พวกเขาดูและพูดคุยถึงไอเดียของคุณ วิธีนี้ยังช่วยให้นักกีฬามั่นใจว่าคุณรู้สิ่งที่กำลังทำอยู่ และเชื่อมั่นว่าจะพวกเขาจะไม่เสี่ยงบาดเจ็บเพื่อภาพที่ถ่ายไม่ดี
เคล็ดลับพิเศษ: สื่อสารกับนักกีฬาตลอดเวลาและมองโลกในแง่ดีเข้าไว้
EOS 5D Mark IV/ EF70-200mm f/2.8L IS USM/ FL: 105 มม./ Aperture-priority AE (f/2.8, 1/1250 วินาที, EV±0)/ ISO 125/ WB: อัตโนมัติ
สร้างแรงบันดาลใจให้กับนักกีฬา และแสดงภาพถ่ายให้พวกเขาดูเพื่อสื่อสารว่าจำเป็นต้องปรับเปลี่ยนในส่วนใดบ้าง เมื่อนักกีฬาเห็นภาพสวยๆ แล้ว พวกเขาย่อมรู้สึกยินดีที่จะให้ถ่ายต่อไป
รับข่าวสารล่าสุดเกี่ยวกับการถ่ายภาพ รวมถึงเคล็ดลับและกลเม็ดต่างๆ
ร่วมเป็นส่วนหนึ่งของชุมชนชาว SNAPSHOT
ลงทะเบียนตอนนี้!