ภาพทิวทัศน์ในฤดูร้อนที่สวยงามน่าทึ่ง: จุดชมวิวในญี่ปุ่นและเคล็ดลับของช่างภาพมืออาชีพ (1)
สี่ฤดู สี่สไตล์ในญี่ปุ่นให้ประสบการณ์่ถ่ายภาพอันน่าตื่นตาตื่นใจตลอดทั้งปีสำหรับบรรดาช่างภาพ ในบทความต่อเนื่องชุดนี้ เราจะมาดูจุดชมวิวที่สวยงามเป็นพิเศษในช่วงฤดูร้อนและได้รับความนิยมในหมู่ช่างภาพมืออาชีพ พร้อมกับเผยสุดยอดเทคนิคที่มีประโยชน์สำหรับการถ่ายภาพวิวทิวทัศน์ในรุ่งเช้าและยามพระอาทิตย์ตกดิน (เรื่องโดย: Michiko Kaneko, Rika Takemoto)
1: สวนดอกไม้ในสวนสาธารณะโคไคกาวะ ฟุเรไอ (อิบารากิ ญี่ปุ่น)
EOS 5D Mark III/ EF24-105mm f/4L IS USM/ FL: 24 มม./ Aperture-priority AE (f/16, 1/20 วินาที, EV+0.7)/ ISO 100/ WB: แสงแดด
ภาพโดย Michiko Kaneko
สถานที่: โฮริโกเมะ เมืองชิโมะซึมะ จังหวัดอิบารากิ ญี่ปุ่น/ ช่วงที่ดีที่สุดสำหรับถ่ายภาพ: ต้นเดือนมิถุนายน/ เวลาถ่ายภาพ: 05:00 น.
ดอกป๊อปปี้ที่บานสะพรั่งไปทั่วบริเวณเชิงเขาภูเขาสึคุบะ
สำหรับการถ่ายภาพนี้ ฉันเลือกใช้เลนส์ 24 มม. ที่มีเอฟเฟ็กต์การขยายมุมมองเปอร์สเปคทีฟเกินจริง ซึ่งสามารถขับเน้นทุ่งดอกป๊อปปี้ที่กำลังเบ่งบานไปสุดลูกหูลูกตา ฉันขยับเข้าไปใกล้ดอกป๊อปปี้ที่กำลังเปล่งประกายสดใสเมื่อต้องแสงอาทิตย์ตอนเช้าตรู่ และจัดให้ภาพดอกไม้เต็มพื้นที่สองในสามส่วนขององค์ประกอบภาพเพื่อเพิ่มเอฟเฟ็กต์การขยายมุมมองเปอร์สเปคทีฟเกินจริงให้เด่นชัดมากขึ้น
สิ่งหนึ่งที่ควรระมัดระวังคือ คุณต้องแน่ใจว่าองค์ประกอบภาพอยู่ในแนวนอน หากคุณถ่ายภาพหลังพระอาทิตย์ขึ้น เมื่อมองเห็นดวงอาทิตย์ที่ด้านหลังภูเขาสึคุบะได้ชัดเจน คุณจะสามารถจับภาพประกายของหยาดน้ำค้างยามเช้าบนกลีบและก้านดอกไม้ ซึ่งปรากฏขึ้นเพียงชั่วขณะแม้จะถ่ายภาพในสภาวะย้อนแสง อีกทั้งยังถ่ายทอดสีสันของกลีบดอกไม้ที่สดชัดมากที่สุดได้
ภาพเสีย: หยดน้ำค้างยามเช้าจะไม่ส่องประกายหากคุณถ่ายภาพก่อนพระอาทิตย์ขึ้น
EOS 5D Mark III/ EF24-105mm f/4L IS USM/ FL: 50 มม./ Aperture-priority AE (f/16, 1/5 วินาที, EV+0.3)/ ISO 200/ WB: Manual
ภาพโดย Michiko Kaneko
หากคุณถ่ายภาพก่อนพระอาทิตย์ขึ้น ดอกป๊อปปี้จะดูหม่นหมองไม่มีชีวิตชีวา และไม่สามารถจับภาพประกายของหยาดน้ำค้างยามเช้าได้
อ่านบทความของเราเกี่ยวกับ:
การถ่ายภาพทิวทัศน์ในยามเช้าตรู่: ถ่ายภาพก่อนหรือหลังพระอาทิตย์ตกดินดี?
2: ทะเลสาบชินจิ (ชิมาเนะ)
EOS 5D Mark II/ EF24-105mm f/4L IS USM/ FL: 47 มม./ Aperture-priority AE (f/8, 1/25 วินาที, EV+0.3)/ ISO 200/ WB: แสงในร่ม
ภาพโดย Rika Takemoto
สถานที่: โซเดชิ-โช เมืองมัตสึเอะ จังหวัดชิมาเนะ ญี่ปุ่น/ ช่วงที่ดีที่สุดสำหรับถ่ายภาพ: ปลายเดือนมิถุนายน/ เวลาถ่ายภาพ: 19:00 น.
จุดยอดนิยมที่แนะนำใน "สุดยอดพระอาทิตย์ตกที่ญี่ปุ่น 100 แห่ง"
บริเวณริมฝั่งทะเลสาบชินจิซึ่งมีจุดท่องเที่ยวหลายแห่งที่มีทัศนียภาพพระอาทิตย์ตกดินอันสวยสดงดงาม ได้รับเลือกให้เป็นหนึ่งในสถานที่สำหรับสุดยอดพระอาทิตย์ตกที่ญี่ปุ่น 100 แห่ง* เงาที่สวยสะกดใจในภาพด้านล่างนั้นคือเกาะโยะเมะงะชิมะ ซึ่งตั้งอยู่โดดเดี่ยวบนทะเลสาบ
ในขณะถ่ายภาพ ก้อนเมฆที่ลอยอยู่เหนือทะเลสาบอาบไล้ไปด้วยสีสันของดวงอาทิตย์อัสดง ฉันจึงตัดสินใจจัดภาพท้องฟ้าให้กินพื้นที่ส่วนใหญ่ขององค์ประกอบภาพ เพื่อขับเน้นขนาดของทิวทัศน์ให้ดูตระการตามากขึ้น ฉันเลือกใช้ทางยาวโฟกัสที่ 47 มม. โดยพิจารณาถึงความสมดุลระหว่างท้องฟ้า พระอาทิตย์ยามเย็น และเกาะ
ในวันนี้ลมพัดแรงมาก ฉันจึงปรับค่าความไวแสง ISO เพื่อป้องกันไม่ให้ความเร็วชัตเตอร์ช้าลง เพราะอาจทำให้เกิดปัญหากล้องสั่นไหวได้ ขอบฟ้าเต็มไปด้วยก้อนเมฆมากมาย แต่พอฉันคิดว่าวันนี้คงไม่มีโอกาสได้บันทึกภาพอาทิตย์ตกดิน ทันใดนั้นเองดวงอาทิตย์ก็ปรากฏขึ้นมาจากท่ามกลางหมู่เมฆ “การปรากฏตัวอีกครั้ง” อย่างไม่คาดคิดเช่นนี้ถือเป็นเรื่องปกติในการถ่ายภาพพระอาทิตย์ตกดิน และบ่อยครั้งทำให้เราได้ภาพที่สวยน่าทึ่งอย่างที่สุด ซึ่งเป็นเหตุผลว่าทำไมฉันจึงแนะนำให้คุณถ่ายภาพต่อไปอย่างน้อย 30 นาที หลังจากดวงอาทิตย์ลับขอบฟ้าแล้ว
เมื่อถ่ายภาพแสงยามเย็น ให้ตั้งค่า สมดุลแสงขาว เป็น "แสงในร่ม" หรือ "เมฆครึ้ม" เพื่อเพิ่มโทนสีแดงให้กับดวงอาทิตย์ที่กำลังตก พร้อมกับสร้างเอฟเฟ็กต์ที่เร้าอารมณ์มากขึ้น อย่างไรก็ตาม พารามิเตอร์โทนสีของการตั้งค่าบางอย่างในรูปแบบภาพอาจส่งผลให้สีบางสีฉูดฉาดมากในภาพที่ออกมา ดังนั้น จะต้องให้ความสำคัญกับความสมดุลของสีขณะถ่ายภาพด้วย
*“สุดยอดพระอาทิตย์ตกที่ญี่ปุ่น 100 แห่ง” คือรายชื่อสถานที่ท่องเที่ยว 100 แห่งในญี่ปุ่นที่มีทิวทัศน์พระอาทิตย์ตกดินที่สวยงามที่สุด ซึ่งรวบรวมโดย NPO Association of Township Building Sunrise and Sunset in Japanese Islands
โปรดดูบทความต่อไปนี้หากต้องการทราบเคล็ดลับเพิ่มเติมเกี่ยวกับสมดุลแสงขาวและการปรับแต่งโทนสี:
หลักพื้นฐานเกี่ยวกับสมดุลแสงขาวช่วยสร้างโทนสีได้ดังใจนึก
วิธีการแสดงสีด้วยฟังก์ชั่นการแก้ไขสมดุลแสงขาว
ภาพเสีย: แสงอาทิตย์ออกมาเป็นโทนสีน้ำเงิน
EOS 5D Mark II/ EF24-105mm f/4L IS USM/ FL: 47 มม./ Aperture-priority AE (f/8, 1/25 วินาที, EV+0.3)/ ISO 200/ WB: แสงแดด
ภาพโดย Rika Takemoto
การตั้งค่าสมดุลแสงขาวเป็น “แสงแดด” จะลดโทนสีแดงในภาพ และทำให้ภาพพระอาทิตย์ตกดินออกเป็นโทนสีน้ำเงิน
1: สวนดอกไม้ในสวนสาธารณะโคไคกาวะ ฟุเรไอ (อิบารากิ)
2: ทะเลสาบชินจิ (ชิมาเนะ)
โปรดดูบทความต่อไปนี้หากต้องการทราบเคล็ดลับเพิ่มเติมเกี่ยวกับการถ่ายภาพพระอาทิตย์ขึ้นและพระอาทิตย์ตก:
การตัดสินใจในการถ่ายภาพทิวทัศน์: ถ่ายยามเช้าหรือยามเย็นดีกว่ากัน
ถ่ายภาพสีสันสดใสและร้อนแรงของพระอาทิตย์ยามรุ่งอรุณ
การตัดสินใจในการถ่ายภาพทิวทัศน์: ควรใส่ดวงอาทิตย์ไว้ในเฟรมภาพดีหรือไม่
รับข่าวสารล่าสุดเกี่ยวกับการถ่ายภาพ รวมถึงเคล็ดลับและกลเม็ดต่างๆ ได้โดยลงทะเบียนกับเรา!
เกี่ยวกับผู้เขียน
นิตยสารรายเดือนที่เชื่อว่าความสุขของการถ่ายภาพจะยิ่งเพิ่มขึ้น เมื่อผู้ถ่ายภาพได้เรียนรู้เกี่ยวกับฟังก์ชั่นต่างๆ ของกล้องมากยิ่งขึ้น นิตยสารเล่มนี้เผยแพร่ข่าวสารเกี่ยวกับกล้องรุ่นใหม่ๆ รวมถึงคุณสมบัติของกล้องและนำเสนอเทคนิคการถ่ายภาพอย่างหลากหลาย
จัดพิมพ์โดย Impress Corporation
เกิดที่เมือง Sendai จังหวัด Miyagi เธอเริ่มสนใจการถ่ายภาพหลังจากบังเอิญได้เห็นภาพถ่ายที่ทำให้เธอเกิดแรงบันดาลใจใน Okunikko ในปี 1987 เธอศึกษาการถ่ายภาพจาก Shotaro Akiyama ช่างภาพผู้มีชื่อเสียงที่ล่วงลับไปแล้ว ก่อนจะเปิดสตูดิโอของตัวเองและผันตัวมาเป็นช่างภาพอิสระ ด้วยความหลงใหลในสีสันอันงดงามของธรรมชาติ เธอจึงเดินทางไปทั่วญี่ปุ่นด้วยรถยนต์ของเธอ เพื่อเก็บภาพทิวทัศน์แสนสงบในฤดูต่างๆ รวมทั้งภาพที่มีทั้งรถไฟและทิวทัศน์ด้วย เธอเป็นสมาชิกของ Japan Professional Photographers Society (JPS) และ Japan Society for Arts and History of Photography (JSAHP)
Rika เป็นช่างภาพทิวทัศน์ที่เริ่มต้นจากการถ่ายภาพเป็นกิจกรรมยามว่างตั้งแต่ปี 2004 และเริ่มดูแลเว็บไซต์แชร์ภาพถ่ายในปี 2007 เธอเรียนรู้การถ่ายภาพจากช่างภาพทิวทัศน์ธรรมชาติอย่าง Yoshiteru Takahashi ก่อนจะผันตัวเป็นช่างภาพอิสระ นับแต่นั้นมา เธอก็ได้ถ่ายภาพทิวทัศน์หลากหลายรูปแบบทั่วญี่ปุ่น (รวมถึงต่างประเทศด้วย)