เทคนิคการถ่ายภาพมาโครเทเลโฟโต้: สร้างจุดสนใจให้ใบไม้ธรรมดาๆ
หากกล่าวถึง “การถ่ายภาพธรรมชาติ” หลายคนมักจะนึกถึงเลนส์มุมกว้างอัลตร้าไวด์ที่ใช้ถ่ายภาพทิวทัศน์กว้างไกล หรือเลนส์มาโครที่ช่วยให้คุณถ่ายภาพโคลสอัพของแมลงหรือดอกไม้ขนาดเล็กจิ๋วได้ แต่เลนส์เทเลโฟโต้และเลนส์ซูเปอร์เทเลโฟโต้ก็สามารถถ่ายภาพได้อย่างมีเอกลักษณ์เช่นกัน เราจะมาดูกันว่า GOTO AKI ใช้เลนส์ซูมซูเปอร์เทเลโฟโต้ในการถ่ายภาพใบไม้ธรรมดาๆ ให้โดดเด่นเตะตาได้อย่างไร (เรื่องโดย: GOTO AKI, Digital Camera Magazine)
EOS 5D Mark IV/ EF100-400mm f/4.5-5.6L IS II USM/ FL: 360 มม./ Aperture-priority AE (f/5.6, 1/80 วินาที, EV -0.7)/ ISO 800/ WB: แสงแดด
ใบไม้น้อยๆ ที่แทบไม่ได้รับความสนใจ
ขณะออกไปเดินเล่นในวันหนึ่งของฤดูใบไม้ร่วง ผมเห็นกิ่งก้านของใบไม้เล็กๆ อันแสนธรรมดานี้ที่โคนต้นไม้ซึ่งเต็มไปด้วยใบไม้ร่วงสีสันสดใส ใบไม้นี้เป็นสีเหลืองและแห้ง ซึ่งไม่ใช่สภาพที่เหมาะสำหรับการถ่ายภาพอย่างแน่นอน แต่ผมตัดสินใจท้าทายตัวเองและถ่ายภาพโดยทำให้ใบไม้นี้ดูน่าประทับใจขึ้น
ขั้นตอนที่ 1: จัดตำแหน่งกล้องให้เงาอยู่ด้านหลังตัวแบบ
แบ็คกราวด์นั้นดูรกจนเกินไป ซึ่งเป็นการบดบังตัวแบบ นอกจากนี้ สีของตัวแบบยังเป็นโทนมืดทึมและค่อนข้างไร้ชีวิตชีวา ดังนั้น หากผมถ่ายภาพตามที่เห็น ภาพก็จะไม่โดดเด่นและไม่ทำให้ผู้ชมเกิดความรู้สึกใดๆ เลย!
นี่คือภาพที่ผมได้เมื่อถ่ายใบไม้ตามที่มองเห็น โดยใช้มุมรับภาพที่กว้างเล็กน้อย แบ็คกราวด์ที่ดูรกจึงบดบังตัวแบบ
ผมเปลี่ยนมุมเพื่อให้เงาที่อยู่รอบๆ ต้นไม้ไปอยู่ด้านหลังกิ่งก้านของใบไม้ ซึ่งไม่เพียงแต่ช่วยทำให้แบ็คกราวด์เรียบง่ายขึ้นและไม่รกสายตา แต่สีเหลืองของใบไม้ยังดูสดใสขึ้นด้วยในความมืด
ขั้นตอนที่ 2: ใช้เลนส์ซูเปอร์เทเลโฟโต้ในการจัดเฟรมภาพ
เพื่อให้ภาพดูเรียบง่ายมากขึ้นและทำให้ใบไม้เป็นจุดสนใจ ผมจึงใช้มุมรับภาพที่แคบของเลนส์ซูมซูเปอร์เทเลโฟโต้เพื่อครอปเอาสิ่งต่างๆ โดยรอบที่ดูรกตาออกไป ผมค่อยๆ ปรับทางยาวโฟกัสจนกระทั่งได้เฟรมภาพที่สวยงามที่สุดที่ 360 มม.
ทางยาวโฟกัสที่ยาวเช่นนี้ยังทำให้คุณได้ระยะชัดที่ตื้นด้วย ซึ่งทำให้เกิดโบเก้ในแบ็คกราวด์ได้แม้ใช้ค่า f/5.6 โบเก้ช่วยให้ตัวแบบโดดออกมาจากแบ็คกราวด์ สีสันต่างๆ จึงดูเหมือน “ลอยเด่นขึ้นมา” ในภาพและดูเตะตามากขึ้น
ข้อควรสังเกต: ใบไม้ที่อยู่นอกโฟกัสในแบ็คกราวด์ดูเหมือนอยู่ใกล้ขึ้นและใหญ่ขึ้นเนื่องจากเอฟเฟ็กต์การบีบมุมมองภาพอันเป็นเอกลักษณ์ซึ่งจะเพิ่มขึ้นตามความยาวของทางยาวโฟกัส และยังช่วยเพิ่มความน่าสนใจให้กับภาพขึ้นมาอีกระดับหนึ่ง
อ่านเพิ่มเติมได้ที่: สร้างฉากตระการตาด้วยเส้นนำสายตาระยะเทเลโฟโต้
สรุป:
- ดึงความสนใจไปที่ตัวแบบโดยการทำให้แบ็คกราวด์เรียบง่ายขึ้น มุมรับภาพที่แคบและระยะชัดตื้นของเลนส์ซูเปอร์เทเลโฟโต้เหมาะมากสำหรับการถ่ายภาพเช่นนี้
- หากต้องการเพิ่มเอฟเฟ็กต์ให้เด่นชัดขึ้นอีก ลองพิจารณาดูว่าตัวแบบและแบ็คกราวด์สัมพันธ์กันอย่างไร
- ใช้เงาในแบ็คกราวด์ทำหน้าที่เป็นฉากหลังมืดๆ เพื่อให้สีที่มืดทึมดูโดดเด่นยิ่งขึ้น
ลองใช้เลนส์เหล่านี้:
EF100-400mm f/4.5-5.6L IS II USM
รับข่าวสารล่าสุดเกี่ยวกับการถ่ายภาพ รวมถึงเคล็ดลับและกลเม็ดต่างๆ
ร่วมเป็นส่วนหนึ่งของชุมชนชาว SNAPSHOT
ลงทะเบียนตอนนี้!เกี่ยวกับผู้เขียน
เกิดเมื่อปี 1972 ที่จังหวัดคานากาวะ จบการศึกษาจาก Sophia University และ Tokyo College of Photography Goto เผยแพร่ผลงานคอลเลคชั่นภาพถ่ายที่มีชื่อว่า "LAND ESCAPES" และยังมีส่วนร่วมในผลงานอื่นๆ อีก อาทิ "water silence" การแสดงผลงานศิลปะที่ผสานภาพถ่ายกับวิดีโอเข้าไว้ด้วยกัน
นิตยสารรายเดือนที่เชื่อว่าความสุขของการถ่ายภาพจะยิ่งเพิ่มขึ้น เมื่อผู้ถ่ายภาพได้เรียนรู้เกี่ยวกับฟังก์ชั่นต่างๆ ของกล้องมากยิ่งขึ้น นิตยสารเล่มนี้เผยแพร่ข่าวสารเกี่ยวกับกล้องรุ่นใหม่ๆ รวมถึงคุณสมบัติของกล้องและนำเสนอเทคนิคการถ่ายภาพอย่างหลากหลาย
จัดพิมพ์โดย Impress Corporation