3 เทคนิคมีประโยชน์เพื่อยกระดับทักษะการถ่ายภาพพอร์ตเทรตของคุณ
หากคุณต้องการยกระดับการถ่ายภาพพอร์ตเทรตของตัวเอง ลองใช้เทคนิคทั้ง 3 ข้อต่อไปนี้ แล้วมาดูกันว่าคุณสามารถใช้ทำอะไรได้บ้าง! (เรื่องโดย Shimpei Takagi, Digital Camera Magazine/ นางแบบ: OTO, Yui Takagi)
1. ให้นางแบบนายแบบเคลื่อนไหว แล้วจับภาพท่วงท่าการเคลื่อนไหวที่เกิดขึ้น
EOS R6 Mark II/ RF50mm f/1.2L USM/ Aperture-priority AE (f/4, 1/800 วินาที)/ ISO 400
ใช้ประโยชน์จากฟังก์ชั่นการถ่ายภาพต่อเนื่องความเร็วสูงของกล้อง
หากที่ผ่านมาคุณถ่ายภาพตัวแบบพอร์ตเทรตในท่าโพสนิ่งๆ เป็นส่วนใหญ่ ถึงเวลาเปลี่ยนอะไรใหม่ๆ โดยการให้นางแบบนายแบบเคลื่อนไหวร่างกาย การให้ตัวแบบเคลื่อนที่เป็นอีกหนึ่งเทคนิคสำคัญในการถ่ายภาพพอร์ตเทรต! ใช้ฟังก์ชั่นการถ่ายภาพต่อเนื่องความเร็วสูงของกล้องเพื่อหยุดช่วงเวลาต่างๆ ให้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้ หัวใจสำคัญคือ การมองหารายละเอียดที่แสดงถึงอะไรบางอย่างขณะที่นางแบบนายแบบเคลื่อนไหว
เรื่องราวเบื้องหลังภาพเหล่านี้
ผมสังเกตว่าทรงผมของนางแบบดูมีชีวิตชีวาเมื่อไหร่ก็ตามที่เธอขยับตัว ผมจึงตัดสินใจให้มันเป็นตัวแบบในการถ่ายภาพแอ็คชั่นแบบต่อเนื่องนี้
ผมถ่ายภาพจากด้านข้างของนางแบบ เพราะจากมุมนี้จะเห็นผมเปียของเธอเคลื่อนไหวได้ชัดเจนกว่า ผมขอให้เธอกระโดดไปด้วยเวลาวิ่ง เพื่อให้ผมเปียมีการเคลื่อนไหวมากขึ้น การถ่ายภาพต่อเนื่องเหมาะมากสำหรับฉากในลักษณะนี้ เพราะมีสิ่งที่คาดเดาไม่ได้หลายอย่าง! ผมให้เธอวิ่งประมาณ 50 เมตร แล้วผมก็เคลื่อนที่ตามเธอไป พร้อมทั้งกดถ่ายภาพต่อเนื่องไปด้วย จากนั้น ผมจึงเลือกภาพที่เส้นผมมีการเคลื่อนไหวที่น่าสนใจที่สุด
การตั้งค่าที่แนะนำสำหรับการถ่ายภาพต่อเนื่อง
1. ตัวแบบที่ตรวจจับ: คน
กล้องรุ่นใหม่ๆ ที่ใช้ระบบตรวจจับตัวแบบ EOS iTR AF X ด้วยเทคโนโลยีการเรียนรู้เชิงลึก สามารถตรวจจับคนได้แม้จะมองไม่เห็นใบหน้า เช่น เวลาก้มศีรษะลงหรือหันหน้าไปทางอื่น จึงเหมาะอย่างยิ่งสำหรับการถ่ายภาพผู้คนที่กำลังเคลื่อนไหว เพราะช่วยให้ผมจับภาพได้ง่ายขึ้นแม้ว่าทั้งตัวผมและนางแบบกำลังวิ่งอยู่!
2. Servo AF แบบติดตามทั่วพื้นที่: เปิด (หากคุณเคยเปลี่ยนการตั้งค่านี้)
ไม่ต้องกังวล การตั้งค่านี้เปิดไว้ตามค่าเริ่มต้นอยู่แล้ว เว้นแต่คุณจะเป็นคนปิดเอง! คุณสมบัตินี้จะเพิ่มความแม่นยำของ AF เวลาที่คุณติดตามคนที่กำลังเคลื่อนไหว คุณจึงสามารถปล่อยให้กล้องทำหน้าที่จับโฟกัส แล้วหันไปจดจ่อกับการจัดองค์ประกอบภาพแทน
ดูข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับการตั้งค่า AF แบบต่างๆ ได้ใน
5 เคล็ดลับเพื่อการตรวจจับและติดตามตัวแบบที่ดียิ่งขึ้น
3. โหมดขับเคลื่อน: ถ่ายต่อเนื่องความเร็วสูง H+
ในบางสถานการณ์ โหมดการถ่ายภาพต่อเนื่องด้วยความเร็วต่ำๆ จะใช้ได้ผลมากกว่า แต่ความเร็วสูงในการถ่ายต่อเนื่องจะเหมาะสำหรับฉากเช่นนี้ ซึ่งคุณไม่มีทางรู้ว่าเส้นผมของนางแบบจะเคลื่อนไหวอย่างไรและคุณอยากจะมีตัวเลือกในการถ่ายภาพมากขึ้น
โหมด H+ ช่วยให้คุณสามารถเข้าถึงความเร็วสูงสุดเท่าที่จะเป็นไปได้ของกล้องในการถ่ายภาพต่อเนื่อง ซึ่งสำหรับกล้อง EOS R6 Mark II นั้นจะอยู่ที่สูงสุด 40 fps นับว่าเร็วมากจนแทบจะรู้สึกเหมือนกำลังถ่ายวิดีโออยู่
เคล็ดลับ: กำหนดเวลาถ่ายภาพต่อเนื่องให้เข้ากับการเคลื่อนไหวของนางแบบนายแบบและจังหวะการหายใจของคุณเอง
อ่านเพิ่มเติมเกี่ยวกับโหมดการถ่ายภาพต่อเนื่องต่างๆ ได้ใน
โหมดชัตเตอร์และโหมดถ่ายภาพต่อเนื่อง: ควรใช้แต่ละโหมดเมื่อใด
ศึกษาไอเดียสร้างสรรค์เพิ่มเติมเกี่ยวกับวิธีใช้โหมดถ่ายภาพต่อเนื่องได้ใน
3 วิธีสุดสร้างสรรค์ในการใช้โหมดถ่ายภาพต่อเนื่องของกล้อง
วิธีถ่ายภาพพอร์ตเทรตพาโนรามาแบบมุมกว้าง
2. ใช้แฟลชเพื่อลดความเปรียบต่างที่เด่นชัดภายใต้แสงแดดจ้า
EOS R6 Mark II/ RF24-105mm f/4L IS USM/ FL: 24 มม./ Aperture-priority AE (f/7.1, 1/250 วินาที, EV -1.0)/ ISO 400
แฟลชเสริม: Speedlite EL-5
การใช้แสงแฟลชส่องตรงเป็นไฟเสริมสามารถสร้างภาพถ่ายให้ดูน่าประทับใจ
การถ่ายภาพท่ามกลางแดดจ้าอาจทำให้เกิดความเปรียบต่างที่เด่นชัดบนผิวของตัวแบบ คุณสามารถลดปัญหานี้ได้โดยใช้แสงแฟลชเป็นไฟเสริม
ภาพด้านบนถ่ายในสวนสาธารณะท่ามกลางแสงแดดยามบ่าย ผมใช้โหมด E-TTL โดยตั้งค่าชดเชยปริมาณแสงแฟลชไว้ที่ -1 ทำให้ลดเงาที่เด่นชัดบนใบหน้าของนางแบบอย่างได้ผล
ไม่ใช้แฟลช
ใช้แฟลช
เคล็ดลับ: ตั้งค่าแฟลชด้วยกล้องของคุณ
ผมใช้แฟลช Speedlite EL-5 และปรับการชดเชยปริมาณแสงแฟลชเพื่อให้ได้ผลลัพธ์ตามที่ต้องการ นับว่าสะดวกมากที่สามารถตรวจเช็กและปรับการตั้งค่าแฟลชได้โดยตรงจากกล้อง
ศึกษาไอเดียและเทคนิคง่ายๆ ในการถ่ายภาพกลางแจ้งโดยใช้แฟลชได้เพิ่มเติมที่
[เทคนิคการใช้แฟลช] ถ่ายภาพพอร์ตเทรตยามค่ำคืนในสไตล์ป๊อปอาร์ต
วิธีถ่ายภาพพอร์ตเทรตตัดกับแสงอาทิตย์อัสดง
2 เทคนิคทันใจที่ช่วยเพิ่มชีวิตชีวาให้ภาพพอร์ตเทรตกลางแจ้งของคุณ
[เทคนิคการใช้ไฟ 2 ดวง] ถ่ายภาพกลางแจ้งในแสงแดดจ้าอย่างไรให้แหวกแนว
3. ถ่ายภาพในที่ร่มได้อย่างมั่นใจด้วย ISO อัตโนมัติ: ใช้ค่าความเร็วชัตเตอร์ต่ำๆ
EOS R6 Mark II/ RF24-105mm f/4L IS USM/ FL: 31 มม./ Aperture-priority AE (f/11, 1/50 วินาที, EV -0.3)/ ISO 200
ถ่ายภาพในที่แสงน้อยได้อย่างมั่นใจยิ่งขึ้น
ภาพนี้ถ่ายโดยใช้เพียงแสงแดดยามเย็นที่ส่องเข้ามาทางหน้าต่างเท่านั้น ผมอยากได้ภาพที่คมชัดขึ้นและให้องค์ประกอบมากขึ้นอยู่ในโฟกัส จึงปรับรูรับแสงให้แคบลงถึง f/11 ทำให้ต้องอาศัยความเร็วชัตเตอร์ต่ำๆ และต้องระวังปัญหากล้องสั่นเป็นพิเศษ
ผมใช้กล้อง EOS R6 Mark II กับเลนส์ RF24-105mm f/4L IS USM ซึ่งสามารถร่วมกันป้องกันภาพสั่นไหวได้สูงสุดถึง 8 สต็อป แม้ว่าจะค่อนข้างเพียงพอแล้ว แต่ผมก็อยากเพิ่มความสบายใจให้ตัวเอง ผมจึงใช้โหมด Aperture-priority AE ถ่ายภาพ โดยเปิดโหมด ISO อัตโนมัติและตั้งค่าขีดจำกัดความเร็วชัตเตอร์ต่ำสุด
การตั้งค่าความเร็วชัตเตอร์ต่ำสุดสำหรับ ISO อัตโนมัติมีประโยชน์อย่างไร
การตั้งค่าความเร็วชัตเตอร์ต่ำสุดสำหรับ ISO อัตโนมัติจะได้ผลดีในโหมด Program AE (P) และโหมด Aperture-priority AE (Av) เพราะช่วยให้มั่นใจว่ากล้องจะไม่ตั้งค่าความเร็วชัตเตอร์ต่ำกว่าขีดจำกัดที่ตั้งไว้ และใช้ความไวแสง ISO เพื่อชดเชยแสง จึงมีประโยชน์ในการป้องกันปัญหากล้องสั่น แม้ว่ากล้องของคุณจะไม่มี IS ในตัว ก็ให้ตั้งค่าความเร็วชัตเตอร์ต่ำสุดให้สูงขึ้น และยังใช้เพื่อป้องกันไม่ให้ตัวแบบเบลอได้อีกด้วย
อ่านเพิ่มเติมเกี่ยวกับคุณสมบัตินี้ได้ใน
เคล็ดลับการใช้ ISO อัตโนมัติ: ป้องกันตัวแบบเบลอด้วยการตั้งค่าที่ต้องรู้!
เกี่ยวกับผู้เขียน
นิตยสารรายเดือนที่เชื่อว่าความสุขของการถ่ายภาพจะยิ่งเพิ่มขึ้น เมื่อผู้ถ่ายภาพได้เรียนรู้เกี่ยวกับฟังก์ชั่นต่างๆ ของกล้องมากยิ่งขึ้น นิตยสารเล่มนี้เผยแพร่ข่าวสารเกี่ยวกับกล้องรุ่นใหม่ๆ รวมถึงคุณสมบัติของกล้องและนำเสนอเทคนิคการถ่ายภาพอย่างหลากหลาย
จัดพิมพ์โดย Impress Corporation
Takagi เกิดในปี ค.ศ. 1985 ที่จังหวัดกิฟุ ประเทศญี่ปุ่น เขาเชี่ยวชาญด้านการถ่ายภาพพอร์ตเทรตสำหรับโฆษณาและบทความ รวมถึงการถ่ายภาพความงาม การใช้สีสันในแบบไม่เหมือนใครทำให้ภาพถ่ายของเขาได้รับการเผยแพร่บนแพลตฟอร์มมากมาย นอกจากนี้ Takagi ยังเป็นวิทยากรสอนถ่ายภาพในวิทยาลัยการอาชีพและบริษัทต่างๆ ด้วย