[เทคนิคการใช้ไฟ 2 ดวง] ถ่ายภาพกลางแจ้งในแสงแดดจ้าอย่างไรให้แหวกแนว
แสงตามธรรมชาตินั้นมีประโยชน์ แต่สามารถควบคุมได้ยากกว่ามากหากเทียบกับการถ่ายภาพโดยใช้แฟลช โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อคุณใช้แฟลชนอกตัวกล้อง Mark Teo ช่างภาพแอ็คชั่นเชิงพาณิชย์จะมาแบ่งปันวิธีจัดแสงแบบหนึ่งที่เขาชื่นชอบ ซึ่งไม่เพียงแต่สามารถจับภาพตัวแบบในสไตล์ที่แปลกใหม่และน่าตื่นตาตื่นใจเท่านั้น แต่ยังทำให้ตัวแบบเหล่านั้นดูโดดเด่นตัดกับแบ็คกราวด์ที่ยุ่งวุ่นวายได้ด้วย ลองใช้เทคนิคนี้ดูในครั้งต่อไปที่คุณต้องถ่ายภาพพอร์ตเทรตในสภาพแวดล้อมให้กับใครสักคนที่ไม่ธรรมดา (เรื่องโดย: Mark Teo)
EOS R5 + RF28-70mm f/2L USM ที่ f/2, 1/800 วินาที, ISO 100
ใช้แฟลช Speedlite EL-1 นอกตัวกล้องสองดวง
วิธีหนึ่งในการเพิ่มความตื่นตาตื่นใจให้ภาพถ่ายกลางแจ้ง
หากสภาวะต่างๆ มีความเหมาะสมและคุณเข้าใจสภาพแสงได้เป็นอย่างดี คุณจะสามารถถ่ายภาพให้ดูดีและเป็นธรรมชาติได้ด้วยแสงตามธรรมชาติ (หรือคุณอาจได้ภาพที่น่าประทับใจ เช่น ภาพแบบไฮคีย์นี้ซึ่งมีเงาที่น่าสนใจและภาพพอร์ตเทรตในสภาพแวดล้อมอันน่าตื่นตาตื่นใจนี้) อย่างไรก็ตาม เนื่องจากแสงตามธรรมชาติไม่ใช่สิ่งที่คุณสามารถควบคุมได้โดยง่าย คุณจึงอาจไม่ได้ภาพในลักษณะที่ต้องการ
คุณอาจจะคุ้นเคยกับแนวคิดในการใช้แฟลช Speedlite เป็นไฟเสริมเพื่อให้ตัวแบบที่มีแสงย้อนจากด้านหลังได้รับแสงในระดับที่เหมาะสม ในบทความนี้ ผมจะอธิบายให้ฟังว่าคุณสามารถใช้แฟลชนอกตัวกล้องอย่างไรในการปรับแสงเพื่อให้ได้ภาพแมนๆ ที่ดูแหวกแนวแม้จะเป็นการถ่ายภาพกลางแจ้งก็ตาม
หากลอง: ถ่ายภาพในแบบเดิมๆ
ผมถ่ายภาพนี้ในบ่ายแก่ๆ วันหนึ่งที่มีแดดจ้าและแสงแดดส่องมาจากด้านขวาของกล้อง ผมลองถ่ายภาพโดยไม่ใช้แฟลชก่อน จากนั้นจึงใช้แฟลชเปล่าๆ ในตัวกล้อง ทั้งสองภาพถ่ายที่ f.2, 1/800 วินาที, ISO 100 เช่นเดียวกับภาพหลัก ซิงค์ความเร็วสูงช่วยให้ผมสามารถใช้รูรับแสงกว้างสุดที่ f/2.0 เพื่อทำให้แบ็คกราวด์เบลอได้
ไม่ใช้แฟลช
เมื่อไม่ใช้แฟลช หมวกทำให้เกิดเงาบนใบหน้าของตัวแบบ และผมยังรู้สึกว่าการจัดแสงดูขาดมิติเกินไปด้วย ส่วนแบ็คกราวด์ก็ค่อนข้างสว่าง ทำให้ดึงดูดความสนใจมากเกินไป
ไฟเสริม (แฟลชเปล่า ส่องจากด้านหน้า)
แฟลชในตัวกล้องทำให้ใบหน้าของตัวแบบสว่างขึ้น แต่ก็ทำให้แบ็คกราวด์มืดลงด้วยเช่นกัน นี่ถือเป็นภาพที่ดี แต่ยังขาดความแปลกแหวกแนวที่ผมต้องการ
ขั้นตอนการถ่ายภาพ
อุปกรณ์ที่ใช้
- แฟลช Speedlite 2 ดวงบนขาตั้งไฟ
- ตัวส่งสัญญาณแฟลช Speedlite ST-E3-RT ในตัวกล้องสำหรับยิงแฟลช Speedlite
ขั้นตอนที่ 1: จัดไฟดวงแรก
อาจเรียกได้ว่านี่เป็นวิธีการจัดแสงแบบแยกรูปแบบหนึ่ง ไฟดวงแรกควรทำให้ใบหน้าของตัวแบบสว่างขึ้นเพียงครึ่งเดียวเท่านั้น ผมจึงวางไว้ที่ด้านข้างให้ทำมุม 90 องศากับตัวแบบ
ขั้นตอนที่ 2: จัดไฟดวงที่สอง
ไฟดวงที่สองคือไฟขอบที่ช่วยขับเน้นและเพิ่มความคมชัดให้กับใบหน้าด้านข้างของตัวแบบซึ่งอยู่ในเงา ผมปรับมุมให้แสงบางส่วนตกกระทบไปยังด้านหลังตัวแบบจนเกิดเป็นแสงจากด้านหลัง
แสงจากด้านหลังทำให้มองเห็นเอฟเฟ็กต์เฮโลได้เล็กน้อยตรงส่วนขอบของหมวกและหูซ้ายของตัวแบบ
ข้อควรรู้: อย่าใช้วิธีนี้หากคุณต้องการให้ผิวดูเรียบเนียน!
ภาพลักษณะนี้ใช้แสงจ้าจากแฟลชเปล่า จึงเห็นความเปรียบต่างได้ชัดเจน ซึ่งทำให้ใบหน้าดูมีเหลี่ยมมุมมากขึ้น เหมาะสำหรับภาพที่ดูแข็งแกร่งและมีความเป็นผู้ชาย อย่างไรก็ตาม ภาพลักษณะนี้ไม่ช่วยส่งเสริมตัวแบบนักหากมีผิวที่ไม่เรียบเนียน ดังนั้นจึงควรใช้อย่างระมัดระวัง
หากต้องการจัดแสงให้ได้ผิวที่ดูเรียบเนียน โปรดอ่านบทความนี้:
3 เทคนิคน่ารู้จากนางแบบมืออาชีพ
ขั้นตอนที่ 3: ตั้งค่ากล้อง และเปิดซิงค์ความเร็วสูง
ในการถ่ายภาพโดยใช้แฟลช ความเร็วชัตเตอร์ที่คุณใช้จะเป็นตัวควบคุมแสงโดยรอบ สำหรับภาพนี้ ผมต้องการระยะชัดตื้นเพื่อทำให้แบ็คกราวด์ดูสะอาดตามากขึ้น ผมจึงใช้รูรับแสงกว้างสุด และผมยังต้องการให้แบ็คกราวด์มืดลงเล็กน้อยด้วย เนื่องจากเราถ่ายภาพกันในตอนกลางวัน และความไวแสง ISO ของผมอยู่ที่ ISO 100 อยู่แล้ว จึงจำเป็นต้องใช้ความเร็วชัตเตอร์ค่อนข้างสูง ซึ่งต้องเร็วกว่าความเร็วซิงค์แฟลช ผมจึงเปิดซิงค์ความเร็วสูงบนแฟลช
ข้อควรรู้: การใช้ซิงค์ความเร็วสูงจะทำให้ค่าไกด์นัมเบอร์ลดลง
ทั้งนี้เนื่องมาจากวิธีการทำงานของซิงค์ความเร็วสูง คุณควรพิจารณาถึงข้อนี้ด้วยขณะตั้งกำลังแฟลช ขึ้นอยู่กับสภาวะการถ่ายภาพ คุณอาจต้องขยับไฟให้เข้าไปใกล้ตัวแบบมากขึ้น
ความเร็วซิงค์แฟลชถูกกำหนดโดยความเร็วในการเคลื่อนที่ของม่านชัตเตอร์ ซึ่งเป็นความเร็วชัตเตอร์สูงสุดที่สามารถยิงแฟลชได้หนึ่งครั้งเมื่อม่านชัตเตอร์เปิดเต็มที่ หากเร็วกว่านี้ เซนเซอร์ภาพจะไม่ได้รับแสงแฟลชอย่างเต็มที่
ในโหมดซิงค์ความเร็วสูง จะมีการยิงแฟลชกำลังต่ำต่อเนื่องเป็นชุดอย่างรวดเร็วตลอดการเปิดรับแสง เริ่มตั้งแต่เมื่อม่านชัตเตอร์แรกเปิดออกจนกระทั่งม่านชัตเตอร์ที่สองปิด ซึ่งจะทำให้ภาพได้รับแสงอย่างทั่วถึงมากขึ้น วิธีนี้ทำให้แสงถูกปล่อยออกมาเป็นระยะเวลานานกว่า แสงแฟลชที่ได้จึงมีกำลังอ่อนกว่าการปล่อยแสงแฟลชออกมาครั้งเดียวโดยใช้กำลังแฟลชเท่ากัน
ขั้นตอนที่ 4: ทดลองถ่ายภาพแล้วจึงปรับตามความชอบ
แม้กับภาพพอร์ตเทรตเช่นนี้ ตัวแบบก็ไม่จำเป็นต้องอยู่นิ่งเกินไป เราพูดคุยและหยอกล้อกัน ซึ่งตัวแบบอาจจะเคลื่อนไหวได้เล็กน้อย เราจึงได้การแสดงออกที่ดูเป็นธรรมชาติมากขึ้นจากการทำเช่นนั้น เมื่อผมจัดแสงเรียบร้อยแล้ว ผมเลือกที่จะไม่ไปแตะมันอีกเนื่องจากจะเป็นการรบกวนความต่อเนื่องในการถ่ายภาพ นอกจากนี้ ผมยังตั้งมุมซูมแฟลชให้กว้างที่สุดเท่าที่ทำได้ในกรณีที่อาจมีข้อผิดพลาด
เคล็ดลับระดับมือโปร
1. ตรวจดูให้แน่ใจว่าเงาไม่บังดวงตาของตัวแบบ
หากเงามืดเกินไป จะทำให้สีหน้าไม่เป็นจุดสนใจ ตรวจดูให้แน่ใจว่าอย่างน้อยคุณสามารถมองเห็นตาขาวได้ หากต้องการลดเงาลง ให้กระจายแสงออกโดยใช้อุปกรณ์ปรับแสงหรือการสะท้อนแสงแฟลช
2. โต้ตอบกับตัวแบบของคุณแบบเห็นหน้าโดยใช้หน้าจอแบบปรับหมุนได้
คุณจะสามารถโต้ตอบกับตัวแบบได้ง่ายกว่าเมื่อใบหน้าของคุณไม่ถูกบดบังด้วยกล้อง! ทุกวันนี้ผมแทบจะไม่ได้ใช้ช่องมองภาพในการถ่ายภาพเลย แต่ใช้หน้าจอด้านหลังแบบปรับหมุนได้และถ่ายแบบ Live View แทน และระบบ EOS R ยังมีการตรวจจับและติดตามตัวแบบที่เชื่อถือได้ซึ่งเป็นประโยชน์อย่างมากด้วย
เทคนิคพิเศษ: ถ้าอยากถ่ายภาพเฮดช็อต เพียงแค่ขยับไฟขอบเข้าไปหาตัวกล้อง
EOS R5 + RF28-70mm f/2L USM ที่ f/2.8, 1/400 วินาที, ISO 100
ใช้แฟลช Speedlite EL-1 นอกตัวกล้องสองดวง
สำหรับภาพเฮดช็อตนี้ ผมขยับไฟของกล้องทางขวาให้เข้าไปใกล้กับตำแหน่งของกล้องมากขึ้น เพื่อให้ใบหน้าด้านขวาของตัวแบบได้รับแสงอย่างทั่วถึงมากขึ้น การจัดแสงแบบกำหนดทิศทางเช่นนี้ช่วยสร้างมิติได้มากกว่าการจัดแสงจากด้านหน้าโดยตรง ผมคงความมืดในแบ็คกราวด์ไว้เพื่อให้เข้ากับอารมณ์ของภาพ
และไฟของกล้องทางขวายังช่วยสร้างแสงสะท้อนในดวงตาของตัวแบบด้วย หากคุณต้องการแสงสะท้อนที่มีขนาดใหญ่ขึ้น ให้ใช้อุปกรณ์ปรับแสงเหนือแหล่งกำเนิดแสงเพื่อให้เกิดเงาสะท้อนขนาดใหญ่ในดวงตา
---
หากคุณต้องการทบทวนพื้นฐานเกี่ยวกับแฟลช Speedlite โปรดอ่านบทความต่อไปนี้:
เริ่มถ่ายภาพโดยใช้แฟลชได้ใน 9 ขั้นตอน!
เร็วยิ่งกว่าความเร็วชัตเตอร์: การใช้ระยะเวลาการยิงแฟลชเพื่อหยุดการเคลื่อนไหว
[เทคนิคการใช้ไฟ 2 ดวง] วิธีง่ายๆ ในการจัดแสงให้วัตถุที่โค้งมนและสะท้อนแสง
เรียนรู้เพิ่มเติมเกี่ยวกับเทคนิคการจัดแสงและการใช้แฟลชได้ที่:
[เทคนิคการใช้แฟลช] วิธีการถ่ายภาพให้ได้สีสันน่าประทับใจในสภาพย้อนแสง
[เทคนิคการใช้แฟลช] ถ่ายภาพพอร์ตเทรตยามค่ำคืนในสไตล์ป๊อปอาร์ต
เทคนิคการถ่ายภาพคอสเพลย์ (3): ตัวอย่างการจัดแสงแบบต่างๆ
วิธีถ่ายภาพหยดฝนเพื่อสร้างสรรค์พอร์ตเทรตที่เหนือจริง
รับข่าวสารล่าสุดเกี่ยวกับการถ่ายภาพ รวมถึงเคล็ดลับและกลเม็ดต่างๆ
ร่วมเป็นส่วนหนึ่งของชุมชนชาว SNAPSHOT
ลงทะเบียนตอนนี้!