การถ่ายภาพการเต้น: การถ่ายทอดความงดงามของการเคลื่อนไหวและอารมณ์ความรู้สึก
การเต้นสามารถถ่ายทอดออกมาเป็นภาพถ่ายที่สวยงามน่าทึ่งได้ แต่เป็นที่ทราบกันดีว่าการถ่ายภาพการเต้นเป็นสิ่งที่ท้าทายอย่างมาก เนื่องจากช่างภาพต้องจัดเฟรม จับโฟกัส และลั่นชัตเตอร์ในเวลาที่เหมาะสม พร้อมกับรักษาระดับแสงให้มีแสงสว่างพอเหมาะ สำหรับ Bernie Ng ช่างภาพการเต้นและศิลปะการแสดงที่มีผลงานแพร่หลายมากที่สุดคนหนึ่งในสิงคโปร์ การถ่ายภาพดังกล่าวไม่ใช่แค่การจับภาพการเคลื่อนไหวเท่านั้น แต่ยังเป็นการถ่ายทอดความงดงามและอารมณ์ความรู้สึกซึ่งชี้นำการเคลื่อนไหวอีกด้วย และในบทความนี้เธอจะแบ่งปันเคล็ดลับที่ช่วยให้เธอได้ถ่ายภาพที่เต็มเปี่ยมไปด้วยอารมณ์อย่างสวยงาม (ภาพโดย: Bernie Ng)
EOS 5D Mark III/ EF24-70mm f/2.8L II USM/ Manual exposure (f/2.8, 1/250 วินาที)/ ISO 2500/ WB: อัตโนมัติ
"Pure" โดย T.H.E Dance Company (2016)/ ผู้ออกแบบท่าเต้น: Kuik Swee Boon/ นักเต้น: Anthea Seah และ Wu Mi
1. การจัดการกับปริมาณแสง
ระดับแสงที่เหมาะสมอาจเป็นสิ่งที่ท้าทายมากที่สุดในการถ่ายภาพการเต้น เนื่องจากแสงไฟบนเวทีอาจสว่างมาก และเรามักไม่ได้รับอนุญาตให้ใช้แฟลชเพื่อถ่ายภาพ ดังนั้น สิ่งที่เราสามารถทำได้คือการจัดแสงให้พอเหมาะสำหรับการแสดงแต่ละครั้ง Bernie มีข้อแนะนำดังนี้:
ใช้เลนส์ที่มีรูรับแสงกว้าง
ซึ่งช่วยให้แสงเข้าสู่เซนเซอร์กล้องอย่างเพียงพอและสามารถตั้งค่าความไวแสง ISO ให้ต่ำที่สุดเพื่อลดจุดรบกวนที่มองเห็นได้ชัด โดยหลักการแล้ว คุณควรมีอุปกรณ์ดังนี้:
- เลนส์มุมกว้างสำหรับเก็บภาพทั้งเวที
- เลนส์ซูมเทเลโฟโต้สำหรับถ่ายภาพโคลสอัพ
เรียนรู้เพิ่มเติมเกี่ยวกับเลนส์ที่มีรูรับแสงกว้างที่นี่:
พื้นฐานเกี่ยวกับเลนส์ #9: เลนส์ที่มีรูรับแสงกว้าง
ถ่ายภาพในโหมดแมนนวลหรือใช้การชดเชยแสงด้วยโหมด Av หรือ Tv
คุณควรควบคุมการตั้งค่าการเปิดรับแสงไว้ เนื่องจากสภาพแสงบนเวทีสามารถเปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็ว Bernie ชอบถ่ายภาพในโหมดแมนนวล เนื่องจากช่วยให้เธอปรับตั้งค่าได้ดียิ่งขึ้น แต่หากคุณเลือกใช้โหมดกึ่งอัตโนมัติ เธอแนะนำให้ใช้การชดเชยแสงเพื่อให้ได้ปริมาณแสงที่เพียงพอ
สำหรับผู้เริ่มต้น โหมด Aperture-Priority (Av) อาจใช้งานได้ง่ายกว่า เพียงแค่ตั้งค่ารูรับแสงกว้างสุด กล้องจะตั้งความเร็วชัตเตอร์ที่เร็วที่สุดให้ทันทีโดยไม่ต้องกังวลว่าจะภาพจะมืดเกินไป และโหมด Shutter-priority (Tv) จะช่วยให้คุณควบคุมความเร็วชัตเตอร์ แต่หากต้องการปริมาณแสงที่เพียงพออาจจะต้องใช้เทคนิคเข้าช่วยเล็กน้อย
ความเร็วชัตเตอร์: ทราบสิ่งที่คุณต้องการ
พิจารณาปัจจัยต่างๆ เช่น ประเภทของการเต้น ท่าเต้น และประเภทของภาพที่คุณต้องการ Bernie มักใช้ความเร็วชัตเตอร์ที่ 1/250 วินาทีเสมอๆ และจะปรับเมื่อจำเป็น ตัวอย่างเช่น เธออาจตัดสินใจใช้ความเร็วชัตเตอร์ต่ำหากรู้สึกว่าช่วยเสริมภาพถ่ายให้สวยงามขึ้นได้
EOS 5D Mark III/ EF24-105mm f/4L IS USM/ Manual exposure (f/4.0, 1/13 วินาที)/ ISO 800/ WB: อัตโนมัติ
“Giving” โดย Frontier Danceland (2015)/ ผู้ออกแบบท่าเต้น: Adrian Skjoldborg
การใช้ความเร็วชัตเตอร์ต่ำสามารถเพิ่มพลังและความมีชีวิตชีวาให้กับองค์ประกอบภาพ Bernie พูดถึงภาพนี้ว่า: "ถ้าฉันหยุดการเคลื่อนไหว ภาพนี้อาจดูค่อนข้างธรรมดาไป" เธอจึงตัดสินใจใช้ความเร็วชัตเตอร์ต่ำเพื่อสร้างภาพเบลอจากตัวแบบที่เคลื่อนไหวและจับโฟกัสที่นักเต้นหญิง ซึ่งช่วยเติมเต็มพื้นที่ว่างและเพิ่มการเคลื่อนไหวในภาพถ่าย
คำแนะนำจากมืออาชีพ: หากคุณมีโอกาสได้พูดคุยกับทีมงานบนเวทีและผู้ออกแบบแสง…
คุณไม่จำเป็นต้องทราบรายละเอียดทั้งหมดของฉาก เพราะทีมงานบนเวทีและผู้ออกแบบแสงอาจให้ข้อมูลเชิงลึกเกี่ยวกับสิ่งที่ควรคาดหวัง Bernie มักตั้งคำถามว่าการจัดแสงจะเป็นอย่างไร และจะมีแสงสว่างจ้าหรือไม่
ไอเดียสร้างสรรค์: ใช้ไฟกะพริบเพื่อสร้างภาพถ่ายที่ยอดเยี่ยม
EOS 5D Mark III/ EF70-200mm f/4L IS USM/ Manual exposure (f/4, 1.3 วินาที)/ ISO 320/ WB: อัตโนมัติ
“Planet Romeo”/ จัดแสดงที่ DiverCity โดยเป็นส่วนหนึ่งของงานเทศกาลนาฏกรรมร่วมสมัย M1 Contact (2015)/ ผู้ออกแบบท่าเต้นและนักเต้น: Daniel Kok
บางครั้งการแสดงอาจมีการใช้ไฟกะพริบซึ่งทำให้คุณพลาดโอกาสในการได้ภาพถ่ายหากไม่ได้เตรียมตัวล่วงหน้า แต่หากคุณเตรียมตัวและตอบสนองได้รวดเร็วพอ นั่นจะเป็นโอกาสที่จะใช้ไอเดียสร้างสรรค์ของคุณ ในภาพนี้ Bernie ตัดสินใจลดความเร็วชัตเตอร์ทันทีและสร้างเอฟเฟ็กต์โดยใช้แฟลชสโตรโบสโคป
2. การเต้นไม่ใช่แค่การเคลื่อนไหว
EOS 5D Mark III/ EF24-105mm f/4L IS USM/ Manual exposure (f/4, 1/400 วินาที)/ ISO 12800/ WB: อัตโนมัติ
The Ordinary Man โดย T.H.E Dance Company (2014) จัดแสดงที่ Huayi - เทศกาลศิลปะจีน Esplanade - Theatres on the Bay/ ผู้ออกแบบท่าเต้น: Wu Yi-San และ Kuik Swee Boon
เมื่อกล่าวถึงการถ่ายภาพการเต้น ใครหลายคนอาจนึกถึงภาพการกระโดด แต่อันที่จริงช่วงเวลาที่นิ่งสงบอาจสร้างผลทางอารมณ์ได้เช่นกัน Bernie กล่าวว่าเมื่อต้องถ่ายภาพช่วงเวลาดังกล่าว เธอจะให้ความสำคัญเป็นพิเศษกับ
แนวเส้นที่สวยงามและการโพสท่าที่ถูกต้อง
เรียนรู้ที่จะทำความเข้าใจว่าสิ่งใดเหมาะและสิ่งใดไม่เหมาะ ซึ่งการเต้นแต่ละประเภทมีความแตกต่างกัน อย่างไรก็ดี คุณไม่จำเป็นต้องมีความรู้เกี่ยวกับการเต้นเพื่อที่จะถ่ายภาพได้อย่างสวยงาม เพราะส่วนใหญ่นี่เป็นเรื่องของความรู้สึกในเชิงสุนทรียศาสตร์ คือการทำให้นักเต้นออกมาดูสวยงามนั่นเอง
ใบหน้าของนักเต้น
ส่วนใหญ่แล้วการเต้นเป็นเรื่องของการสื่อความคิดและความรู้สึกไปยังผู้ชม Bernie พยายามจับอารมณ์และสีหน้าที่เหมาะสมสำหรับท่าเต้น ด้วยเหตุนี้ คุณจึงควรทราบว่าท่าเต้นเป็นอย่างไรก่อนที่คุณจะถ่ายภาพ สีหน้าที่น่าสนใจของนักเต้นในภาพถ่ายด้านบนสะท้อนถึงลักษณะนิสัยอันเปี่ยมด้วยอารมณ์ขันของท่าเต้น ซึ่งได้แรงบันดาลใจมาจากการแสดงละครตลกของจีน
ควรระวังภาพที่นักเต้นกะพริบตาหรือแววตาว่างเปล่าที่ไม่ได้จ้องไปที่จุดใดเป็นพิเศษ (เว้นแต่เป็นส่วนหนึ่งของการออกแบบท่าเต้น) ซึ่งคุณอาจต้องคัดออก
คำแนะนำจากมืออาชีพ: ตอบสนองต่อภาพที่ปรากฏ
จำไว้เสมอว่ากล้องของคุณสามารถจับภาพสิ่งต่างๆ ที่สายตามนุษย์มองไม่เห็น ขณะที่คุณกดชัตเตอร์ คุณอาจจะจับภาพที่ดูไม่สวยงามเอาเสียเลยอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ จึงควรตอบสนองและระมัดระวังอย่างยิ่งในการเลือกภาพถ่ายที่จะส่ง (หากคุณอยู่ในระหว่างออกปฏิบัติงาน) ควรขออนุญาตนักเต้นหรือบริษัทหากจำเป็น โดยเฉพาะอย่างยิ่งหากคุณจะแชร์ภาพถ่ายในโซเชียลมีเดีย เว็บไซต์ หรือในที่สาธารณะ
3. ภาพการเต้นไม่จำเป็นต้องเป็นภาพเต็มตัว
EOS 5D Mark III/ EF24-70mm f/2.8L II USM/ Manual exposure (f/2.8, 1/100 วินาที)/ ISO 400/ WB: อัตโนมัติ
“Pallavi in Time” โดย Chowk Productions (2017)/ ผู้ออกแบบท่าเต้น: Raka Maitra
ภาพโคลสอัพใบหน้าหรือรายละเอียดอื่นๆ ช่วยสร้างผลทางอารมณ์ในภาพถ่ายได้อย่างมาก
"เท้ามีความสำคัญอย่างยิ่งในท่าเต้นนี้และมีการกระทืบเท้าเยอะมาก" Bernie หวนนึกถึงภาพข้างต้น เธอต้องการเก็บรายละเอียดของกำไลที่อยู่บนข้อเท้าของนักเต้น และภาพออกมาสวยงามน่าประทับใจ เนื่องจากแสงโฟกัสไปที่เท้าด้วยเช่นกัน "ถ้าฉันถ่ายภาพแบบปกติ ลำตัวส่วนบนของนักเต้นอาจอยู่ในความมืด"
เทคนิคเพิ่มเติม: หากคุณต้องการภาพกระโดดจริงๆ ล่ะก็…
EOS 5D Mark III/ EF24-105mm f/4L IS USM/ Manual exposure (f/4, 1/250 วินาที)/ ISO 5000/ WB: อัตโนมัติ
“Schubert Symphony” โดย Singapore Dance Theatre (2016)/ ผู้ออกแบบท่าเต้น: Choo-San Goh
ภาพกระโดดต้องใช้การถ่ายภาพที่แม่นยำ "หากคุณเห็นนักเต้นกระโดดแล้ว นั่นแปลว่าคุณช้าเกินไป" ในการลั่นชัตเตอร์ได้ทันท่วงที Bernie ไม่แนะนำให้คุณใช้การถ่ายภาพต่อเนื่องมากเกินไป แต่ควรเรียนรู้จังหวะเวลาที่จะกดชัตเตอร์ โดยบางครั้งอาจลองกะช่วงเวลาตามจังหวะเพลงหรือพยายามระบุให้ได้ว่านักเต้นจะเตรียมกระโดดเมื่อใด ซึ่งอาจจะต้องใช้การลองผิดลองถูกหลายครั้ง แต่ทักษะของคุณในฐานะช่างภาพจะพัฒนาขึ้นเรื่อยๆ แน่นอน
สิ่งอื่นที่ควรทราบ
1. คุณต้องตอบสนองอย่างรวดเร็ว
ทุกอย่างบนเวทีเกิดขึ้นเร็วมาก คุณจึงต้องคาดการณ์ช่วงเวลาและตอบสนองแทบจะในทันทีเพื่อให้ได้ภาพถ่ายที่ต้องการ สิ่งเหล่านี้จะช่วยได้:
- มีกล้องที่ทำงานรวดเร็วและตอบสนองได้ดี เช่น กล้องซีรีย์ EOS 5D หรือ EOS-1D X Mark II นอกจากนี้ EOS 7D Mark II ยังเป็นตัวเลือกที่ดีหากคุณเพิ่งเริ่มต้นถ่ายภาพ แต่ท้ายที่สุดแล้วคุณอาจต้องการรายละเอียดที่เซนเซอร์ฟูลเฟรมสามารถจับได้
- รู้จักฟังก์ชั่นกล้องและการกำหนดค่าได้ง่ายดาย กำหนดปุ่มให้สามารถเข้าถึงได้อย่างรวดเร็ว
- ใช้การโฟกัสด้วยปุ่มด้านหลัง ซึ่งช่วยให้ถ่ายภาพได้มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น เนื่องจากคุณไม่ต้องโฟกัสใหม่ทุกครั้งหลังจากกดปุ่มชัตเตอร์แล้ว
- หาประสบการณ์ให้มาก การฝึกฝนบ่อยๆ ช่วยให้คุณตัดสินใจได้ทันที
- ชมการเต้นรำบ่อยๆ แม้เมื่อคุณไม่ได้ถ่ายภาพ วิธีนี้ช่วยให้คุณคุ้นเคยกับจังหวะเวลาและสุนทรียศาสตร์ นอกจากนี้ การชมและสัมผัสประสบการณ์ด้วยสายตาของคุณเองยังทำให้คุณซาบซึ้งกับการเต้นได้ง่ายยิ่งขึ้นมากกว่าการมองผ่านเลนส์
2. เคารพผู้อยู่บนเวทีและให้เกียรติผู้ชม
เราอาจติดลมกับการถ่ายภาพได้ง่าย จึงควรคำนึงถึงผู้ชมและนักเต้นบนเวทีด้วย
สิ่งที่ควรทำ…
- ถ่ายภาพเมื่อได้รับอนุญาตแล้วเท่านั้น
- ปิดไฟโฟกัสสีแดงของ AF
- ปิดแฟลช
สิ่งที่ไม่ควรทำ…
- เข้าใกล้นักเต้นมากจนเกินไป ถ้าคุณ (หรือเลนส์เทเลโฟโต้ตัวใหญ่ของคุณ) รุกล้ำเข้าไปในพื้นที่การแสดง อาจจะทำให้นักเต้นเสียสมาธิ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเนื่องจากมีโอกาสที่นักเต้นจะรับรู้ด้านมิติสัมพันธ์มากขึ้นขณะทำการแสดง
- ขัดขวางการชมของผู้ชม
3. ข้อสุดท้ายคือ เคารพนักเต้น
นักเต้นทำงานกันอย่างหนักเพื่อสร้างผลงานศิลปะที่สมบูรณ์แบบ และหากไม่มีพวกเขาคุณก็จะไม่ได้ภาพถ่าย
- พิจารณาว่านักเต้นต้องการได้รับการถ่ายทอดอย่างไร และสื่อพวกเขาออกมาอย่างสวยงามและเที่ยงตรงมากที่สุด
- ระลึกอยู่เสมอว่าคุณต้องให้เครดิตนักเต้นและผู้ออกแบบท่าเต้นในภาพของคุณ ดังเช่นที่เราทำในบทความนี้
- สร้างความเชื่อมโยงกับตัวแบบของคุณ ชมการเต้นให้บ่อยขึ้นหรือลองเรียนเต้นรำหากคุณสนใจ เมื่อคุณชื่นชอบศิลปะแขนงนี้มากขึ้น ก็จะสะท้อนออกมาในภาพที่คุณถ่าย "เมื่อฉันถ่ายภาพนักเต้น มันเหมือนกับว่าฉันกำลังเต้นรำกับพวกเขาผ่านเลนส์ของฉัน" Bernie กล่าว
แม้ว่าอายุการทำงานของนักเต้นจะสั้น แต่ภาพถ่ายขณะที่พวกเขาแสดงอยู่บนเวทีอาจเป็นการบันทึกช่วงเวลาอันมีค่าเพียงอย่างเดียวที่มี ดังนั้น จึงควรพยายามถ่ายภาพเพื่อมอบความสุขและจะทำให้ความทรงจำอันน่าประทับใจกลับมามีชีวิตชีวาอีกครั้ง
รับข่าวสารล่าสุดเกี่ยวกับการถ่ายภาพ รวมถึงเคล็ดลับและกลเม็ดต่างๆ
ร่วมเป็นส่วนหนึ่งของชุมชนชาว SNAPSHOT
ลงทะเบียนตอนนี้!เกี่ยวกับผู้เขียน
เป็นช่างภาพหลักให้กับบริษัทเต้นรำและศิลปะการแสดงรายใหญ่หลายแห่งในสิงคโปร์ อาทิ Singapore Dance Theatre และ T.H.E Dance Company ตลอดจนร่วมงานและถ่ายภาพให้กับกลุ่มศิลปะในแขนงต่างๆ นอกจากนี้ เธอยังถ่ายภาพให้กับ Esplanade - Theatres on the Bay เมื่อศิลปินและบริษัทนานาชาติมาเยือนสิงคโปร์ ผลงานของเธอได้รับการตีพิมพ์ในนิตยสารเต้นรำต่างประเทศ เช่น Dance Europe Bernie หวังว่าจะสามารถสร้างสรรค์ภาพสำหรับนักเต้นที่จะมอบความสุขและความทรงจำอันน่าประทับใจให้กับพวกเขาผ่านการถ่ายภาพการเต้นของเธอ
เว็บไซต์: www.MsBernPhotography.com
Instagram: @msbern