บันทึกภาพถ่ายชีวิตกลางแจ้งที่ยอดเยี่ยม: ภาพทริปตั้งแคมป์ของช่างภาพมืออาชีพ
ทริปตั้งแคมป์ทุกครั้งคือประสบการณ์แปลกใหม่ที่คุ้มค่าแก่การเก็บรักษาไว้ และเมื่อมีกล้องอยู่ในมือ ทุกคนก็สามารถออกไปบันทึกภาพความทรงจำอันมีค่าได้ โลกจะเป็นอย่างไรเมื่อมองผ่านสายตา (และเลนส์) ของช่างภาพมืออาชีพ ช่างภาพชาวไต้หวัน Sean Huang นำภาพถ่ายการปีนเขาที่ Junda Forest Road ซึ่งถ่ายด้วยกล้อง EOS M6 มาให้เราได้ชมกัน (เรื่องและภาพ: Sean Huang (鳳梨))
EOS M6/ EF-M15-45mm f/3.5-6.3 IS STM/ FL: 26 มม. (เทียบเท่า 42 มม.)/ Manual exposure (f/4.5, 1/4 วินาที, EV±0)/ ISO 1000/ WB: Manual
สำหรับการถ่ายภาพขณะปีนเขา ความกะทัดรัดและสามารถถอดเปลี่ยนเลนส์ได้คือสิ่งสำคัญที่สุด
ทุกสุดสัปดาห์ ผมจะรีบคว้าโอกาสในการแพ็คกระเป๋าและออกไปตั้งแคมป์นอกสถานที่กับครอบครัวเพื่อใกล้ชิดกับธรรมชาติ พลางบันทึกทุกสิ่งทุกอย่างที่มองเห็นและได้ยินรอบตัวเรา
ในทริปตั้งแคมป์ซึ่งเราไปปีนเขาที่ Junda Forest Road นั้น EOS M6 ช่วยให้การถ่ายภาพเป็นเรื่องง่ายมาก กล้องขนาดกะทัดรัดและเลนส์น้ำหนักเบานี้หนักเพียง 390 ก. ทั้งยังใช้ได้กับเลนส์ที่หลากหลาย ทำให้กล้องรุ่นนี้กลายเป็นคู่หูที่วางใจได้ในการถ่ายภาพกลางแจ้ง แม้ว่าผมจะพกเลนส์ไปถึง 5 แบบระหว่างเดินทาง แต่กลับไม่เคยรู้สึกว่าเป็นภาระแต่อย่างใด นั่นอาจเป็นเพราะคุณสมบัติที่นักปีนเขาเห็นว่าน่าสนใจที่สุดของกล้องรุ่นนี้
จอ LCD แบบสัมผัสชนิดปรับเอียงได้ไม่เพียงเอื้อต่อการเลือกจุด AF ที่ง่ายและตอบสนองได้ดี แต่ยังช่วยให้คุณถ่ายภาพได้อย่างอิสระจากทุกมุม โดยไม่ต้องเปลี่ยนตำแหน่งในการถ่ายภาพ นอกเหนือจากความสามารถในการถ่ายทอดสีสันที่สดใสของฉากแล้ว EOS M6 ยังมาพร้อมความสามารถในการใช้ Wi-Fi และ NFC ในตัว ที่ให้คุณสามารถดูภาพถ่ายบนสมาร์ทโฟน จากนั้นใช้แอพพลิเคชั่นในสมาร์ทโฟนปรับแต่งภาพถ่ายและอัปโหลดไปยังโซเชียลมีเดียโดยตรงได้ทันที โดยไม่ต้องผ่านกระบวนการปรับแต่งภาพในคอมพิวเตอร์ก่อน นี่จึงเป็นกล้องที่ใช้งานง่ายและสะดวกรวดเร็วจนคุณขาดไม่ได้เมื่อออกจากบ้าน คุณจึงสามารถพักผ่อนและเพลิดเพลินกับภาพทิวทัศน์ธรรมชาติที่อยู่ตรงหน้าได้อย่างแท้จริง
นอกจากผมจะนำภาพถ่ายสุดโปรดจากทริปเที่ยวตั้งแคมป์ครั้งนี้มาให้ชมกันแล้ว ผมยังรวบรวมเคล็ดลับเกี่ยวกับวิธีถ่ายภาพกลางแจ้งให้ดีเยี่ยมมาฝากด้วย หวังว่าคุณจะสามารถเก็บภาพทิวทัศน์ตรงหน้าและถ่ายทอดความรู้สึกที่เกิดขึ้น ณ ขณะนั้นให้ออกมาสวยงามเตะตาได้
กล้องที่ผมนำติดตัวไปด้วยในทริปตั้งแคมป์นี้คือ EOS M6:
EOS M6/ EF-M22mm f/2.0 STM/ FL: 22 มม. (เทียบเท่า 35 มม.)/ Aperture-priority AE (f/3.5, 1/640 วินาที, EV-1.3)/ ISO 1000/ WB: อัตโนมัติ
ทุกครั้งที่ออกไปปีนเขา หนึ่งในสิ่งที่ผมชอบทำคือ การหยุดและจ้องมองต้นไม้ขนาดมหึมาในบริเวณใกล้เคียง เพราะกิ่งก้านเขียวขจีของต้นไม้ทำให้รู้สึกมีชีวิตชีวา ในภาพถ่ายนี้ ผมต้องการแสดงให้เห็นถึงความรักของต้นไม้ที่มีต่อดวงอาทิตย์ ซึ่งแผ่กิ่งก้านสาขาขึ้นไปรับแสงแดดทางด้านซ้ายของภาพ ลำต้นของต้นไม้ที่ปกคลุมด้วยตะไคร่น้ำมาหลายปีเนื่องจากได้รับแสงแดดน้อยช่วยเพิ่มบรรยากาศลึกลับให้ภาพถ่าย
EOS M6/ EF-M22mm f/2.0 STM/ FL: 22 มม. (เทียบเท่า 35 มม.)/ Aperture-priority AE (f/8, 1/4 วินาที, EV-1.7)/ ISO 800/ WB: อัตโนมัติ
ผมตื่นนอนตอนตีห้าท่ามกลางต้นไม้รายล้อมที่พบได้บนที่สูงเท่านั้น และบริเวณป่าด้านหลังเต็นท์ดวงอาทิตย์ขึ้นจากขอบฟ้าแล้ว เมื่อนั้นผมก็ตระหนักว่าได้นอนค้างแรมในสถานที่ที่แสนงดงามน่าทึ่ง หากคุณต้องการจับภาพแสงแดดที่ส่องผ่านทิวทัศน์จากด้านหลัง ควรลดขนาดรูรับแสงให้แคบมากๆ เพื่อสร้าง เอฟเฟ็กต์แฉกแสง
ฉาก 1: สังเกตรายละเอียดเล็กๆ น้อยๆ ของธรรมชาติอย่างใกล้ชิด
EOS M6/ EF-M28mm f/3.5 Macro IS STM/ FL: 28 มม. (เทียบเท่า 45 มม.)/ Aperture-priority AE (f/3.5, 1/100 วินาที, EV+0.7)/ ISO 4000/ WB: อัตโนมัติ
ระหว่างอยู่บนภูเขาสูงคุณจะพบกับแมลงหลากชนิด โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อแคมป์ไฟดึงดูดแมลงเข้ามาในตอนกลางคืน ผมสังเกตเห็นแมลงตัวหนึ่งเกาะนิ่งอยู่บนเสาเต็นท์แทบจะตลอดเวลา ผมจึงหยิบกล้องออกมาและพยายามขยับเข้าใกล้เพื่อเก็บภาพแมลงและตารวมของมันแบบโคลสอัพ เดิมทีผมเข้าใจผิดว่าแมลงตัวนี้คือด้วงหนวดยาว แต่ก็นึกขึ้นได้ว่าจริงๆ แล้วนี่อาจเป็นแมลงพันธุ์หายากที่มีชื่อว่า Idgia oculata ซึ่งเป็นหนึ่งในแมลงหายากเพียงไม่กี่สายพันธุ์ที่ผมบังเอิญพบในระหว่างทริปตั้งแคมป์นี้
ข้อกังวลที่สำคัญอย่างหนึ่งในการถ่ายภาพมาโคร คือแหล่งกำเนิดแสง เนื่องจากเมื่อคุณขยับเข้าใกล้ตัวแบบ ตัวคุณอาจจะบดบังแสงบางส่วนอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ สำหรับภาพนี้ ผมใช้เลนส์มาโคร EF-M28mm f/3.5 Macro IS STM ซึ่งมี Macro Lite ในตัวที่หันหน้าไปด้านหน้า เพื่อช่วยเพิ่มแสงสว่าง เลนส์ชนิดนี้ช่วยได้อย่างมากในระหว่างการถ่ายภาพ เนื่องจากมีระบบป้องกันภาพสั่นไหวที่ป้องกันไม่ให้กล้องสั่นและโฟกัสผิดพลาด
คุณอาจสนใจอ่านบทความต่อไปนี้:
การถ่ายภาพมาโครในสภาพแสงน้อย: การป้องกันปัญหากล้องสั่นไหว
ฉาก 2: ป่าเงียบสงบที่ปกคลุมไปด้วยหมอก เห็นต้นไม้ปรากฏขึ้นรางๆ
EOS M6/ EF-M11-22mm f/4-5.6 IS STM/ FL: 11 มม. (เทียบเท่า 17 มม.)/ Aperture-priority AE (f/5.6, 1/10 วินาที, EV-1.3)/ ISO 100/ WB: Manual
ตลอดเส้นทางบนภูเขา มีต้นไม้สูงตระหง่านทั้งสองข้างถนน กระทั่งหมอกที่แผ่ปกคลุมไปทั่ว ผมชอบขับรถแล่นผ่านม่านหมอก เพราะแสงจากไฟของรถยนต์สร้างบรรยากาศที่ชวนลึกลับ
เมื่อถ่ายภาพหมอก ควรระมัดระวังในเรื่องการตั้งค่าการเปิดรับแสง (EV) เป็นพิเศษ เนื่องจากหมอกเป็นสีขาว การเปิดระดับแสงอัตโนมัติในกล้องมักไม่เพียงพอ คุณจะต้องตั้งค่าการชดเชยแสงด้วยตนเองให้มีค่าที่ใกล้เคียงกับฉาก อีกทั้งยังสามารถใช้วิธีนี้ได้หากคุณพบปัญหาที่คล้ายกันในขณะถ่ายภาพทะเลหมอก
EOS M6 ที่ผมนำติดตัวมาด้วยมีวงแหวนควบคุมที่ใช้งานง่าย ซึ่งช่วยให้ผมปรับค่ารูรับแสง ความเร็วชัตเตอร์ และค่าการชดเชยแสงได้อย่างรวดเร็ว ด้วยเหตุนี้ ผมจึงถ่ายภาพทิวทัศน์ที่น่าประทับใจได้อย่างง่ายดาย
ฉาก 3: ค้นพบสิ่งมหัศจรรย์ทางธรรมชาติอันกว้างใหญ่จากมุมมองใหม่ๆ
EOS M6/ EF-M11-22mm f/4-5.6 IS STM/ FL: 11 มม. (เทียบเท่า 17 มม.)/ Aperture-priority AE (f/5.6, 1/800 วินาที, EV-0.7)/ ISO 320/ WB: Manual
ในตอนเย็น ผมได้พบกับป่าขนาดใหญ่ระหว่างทางขึ้นภูเขา ผืนป่าอันกว้างใหญ่นี้ทอดตัวยาวหลายไมล์ดูคล้ายทางเดินไปสู่เทือกเขาที่อยู่เบื้องหน้า ขณะที่แสงแดดช่วยขับเน้นแนวป่าให้เห็นเด่นชัดขึ้น ผมรู้สึกหลงใหลกับทัศนียภาพอันน่าอัศจรรย์นี้ และตัดสินใจหยุดรถเพื่อถ่ายภาพ
ปกติแล้ว เมื่อพยายามถ่ายทอดความลึกของฉากและมุมรับภาพของตามนุษย์ ผมอาจใช้เลนส์มุมกว้างหรือแม้แต่เลนส์มุมกว้างอัลตร้าไวด์ เพราะเลนส์เหล่านี้สามารถขับเน้นความกว้างใหญ่ไพศาลของทิวทัศน์ และสร้างเอฟเฟ็กต์เปอร์สเป็คทีฟที่กว้างขึ้น ทำให้ผู้ชมรู้สึกราวกับมีอยู่จริง นอกจากนี้ จอ LCD ชนิดปรับเอียงได้ยังช่วยให้คุณถ่ายภาพจากมุมที่หลากหลายไม่ว่าจะเป็นมุมสูงหรือต่ำ เพื่อถ่ายทอดมุมมองใหม่ๆ ที่คุณได้ค้นพบได้อย่างง่ายดาย ตัวอย่างเช่น ในภาพนี้ ผมสามารถถ่ายภาพจากมุมรับภาพที่สูงโดยการเหยียดแขนขึ้นสูงๆ และใช้จอ LCD ชนิดปรับเอียงได้
ฉาก 4: ไฟที่ปะทุขึ้นอย่างช้าๆ คือแหล่งกำเนิดแสงที่อบอุ่นและผ่อนคลายที่สุดในช่วงเวลากลางคืน
EOS M6/ EF-M22mm f/2.0 STM/ FL: 22 มม. (เทียบเท่า 35 มม.)/ Manual exposure (f/2.0, 1/200 วินาที, EV±0)/ ISO 6400/ WB: Manual
เมื่อใดก็ตามที่ผมออกไปตั้งแคมป์ ผมจะสนุกกับการดูแคมป์ไฟ เพราะรู้สึกว่าไฟเป็นการบำบัดและช่วยให้อุ่นสบาย ดังเช่นในการเดินทางครั้งนี้ เพราะอากาศตอนกลางคืนบนภูเขาสูงค่อนข้างหนาวเย็น โดยเฉพาะในวันนี้ อุณหภูมิที่บริเวณตีนเขาอยู่ที่ 35 องศา แต่บนภูเขาลดลงเหลือเพียง 12 องศาเท่านั้น ผมเริ่มต้นก่อไฟเพื่อความอบอุ่นและป้องกันสัตว์ป่า โดยใช้ฟืนและหลุมไฟแบบพกพาที่นำติดตัวมาด้วย ซึ่งหลุมไฟนี้ยังช่วยลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมได้อีกด้วย
เมื่อถ่ายภาพแคมป์ไฟหรือแสงจากการตั้งแคมป์ ผมแนะนำให้ลด ความเร็วชัตเตอร์ เพื่อจับภาพการเคลื่อนไหวของเปลวไฟที่วูบไหว รวมถึงประกายไฟเป็นครั้งคราว ภาพนี้ถ่ายโดยใช้ เลนส์ EF-M22mm f/2.0 STM ซึ่งมีรูรับแสงกว้าง เมื่อใช้ร่วมกับความสามารถของระบบป้องกันการสั่นไหวในกล้อง การถ่ายภาพกลางคืนจึงทำได้อย่างง่ายดาย
รับข่าวสารล่าสุดเกี่ยวกับการถ่ายภาพ รวมถึงเคล็ดลับและกลเม็ดต่างๆ
ร่วมเป็นส่วนหนึ่งของชุมชนชาว SNAPSHOT
ลงทะเบียนตอนนี้!
เกี่ยวกับผู้เขียน
เป็นช่างภาพที่เชี่ยวชาญด้านการถ่ายภาพพอร์ตเทรตสำหรับนิตยสารแฟชั่นและงานโฆษณาโดยเฉพาะ ในยามว่าง เขาชอบทำกิจกรรมกลางแจ้ง เช่น การไต่เขาและตั้งแคมป์
Randonée เป็นนิตยสารไลฟ์สไตล์กลางแจ้ง โดยเน้นนำเสนอเสื้อผ้าที่ทันสมัย สวมใส่สบาย และใช้งานได้จริงสำหรับกิจกรรมกลางแจ้ง นอกจากนี้ นิตยสารยังนำเสนอเรื่องราวในหัวข้อต่างๆ เช่น ร้านอาหารหรู การไต่เขา การตั้งแคมป์ ไลฟ์สไตล์กลางแจ้ง และกิจกรรมกลางแจ้งมากมาย เนื่องจากชาวไต้หวันเริ่มหันมาสนใจการตั้งแคมป์มาก การปีนเขา และกิจกรรมกลางแจ้งอื่นๆ มากขึ้นเรื่อยๆ Randonée จึงเป็นนิตยสารแถวหน้าที่นำเสนอข้อมูลที่เป็นประโยชน์เกี่ยวกับวิธีสนุกไปกับกิจกรรมกลางแจ้ง นอกจากนี้ Randonée ยังร่วมมือกับบริษัทยานยนต์ แบรนด์เอาท์ดอร์ แบรนด์กีฬา และแบรนด์แฟชั่นมากมาย เพื่อแนะนำแบรนด์เหล่านี้ให้ผู้อ่านรู้จัก ตลอดจนขับเคลื่อนอุตสาหกรรมไลฟ์สไตล์กลางแจ้งและกระตุ้นความสนใจในไลฟ์สไตล์กลางแจ้งสนุกๆ อีกด้วย