กล้อง EOS-1D X Mark II ซึ่งออกสู่ตลาดในปี 2016 ได้รับการจัดอันดับเป็นกล้องรุ่นเรือธงระดับสูงสุดในบรรดากล้องดิจิตอลรุ่นต่างๆ ของ Canon ต่อไปนี้คือรายงานโดยละเอียดเกี่ยวกับวิวัฒนาการของกล้องรุ่นนี้ที่พัฒนาต่อจากรุ่นก่อนหน้า EOS-1D X ในแง่ของรูปลักษณ์และฟังก์ชั่นการทำงาน
(เรื่องโดย: Koichi Isomura)
ออกแบบมาสำหรับช่างภาพมืออาชีพที่ถ่ายภาพในสภาวะสมบุกสมบัน
กล้อง EOS-1D X Mark II ได้รับการจัดอันดับเป็นกล้องรุ่นเรือธงระดับสูงสุดในบรรดากล้องดิจิตอลรุ่นต่างๆ ที่ Canon วางจำหน่าย ออกแบบมาสำหรับช่างภาพมืออาชีพเป็นหลัก เป็นกล้องที่เชื่อถือได้อย่างสูง แข็งแรงทนทานเป็นเยี่ยม สามารถรับมือกับสภาวะการถ่ายภาพที่สมบุกสมบัน มีคุณสมบัติกันหยดน้ำและกันฝุ่น รวมทั้งชัตเตอร์ที่ทนทานการใช้งานสูงสุด 400,000 รอบ ถือได้ว่ากล้องรุ่นนี้เป็นทายาทตัวจริงของ EOS-1 ซึ่งเป็นรุ่นเรือธงของ Canon ในยุคที่ใช้กล้องฟิล์ม SLR
แม้จะใช้เซนเซอร์ CMOS ฟูลเฟรม 35 มม. เหมือนกับรุ่นก่อนหน้า แต่จำนวนพิกเซลของ EOS-1D X ถูกปรับเพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ประมาณ 20.2 ล้านพิกเซล เมื่อเทียบกับประมาณ 18.1 ล้านพิกเซลในกล้อง EOS-1D X นอกจากนี้ยังเป็นกล้อง DSLR ฟูลเฟรมตัวแรกที่มาพร้อมเซนเซอร์ Dual Pixel CMOS (อ่านเพิ่มเติมได้ใน ตอนที่ 3 ของบทสัมภาษณ์นักพัฒนากล้อง) และยังให้ความเร็วการโฟกัสอัตโนมัติสูงในระหว่างการถ่ายภาพ Live View ด้วย
ฟังก์ชั่น AF ที่ทรงประสิทธิภาพมากขึ้นและพื้นที่ AF กว้างขึ้นด้วยการใช้เซนเซอร์ใหม่
ฟังก์ชั่น AF ในกล้อง EOS-1D X Mark II ยังได้รับการปรับปรุงให้ดีขึ้นเมื่อเทียบกับ EOS-1D X จากการใช้เซนเซอร์ AF ที่พัฒนาขึ้นใหม่ รวมทั้งการปรับโครงสร้างการออกแบบออพติคอลและอัลกอริทึม ซึ่งส่งผลให้สมรรถนะการทำงานพื้นฐานของกล้องดีขึ้นอย่างมาก
จำนวนจุด AF ยังอยู่ที่ 61 จุดเท่าเดิม แต่พื้นที่ AF ขยายเพิ่มขึ้นทั้งด้านบนและด้านล่าง พื้นที่ AF ในช่องมองภาพขยายกว้างขึ้นราว 24% สำหรับจุด AF บริเวณขอบภาพ และราว 8% สำหรับจุด AF ที่กึ่งกลาง เมื่อเทียบกับ EOS-1D X ผู้ใช้จึงสามารถเพลิดเพลินกับความยืดหยุ่นในการจัดองค์ประกอบภาพถ่ายได้มากขึ้น
พัฒนาการของฟังก์ชั่น AF ยังเห็นได้จากรูรับแสงกว้างสุดของเลนส์ที่สามารถใช้การโฟกัสอัตโนมัติได้ สำหรับกล้อง EOS-1D X เฉพาะจุด AF ที่กึ่งกลางเท่านั้นที่รองรับการโฟกัสอัตโนมัติสำหรับเลนส์ที่มีรูรับแสงกว้างสุดที่ f/8 (เฟิร์มแวร์เวอร์ชั่น 1.1.1 หรือใหม่กว่า) ในขณะที่จุด AF ทั้งหมดในกล้อง EOS-1D X Mark II รองรับการโฟกัสอัตโนมัติสำหรับเลนส์ที่มีรูรับแสงกว้างสุดที่ f/8 ซึ่งจะมีประโยชน์ในกรณีอย่างเช่น เมื่อใช้เลนส์ที่มีรูรับแสงกว้างสุดที่ f/4 ร่วมกับตัวขยายช่องมองภาพ 2 เท่า เพื่อเพิ่มรูรับแสงกว้างสุดที่ใช้งานได้เป็น f/8 นอกจากนี้ จุด AF 21 จุดที่กึ่งกลางยังช่วยให้โฟกัสแบบ Cross-type ที่ f/8 ได้ โดยในขณะนี้จุด AF ที่กึ่งกลางรองรับการโฟกัสอัตโนมัติสำหรับสภาพแสงน้อยถึง EV-3 (สูงสุด EV-2 ในกล้อง EOS-1D X)
นอกจากตัวเลือกของโหมดเลือกพื้นที่ AF ซึ่งมีให้ใช้งานแล้ว ซึ่งได้แก่ เลือกด้วยตนเอง: AF แบบจุดเล็ก, เลือกด้วยตนเอง: AF 1 จุด, ขยายพื้นที่ AF (ซ้าย, ขวา, บน, ล่าง), ขยายพื้นที่ AF: ล้อมรอบ, เลือกด้วยตนเอง: โซน AF และการเลือก AF อัตโนมัติแล้ว กล้องยังมีตัวเลือก เลือกด้วยตนเอง : Large Zone AF ที่แบ่งจุด AF ออกเป็นสามโซน (ซ้าย, กลาง และขวา)
สำหรับเรื่องราวเจาะลึกเกี่ยวกับฟังก์ชั่น AF ที่ปรับปรุงใหม่ของ EOS-1D X Mark II โปรดอ่าน บทสัมภาษณ์นักพัฒนากล้อง (ตอนที่ 2)
ตัวอย่างการใช้การถ่ายภาพต่อเนื่องความเร็วสูงและ AI Servo AF
ภาพตัวอย่างด้านล่างเป็นภาพนักแข่งจักรยานที่กำลังปั่นอย่างเต็มสปีดขึ้นเนินถนนในการแข่งจักรยานถนน นักแข่งคนนี้อาจจะกำลังปั่นที่ความเร็วถึง 60 กม./ชม. ในภาพนี้ ผมเก็บภาพตัวแบบด้วย AI Servo AF และใช้ความเร็วในการถ่ายภาพต่อเนื่องที่ 14 fps กล้องสามารถจับภาพได้ 16 ช็อตในเวลาเกินหนึ่งวินาทีเพียงเล็กน้อยเท่านั้น และยังสามารถติดตามวัตถุและรักษาโฟกัสไว้ในระหว่างการถ่ายภาพได้ พื้นที่ AF ที่ผมเลือกคือ Large Zone AF (กึ่งกลาง)
สำหรับข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับประสิทธิภาพของ EOS-1D X Mark II ในการใช้งานภาคสนาม โปรดอ่าน:
รีวิวการใช้งาน (ตอนที่ 1): ความแม่นยำในการโฟกัสและสมรรถนะในการติดตามตัวแบบของ AF อันน่าทึ่ง
รีวิวการใช้งาน (ตอนที่ 2): Dual Pixel CMOS AF - โฟกัสยอดเยี่ยมแม้ในฉากที่มืด
นอกจากความยืดหยุ่นที่มากขึ้นในการเลือกพื้นที่ AF ดังตัวอย่างที่แสดงด้านบนแล้ว กล้อง EOS-1D X Mark II ยังมาพร้อมกลไกต่างๆ สำหรับการโฟกัสได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้นด้วยการระบุและแยกความแตกต่างของตัวแบบ ซึ่งหนึ่งในนั้นก็คือ EOS iTR AF ที่ให้ความสำคัญกับการจดจำสีของตัวแบบและใบหน้าของตัวแบบในภาพพอร์ตเทรต
EOS iTR AF จดจำสีและรูปร่างของตัวแบบหรือใบหน้าในภาพพอร์ตเทรตที่ตรวจพบโดยระบบ EOS iSA และรักษาโฟกัสที่ตัวแบบนี้โดยย้ายจุด AF ไปตามการเคลื่อนไหวของตัวแบบ
กล้อง EOS-1D X ใช้เซนเซอร์การวัดแสง RGB 100,000 พิกเซล สำหรับการจดจำดังกล่าว แต่ได้อัพเกรดเป็นเซนเซอร์การวัดแสง RGB+IR โดยมีความละเอียดที่ประมาณ 360,000 พิกเซลในกล้อง EOS-1D X Mark II เซนเซอร์การวัดแสงใหม่นี้สามารถตรวจจับใบหน้าที่มีขนาดเล็กกว่าแต่ก่อน และมีประโยชน์อย่างยิ่งเมื่อใช้ร่วมกับ เลือก AF อัตโนมัติ, Large Zone AF หรือโซน AF กรณีที่ไม่สามารถจดจำใบหน้าได้ กล้องจะหาโฟกัสโดยตรวจจับสีและรูปร่างของตัวแบบ
นอกจากเซนเซอร์การวัดแสงแล้ว AI Servo สำหรับขับเคลื่อน AF ตามการเคลื่อนไหวของตัวแบบยังได้รับการอัพเกรดจาก AI Servo AF III เป็น AI Servo AF III+ อัลกอริทึมการขับเคลื่อน AF ของ AI Servo AF III+ ยังได้รับการปรับปรุงแก้ไขเพื่อให้สามารถคงการติดตามได้อย่างต่อเนื่องเมื่อตัวแบบขยับเข้าหากล้องอย่างฉับพลันหรือขยับออกห่างจากกล้องอย่างรวดเร็ว
ยิ่งไปกว่านั้น เมื่อติดเลนส์ Canon ที่มาพร้อมระบบป้องกันภาพสั่นไหว (IS) เซนเซอร์จับความเร่งสำหรับเซนเซอร์ไจโรที่ตรวจจับการสั่นสะเทือนของระบบ IS จะย้ายจุด AF โดยกำหนดว่าการเคลื่อนไหวของกล้องเกิดจากช่างภาพติดตามวัตถุหรือเกิดจากอย่างอื่น นี่คือตัวอย่างอันยอดเยี่ยมที่แสดงให้เห็นว่าข้อเสนอแนะของช่างภาพมืออาชีพที่อ้างอิงจากประสบการณ์ในสถานที่จริงได้ถูกนำมาพิจารณาในขณะที่ทำการออกแบบ
คุณสมบัติอื่นๆ ได้แก่ ตัวเลือกสมดุลแสงขาวอัตโนมัติ (เน้นบรรยากาศ) ที่ใช้ประโยชน์จากโทนสีอุ่นของแหล่งกำเนิดแสง เช่น หลอดไฟ รวมถึงคุณสมบัติการถ่ายภาพแบบ Anti-flicker ที่ลดความไม่สม่ำเสมอของแสงหรือสีด้วยการตรวจจับแสงที่สั่นไหวในแสงฟลูออเรสเซนต์เมื่อถ่ายภาพภายใต้แหล่งกำเนิดแสง อย่างเช่น หลอดฟลูออเรสเซนต์
จุด AF ที่วางซ้อนในภาพจะสว่างเป็นสีแดงเมื่อกำหนดโฟกัสได้แล้ว เพื่อให้มองเห็นโฟกัสได้ง่ายในสถานที่ที่มีแสงน้อย
ช่องมองภาพมีความครอบคลุมประมาณ 100% และมีกำลังขยายประมาณ 0.76 เท่า นอกจากข้อมูลที่ขอบช่องมองภาพรวมทั้งในหน้าจอ LCD ที่ด้านล่าง เช่น ประเภทไฟล์ภาพ โหมดการถ่ายภาพและค่าการเปิดรับแสงแล้ว คุณยังสามารถแสดงเส้นตาราง การตั้งค่า กรอบ AF และจุด AF ที่เลือกในหน้าจอ LCD ในตัวได้ เมื่อกำหนดโฟกัสได้แล้ว จุด AF จะวางซ้อนบนภาพและสว่างขึ้่นเป็นสีแดง คุณสมบัตินี้เคยมีอยู่ในกล้องรุ่นก่อนๆ จนถึงรุ่น EOS-1D Mark IV แต่ถูกตัดออกไปในกล้องรุ่น EOS-1D X การมีคุณสมบัตินี้ทำให้ง่ายต่อการระบุว่ากำหนดโฟกัสได้หรือไม่เมื่อถ่ายภาพในสถานที่ซึ่งมีแสงน้อย ซึ่งผมดีใจมากที่มีการนำคุณสมบัตินี้กลับมาใช้ใหม่ในกล้อง EOS-1D X Mark II ตัวอย่างด้านบนมีขอบมืดปรากฏอยู่ในภาพช่องมองภาพ แต่ทั้งนี้เนื่องจากผมถ่ายภาพนี้ด้วยกล้องตัวอื่นเพื่อใช้เป็นภาพประกอบ
คุณสามารถเปลี่ยนการตั้งค่าสำหรับโหมดการถ่ายภาพ โหมดวัดแสง สมดุลแสงขาว โหมดขับเคลื่อน การโฟกัสอัตโนมัติ และการตรวจจับแสงที่สั่นไหวได้จากหน้าจอของช่องมองภาพ
จอ LCD ที่นำมาใช้เป็นจอ Clear View LCD II 3.2 นิ้ว มุมกว้างขนาดใหญ่ความละเอียดสูงประมาณ 1.62 ล้านจุด นอกจากนี้ยังเป็นกล้อง EOS-1D รุ่นแรกที่มาพร้อมหน้าจอ LCD ด้านหลังที่เป็นแบบสัมผัส อย่างไรก็ตาม ฟังก์ชั่นหน้าจอสัมผัสสามารถใช้เพื่อย้ายจุด AF และขยายหน้าจอระหว่างการถ่ายภาพ Live View หรือเพื่อย้ายจุด AF ไปยังตำแหน่งอื่นภายในพื้นที่ AF ขณะอยู่ในโหมด AF [FlexiZone – จุดเดียว] เท่านั้น ไม่สามารถใช้เป็นชัตเตอร์แบบสัมผัสได้
กล้อง EOS DSLR ที่มีความเร็วในการถ่ายภาพต่อเนื่องสูงสุด
ในขณะที่กล้อง EOS-1D X มีความเร็วในการถ่ายภาพต่อเนื่องสูงสุดที่ 12 fps กล้อง EOS-1D X Mark II ก็ได้สร้างปรากฏการณ์ครั้งใหม่ขึ้นอีกครั้งโดยเพิ่มความเร็วสูงสุดเป็น 14 fps เมื่อเปิดใช้งานการติดตาม AF และ AE (ความเร็วในการถ่ายภาพต่อเนื่องสูงสุดระหว่างการถ่ายภาพ Live View คือ 16 fps โดยกำหนด AF และ AE ไว้ที่เฟรมแรก) ปรากฏการณ์ครั้งใหม่นี้เกิดขึ้นได้ด้วยการใช้เทคโนโลยีกล้องที่ล้ำสมัยมากมาย ซึ่งได้แก่วิธีการขับเคลื่อนกระจกแรงกระแทกต่ำที่พัฒนาขึ้นใหม่ การอ่านค่าสัญญาณความเร็วสูงจากเซนเซอร์ CMOS และการใช้ระบบประมวลผลภาพ DIGIC 6+ สองชุด
สามารถตั้งความเร็วในการถ่ายภาพต่อเนื่องได้อย่างอิสระเป็นอัตราเฟรมเท่าใดก็ได้ตั้งแต่ 2 ถึง 14 fps ระหว่างการถ่ายภาพด้วยช่องมองภาพ และ 16 fps หรือระหว่าง 2 ถึง 14 fps ในระหว่างการถ่ายภาพ Live View
วิดีโอ: แสดงกระบวนการถ่ายภาพต่อเนื่อง
เสียงชัตเตอร์ยังเบากว่ารุ่น EOS-1D X ค่อนข้างมากในระหว่างการถ่ายภาพเคลื่อนไหว แม้จะถ่ายภาพด้วยความเร็วสูง แต่การสั่นสะเทือนที่รู้สึกได้ผ่านมือที่ถือกล้องอยู่นั้นมีน้อยมาก ความเร็วในการเขียนไปยังการ์ด CFast 2.0 ระหว่างการบันทึกเป็นภาพ RAW+JPEG ที่ทำพร้อมกันได้ก็เร็วอย่างน่าทึ่ง หากคุณเขียนเป็นรูปแบบ JPEG Large เพียงอย่างเดียว คุณสามารถลั่นชัตเตอร์ต่อไปได้โดยไม่มีการหยุดชะงักจนกว่าเนื้อที่ของการ์ดหน่วยความจำจะเต็ม
(เพื่อทดสอบประสิทธิภาพการถ่ายภาพต่อเนื่อง ผมได้ตั้งกล้องไปที่โหมดแมนนวล, MF, รูรับแสงกว้างสุด, ISO 100 และความเร็วชัตเตอร์ที่ 1/2,500 วินาที)
เปลี่ยนรูปทรงของกริปและปลายด้านบน
ขนาดภายนอกและน้ำหนักของกล้อง EOS-1D X Mark II อยู่ที่ประมาณ 158.0 × 167.6 × 82.6 มม. และ 1,530 กรัมตามลำดับ ซึ่งเกือบเท่าๆ กันกับขนาดและน้ำหนักของกล้อง EOS-1D X ซึ่งอยู่ที่ประมาณ 158.0 × 163.6 × 82.7 มม และ 1,530 กรัม (ตามมาตรฐาน CIPA ซึ่งรวมแบตเตอรี่และสื่อบันทึกข้อมูลแล้ว) เมื่อถืออยู่ในมือ กล้องทั้งสองรุ่นให้ความรู้สึกแทบไม่ต่างกันทั้งในเรื่องของน้ำหนักและขนาด แต่กริบของกล้องรุ่นใหม่ถูกปรับให้เพรียวบางขึ้นเล็กน้อย เพื่อให้ผู้ใช้ที่มือเล็กจับถือกล้องได้มั่นคงยิ่งขึ้น
แม้ว่ากริปอาจดูใหญ่สำหรับผู้ใช้ที่มือเล็ก เช่น ผู้หญิง แต่ก็สามารถจับถือได้อย่างมั่นคง และเหมาะสำหรับการถ่วงน้ำหนักเลนส์ที่หนักกว่า สำหรับผมแล้วนั้น ผมไม่รู้สึกเมื่อยเมื่อต้องถือกล้องถ่ายภาพเป็นเวลานานๆ
การเปลี่ยนแปลงรูปลักษณ์ที่เด่นชัดที่สุดน่าจะเป็นสี่เหลี่ยมด้านบนกล้องที่ยื่นออกมา ซึ่งมีไว้สำหรับเก็บสายอากาศ GPS ในตัวกล้อง ในขณะที่กล้อง EOS-1D X ต้องมีเครื่องรับสัญญาณ GPS ภายนอก แต่สำหรับกล้อง EOS-1D X Mark II นั้นไม่จำเป็นอีกต่อไปเพราะมีสายอากาศ GPS ในตัวอยู่แล้ว
สายอากาศ GPS ในตัว
สายอากาศ GPS ในตัวกล้องใช้งานได้กับดาวเทียมสามระบบคือ ดาวเทียม GPS (USA) ดาวเทียม GLONASS (รัสเซีย) และ Quasi-Zenith Satellite System (QZSS) MICHIBIKI ของญี่ปุ่น กล้องสามารถรับข้อมูลการระบุตำแหน่งที่มีความแม่นยำสูงได้จากการจับสัญญาณมากมายจากดาวเทียมเหล่านี้ ซึ่งจากนั้นจะเขียนลงในภาพที่ถ่ายในรูปแบบ Exif (คุณสามารถเลือกที่จะปิดใช้งานการตั้งค่าให้กล้องรับข้อมูลการระบุตำแหน่งได้เช่นกัน)
ฟังก์ชั่นการบันทึกข้อมูล GPS มีสองโหมดคือ ในโหมด 1 กล้องจะรับสัญญาณ GPS เป็นช่วงๆ แม้เมื่อปิดสวิตช์กล้อง และข้อมูลจะถูกจัดเก็บไว้เมื่อเปิดสวิตช์กล้อง ในโหมด 2 ฟังก์ชั่นการบันทึกข้อมูล GPS จะปิดด้วยเมื่อปิดสวิตช์กล้อง เมื่อเปิดใช้งานฟังก์ชั่นจดบันทึกค่า GPS กล้องจะรับข้อมูลการระบุตำแหน่งเป็นช่วงๆ อย่างสม่ำเสมอ เพื่อให้คุณแสดงเส้นทางที่กล้องได้เดินทางไปบนแผนที่โดยใช้ซอฟต์แวร์ Map Utility
ตอนนี้สวิตช์การถ่ายภาพ Live View/การบันทึกภาพเคลื่อนไหว มีก้านสำหรับสลับระหว่างภาพนิ่งและภาพเคลื่อนไหวแล้ว
กล้อง EOS-1D X Mark II มาพร้อมปุ่มต่างๆ เช่น วงแหวนควบคุมหลัก วงแหวน Quick Control และปุ่มชัตเตอร์ เหมือนกับกล้อง EOS-1D X ซึ่งทำให้สามารถเข้าใช้งานคุณสมบัติต่างๆ ได้โดยตรง ดังนั้นผู้ใช้จะไม่รู้สึกว่าการใช้งานกล้องซับซ้อนเมื่อเปลี่ยนจากรุ่นก่อนหน้ามาเป็นรุ่นนี้ นอกจากนั้น ขณะนี้สวิตช์การถ่ายภาพ Live View/การบันทึกภาพเคลื่อนไหว ยังออกแบบให้เป็นก้านสำหรับสลับระหว่างภาพนิ่งและภาพเคลื่อนไหว ซึ่งเหมือนกับรุ่นอื่นๆ เช่น EOS 5D Mark III ในขณะเดียวกันรูปทรงของจอยสติ๊กยังเปลี่ยนจากแบบที่มีปลายแหลมเป็นมีพื้นผิวราบเรียบที่ช่วยให้สัมผัสกับปุ่มนูนบนนิ้วมือได้ใกล้ชิดขึ้น
วงแหวนและปุ่มควบคุมอยู่ด้านเดียวกันกับกริปแนวตั้ง รูปทรงของกริปสำหรับวางมือได้รับการปรับเปลี่ยนใหม่ และปุ่ม M-Fn ถูกย้ายมาอยู่หน้าวงแหวนควบคุมหลักแล้วในตอนนี้ นอกจากนั้น สวิตช์เปิด/ปิดกริปแนวตั้งยังถูกย้ายลงมาด้านล่างโดยมีช่องต่อรีโมทคอนโทรล (รองรับรีโมทคอนโทรลประเภท N3) อยู่ด้านบน
แม้ว่าปุ่มเริ่ม AF บนกริปแนวตั้ง ปุ่มล็อค AE บนกริปแนวตั้ง และปุ่มเลือกจุด AF บนกริปแนวตั้งจะจัดเรียงไว้ตามลำดับเดียวกับเมื่อก่อน แต่ตอนนี้ปุ่มเริ่ม AF บนกริปแนวตั้งถูกวางไว้ห่างจากอีกสองปุ่มเล็กน้อย การจัดวางปุ่มลักษณะนี้มีความคล้ายคลึงอย่างมากกับระยะห่างระหว่างปุ่มสามปุ่มที่สอดคล้องกันในแนวนอน ผู้ใช้จึงสามารถใช้งานกล้องได้ในลักษณะที่คล้ายกัน ไม่ว่าจะถือกล้องในแนวนอนหรือแนวตั้ง
จอ LCD ด้านหลังรวมถึงปุ่มใต้จอ LCD ด้านหลังยังคงเดิมเป็นส่วนใหญ่ ยกเว้นปุ่มเลือกการ์ด/ขนาดภาพที่ปรับเลื่อนขึ้นเล็กน้อย
ปุ่มปรับแก้สายตาและก้านชัตเตอร์เลนส์ใกล้ตาจะปรากฏให้เห็นเมื่อถอดยางรองตาออก ในบรรดากล้องรุ่นต่างๆ ของ Canon กล้องรุ่น EOS-1D คือกล้องระดับเดียวที่มาพร้อมชัตเตอร์เลนส์ใกล้ตาสำหรับปิดแสงภายนอกที่เข้ามาจากช่องมองภาพ
กล้อง EOS-1D X Mark II มาพร้อมช่องใส่การ์ดสองช่อง ช่องแรกสำหรับใส่การ์ด CF ซึ่งสนับสนุนโหมด UDMA 7 ส่วนอีกช่องสำหรับใส่การ์ด CFast 2.0 ซึ่งรองรับการเขียนด้วยความเร็วสูง ช่องใส่การ์ดแต่ละช่องสามารถกำหนดค่าเป็น [มาตรฐาน], [เปลี่ยนการ์ดอัตโนมัติ], [บันทึกแยกจากกัน] หรือ [บันทึกไว้บนหลายสื่อ] เมื่อเขียนข้อมูลภาพ ช่องใส่การ์ด CFast 2.0 และการ์ด CF ไม่สามารถสลับช่องใส่กันได้ ดังนั้นจึงสามารถใส่การ์ด CF และการ์ด CFast 2.0 ได้ครั้งละหนึ่งอันเท่านั้น
อินเทอร์เฟซที่แตกต่างบนกล้อง – ช่องต่ออีเทอร์เน็ต RJ-45 (IEEE 802.3u) ช่องต่อ HDMI mini OUT และช่องต่อดิจิตอลที่ใช้ได้กับ USB 3.0 (SuperSpeed USB Micro B)
ช่องต่อขยายระบบ (อุปกรณ์ส่งไฟล์ภาพไร้สายสำหรับ WFT-E8B/WFT-E6B) ช่องต่อหูฟัง Φ3.5 มม. ช่องต่อ IN สำหรับไมโครโฟนเสริม Φ3.5 มม./ไลน์อินพุต และช่องต่อ PC
กล้องมาพร้อมแบตเตอรี่ LP-E19 และยังสามารถใช้ร่วมกับแบตเตอรี่ LP-E4N/LP-E4 ที่ใช้ในรุ่นอื่นๆ เช่น EOS-1D X ได้ด้วย
แท่นชาร์จแบตเตอรี่ LC-E19 รองรับการชาร์จแบตเตอรี่พร้อมกันสองก้อน โดยมีไฟแสดงสถานะการชาร์จรวมทั้งระยะเวลาที่ใช้ได้โดยประมาณ นอกจากนี้ แท่นชาร์จยังมีคุณสมบัติการปรับเทียบสำหรับปล่อยประจุไฟที่เหลืออยู่ รวมถึงคุณสมบัติที่ตรวจสอบการเสื่อมสภาพของแบตเตอรี่ อีกทั้งยังสามารถใช้สำหรับการชาร์จแบตเตอรี่ LP-E4N/LP-E4 ได้ด้วย
ภาพถ่ายด้วยความเอื้อเฟื้อจากการแข่งขัน JCBF Gunma CSC Road Race ครั้งที่ 8
EOS-1D X Mark II
เกิดเมื่อปี 1967 ที่จังหวัดฟุกุโอะกะ Koichi จบการศึกษาจากโรงเรียนอาชีวศึกษาด้านการถ่ายภาพในกรุงโตเกียว หลังจากทำงานในวงการผลิตโฆษณา จึงผันตัวมาเป็นช่างภาพอิสระ เขาถ่ายภาพตัวแบบหลากหลายประเภทตั้งแต่พอร์ตเทรตไปจนถึงผลิตภัณฑ์ สถาปัตยกรรม โรงละคร และอื่นๆ อีก ในระยะเวลาไม่กี่ปีมานี้ เขาได้จัดนิทรรศการหลายแห่ง โดยมุ่งเน้นภาพถ่ายเกี่ยวกับธรรมชาติและกิจกรรมของมนุษย์
ส่งข่าวสารรายวันเกี่ยวกับเรื่องราวของกล้องดิจิตอลและอุปกรณ์เสริมต่างๆ รวมถึงซอฟต์แวร์ตกแต่งภาพ นอกจากนี้ยังเผยแพร่บทความต่างๆ เช่น รีวิวการใช้กล้องดิจิตอลจริงพร้อมตัวอย่างภาพถ่ายจากกล้องรุ่นใหม่ๆ