#สวัสดีจากฮ่องกง: ทิวทัศน์ตระการตาจากยอดเขาที่สูงที่สุดของฮ่องกง
ฮ่องกงได้ชื่อว่าเป็นเมืองที่แสนจะคึกคักและไม่เคยหลับใหล แต่ครั้งต่อไปที่คุณจะไป ลองหยุดพักจากชีวิตวุ่นๆ ในเมืองแล้วไปเดินขึ้นยอดเขาไต๋โหมวซานดีไหม ยอดเขาแห่งนี้ตั้งอยู่ในเขตนิวเทอริทอรี่ส์ ซึ่งสามารถมองเห็นได้จากแทบทุกแห่งในฮ่องกงในวันที่ท้องฟ้าปลอดโปร่ง และยังเห็นวิวสวยตระการตาได้แบบ 360 องศาอีกด้วย Carlo Yuen (อินสตาแกรม:@_852.carlo) ช่างภาพอิสระที่ประจำอยู่ในฮ่องกงผู้ชื่นชอบมวลเมฆจะมาแบ่งปันเรื่องราวเพิ่มเติม และเล่าให้เราฟังถึงวิธีการถ่ายภาพบางส่วนของเขา (ภาพและเรื่องโดย Carlo Yuen)
ไต๋โหมวซาน: สถานที่ที่ห้ามพลาดสำหรับคนรักทะเลหมอก
ไต๋โหมวซาน (“ภูเขาหมวกใบใหญ่”) เป็นยอดเขาที่สูงที่สุดในฮ่องกง ตั้งอยู่ที่ความสูง 957 เมตรเหนือระดับน้ำทะเล ด้วยที่ตั้งใจกลางเขตนิวเทอริทอรี่ส์ จากภูเขาลูกนี้จึงเห็นทัศนียภาพแบบพาโนรามา 360 องศาของพื้นที่หลายๆ ส่วนในฮ่องกง เช่น เกาลูน เกาะฮ่องกง นิวเทอริทอรี่ส์ และแม้แต่เกาะลันเตา อีกทั้งยังสามารถเดินทางไปได้ค่อนข้างสะดวก จากทางเข้าอุทยานไต๋โหมวซานคันทรีพาร์ค จะมีถนนให้เดินขึ้นไปถึงยอดเขาได้
ครั้งแรกที่ผมได้เห็นทะเลหมอกที่นี่ ผมรู้สึกตื่นเต้นจนพูดไม่ออก ไม่น่าเชื่อว่าจะมีวิวที่งดงามขนาดนี้อยู่ในฮ่องกง ทุกปีนับตั้งแต่นั้นมา ผมก็ขึ้นไปที่ไต๋โหมวซานประมาณสิบถึงยี่สิบครั้งต่อปี การได้ยืนมองยอดเมฆจากบนยอดเขาทำให้ผมมีความสุขมาก ผมรู้สึกเหมือนอยู่บนจุดสูงสุดของโลก! เมื่อทะเลหมอกปรากฏขึ้น จะเห็นได้ทั่วพื้นที่ต่างๆ ของฮ่องกง ดังนั้น จึงมีวิวทิวทัศน์ที่แตกต่างกันไปเสมอในทุกครั้งที่ถ่ายภาพ ความคาดหวังถึงฉากน่าอัศจรรย์ที่รอคอยอยู่คือสิ่งที่ทำให้ผมต้องกลับไปครั้งแล้วครั้งเล่า ไม่ว่ามันจะยากเย็นแค่ไหนก็ตาม
ฉากที่ 1: แสงอาทิตย์เหนือฮ่องกงยามรุ่งสาง
EOS R6, RF70-200mm f/2.8L IS USM ที่ 70มม., f/8, 1/640 วินาที, ISO 200
รังสีครีพัสคิวลาร์ (Crepuscular rays) หมายถึงลำแสงอาทิตย์ที่ส่องสว่างเมื่อพระอาทิตย์อยู่ต่ำกว่าขอบฟ้า มันดูสมจริงมากๆ เมื่อกระทบกับหมอก! นี่คือภาพที่เห็นได้เมื่อคุณแทบจะยืนอยู่ท่ามกลางลำแสงเหล่านั้น ไม่บ่อยนักที่จะได้เห็นลำแสงเหล่านี้ส่องผ่านภูเขา ผมจึงรู้เลยว่าจะต้องถ่ายภาพให้ได้
ข้อควรพิจารณาที่ 1: ประเภทเลนส์ที่ควรใช้
สำหรับภาพด้านบน ผมตัดสินใจใช้เลนส์ RF70-200mm f/2.8L IS USM เพื่อให้ได้ภาพที่ดูแน่นขึ้น นอกจากนี้ยังเป็นเลนส์ที่ผมใช้สำหรับถ่ายภาพโคลสอัพของภูเขา โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อรายล้อมไปด้วยเมฆหมอก เลนส์อีกตัวที่ผมมักพกไปด้วยเวลาไปไต๋โหมวซานเพื่อถ่ายภาพพระอาทิตย์ขึ้นก็คือเลนส์ซูมมาตรฐาน RF24-70mm f/2.8L IS USM ซึ่งผมใช้สำหรับถ่ายภาพมุมกว้างๆ
ข้อควรพิจารณาที่ 2: ความพิเศษของทิวทัศน์
นอกจากรังสีครีพัสคิวลาร์ที่ส่องแสงผ่านหมอกแล้ว ผมยังสังเกตเห็นตึกระฟ้าที่สูงที่สุดของฮ่องกง นั่นก็คืออาคารอินเตอร์เนชันแนลคอมเมิร์ซเซ็นเตอร์ (ฉบับภาษาอังกฤษ) ซึ่งตั้งโดดเด่นจากทิวทัศน์เมืองที่อยู่ด้านล่างภูเขา และความใกล้ชิดระหว่างเมืองกับชนบทแถบภูเขาทำให้ผมรู้สึกประทับใจ ผมจึงแสดงให้เห็นทั้งสองด้านนี้ของฮ่องกง โดยตั้งใจรวมองค์ประกอบทั้งสามไว้ในเฟรม ได้แก่ รังสีครีพัสคิวลาร์ ทิวทัศน์เมือง และภูเขา
ข้อควรพิจารณาที่ 3: สัดส่วนของท้องฟ้าในเฟรมภาพ
ในตอนนั้นมีเมฆบนท้องฟ้าน้อยมาก ผมจึงตัดสินใจแสดงให้เห็นท้องฟ้าน้อยลง และให้ภูเขาและทิวทัศน์เมืองอยู่ในภาพมากขึ้น ภาพนี้ถ่ายด้วยการเปิดรับแสงครั้งเดียว โดยไม่ใช้ HDR merging
เคล็ดลับ: ใช้ฮิสโตแกรมเพื่อช่วยให้คุณได้ระดับแสงที่ดีที่สุด
หัวใจสำคัญของการเก็บรายละเอียดในแสงอยู่ที่การเปิดรับระดับแสงที่เหมาะสมในกล้อง ให้บันทึกเป็น RAW เสมอเพราะจะช่วยรักษารายละเอียดได้มากที่สุด เมื่อคุณจะตัดสินใจเลือกค่าระดับแสง ให้ตรวจสอบฮิสโตแกรมเพื่อไม่ให้สูญเสียรายละเอียดในส่วนที่สว่างหรือมืด หากกล้องของคุณมีฮิสโตแกรม การเปิดฟังก์ชันเตือนบริเวณสว่างโพลนก็ช่วยได้เช่นกัน
ประโยชน์ที่ดีที่สุดข้อหนึ่งของกล้องมิเรอร์เลสอย่าง EOS R5 และ EOS R6 คือ ช่วยให้คุณแสดงระดับความเอียงอิเล็กทรอนิกส์และฮิสโตแกรมได้แม้ในหน้าจอ EVF เพื่อให้คุณสามารถตรวจสอบขณะถ่ายภาพ ในกล้อง DSLR คุณจะเห็นได้เฉพาะเมื่อถ่ายภาพด้วยหน้าจอ LCD ด้านหลังเท่านั้น
อ่านเพิ่มเติมได้ที่:
3 คุณสมบัติของกล้องสำหรับการจัดการรายละเอียดของภาพบริเวณสว่างและโทนน้ำหนักกลาง
ทำความเข้าใจช่วงไดนามิกเรนจ์: วิธีหลีกเลี่ยงแสงสว่างโพลนที่ไม่จำเป็น
ปรับแต่งข้อมูลจอแสดงผลของคุณ
ผมสับเปลี่ยนไปมาระหว่างจอแสดงผลการถ่ายภาพสามแบบเพื่อให้มองเห็นฉากได้ดีโดยที่ไม่มีข้อมูลการถ่ายภาพมาบดบังรายละเอียด
(หมายเหตุ: ภาพหน้าจอด้านล่างใช้เพื่อประกอบการอธิบายเท่านั้นและอาจแตกต่างกันไปตามรุ่นของกล้อง)
จอแสดงผลที่ 1: ไม่มีข้อมูล
นี่เป็นหนึ่งในจอแสดงผลที่คุณไม่สามารถแก้ไขได้
จอแสดงผลที่ 2: ฮิสโตแกรมและระดับความเอียงอิเล็กทรอนิกส์
สำหรับกล้อง EOS R คุณสามารถเลือกขนาดฮิสโตแกรมได้ 2 ขนาด คือ ‘เล็ก’ และ ‘ใหญ่’ ภาพด้านบนแสดงฮิสโตแกรมขนาด ‘ใหญ่’
จอแสดงผลที่ 3: ข้อมูลการถ่ายภาพ ฮิสโตแกรม และระดับความเอียงอิเล็กทรอนิกส์
จอแสดงผลนี้แสดงข้อมูลการถ่ายภาพโดยละเอียด หรือคุณสามารถเลือกให้แสดงเฉพาะข้อมูลการเปิดรับแสงพื้นฐานก็ได้
ฉากที่ 2: ทะเลหมอกชวนฝัน ภาพโปรดส่วนตัวของผม
EOS R + EF70-200mm f/4L II USM ที่ FL: 113มม., f/8, 15 วินาที, ISO 800
คุณสามารถระบุพื้นที่สามแห่งของฮ่องกงและสถานที่ท่องเที่ยวสำคัญหนึ่งแห่งในภาพนี้ได้หรือไม่ คลิกด้านล่างเพื่อดูคำตอบ!
สำหรับผม ส่วนที่น่าสนใจที่สุดของไต๋โหมวซานคือทะเลหมอก ซึ่งคุณจะสามารถพบเห็นได้บ่อยที่สุดตั้งแต่ฤดูหนาวจนถึงฤดูใบไม้ผลิ (เดือนธันวาคม-กุมภาพันธ์) ภาพนี้ผสมผสานระหว่างช่วงแสงสนธยาอันงดงามก่อนพระอาทิตย์ขึ้นกับทิวทัศน์ของเมืองที่ปกคลุมไปด้วยหมู่เมฆ เป็นภาพที่บันทึกช่วงเวลาน่าตื่นตาตื่นใจที่สุดช่วงหนึ่งที่คุณจะสามารถพบได้บนไต๋โหมวซาน
ข้อควรรู้: ภูเขาไลออนร็อกชื่อดัง
เมื่อหันหน้าไปทางทิศตะวันออกเฉียงใต้บนยอดเขาไต๋โหมวซาน คุณยังสามารถมองเห็นไลออนร็อก (Lion Rock) ซึ่งเป็นภูเขาที่มีลักษณะคล้ายกับสิงโตหมอบเมื่อมองจากพื้นที่บางแห่ง หากคุณโชคดีพอและมีเมฆอยู่ใต้ไลออนร็อก สิงโตก็จะดูเหมือนกำลังแช่ตัวอยู่ในหมู่เมฆ ซึ่งเป็นฉากที่ดึงดูดความสนใจช่างภาพเป็นจำนวนมาก!
EOS 5D Mark IV + EF70-200mm f/2.8L IS II USM @ 200มม., f/8, 8 วินาที, ISO 200, EV -0.3
ไลออนร็อก “กำลังแช่ตัว” อยู่ในหมู่เมฆ เมื่อมองจากไต๋โหมวซาน
เกร็ดน่ารู้: ต้องขอบคุณละครโทรทัศน์ในยุค 1970 และเพลงประกอบละคร คำว่า “Lion Rock Spirit” (จิตวิญญาณแห่งไลออนร็อก) จึงได้กลายมาเป็นสัญลักษณ์แห่งจิตวิญญาณของชาวฮ่องกง
เคล็ดลับถ่ายภาพทะเลหมอกให้สวยดังใจ
- ในช่วงแสงสนธยาขณะมีแสงในเมือง เพียงวัดแสงประเมินก็เพียงพอแล้ว
ด้วยความสว่างโดยรวมของแสงในเมือง ท้องฟ้า และพื้นดินไม่แตกต่างกันมากนัก ดังนั้น การวัดแสงประเมินจึงมักจะได้ผลดี
- การมีฟังก์ชันการตั้งเวลาโหมด Bulb ช่วยได้!
ฟังก์ชันการตั้งเวลาโหมด Bulb ในกล้องซีรีย์ EOS R เป็นหนึ่งในฟังก์ชันโปรดที่ผมใช้งานบ่อยที่สุด ด้วยฟังก์ชันนี้ คุณสามารถถ่ายภาพแบบเปิดรับแสงนานเกิน 30 วินาทีได้อย่างง่ายดายแม้ไม่มีสายลั่นชัตเตอร์
- พกฟิลเตอร์ ND ติดตัวไปด้วย
เมื่อสว่างมากขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งหลังจากพระอาทิตย์ขึ้น คุณอาจจำเป็นต้องใช้เพื่อถ่ายภาพแบบเปิดรับแสงนานซึ่งจะจับภาพหมู่เมฆที่กำลังเคลื่อนตัวอยู่
หากต้องการขับเน้นทิวทัศน์ยามค่ำคืนท่ามกลางทะเลหมอก อ่านได้ที่:
ถ่ายภาพสวยดั่งใจ: ทะเลหมอกในเมืองยามค่ำคืน
วางแผนทริปถ่ายภาพที่ไต๋โหมวซาน: เคล็ดลับจาก Carlo
1. สภาพอากาศเพื่อให้ได้ภาพเมฆที่ดีที่สุด: ความเร็วลมต่ำ ความชื้นสูง
ก้อนเมฆจะก่อตัวขึ้นเมื่อมีความชื้นสูงและลมน้อยลง หมายความว่าเมฆมีแนวโน้มที่จะรวมตัวกันและอยู่ระหว่างภูเขาโดยไม่บดบังยอดเขา หากความเร็วลมสูง นอกจากจะหนาวมากแล้ว คุณยังอาจจะต้อง “เดินอยู่ในหมู่เมฆ” และมองไม่เห็นอย่างอื่นเลย!
ผมคิดว่ามันคุ้มค่าที่จะลองเสี่ยงไปไต๋โหมวซานตราบใดที่ความชื้นสัมพัทธ์สูงกว่า 90% และความเร็วลมเฉลี่ยต่ำกว่า 10 กม./ชม. ซึ่งโดยปกติแล้วจะเกิดขึ้นหลังจากที่ฝนตก
ตรวจสอบเว็บไซต์หรือแอปของหอสังเกตการณ์ฮ่องกง (Hong Kong Observatory)
เว็บไซต์และแอปของหอสังเกตการณ์ฮ่องกงให้ข้อมูลที่เป็นประโยชน์ซึ่งช่วยให้ช่างภาพตัดสินใจได้ว่าควรไปไต๋โหมวซานเพื่อถ่ายภาพทะเลหมอกหรือไม่ อันได้แก่:
- ข้อมูลแบบเรียลไทม์เกี่ยวกับอุณหภูมิ ความชื้นสัมพัทธ์ และความเร็วลมที่หรือบริเวณรอบไต๋โหมวซาน
- ข้อมูลการตรวจวัดสภาพอากาศชั้นบน (ฉบับภาษาอังกฤษ) อัปเดตวันละสองครั้ง เวลา 8.00 น. และ 20.00 น.
- กล้องตรวจสภาพอากาศหันหน้าไปทางทิศตะวันตกเฉียงใต้บนไต๋โหมวซานซึ่งแสดงทิวทัศน์แบบเรียลไทม์ (ฉบับภาษาอังกฤษ)
EOS R + EF70-200mm f/4L IS II USM ที่ FL:74 มม., f/8, 1/200, ISO 100
ทะเลหมอกจะเกิดขึ้นบ่อยที่สุดในฤดูหนาวและฤดูใบไม้ผลิ ภาพนี้ถ่ายในฤดูใบไม้ผลิ และแสดงส่วนหนึ่งของถนนที่ขึ้นไปบนยอดเขา
2. เวลาที่ควรตั้งเป้าไปให้ทันช่วงเช้ามืด/พระอาทิตย์ขึ้น
โดยปกติผมตั้งเป้าว่าจะไปถึงยอดเขาให้ทันช่วงแสงสนธยา ซึ่งเริ่มก่อนพระอาทิตย์ขึ้นประมาณ 1 ชั่วโมง พระอาทิตย์ขึ้นเร็วสุดที่เวลาประมาณ 05.30 น. ในฤดูร้อน (เดือนพฤษภาคม-กรกฎาคม) ไปจนถึงช่วงประมาณ 07.00 น. ในฤดูหนาว (เดือนธันวาคม-กุมภาพันธ์) โชคดีที่ทะเลหมอกจะมีบ่อยที่สุดในช่วงฤดูหนาวและฤดูใบไม้ผลิเมื่อพระอาทิตย์ขึ้นไม่เร็วนัก!
EOS R5 + RF70-200mm f/2.8L IS USM @ FL: 128 มม., f/8, 1.3 วินาที, ISO 400
สะพานซิงหม่าที่เชื่อมเขตเมืองของนิวเทอริทอรี่ส์กับเกาะลันเตา เมื่อมองดูในช่วงแสงสนธยาที่มีหมอกหนา
3. วิธีขึ้นยอดเขาที่สะดวกที่สุด
จุดลงรถที่ใกล้ที่สุดสำหรับไปยอดเขา:
หากคุณเดินทางมาโดยรถยนต์ (รวมถึงจักรยานหรือแท็กซี่) จุดลงรถที่ใกล้ที่สุดสำหรับไปยอดเขาคือ ประตูด่านตรวจที่อยู่ที่จุดสิ้นสุดของถนนไต๋โหมวซาน ใกล้กับลานจอดรถด้านบนของไต๋โหมวซาน ดังที่ระบุไว้ข้างต้น จากตรงนั้นจะใช้เวลาประมาณ 30-45 นาทีในการเดินขึ้นไปยังจุดสูงสุด โปรดทราบว่าลานจอดรถมีขนาดเล็กและอาจแออัด โดยเฉพาะอย่างยิ่งในวันหยุดสุดสัปดาห์และวันหยุดนักขัตฤกษ์
มีรถโดยสารประจําทางจอดที่สวนโรตารี่ อย่างไรก็ตาม ระยะเวลาการเดินขึ้นจากสวนไปยังยอดเขาจะอยู่ที่ 2 ชั่วโมง ดังนั้นคุณอาจไปไม่ทันพระอาทิตย์ขึ้นถึงแม้ว่าคุณจะขึ้นรถโดยสารคันแรกก็ตาม สำหรับผู้ที่ต้องการตั้งแคมป์ค้างคืน ในบริเวณสวนโรตารี่ก็ยังมีที่ตั้งแคมป์ให้ด้วย
อ่านเพิ่มเติมได้ที่:
ค้นพบฮ่องกง: สวนโรตารี่ไต๋โหมวซานไปยังสถานีเรดาร์ตรวจอากาศ (ฉบับภาษาอังกฤษ)
ลองดูทิวทัศน์ฝั่งตะวันตกเฉียงใต้นี้จากไต๋โหมวซานในวิดีโอด้านล่าง!
Carlo ยังได้แบ่งปันเคล็ดลับและข้อมูลเชิงลึกเกี่ยวกับการถ่ายภาพทิวทัศน์ไว้ในเว็บไซต์การถ่ายภาพของฮ่องกงอย่าง DCFever ด้วย คลิกที่นี่เพื่ออ่าน!
รับข่าวสารล่าสุดเกี่ยวกับการถ่ายภาพ รวมถึงเคล็ดลับและกลเม็ดต่างๆ
ร่วมเป็นส่วนหนึ่งของชุมชนชาว SNAPSHOT
ลงทะเบียนตอนนี้!เกี่ยวกับผู้เขียน
ช่างภาพชาวฮ่องกง Carlo Yuen หลงใหลการถ่ายภาพทิวทัศน์และบรรยากาศเมืองที่สวยงามในบ้านเกิด เขาชอบช่วงเวลาเหนือธรรมชาติและความรู้สึกถึงความน่าทึ่ง ความสุข และความสงบเมื่อถ่ายภาพท่ามกลางธรรมชาติ โดยจะรู้สึกประทับใจกับทิวทัศน์ตระการตาของทะเลเมฆหมอกบนภูเขาเป็นพิเศษ Carlo ได้รับการยกย่องว่าเป็น “นักพยากรณ์อากาศ” จากบรรดาช่างภาพมากมายที่รู้สึกประทับใจในความสามารถด้านการพยากรณ์อากาศของเขา
ภาพที่ Carlo ถ่ายมาได้อย่างน่าอัศจรรย์ได้รับรางวัลจากการประกวดภาพถ่ายระดับนานาชาติมากมายติดต่อกันหลายปี ผลงาน “Clouded Peak” ของเขาชนะรางวัลจากการประกวดภาพถ่าย National Geographic และ “City's Layers” ชนะรางวัลที่ 1 ในงาน Chromatic Awards
อินสตาแกรม: @ _852.carlo