เลนส์ถ่ายภาพทิวทัศน์: RF10-20mm f/4L IS STM กับ RF15-35mm f/2.8L IS USM
เลนส์มุมกว้างอัลตร้าไวด์เป็นเลนส์ที่ขาดไม่ได้สำหรับการถ่ายภาพทิวทัศน์กว้างใหญ่สุดลูกหูลูกตา หากคุณนึกสงสัยว่า RF10-20mm f/4L IS STM เป็นเลนส์ที่ควรค่าแก่การมีไว้ในคอลเลกชันเลนส์ของตัวเองหรือไม่ ช่างภาพทิวทัศน์ Takashi Karaki จะมาหาคำตอบโดยเปรียบเทียบเลนส์รุ่นนี้กับ RF15-35mm f/2.8L IS USM ที่เขามีอยู่เดิม (เรื่องโดย: Takashi Karaki, Digital Camera Magazine)
จุดที่ 1: ระยะมุมกว้างที่เพิ่มขึ้น 5 มม. สร้างความแตกต่างได้มากหรือไม่
เมื่อถ่ายภาพในระยะมุมกว้าง (ต่ำกว่า 35 มม.) แม้แต่ระยะ 1 มม. ก็สร้างความแตกต่างให้กับขอบเขตภาพได้อย่างมาก ขอบเขตภาพคือ 130 องศาที่ 10 มม. ซึ่งมากกว่า 110 องศาที่คุณจะได้ที่ระยะ 15 มม. อยู่ 20 องศา
ผมถ่ายภาพทิวทัศน์สวยๆ มาทั่วประเทศญี่ปุ่น และหลายแห่งก็ต้องอาศัยเลนส์มุมกว้างอัลตร้าไวด์เพื่อผลลัพธ์ที่ดีที่สุด พื้นที่สำหรับถอยหลังมักจะมีจำกัดเช่นกัน ระยะสุดฝั่ง 10 มม. ของ RF10-20mm f/4L IS STM จึง “ช่วย” ผมไว้นับครั้งไม่ถ้วน!
ถ่ายจากตำแหน่งเดียวกัน
RF10-20mm f/4L IS STM ที่ 10 มม.
RF15-35mm f/2.8L IS USM ที่ 15 มม.
ผมอยากเก็บภาพสะพานเซโตะโอฮาชิที่มีความยาวถึง 11 กม. ไว้ในเฟรมให้ได้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้ เมื่อถ่ายที่ระยะ 15 มม. การครอปด้านขวาของสะพานออกไปเป็นเรื่องที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ ในขณะที่ 10 มม. จัดวางภาพสะพานโดยพอดีได้อย่างง่ายดาย ความรู้สึกของมุมมองภาพยังเด่นชัดกว่าที่ระยะ 10 มม. ซึ่งคุณจะเห็นได้ว่าสะพานทอดยาวอย่างมีพลังจากบริเวณโฟร์กราวด์ไปจนไกลสุดสายตา
ถ่ายที่ระยะโฟกัสใกล้สุด
RF10-20mm f/4L IS STM ที่ 10 มม.
ระยะโฟกัสใกล้สุด: ประมาณ 0.25 ม.
RF15-35mm f/2.8L IS USM ที่ 15 มม.
ระยะโฟกัสใกล้สุด: ประมาณ 0.28 ม.
ที่ระยะ 15 มม. คุณจะได้ภาพโคลสอัพของพื้นน้ำแข็งที่น่าประทับใจ แต่มองเห็นท้องฟ้าได้ไม่มากนัก แต่ระยะ 10 มม. ช่วยให้ท้องฟ้าที่มีการไล่เฉดสีอย่างสวยงามอยู่ในเฟรมภาพด้วย
จุดที่ 2: การถ่ายภาพดวงดาวโดยไม่ให้เกิดเส้นแสง
รูรับแสงกว้างสุดขนาดใหญ่ทำให้สามารถถ่ายภาพทิวทัศน์ดวงดาวที่มีหมู่ดาวที่แม่นยำได้อย่างง่ายดาย โดยเฉพาะอย่างยิ่งในที่ที่มีแสงน้อย เช่น ยอดเขาและชายทะเลที่ฮอกไกโด คุณสามารถถ่ายภาพโดยเปิดรับแสงเป็นระยะเวลาสั้นๆ เพื่อหลีกเลี่ยงการเกิดเส้นแสงได้
แม้ว่าข้อได้เปรียบของ RF15-35mm f/2.8L IS USM ที่เหนือกว่ารูรับแสงกว้างสุดที่ f/4 ของ RF10-20mm f/4L IS STM อยู่ 1 สต็อปอาจดูไม่มากนัก แต่ก็ลดเวลาการเปิดรับแสงลงครึ่งหนึ่งเพื่อให้ได้ระดับความสว่างเท่ากัน ตัวอย่างเช่น การเปิดรับแสงนาน 30 วินาทีด้วยค่า f/2.8 ต้องอาศัยการเปิดรับแสงนาน 60 วินาทีเพื่อให้ได้ระดับความสว่างเท่ากันที่ f/4 ซึ่งนานเกินกว่าจะหลีกเลี่ยงปัญหาเส้นแสงได้
EOS R5/ RF15-35mm f/2.8L IS USM/ FL: 15 มม./ Manual exposure (f/2.8, 30 วินาที)/ ISO 4000/ WB: 3,500K
เมื่อถ่ายด้วยค่า f/2.8 ผมแค่ต้องใช้การเปิดรับแสงนาน 30 วินาทีเพื่อให้ได้ระดับความสว่างที่จำเป็น ซึ่งช่วยให้ได้ภาพดวงดาวที่คมชัดอย่างพอเหมาะโดยไม่เห็นเส้นแสงมากนัก
จุดที่ 3: คุณภาพของมุมภาพที่ระยะมุมกว้าง
คุณภาพของมุมภาพมักจะเป็นสิ่งที่ต้องคำนึงถึงเมื่อถ่ายภาพด้วยเลนส์มุมกว้าง ซึ่งอาจมีการสร้างขอบมืดหรือการเบลอที่ขอบภาพ ขึ้นอยู่กับการออกแบบเลนส์ และจะมองเห็นได้ชัดเป็นพิเศษในภาพถ่ายบางประเภท ผมจะระแวดระวังเป็นพิเศษเมื่อถ่ายภาพท้องฟ้าจากยอดเขา หรือเมื่อผมอยากจัดตำแหน่งสันเขาให้อยู่ตรงบริเวณขอบภาพ
ทั้ง RF15-35mm f/2.8L IS USM และ RF10-20mm f/4L IS STM ต่างก็มีชิ้นเลนส์แก้ความคลาดทรงกลมที่แก้ไขความคลาดจากความบิดเบี้ยว เลนส์ทั้งสองรุ่นยังมีเทคโนโลยีออพติคอลแบบใหม่ที่ให้คุณภาพของภาพที่ยอดเยี่ยมสม่ำเสมอทั้งภาพด้วย แต่เมื่อเปรียบเทียบภาพที่ถ่ายภายใต้สภาวะเดียวกันนั้น ผมรู้สึกว่า RF15-35mm f/2.8L IS USM ดูเหมือนจะให้คุณภาพด้านออพติคอลที่ดีกว่าเล็กน้อย
RF10-20mm f/4L IS STM
RF15-35mm f/2.8L IS USM
มุมซ้าย
RF10-20mm f/4L IS STM
RF15-35mm f/2.8L IS USM
มุมขวา
RF10-20mm f/4L IS STM
RF15-35mm f/2.8L IS USM
ลองสังเกตความเบลอและรายละเอียดที่หายไปในบริเวณขอบภาพที่ถ่ายด้วย RF10-20mm f/4L IS STM โดยเฉพาะอย่างยิ่งในส่วนขอบของดอกไม้ รายละเอียดต่างๆ จะดูคมชัดกว่าในภาพ RF15-35mm f/2.8L IS USM
จุดที่ 4: สมรรถนะในการแก้ไขแสงจากด้านหลัง
จะเรียกว่าการถ่ายภาพทิวทัศน์ได้ยังไงถ้าคุณไม่ได้ถ่ายภาพโดยใช้แสงอันน่าตื่นตาตื่นใจจากด้านหลัง ทั้ง RF15-35mm f/2.8L IS USM และ RF10-20mm f/4L IS STM ออกแบบมาเพื่อให้คุณภาพของภาพไร้ที่ติแม้จะถ่ายแบบย้อนแสง เลนส์ทั้งสองรุ่นใช้การเคลือบป้องกันการสะท้อนแบบพิเศษที่แตกต่างกันสองแบบ ซึ่งช่วยลดแสงหลอกและแสงแฟลร์ได้:
- การเคลือบแบบ SWC (Subwavelength Structure Coating) (ฉบับภาษาอังกฤษ): ป้องกันไม่ให้เกิดแสงสะท้อนรองโดยทำให้ทางเดินแสงที่เข้าสู่เลนส์ที่มุมตกกระทบจากมุมสูงดูนุ่มนวลขึ้น
- การเคลือบแบบ ASC (Air Sphere Coating) (ฉบับภาษาอังกฤษ): ป้องกันไม่ให้เกิดเงาสะท้อนของแสงที่เข้ามายังมุมเล็กๆ ของมุมตกกระทบ (เกือบตั้งฉากกับเลนส์)
แต่คุณสมบัติดังกล่าวก็ไม่ได้ขจัดแสงหลอกและแสงแฟลร์ให้หมดไปโดยสิ้นเชิง จากประสบการณ์ส่วนตัวของผม แสงหลอกและแสงแฟลร์จะเห็นได้ชัดในภาพที่ถ่ายหลังจากพระอาทิตย์ขึ้นประมาณ 10 นาที และก่อนพระอาทิตย์ตก 10 นาที นอกจากนี้ เลนส์ RF10-20mm f/4L IS STM ยังดูเหมือนจะมีโอกาสเกิดแสงหลอกและแสงแฟลร์ได้มากกว่าเล็กน้อยเมื่อมีแสงย้อนจากด้านหลัง ซึ่งอาจเป็นผลมาจากส่วนประกอบด้านหน้าที่ยื่นออกมาของเลนส์ แต่ปัญหาดังกล่าวสามารถจัดการได้ง่ายและไม่ควรหยุดคุณจากการถ่ายภาพในสภาพแสงย้อน
เคล็ดลับในการลดแสงหลอกและแสงแฟลร์มีดังนี้
- ตรวจสอบให้แน่ใจว่าแหล่งกำเนิดแสงหลักมีขนาดเล็ก จัดตำแหน่งให้อยู่ตรงกลางของเฟรม
- ถ่ายภาพเวลาที่มีก้อนเมฆบดบังพระอาทิตย์อยู่เล็กน้อย
RF10-20mm f/4L IS STM
EOS R5/ RF10-20mm f/4L IS STM/ FL: 10 มม./ Manual exposure (f/7.1, 1/640 วินาที)/ ISO 320
แสงจากพระอาทิตย์ที่กำลังตกดินค่อนข้างสว่างจ้าในภาพนี้ ซึ่งทำให้ผมกังวลเรื่องแสงหลอกและแสงแฟลร์ แต่โชคดีที่มองเห็นได้ไม่ชัดเจนนัก รวมถึงการจัดแสงที่ดูสวยงามน่าประทับใจและมุมรับภาพพาโนรามา 10 มม. ก็ยังช่วยทำให้เกิดทิวทัศน์หิมะยามเย็นที่สวยสะกดใจ
RF15-35mm f/2.8L IS USM
EOS R5/ RF15-35mm f/2.8L IS USM/ FL: 15 มม./ Manual exposure (f/13, 1/800 วินาที)/ ISO 800
“เพชรแห่งไดเซน” — พระอาทิตย์ขึ้นที่ดูราวกับเพชรระยิบระยับเหนือยอดเขาไดเซน ซึ่งเป็นภูเขาที่สูงที่สุดในภูมิภาคชูโงะคุ แม้ว่าพระอาทิตย์ยามเช้าที่สว่างจ้านี้จะส่องตรงเข้ามาในเลนส์ แต่ภาพที่ได้กลับดูคมชัด รายละเอียดต่างๆ ในก้อนเมฆก็ถูกถ่ายออกมาได้อย่างสวยงามด้วย
ช่างภาพเลือกใช้: RF10-20mm f/4L IS STM*
*หมายเหตุ: นี่เป็นความคิดเห็นของผู้เขียน
ผมชอบใช้ RF15-35mm f/2.8L IS USM แต่ก็รู้สึกตื่นเต้นกับการเปิดตัว RF10-20mm f/4L IS STM ซึ่งเป็นเลนส์ซูมมุมกว้างแบบไม่ใช่ฟิชอายสำหรับฟูลเฟรมที่รองรับโฟกัสอัตโนมัติรุ่นแรกของโลกที่เริ่มต้นที่ 10 มม. ทั้งยังมีหลายอย่างที่ผมสงสัย เช่น ประโยชน์ของขอบเขตที่เพิ่มขึ้นมา 5 มม. คุณภาพของภาพที่บริเวณมุมภาพ ตลอดจนรูรับแสงกว้างสุด f/4 จะเป็นข้อเสียหรือไม่ แต่ผมได้ตอบคำถามเหล่านั้นเมื่อเปรียบเทียบเลนส์ไปแล้ว
แม้ว่า RF15-35mm f/2.8L IS USM จะทำงานได้ดีกว่า RF10-20mm f/4L IS STM เล็กน้อย แต่ผมรู้สึกว่า RF10-20mm f/4L IS STM นั้นยังคงเลนส์เสริมที่ดีเยี่ยมในชุดอุปกรณ์ของช่างภาพทิวทัศน์ ที่ระยะ 10 มม. เลนส์รุ่นนี้มอบภาพที่ดูสมจริงในระดับสูงสุดโดยแทบไม่ปรากฏความคลาดจากความบิดเบี้ยว (ที่ไม่พึงประสงค์) จึงพูดได้ว่าเลนส์ดังกล่าวได้แสดงให้ผมเห็นโลกในแบบใหม่ โดยเปิดโลกทัศน์และโอกาสในการสร้างสรรค์ของผมให้กว้างขึ้น!
แต่ไม่ได้หมายความว่าผมจะเลิกใช้เลนส์ RF15-35mm f/2.8L IS USM คู่ใจ รูรับแสงกว้างสุดที่ f/2.8 เป็นข้อได้เปรียบอย่างมากในการถ่ายภาพกลางคืน และผมชอบตรงที่สามารถใช้ฟิลเตอร์ PL ชนิดสวมหน้าเลนส์ที่ด้านหน้าได้
คำแนะนำสำหรับผู้ใช้งาน
หากกำลังจะซื้อเลนส์มุมกว้างอัลตร้าไวด์ตัวแรกให้ตนเอง ให้ลองพิจารณาเลนส์ RF10-20mm f/4L IS STM ดูก่อน คุณสามารถซื้อ RF15-35mm f/2.8L IS USM ได้ในภายหลังหากคิดว่าจำเป็นต้องใช้
เคล็ดลับการจัดองค์ประกอบภาพ: 10 มม. เป็นระยะที่ยอดเยี่ยมในการถ่ายทอดรายละเอียดของแบ็คกราวด์แม้ในภาพโคลสอัพ
ขอบเขตภาพใหญ่ 10 มม. ช่วยคุณสามารถเก็บรายละเอียดของแบ็คกราวด์ไปพร้อมกับตัวแบบในโฟร์กราวด์ได้ ซึ่งเป็นประโยชน์อย่างมากสำหรับฉากที่องค์ประกอบของท้องฟ้า เช่น พระอาทิตย์ตกหรือหมู่ดาว มีบทบาทสำคัญในการจัดองค์ประกอบภาพของคุณ ขยับเข้าใกล้ตัวแบบหลักให้มากที่สุด แล้วเอียงเลนส์เพื่อปรับเส้นขอบฟ้าและสัดส่วนของแบ็คกราวด์ที่จะใส่เข้ามาในภาพ
เคล็ดลับระดับมือโปร: ใช้ตำแหน่งการถ่ายภาพต่ำๆ ร่วมกับมุมต่ำ (เอียงเลนส์ขึ้น) มักจะทำให้ภาพถ่ายของคุณดูน่าประทับใจมากยิ่งขึ้น!
EOS R5/ RF10-20mm f/4L IS STM/ FL: 10 มม./ Manual exposure (f/9, 1/1000 วินาที)/ ISO 400/ WB: 5800K
หงส์พวกนี้คุ้นเคยกับคน ผมถ่ายภาพขณะที่พวกมันเดินเข้ามาใกล้ๆ แม้ว่าพวกหงส์จะอยู่ห่างออกไปแค่ประมาณ 30 ซม. แต่ขอบเขตภาพที่กว้าง 10 มม. ช่วยให้ผมสามารถถ่ายภาพสีสันของพระอาทิตย์ตกสุดตระการตาที่อยู่ในแบ็คกราวด์ได้
EOS R5/ RF10-20mm f/4L IS STM/ FL: 10 มม./ Manual exposure (f/4, 5 วินาที)/ ISO 1600/ WB: 3500K
ผมวางตำแหน่งจุดโฟกัสตรงที่ทะเลสาบน้ำแข็งนี้เพื่อดึงความสนใจไปที่พื้นผิว การใช้ระยะ 10 มม. เพื่อใส่พระจันทร์ที่กำลังลับขอบฟ้า หมู่ดาวเหนือพระจันทร์ และท้องฟ้ายามรุ่งอรุณสีน้ำเงินอันเป็นเอกลักษณ์เข้ามาในภาพ จะช่วยบอกเล่าเรื่องราวได้มากขึ้นโดยทำให้ผู้ชมทราบว่าภาพนั้นถ่ายเมื่อใด
เรียนรู้เพิ่มเติมเกี่ยวกับเลนส์ RF10-20mm f/4L IS STM และ RF15-35mm f/2.8L IS USM ได้ที่
เปิดโลกทัศน์ในการท่องเที่ยวของคุณให้กว้างขึ้นด้วยเลนส์ซูมมุมกว้าง
บทวิจารณ์เลนส์: เลนส์ RF15-35mm f/2.8L IS USM ในการถ่ายภาพทิวทัศน์
บทวิจารณ์เลนส์: RF10-20mm f/4L IS STM ในการถ่ายภาพทิวทัศน์มหาสมุทร
5 องค์ประกอบหลักในการพัฒนาเลนส์ RF10-20mm f/4L IS STM
ดูข้อมูลเชิงลึกและเคล็ดลับในการถ่ายภาพทิวทัศน์จาก Takashi Karaki เพิ่มเติมได้ที่
เทคนิคการถ่ายภาพทิวทัศน์: เทือกเขาหิมะใต้แสงจันทร์
ปรับแต่งภาพถ่ายใน 3 นาที: แสงอาทิตย์ที่น้ำตก
การเริ่มต้นถ่ายภาพทิวทัศน์: 5 สิ่งที่ควรทราบ
การจัดแสงในการถ่ายภาพทิวทัศน์ (2): เปิดรับแสงน้อยเพื่อเพิ่มอารมณ์ให้กับภาพ
เกี่ยวกับผู้เขียน
นิตยสารรายเดือนที่เชื่อว่าความสุขของการถ่ายภาพจะยิ่งเพิ่มขึ้น เมื่อผู้ถ่ายภาพได้เรียนรู้เกี่ยวกับฟังก์ชั่นต่างๆ ของกล้องมากยิ่งขึ้น นิตยสารเล่มนี้เผยแพร่ข่าวสารเกี่ยวกับกล้องรุ่นใหม่ๆ รวมถึงคุณสมบัติของกล้องและนำเสนอเทคนิคการถ่ายภาพอย่างหลากหลาย
จัดพิมพ์โดย Impress Corporation
หลังจากผ่านประสบการณ์การเป็นโค้ชกีฬา ต่อด้วยการทำงานในแวดวงการผลิตนิตยสารและบรรณาธิการมาเป็นเวลา 10 ปี Karaki ก็ย้ายไปยังเมืองโยนาโงะในจังหวัดท็อตโตริ ซึ่งเขาได้กลายเป็นที่รู้จักจากผลงานการถ่ายภาพทิวทัศน์ในภูมิภาคซันอินของญี่ปุ่น ผลงานของเขาได้รับการตีพิมพ์ใน จุลสาร Amazing Village ซึ่งมีเนื้อหาเกี่ยวกับหมู่บ้านสวยๆ ในญี่ปุ่นที่จัดทำขึ้นภายใต้โครงการความร่วมมือ CANON × Discover Japan ในปี 2017 และภาพทะเลหมอกที่ช่องเขาอาเคชิในจังหวัดท็อตโตริก็เป็นหนึ่งใน 12 ภาพที่ได้รับคัดเลือกจากการท่องเที่ยวแห่งประเทศญี่ปุ่น (JNTO) ให้เป็นตัวแทนของญี่ปุ่น
Instagram: @karakky0918