การถ่ายภาพสตรีทในย่านอาซากุสะ (2): เคล็ดลับในการเก็บภาพประสบการณ์
ความสุขอย่างหนึ่งในการเที่ยวชมสถานที่ท่องเที่ยวต่างๆ คือ การสามารถเก็บภาพสิ่งที่สะดุดตาคุณ และเพลิดเพลินกับอาหารแสนอร่อยที่เป็นเอกลักษณ์ของย่านนั้นๆ ขณะเดินเล่นไปตามท้องถนน ในบทความนี้ เราจะมาเรียนรู้การจัดองค์ประกอบภาพที่เป็นประโยชน์และเคล็ดลับการเปิดรับแสงสำหรับการถ่ายภาพสตรีท ซึ่งจะช่วยให้คุณถ่ายภาพท่องเที่ยวที่น่าจดจำได้ (ภาพโดย: Takeshi Akaogi, บรรณาธิการโดย: Etica)
EOS 6D/ EF50mm f/1.8 STM/ FL: 50 มม./ Aperture-priority AE (f/1.8, 1/50 วินาที, EV+0.3) /ISO 1000/ WB: อัตโนมัติ
การปรับความสว่างเพื่อบันทึกประสบการณ์ในย่านอาซากุสะของคุณ
บทความนี้จะกล่าวถึงวิธีการถ่ายฉากและอาหารที่คุณจะได้พบตามร้านต่างๆ ในย่านอาซากุสะ สำหรับฉากเหล่านี้ ผมแนะนำให้ใช้ โหมดระบุค่ารูรับแสง (Av) ที่กล่าวถึงไปแล้วในบทความก่อนหน้านี้ ซึ่งโหมดนี้จะทำให้คุณสามารถกำหนดค่า f ได้ด้วยตนเอง เพื่อควบคุมความเข้มของโบเก้ในภาพถ่าย
สิ่งสำคัญอีกข้อหนึ่งที่ลืมไม่ได้คือ ความสว่างของภาพในขั้นสุดท้าย หากคุณต้องการเพิ่มความรู้สึกสดชื่นหรือมีชีวิตชีวา ให้ปรับค่าชดเชยแสงไปที่ฝั่งบวก เพื่อให้ภาพสว่างขึ้น ในทางกลับกัน หากต้องการสร้างบรรยากาศที่นุ่มนวลหรือชวนให้รำลึกถึงอดีต ให้ปรับค่าชดเชยแสงไปที่ฝั่งลบเพื่อให้ภาพถ่ายโดยรวมดูมืดขึ้น วิธีนี้จะช่วยให้คุณได้บรรยากาศของภาพตามที่ต้องการ
EOS 6D/ EF50mm f/1.8 STM/ FL: 50 มม./ Aperture-priority AE (f/1.8, 1/100 วินาที, EV+1)/ ISO 200/ WB: อัตโนมัติ
สถานที่ถ่ายภาพ: ร้านกาแฟแนวเรโทรยุคโชวะ
ขนมพาร์เฟต์เมลอนจำลองซึ่งจัดแสดงอยู่ในร้านกาแฟ เนื่องจากมีพื้นที่ว่างสีขาวอยู่มาก ดังนั้น ภาพมักจะมืดขึ้นหากคุณปล่อยให้กล้องควบคุมระดับแสง หากปรับค่าชดเชยแสงไปที่ฝั่งบวก ภาพของคุณจะดูสว่างและมีชีวิตชีวามากขึ้น
EOS 6D/ EF50mm f/1.8/ FL: 50 มม./ Aperture-priority AE (f/2.2, 1/40 วินาที, EV+1)/ ISO 400/ WB: อัตโนมัติ
สถานที่ถ่ายภาพ: ร้านกาแฟแนวเรโทรยุคโชวะ
ที่บริเวณหน้าร้านซึ่งยังอนุรักษ์วิธีทำขนมปังกรอบแบบญี่ปุ่นดั้งเดิมเอาไว้ ผมต้องการเก็บรายละเอียดของเครื่องมือต่างๆ จึงปรับค่าชดเชยแสง เพื่อทำให้ภาพสว่างขึ้นเล็กน้อย
EOS 6D/ EF50mm f/1.8 STM/ FL: 50 มม./ Aperture-priority AE (f1.8, 1/40 วินาที, EV±0)/ ISO 400/ WB: อัตโนมัติ
สถานที่ถ่ายภาพ: ร้านกาแฟแนวเรโทรยุคโชวะ
การตกแต่งภายในร้านกาแฟ การถ่ายภาพโดยไม่ปรับค่าชดเชยแสง กล้องจะจับแสงสว่างที่ส่องเข้ามาจากด้านนอก ซึ่งทำให้ภาพดูมืดขึ้น ผมจงใจหลีกเลี่ยงการปรับค่าชดเชยแสง เพื่อถ่ายทอดบรรยากาศที่ชวนให้รำลึกถึงอดีต
เคล็ดลับ: ใช้การชดเชยแสงเพื่อปรับความสว่าง
ในการตั้งค่าการชดเชยแสงในกล้อง EOS 6D ให้หมุนวงแหวน Quick Control ที่ด้านหลังกล้อง หากคุณต้องการให้ภาพสว่างขึ้น ให้ปรับค่าชดเชยแสงไปที่ฝั่ง "+" (บวก) และหากต้องการให้ภาพมืดลง ให้ปรับไปที่ฝั่ง "-" (ลบ)
*การตั้งค่าอาจแตกต่างกันไปขึ้นอยู่กับรุ่นของกล้อง
การถ่ายภาพการทำงานของช่างฝีมือ
มีร้านค้าแห่งหนึ่งมีช่างฝีมือกำลังสาธิตการทำขนมอยู่ที่หน้าร้าน เมื่อถ่ายภาพตัวแบบผ่านกระจกหรืออะคริลิก คุณจำเป็นต้องระวังเรื่องแสงสะท้อน แม้ว่าอาจเป็นเรื่องยากเมื่อตัวแบบอยู่ตรงหน้าคุณในระหว่างการถ่ายภาพ อย่างไรก็ดี เมื่อตรวจสอบภาพถ่ายที่ออกมาแล้ว คุณอาจสังเกตเห็นว่าตัวแบบจะเห็นได้ไม่ค่อยชัดเนื่องจากมีแสงสะท้อนรบกวน แสงเหล่านี้สามารถลดลงได้โดยการเปลี่ยนมุมกล้อง จึงควรลองถ่ายภาพจากหลายๆ มุม
ก่อน
EOS 6D/ EF50mm f/1.8 STM/ FL: 50 มม./ Aperture-priority AE (f/2, 1/50 วินาที, EV+1)/ ISO 200/ WB: อัตโนมัติ
การถ่ายภาพผ่านกระจกจากมุมเฉียงเล็กน้อยสามารถเก็บฉากโดยรอบที่สะท้อนอยู่ด้านขวามือของภาพได้มากมาย
หลัง
EOS 6D/ EF24-70mm f/4L IS USM/ FL: 50 มม./ Aperture-priority AE (f/4, 1/80 วินาที, EV+1)/ ISO 640/ WB: อัตโนมัติ
แสงสะท้อนจากสภาพแวดล้อมโดยรอบเหลือน้อยมาก เนื่องจากถ่ายจากด้านหน้ากระจกโดยตรงและตัวแบบใส่เสื้อผ้าสีเข้ม
การเก็บความทรงจำเกี่ยวกับอาหารต่างๆ ที่ผมได้ลิ้มลอง
ผมอยากถ่ายภาพอาหารที่ผมซื้อระหว่างเดินเล่นรอบๆ แต่เมื่อถ่ายภาพจริง สภาพแวดล้อมโดยรอบมักปรากฏอยู่ในเฟรมภาพ ซึ่งอาจบดบังความโดดเด่นของตัวแบบ ที่เป็นตัวแบบหลักของการถ่ายภาพ ขณะที่สิ่งสำคัญอันดับแรกคือการขจัดวัตถุที่ไม่จำเป็นออกจากเฟรมภาพ แต่การทำเช่นนั้นเป็นไปได้ยากในสภาพแวดล้อมที่พลุกพล่านของอาซากุสะ ในกรณีเช่นนี้ ควรลดค่ารูรับแสงและวางตำแหน่งตัวคุณเองให้อยู่ใกล้ตัวแบบมากขึ้น เพื่อให้เอฟเฟ็กต์โบเก้ดูนุ่มนวลยิ่งขึ้นเมื่ออยู่นอกจุดโฟกัส วิธีนี้จะทำให้วัตถุที่ไม่จำเป็นไม่โดดเด่นอีกต่อไป มีเพียงตัวแบบที่คุณตั้งใจถ่ายเท่านั้นซึ่งจะสร้างอารมณ์หนักแน่นในภาพ
EOS 6D/ EF50mm f/1.8 STM/ FL: 50 มม./ Aperture-priority AE (f/1.8, 1/320 วินาที, EV+1)/ ISO 200/ WB: อัตโนมัติ
Ningyo-yaki ขนมยอดนิยมของอาซากุสะที่ผมซื้อที่นากามิเสะ ผมถ่ายทอดบรรยากาศที่นุ่มนวลโดยการเบลอตู้แสดงสินค้าที่อยู่ในส่วนแบ็คกราวด์และถุงกระดาษที่อยู่ในส่วนโฟร์กราวด์
สถานที่ถ่ายภาพ: นากามิเสะ
เคล็ดลับ: แม้กระทั่งกับตัวแบบเดียวกัน บรรยากาศของภาพจะเปลี่ยนไปขึ้นอยู่กับมุมและรูปแบบการถ่ายภาพ
ตัวอย่างเช่น แม้แต่ในการถ่ายภาพเค้ก มุมที่คุณเล็งกล้องสามารถเปลี่ยนอารมณ์ของภาพได้ การถ่ายภาพที่มุมซึ่งหันหน้าเข้าหาตัวแบบ เช่น จากด้านบนตรงๆ จะทำให้ภาพดูไม่มีชีวิตชีวา ในทางตรงกันข้าม การถ่ายภาพในมุมเฉียงจากด้านบนจะใกล้เคียงกับมุมมองของคนมากกว่า คุณจึงรู้สึกราวกับอยู่ในฉากนั้นๆ นอกจากนี้ ในการถ่ายภาพคุณควรพิจารณาว่าจะใส่สภาพแวดล้อมโดยรอบไว้ในเฟรมภาพหรือไม่ วิธีที่ดีที่สุดคือ หลีกเลี่ยงการวางสิ่งของที่ไม่เข้ากับบรรยากาศที่ต้องการในเฟรมภาพ หรือคุณอาจทำให้แบ็คกราวด์เบลอเพื่อให้มองไม่เห็นสิ่งของเหล่านั้น
EOS 6D/ EF50mm f/1.8 STM/ FL: 50 มม./ Aperture-priority AE (f/1.8, 1/40 วินาที, EV+0.3)/ ISO 400/ WB: อัตโนมัติ
การถ่ายภาพที่มุมเฉียงจากด้านบนให้มุมมองที่ดูคล้ายมุมภาพที่คุณมองเห็นเค้ก ซึ่งถูกจัดวางไว้ตรงหน้าคุณ ผมลดค่า f เพื่อสร้างเอฟเฟ็กต์โบเก้ที่นุ่มนวลยิ่งขึ้น เพื่อให้เมนูบนโต๊ะอาหารเบลอ
EOS 6D/ EF50mm f/1.8 STM/ FL: 50 มม./ Aperture-priority AE (f/4, 1/50 วินาที, EV+1)/ ISO 800/ WB: อัตโนมัติ
ถ่ายภาพจากด้านบนตรงๆ เฟรมภาพเก็บรายละเอียดของฉากไว้ทั้งหมด รวมทั้งรูปร่างของตัวเค้ก การออกแบบส้อมและจาน และชื่อของร้านเค้กที่พิมพ์ไว้บนผ้าเช็ดปาก
EOS 6D/ EF50mm f/1.8 STM/ FL: 50 มม./ Aperture-priority AE (f/1.8, 1/40 วินาที, EV±0)/ ISO 640/ WB: อัตโนมัติ
ภาพนี้ถ่ายจากมุมต่ำ ซึ่งไม่ค่อยพบในการถ่ายภาพอาหาร เนื่องจากภายในร้านกาแฟมีโทนสีเข้ม แบ็คกราวด์จึงดูมืดขึ้น ทำให้รูปลักษณ์ที่สวยงามของเค้กดูโดดเด่นมากยิ่งขึ้น
กล้องและเลนส์ที่แนะนำสำหรับการถ่ายภาพสตรีท
สำหรับภาพนี้ ผมใช้ EOS 6D ร่วมกับเลนส์ EF50mm f/1.8 STM ผมแนะนำ EF50mm f/1.8 STM เพราะมีน้ำหนักเบา ขนาดกะทัดรัด ราคาประหยัด ทั้งยังสามารถสร้างเอฟเฟ็กต์โบเก้ที่นุ่มนวลได้ หากความกะทัดรัดคือสิ่งสำคัญสำหรับคุณ ผมขอแนะนำให้ใช้ EOS M5 ร่วมกับเลนส์ EF-M22mm f/2 STM
รับข่าวสารล่าสุดเกี่ยวกับการถ่ายภาพ รวมถึงเคล็ดลับและกลเม็ดต่างๆ
ร่วมเป็นส่วนหนึ่งของชุมชนชาว SNAPSHOT
ลงทะเบียนตอนนี้!เกี่ยวกับผู้เขียน
บริษัท Etica จำกัด เปิดสอนการถ่ายภาพในนามของโรงเรียน “Tanoshii Camera School" ตลอดจนให้บริการตรวจแก้ไขสื่อสิ่งพิมพ์ และวางแผนสื่อและกิจกรรมต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับกล้องและการถ่ายภาพ โดยเน้นหัวข้อด้านการดูแลเด็ก สัตว์ และอาหาร บริษัทยึดคติ “ภาพถ่ายทำให้ทุกๆ คนมีความสุข!” จึงมุ่งมั่นที่จะถ่ายทอดเสน่ห์ของกล้องถ่ายรูปและการถ่ายภาพออกไปในวงกว้าง
ในฐานะช่างภาพ Akaogi ทำงานให้กับนิตยสารต่างๆ เป็นหลัก และเขียนหนังสือแนะนำการถ่ายภาพและเคล็ดลับที่ใช้งานได้จริง นอกจากนี้ Akaogi ยังเป็นผู้ฝึกสอนในเวิร์กช็อปการถ่ายภาพอีกด้วย