เทคนิคการถ่ายภาพคอสเพลย์ (4): วิธีถ่ายภาพโดยใช้แสงไฟที่มีสีสัน
ในการแสดงบนเวทีของเหล่าไอดอล J-Pop นิยมใช้แสงเลเซอร์สีสันต่างๆ อย่างไรก็ดี เราสามารถสร้างเอฟเฟ็กต์ของแสงเลเซอร์ดังกล่าวได้ที่สตูดิโอถ่ายภาพโดยอาศัยความช่างคิดเล็กๆ น้อยๆ เราลองมาดูวิธีการกัน (เรื่องโดย: Suna, นางแบบ: Yu)
การใช้เอฟเฟ็กต์แสงเพื่อสร้างลำแสงเลเซอร์
ใน ตอนที่ 3 เราได้ศึกษาวิธีนำเสนอนางแบบในหลากหลายรูปแบบด้วยการจัดแสงแบบต่างๆ ไปแล้ว ในครั้งนี้เราจะมาเรียนรู้เทคนิคการใช้แสงเพื่อสร้างบรรยากาศคล้ายเวทีของเหล่าไอดอล J-Pop โดยการเพิ่มสีให้กับแสงไฟและการสร้างแสงแฟลร์อย่างจงใจกัน เนื่องจากคาแรกเตอร์ไอดอลอะนิเมะกำลังได้รับความนิยมอย่างมากในวงการคอสเพลย์ การฝึกใช้เทคนิคนี้จนเชี่ยวชาญจะช่วยให้คุณสร้างภาพถ่ายที่ดูเหมือนกับภาพบนเวทีได้
EOS-1Ds Mark II/ EF24-70mm f/2.8L USM/ FL: 46 มม./ f/5.6/ 1/125 วินาที/ ISO 200/ RAW
การประมวลผลภาพ: Camera Raw/ อุปกรณ์จัดแสง: Monolight 1 ตัว (ผ่านร่มทะลุ), อุปกรณ์แฟลชเสริม 3 ตัว (พร้อมฟิลเตอร์สี)
เราจะสร้างแสงที่มีสีสันสวยงามได้อย่างไร
การสร้างบรรยากาศการแสดงบนเวทีที่ตระการตาจำเป็นต้องใช้แสงไฟที่มีสีสันสวยงาม ในตัวอย่างด้านล่าง เราสร้างแสงไฟให้มีสีสันโดยติดฟิลเตอร์สีไว้ที่อุปกรณ์แฟลช ส่วนการเลือกใช้สีควรพิจารณาจากความรู้สึกที่ตัวแบบคาแรกเตอร์ต้องการจะสื่อ
แม้ว่าการเกิดแสงแฟลร์มักถือเป็นสิ่งไม่พึงปรารถนาในการถ่ายภาพ แต่ในกรณีนี้เราสามารถนำมาใช้อย่างจงใจเพื่อช่วยขับเน้นบรรยากาศได้ ในเลนส์รุ่นใหม่ๆ ประสิทธิภาพการทำงานมักยอดเยี่ยม จึงไม่เกิดแสงแฟลร์เท่าใดนัก อย่างไรก็ดี เราสามารถสร้างแสงแฟลร์ขึ้นเองได้โดยการถูสารต่างๆ เช่น ปิโตรเลียมเจลลี่บนผิวกระจกของฟิลเตอร์เลนส์
ใช้เทปกาวติดฟิลเตอร์สีให้แน่นที่ผิวหน้าของอุปกรณ์แฟลชที่ทำหน้าที่เปล่งแสง และเราสามารถเพิ่มความหลากหลายได้โดยการเตรียมฟิลเตอร์สีสันต่างๆ ไว้สองสามชิ้น
เราถูปิโตรเลียมเจลลี่ (น้ำมัน) บนฟิลเตอร์เลนส์เพื่อสร้างแสงแฟลร์ และควรทาบางๆ ให้ทั่วผิวของฟิลเตอร์ หากคุณไม่มีปิโตรเลียมเจลลี่ สามารถใช้ไขมันแทนได้
การสร้างเวทีโดยใช้แบ็คกราวด์สีดำ
ผมใช้แบ็คกราวด์สีดำในการถ่ายภาพเพื่อสร้างเอฟเฟ็กต์เหมือนบนเวที เพื่อจำลองแสงไฟบนเวที ผมติดตั้ง Monolight โดยต่อเข้ากับร่มทะลุและใช้เป็นแสงหลักในการเพิ่มความสว่างให้กับนางแบบ การเพิ่มความเข้มแสงของชุดอุปกรณ์แฟลชเสริมช่วยให้แสงแฟลร์ชัดเจนขึ้น ลองปรับความเข้มสักสองสามครั้งเพื่อให้ได้เอฟเฟ็กต์ที่ดีที่สุด
A: ร่มทะลุ
B: อุปกรณ์แฟลชเสริม (พร้อมฟิลเตอร์สี) ที่วางไว้ด้านหลังนางแบบ
C: Monolight
หากต้องการเปลี่ยนผลภาพที่ได้ ให้ปรับสีและตำแหน่งของอุปกรณ์แฟลชเสริมที่ใช้เพื่อจำลองแสงไฟบนเวที
การใช้ร่มทะลุเพื่อกระจายแสงบนทุกส่วนของนางแบบอย่างทั่วถึงช่วยขับเน้นเงาซิลูเอตต์ของตัวแบบได้เช่นกัน การใช้แผ่นโฟม V-flat ทำให้แสงจากร่มทะลุไม่สามารถส่องมาถึงด้านข้างของแฟลชภายนอกที่มีสีสันซึ่งอยู่ด้านหลังนางแบบได้ ทำให้ภาพทั้งภาพอาบไล้ไปด้วยแสงไฟที่มีสีสันอย่างทั่วถึง
หากต้องการอ่านเพิ่มเติมเกี่ยวกับการถ่ายภาพคอสเพลย์ โปรดอ่านบทความต่อไปนี้:
เทคนิคการถ่ายภาพคอสเพลย์ (1): อุปกรณ์จัดแสง
เทคนิคการถ่ายภาพคอสเพลย์ (2): หลักพื้นฐานของการจัดแสง
เทคนิคการถ่ายภาพคอสเพลย์ (3): ตัวอย่างการจัดแสงแบบต่างๆ
การถ่ายภาพชาวคอสเพลย์ที่งาน AFA สิงคโปร์ 2016
ช่างภาพโชว์ทักษะการถ่ายภาพที่ AFA ประเทศไทย 2016
รับข่าวสารล่าสุดเกี่ยวกับการถ่ายภาพ รวมถึงเคล็ดลับและกลเม็ดต่างๆ
ร่วมเป็นส่วนหนึ่งของชุมชนชาว SNAPSHOT
ลงทะเบียนตอนนี้!
เกี่ยวกับผู้เขียน
Suna ทำงานเป็นช่างภาพในวันธรรมดาเสียส่วนใหญ่และนำเทคนิคถ่ายภาพใหม่ๆ มาใช้อยู่เสมอ อีกทั้งยังเผยแพร่คำอธิบายที่เรียบเรียงอย่างดีและเข้าใจง่ายผ่านทางโซเชียลมีเดีย เช่น Twitter อีกด้วย
ชาวคอสเพลย์ผู้กำลังร่วมโปรเจกต์แต่งคอสเพลย์หลายโปรเจกต์ อาทิ Fate, Danganronpa และ Hatsune Miku ในขณะนี้ เธอโด่งดังมากจากผลงานภาพถ่ายที่เน้นฉากในภาพยนตร์ต่างๆ
สำนักพิมพ์ผู้เชี่ยวชาญด้านหนังสือและนิตยสารเกี่ยวกับวิดีโอ การถ่ายภาพ และภาพประกอบ