ถ่ายภาพให้สีมีความสมดุล: ทางช้างเผือกส่องประกายระยิบระยับเหนือทุ่งหญ้าเขียวขจี
การถ่ายภาพทิวทัศน์ให้ดูสวยน่าประทับใจมักเป็นผลมาจากการตัดสินใจที่รอบคอบและตั้งใจเป็นพิเศษในเรื่องต่างๆ เช่น เวลาที่ควรถ่ายภาพ อุปกรณ์ที่ควรใช้ การจัดวางองค์ประกอบ และสีสัน Minefuyu Yamashita จะมาบอกเล่าถึงการตัดสินใจที่ช่วยให้เขาถ่ายภาพทิวทัศน์ตระการตาภาพนี้ให้มีสมดุลสีดีเยี่ยม (เรื่องโดย Minefuyu Yamashita, Digital Camera Magazine)
EOS R/ RF15-35mm f/2.8L IS USM/ FL: 15 มม./ Manual exposure (f/2.8, 5 วินาที)/ ISO 5000/ WB: 4000K
จินตนาการเบื้องหลังภาพนี้
สิ่งที่ผมเห็นตรงหน้าเป็นฉากที่น่าประทับใจ มีประภาคารส่องแสงสว่างท่ามกลางความมืดมิดและเงียบสงัด ด้านหลังประภาคารมีทางช้างเผือกอยู่สูงขึ้นไปบนท้องฟ้ายามค่ำคืน ผมอยากให้ภาพที่ถ่ายออกมาสื่อถึงความเงียบสงบและความยิ่งใหญ่ของฉากนี้
ความสำคัญของสีเขียว
วิธีหนึ่งที่จะทำได้โดยตรงจากกล้องคือ การปรับสมดุลแสงขาวเพื่อให้ทั้งภาพมีโทนสีที่เย็นขึ้น หลังจากวิเคราะห์ฉากแล้ว ผมตัดสินใจว่าจะต้องเพิ่มสีน้ำเงินให้มากพอเพื่อทำให้หญ้าเขียวชอุ่มที่กระทบแสงจากประภาคารนั้นดูโดดเด่น สีเขียวเข้มของผืนหญ้าที่ตัดกับความมืดยามค่ำคืนจะช่วยเพิ่มองค์ประกอบของฤดูร้อนให้กับภาพ
ผมอยากให้ทั้งทุ่งหญ้าเขียวขจีและทางช้างเผือกกินพื้นที่ในเฟรมมากพอเพื่อดึงดูดความสนใจอย่างเพียงพอ
1. สีเขียว: การตัดสินใจเกี่ยวกับเลนส์: ทางยาวโฟกัส 15 มม.
เวลาตัดสินใจว่าจะให้ทุ่งหญ้าเขียวขจีอยู่ในเฟรมมากน้อยเพียงใด ผมใส่ใจมากกับสมดุลระหว่างทุ่งหญ้ากับทางช้างเผือก ผมไม่ได้แค่อยากถ่ายภาพท้องฟ้าให้เต็มเฟรมเท่านั้น แต่ยังอยากให้พื้นดินดูโดดเด่นด้วยเช่นกัน ผมไม่สามารถถ่ายภาพในมุมกว้างมากนัก มิฉะนั้นทางช้างเผือกและเนินหญ้าเขียวขจีจะดูเล็กเกินไป ผมได้มุมรับภาพที่ดีที่สุดที่ระยะ 15 มม.
11 มม.
15 มม.
แม้ว่าทางยาวโฟกัส 11 มม. จะช่วยให้ท้องฟ้าอยู่ในเฟรมมากขึ้น แต่ทิวทัศน์บนพื้นดินจะดูเล็กกว่าและน่าประทับใจน้อยกว่าที่ต้องการ
เคล็ดลับ: ความลึกและมิติจะดูชัดเจนยิ่งขึ้นเมื่อทิวทัศน์มีขนาดใหญ่ขึ้นในเฟรม
ทิวทัศน์มักจะสูญเสียความลึกและดูเป็นสามมิติน้อยลงเมื่อถ่ายภาพในเวลากลางคืน แต่การจัดองค์ประกอบเพื่อให้รายละเอียดใหญ่ขึ้นในเฟรมนั้นจะทำให้ดูมีความลึกและมิติมากยิ่งขึ้น แม้ว่าคุณอาจจะถ่ายภาพตอนกลางคืน แต่อย่าลืมคำนึงถึงการจัดองค์ประกอบภาพในแบบเดียวกับเวลาที่ถ่ายภาพตอนกลางวันด้วย!
2. สีน้ำเงิน: การตั้งค่าสมดุลแสงขาว: 4000K
ผมตั้งใจเพิ่มโทนสีน้ำเงินให้กับภาพเพื่อเน้นบรรยากาศยามค่ำคืนที่เงียบสงบ แต่ผมก็ต้องแน่ใจว่าไม่ได้ปรับมากจนเกินไป กล่าวคือ
- ทางช้างเผือกไม่ควรเป็นโทนสีน้ำเงินเกินไป
- หญ้าสีเขียวบนพื้นดินไม่ควรมีความเพี้ยนของสีน้ำเงิน
ผมได้สมดุลที่สมบูรณ์แบบเมื่อตั้งค่าอุณหภูมิสีด้วยตนเองไว้ที่ 4000K ซึ่งแค่นี้ก็เพียงพอแล้วที่จะทำให้ทางช้างเผือกดูโดดเด่น พร้อมทั้งรักษาสีเขียวขจีของทุ่งหญ้าเอาไว้
สีน้ำเงินมากเกินไปเมื่อตั้งค่าที่ 3000K
เมื่อผมตั้งค่าสมดุลแสงขาวเป็น 3000K ภาพจะดูเป็นสีน้ำเงินมากขึ้นและดูเหนือจริงยิ่งขึ้น แต่สุดท้ายรายละเอียดมากมายกลับกลืนไปกับสีน้ำเงิน และหญ้าก็เปลี่ยนเป็นสีน้ำเงินที่ผิดเพี้ยนดูไม่เป็นธรรมชาติ
หากคุณต้องการใช้เวลามากขึ้นในการถ่ายภาพและลดเวลาในการปรับแต่งภาพหน้าคอมพิวเตอร์ให้น้อยลง การปรับการตั้งค่าสมดุลแสงขาวจะช่วยแก้ไขปัญหานี้ได้อย่างรวดเร็ว สิ่งที่ดีที่สุดคือ คุณสามารถดูตัวอย่างภาพที่ถ่ายได้ใน Live View หรือในช่องมองภาพอิเล็กทรอนิกส์หากคุณใช้กล้องมิเรอร์เลส! อ่านข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่
หลักพื้นฐานเกี่ยวกับสมดุลแสงขาวช่วยสร้างโทนสีได้ดังใจนึก
วิธีการแสดงสีด้วยฟังก์ชั่นการแก้ไขสมดุลแสงขาว
3. สีขาว: การแยกส่วนระหว่างประภาคารกับทางช้างเผือก:ช่วงเวลาของวัน
ผมรอจนกระทั่งทางช้างเผือกลอยสูงขึ้นไปบนท้องฟ้า ซึ่งทำให้มีช่องว่างมากขึ้นระหว่างทางช้างเผือกกับประภาคาร
ช่วงเวลาที่ไม่เหมาะสม
ทางช้างเผือกถูกแสงจากประภาคารบดบังไว้บางส่วนและดูไม่โดดเด่น
ประภาคารเชื่อมท้องฟ้ากับพื้นดินและทำให้ภาพออกมาดูสมบูรณ์แบบ และยังเป็นจุดเด่นในภาพอีกด้วย อย่างไรก็ตาม มีเหตุผลอยู่ไม่กี่ข้อที่ทำให้ภาพนี้ดูดีขึ้นเมื่อมีพื้นที่มากขึ้นระหว่างประภาคารกับทางช้างเผือก นั่นคือ
- ประภาคารดูสว่างมาก ซึ่งจะดึงความสนใจไปจากทางช้างเผือกหากสองสิ่งนี้อยู่ใกล้กันเกินไป
- การแยกส่วน (Separation) ทำให้องค์ประกอบทั้งสองตัดกับแบ็คกราวด์ที่ดูเข้มกว่า ซึ่งสร้างความเปรียบต่างและช่วยให้แต่ละองค์ประกอบดูโดดเด่นยิ่งขึ้น
เมื่อมีที่ว่างระหว่างทางช้างเผือกกับประภาคารมากพอแล้ว ต่อไปก็ต้องหามุมรับภาพที่ดีที่สุดที่จะทำให้องค์ประกอบทั้งสองน่าประทับใจมากพอ ดังที่ได้อธิบายไว้ในประเด็นที่ 1
อ่านเคล็ดลับและบทเรียนเพิ่มเติมเกี่ยวกับการถ่ายภาพดวงดาวและการถ่ายภาพทิวทัศน์ดวงดาวได้ที่
ถ่ายภาพสวยดั่งใจ: พระจันทร์และดวงดาวในทางช้างเผือกเหนือท้องทะเล
ศิลปะของการใช้ชัตเตอร์ต่ำ: การใช้ระเบิดซูมเพื่อเปลี่ยนดวงดาวบนท้องฟ้าให้เป็นฝนดาวตก
หนึ่งสถานที่กับภาพสองแบบ: การถ่ายภาพประภาคารท่ามกลางแสงจันทร์และใต้ดวงดาว
ภาพหลักในบทความนี้ถ่ายด้วยเลนส์ RF15-35mm f/2.8L IS USM อ่านไอเดียเพิ่มเติมเกี่ยวกับอุปกรณ์การถ่ายภาพดวงดาวและวิธีใช้ได้ที่
EF8-15mm f/4L Fisheye USM: เลนส์ที่ผมใช้เป็นประจำในการถ่ายภาพดวงดาว
เทคนิคการถ่ายภาพดวงดาวที่ควรลองใช้กับ EOS R (ใช้ร่วมกับกล้องระบบ EOS R รุ่นใหม่ๆ ได้เช่นกัน!)
เกี่ยวกับผู้เขียน
นิตยสารรายเดือนที่เชื่อว่าความสุขของการถ่ายภาพจะยิ่งเพิ่มขึ้น เมื่อผู้ถ่ายภาพได้เรียนรู้เกี่ยวกับฟังก์ชั่นต่างๆ ของกล้องมากยิ่งขึ้น นิตยสารเล่มนี้เผยแพร่ข่าวสารเกี่ยวกับกล้องรุ่นใหม่ๆ รวมถึงคุณสมบัติของกล้องและนำเสนอเทคนิคการถ่ายภาพอย่างหลากหลาย
จัดพิมพ์โดย Impress Corporation
เกิดที่จังหวัดไอชิในปี 1979 หลังจากสั่งสมประสบการณ์ในงานด้านต่างๆ เช่น การออกแบบภายในและกราฟิกดีไซน์แล้ว Yamashita ได้ผันตัวมาเป็นช่างภาพอิสระในปี 2011 ผลงานของเขาได้ถูกนำไปพิมพ์ในปฏิทินมากมาย