รีวิวเลนส์ซูมเทเลโฟโต้ EF70-300mm f/4-5.6 IS II USM
EF70-300mm f/4-5.6 IS II USM ใหม่ มีเทคโนโลยีมอเตอร์อัลตร้าโซนิค Nano USM ที่สามารถขับเคลื่อน AF ได้อย่างราบรื่น รวมทั้งมีแผงจอ LCD แสดงข้อมูลเลนส์ ซึ่งเปิดตัวครั้งแรกในเลนส์ซีรีย์ EF นอกจากนี้ โครงสร้างเลนส์และเลย์เอาต์ของชิ้นเลนส์ยังมีการพัฒนาที่สำคัญหลายประการ เพื่อประสิทธิภาพในการถ่ายทอดภาพที่ดียิ่งขึ้น ในส่วนต่อไป เรามาดูคุณสมบัติที่โดดเด่นของเลนส์รุ่นนี้โดยใช้ตัวอย่างจากการถ่ายภาพรถไฟกัน (เรื่องโดย: Koji Yoneya)
การออกแบบที่ล้ำสมัยและใช้งานง่าย
ช่วงทางยาวโฟกัสของเลนส์ซูมเทเลโฟโต้มีความแตกต่างกันอย่างมาก เมื่อเราใช้ทางยาวโฟกัสที่ 70-200 มม. ในกล้องฟูลเฟรม 35 มม. บางครั้งเราอาจพบกับฉากที่ต้องการใช้ทางยาวโฟกัสที่ยาวขึ้นอีกเล็กน้อยที่ระยะเทเลโฟโต้ ซึ่งใช้กับการถ่ายภาพทิวทัศน์ กีฬา ตลอดจนรถไฟ
เมื่อพบสถานการณ์เช่นนี้ เลนส์สี่รุ่นของ Canon ที่มีระยะการซูมที่ 70-300 มม. (EF70-300mm f/4-5.6 IS II USM, EF70-300mm f/4-5.6 IS USM, EF70-300mm f/4-5.6L IS USM และ EF70-300mm f/4.5-5.6 DO IS USM) สามารถรองรับความต้องการของเราโดยให้ทางยาวโฟกัสที่ยาวขึ้นอีกเล็กน้อยได้ และเมื่อนำมาใช้ร่วมกับกล้องแบบ APS-C ทางยาวโฟกัสจะยาวยิ่งขึ้นอีก (เทียบเท่ากับ 112-480 มม. ของฟอร์แมตฟิล์ม 35 มม.) ช่วงการซูมนี้จึงอาจเป็นตัวเลือกที่ดีเยี่ยมสำหรับการถ่ายตัวแบบบางประเภท
เลนส์ EF70-300mm f/4-5.6 IS II USM นำเทคโนโลยีใหม่ๆ มาใช้มากมาย แต่ตัวอย่างที่ชัดเจนที่สุดคือการใช้เทคโนโลยี Nano USM สำหรับขับเคลื่อนระบบ AF Canon พัฒนามอเตอร์อัลตร้าโซนิค (USM) โดยปรับเปลี่ยนให้เป็นชิปขนาดบางเพื่อให้ AF ทำงานได้รวดเร็วและราบรื่นยิ่งขึ้น นอกจากนี้ ยังเป็นครั้งแรกของกลุ่มเลนส์ EF ที่ EF70-300mm f/4-5.6 IS II USM มาพร้อมกับแผงจอ LCD ซึ่งสามารถแสดงข้อมูลเลนส์ได้
EF70-300mm f/4-5.6 IS II USM มีโครงสร้างเลนส์แบบ 17 ชิ้นใน 12 กลุ่ม และเลย์เอาต์ของชิ้นเลนส์ ตลอดจนตำแหน่งของเลนส์ UD ได้รับการปรับปรุงใหม่เช่นกัน นอกจากนี้ เลนส์ยังมาพร้อมม่านรูรับแสง 9 กลีบ และมีการปรับปรุงเอฟเฟ็กต์ IS ให้สูงถึงประมาณสี่สต็อปอีกด้วย
เนื่องจาก EF70-300mm f/4-5.6 IS II USM ใช้ระบบการโฟกัสด้านหลัง ด้านหน้าเลนส์จึงไม่เคลื่อนหรือหมุนในระหว่างการโฟกัส และเลนส์ยังรองรับระบบแมนนวลโฟกัสแบบ Full-time ด้วย
บริเวณกึ่งกลางเลนส์มีการติดตั้งวงแหวนซูมขนาดกว้าง ขณะที่ด้านหน้าเลนส์ติดตั้งวงแหวนโฟกัสไว้ ในส่วนการออกแบบก็ดูเก๋ไก๋ สวิตช์แทบไม่มีส่วนเว้านูน และรูปร่างกระบอกที่แบนมีลักษณะเรียวลงไปจนถึงเมาท์
ข้อมูลการถ่ายภาพปรากฏขึ้นบนแผงจอ LCD แสดงข้อมูลเลนส์ที่อยู่ด้านบน
การแสดงข้อมูลระยะโฟกัส
การแสดงข้อมูลปริมาณการสั่นไหว
สำหรับรูปลักษณ์ภายนอกของกล้อง มีคุณสมบัติหนึ่งที่สวยสะดุดตาเป็นพิเศษ นั่นคือแผงจอ LCD แสดงข้อมูลเลนส์ที่อยู่ด้านบนสุดของเลนส์ แผงนี้นอกจากแสดงข้อมูลเกี่ยวกับระยะโฟกัสและทางยาวโฟกัสแล้ว ยังแสดงข้อมูลที่เพิ่มเข้ามาใหม่อย่างปริมาณการสั่นไหวของกล้องอีกด้วย โหมดแสดงข้อมูลแบบใหม่นี้จะแสดงปริมาณการสั่นแบบมุมองศาที่เกิดขึ้นกับเลนส์ทั้งในทิศทางแนวตั้งและแนวนอน และน่าจะเป็นประโยชน์ในระหว่างการถ่ายภาพเคลื่อนไหวโดยใช้ฟังก์ชั่น Live View
สวิตช์โหมดมีให้ใช้งานที่มุมล่างซ้ายของแผงจอแสดงข้อมูลเลนส์ และสามารถใช้เมื่อต้องการสลับใช้โหมดทั้งสามโหมด หากนำเลนส์นี้ไปใช้กับกล้องแบบ APS-C โหมดแสดงข้อมูลทางยาวโฟกัสจะแสดงข้อมูลทางยาวโฟกัสเทียบเท่ากับฟอร์แมตฟิล์ม 35 มม.
นอกเหนือจากสวิตช์โหมดแล้ว สวิตช์เลือกแบบอื่นๆ จะมีสวิตช์โหมดโฟกัสสำหรับเลือกใช้งาน AF หรือ MF, สวิตช์ระบบป้องกันภาพสั่นไหว รวมทั้งก้านล็อควงแหวนซูมที่ด้านขวาของเลนส์ ก้านล็อควงแหวนซูมจะทำหน้าที่ล็อคเลนส์เข้ากับระยะมุมกว้าง เพื่อป้องกันไม่ให้เลนส์ขยายมากเกินไปในขณะที่คุณพกพาเลนส์
ลำดับต่อไป เราจะมาดูตัวอย่างภาพถ่ายรถไฟที่ถ่ายด้วยเลนส์ EF70-300mm f/4-5.6 IS II USM และกล้อง EOS 5D Mark IV
การถ่ายภาพด้วยความเร็วชัตเตอร์สูง
ผมเริ่มออกเดินทางในเช้าตรู่วันหนึ่งของฤดูหนาว เพื่อเดินทางไปยังสถานีรถไฟความเร็วสูงมิชิมะและชิน-ฟูจิ ซึ่งตั้งอยู่ตามเส้นทางรถไฟโทไกโดชินกันเซ็น ที่นี่คุณจะเพลิดเพลินกับการถ่ายภาพภูเขาไฟฟูจิและรถไฟความเร็วสูงชินกันเซ็น
EOS 5D Mark IV/ EF70-300mm f/4-5.6 IS II USM/ FL: 160 มม./ Manual exposure (f/8, 1/4,000 วินาที, EV±0)/ ISO 1600/ WB: แสงแดด
ผมเจอกับสภาวะการถ่ายภาพที่ไม่เอื้อต่อเลนส์ที่มี เพราะด้านหน้าของรถไฟหัวกระสุนอยู่ที่มุมซ้ายขององค์ประกอบภาพ ผมถ่ายรูปนี้โดยใช้แสงอันนุ่มนวลของดวงอาทิตย์ที่กำลังขึ้นในหน้าหนาว พร้อมกับตั้งค่าทางยาวโฟกัสไว้ที่ 160 มม. การตั้งค่าที่ผมเลือกใช้คือ ISO 1600, 1/4,000 วินาที และ f/8 แม้ว่าขบวนรถไฟถูกจัดวางไว้ที่มุมภาพ แต่เลนส์ไม่เพียงบันทึกภาพในส่วนพื้นที่บริเวณรอบไฟหน้ารถได้เท่านั้น แต่ล้อรถ (จานเบรก) ที่ดูราวกับ “หยุดนิ่ง” เนื่องจากการใช้ความเร็วชัตเตอร์สูงถูกถ่ายทอดรายละเอียดออกมาอย่างคมชัดมาก จนผมสามารถเห็นกระทั่งรอยบุ๋มของล้อได้
EOS 5D Mark IV/ EF70-300mm f/4-5.6 IS II USM/ FL: 70 มม./ Manual exposure (f/4, 1/8,000 วินาที, EV±0)/ ISO 200/ WB: แสงแดด
ภาพนี้ถ่ายที่ระยะมุมกว้างที่ทางยาวโฟกัส 70 มม. แม้ว่าจะสังเกตเห็นปัญหาแสงน้อยลงและความบิดเบี้ยวแบบโป่งออกอยู่บ้าง แต่เราสามารถแก้ไขในระหว่างกระบวนการปรับแต่งภาพได้ สิ่งที่ทำให้ผมรู้สึกทึ่งมากขึ้นไปอีกคือ เลนส์สามารถถ่ายทอดบริเวณมุมทั้งสี่ของภาพได้อย่างยอดเยี่ยม
ซ้าย: f/5, 1/2,500 วินาที
ขวา: f/11, 1/500 วินาที
ทั้งสองภาพ: EOS 5D Mark IV/ EF70-300mm f/4-5.6 IS II USM/ FL: 118 มม./ Manual exposure (EV±0)/ ISO 200/ WB: แสงแดด
ในการถ่ายภาพรถไฟ บางครั้งเราอาจต้องการจับภาพรถไฟที่กำลังวิ่งจากมุมสูงแบบเบิร์ดอายวิว พร้อมกับมีทิวทัศน์อันงดงามตระการตาเป็นฉากหลัง ถึงแม้ว่ารถไฟในภาพอาจดูมีขนาดเล็ก แต่ผู้ที่ชื่นชอบรถไฟจะยังคงต้องการเก็บภาพรายละเอียดของรถไฟให้ได้มากที่สุด
ทั้งสองภาพในตัวอย่างด้านบนแสดงให้เห็นภาพจากมุมสูงแบบเบิร์ดอายวิวของช่องเขาซัตตะ โทเงะ ซึ่งถือได้ว่าเป็นศูนย์กลางการจราจรเชิงยุทธศาสตร์มาตั้งแต่อดีต จากตัวอย่าง คุณสามารถเปรียบเทียบระหว่างภาพที่ถ่ายโดยใช้ค่ารูรับแสงกว้างสุดที่ f/5 (ซ้าย) และอีกภาพหนึ่งที่ถ่ายโดยลดขนาดรูรับแสงลงเหลือ f/11 (ขวา)
จุดหมายปลายทางที่รถไฟขบวนนี้กำลังมุ่งหน้าไปจะแสดงไว้ที่หัวขบวน และเมื่อเราขยายภาพในส่วนนี้ให้เท่าขนาดจริง เราจะเห็นว่าคำว่า "ชิซูโอกะ" ยังคงมองเห็นได้ชัดเจนในภาพตัวอย่างทางซ้ายซึ่งถ่ายที่ค่า f/5 แม้ว่าโฟกัสจะเบลอเล็กน้อย ขณะเดียวกัน ภาพตัวอย่างทางขวาซึ่งลดขนาดรูรับแสงลงเหลือ f/11 โฟกัสจะคมชัดจนมองเห็นคำว่า "อาตามิ" ได้อย่างชัดเจน จากตัวอย่างเหล่านี้ เราจึงสรุปได้ว่าพลังการถ่ายทอดภาพของเลนส์นี้มีประสิทธิภาพดีเพียงพอที่จะรองรับความละเอียดของกล้อง EOS 5D Mark IV ซึ่งมีพิกเซลที่ใช้งานได้จริงมากถึงประมาณ 30.4 ล้านพิกเซล
EOS 5D Mark IV/ EF70-300mm f/4-5.6 IS II USM/ FL: 70 มม./ Manual exposure (f/8, 1/2,000 วินาที, EV±0)/ ISO 400/ WB: แสงแดด
ภาพนี้ถ่ายที่ระยะมุมกว้าง (70 มม.) โดยตั้งค่ารูรับแสงที่ f/8 นอกจากขบวนรถไฟที่บริเวณมุมซ้ายของภาพ กล้องยังสามารถถ่ายทอดแม้แต่วิวทิวทัศน์ของเมืองที่ฝั่งตรงข้ามบริเวณกึ่งกลางภาพได้อย่างชัดเจน
การถ่ายภาพแบบแพนกล้อง
EOS 5D Mark IV/ EF70-300mm f/4-5.6 IS II USM/ FL: 200 มม./ Manual exposure (f/22, 1/80 วินาที, EV±0)/ ISO 100/ WB: แสงแดด
เลนส์รุ่นนี้มาพร้อมกับคุณสมบัติป้องกันภาพสั่นไหว (IS) ซึ่งสามารถปิดหรือเปิดใช้งานด้วยสวิตช์ทางด้านซ้ายของท่อเลนส์ได้ โดยทั่วไป เลนส์รุ่นอื่นๆ มาพร้อมกับตัวเลือก เช่น โหมด 1 สำหรับภาพนิ่งปกติ และโหมด 2 สำหรับภาพที่ถ่ายตามวัตถุ แต่ตัวเลือกเช่นนี้จะไม่มีใน EF70-300mm f/4-5.6 IS II USM แต่เลนส์จะทำการแก้ไขด้วยระบบ IS โดยอัตโนมัติอย่างเหมาะสม หลังจากที่กำหนดว่าภาพถ่ายนั้นเป็นภาพทั่วไปหรือภาพถ่ายแบบแพนกล้อง
อ่านเพิ่มเติมเกี่ยวกับการถ่ายภาพแบบแพนกล้องได้ที่นี่:
ฉันจะถ่ายภาพแบบแพนกล้องได้อย่างไร
ตัวอย่างนี้คือภาพที่ถ่ายตามวัตถุ ซึ่งถ่ายที่ค่า 1/80 วินาที เนื่องจากการ "หยุด" การเคลื่อนไหวของรถไฟชินกันเซ็นซึ่งแล่นไปด้วยความเร็วสูงมากๆ นั้นทำได้ยาก ดังนั้น การมีคุณสมบัติที่ช่วยแก้ไขการสั่นไหวได้จึงเป็นประโยชน์อย่างมาก
EOS 5D Mark IV/ EF70-300mm f/4-5.6 IS II USM/ FL: 165 มม./ Manual exposure (f/11, 1/30 วินาที, EV±0)/ ISO 200/ WB: เมฆครึ้ม
ภาพนี้เป็นภาพที่ถ่ายแพนขบวนรถจักรไอน้ำ ซึ่งบริเวณผิวสีดำด้านนอกดูเป็นมันเงาวับเนื่องจากฝนที่ตกลงมา
การถ่ายภาพที่ระยะเทเลโฟโต้พร้อมกับโบเก้
EOS 5D Mark IV/ EF70-300mm f/4-5.6 IS II USM/ FL: 300 มม./ Shutter-priority AE (f/9, 1/1,000 วินาที, EV-0.3)/ ISO 400/ WB: แสงแดด
ภาพนี้เป็นภาพของรถไฟสายกาคุนัน ซึ่งเคยให้บริการในเส้นทางเคโออิโนะคาชิระ (ชิบูย่าไปคิชิโจจิ) ผมถ่ายภาพด้านหน้าของรถไฟ ซึ่งผมคิดว่าดูคล้ายกับใบหน้าน่ารักๆ โดยใช้ระยะเทเลโฟโต้ 300 มม. พร้อมกับใช้การติดตาม AF ใน Al Servo AF ภาพนี้ถ่ายทอดรายละเอียดที่ระยะเทเลโฟโต้ได้อย่างไม่มีที่ติ
EOS 5D Mark IV/ EF70-300mm f/4-5.6 IS II USM/ FL: 219 มม./ Manual exposure (f/8, 1/800 วินาที, EV±0)/ ISO 400/ WB: แสงแดด
ผมจับภาพสัญญาณเล็กๆ น้อยๆ ของฤดูใบไม้ผลิที่เขตอุตสาหกรรมแห่งหนึ่ง ซึ่งมีรถไฟสายเล็กๆ วิ่งผ่าน เมื่อเปิดใช้งาน AF เพื่อจับโฟกัสดอกบ๊วยซึ่งเริ่มผลิบาน ผมรู้สึกทึ่งมากๆ ที่ AF สามารถทำงานได้อย่างรวดเร็ว ผมถ่ายรูปนี้ด้วยค่า f/8 ซึ่งสร้างเอฟเฟ็กต์โบเก้ที่เป็นธรรมชาติและดูไม่จงใจ
EOS 5D Mark IV/ EF70-300mm f/4-5.6 IS II USM/ FL: 219 มม./ Manual exposure (f/5.6, 1/200 วินาที, EV±0)/ ISO 400/ WB: อัตโนมัติ
รถไฟหัวจักรไอน้ำสายโออิกาวะกำลังจะออกเดินทาง มีข้อความแขวนไว้ที่ด้านหน้ารถไฟเพื่อให้คำแนะนำกับเด็กๆ ที่เข้าสอบเข้ามหาวิทยาลัย เอฟเฟ็กต์โบเก้ที่ส่วนโฟร์กราวด์ออกมาสวยงามทีเดียว
การถ่ายภาพระยะใกล้
EOS 5D Mark IV/ EF70-300mm f/4-5.6 IS II USM/ FL: 70 มม./ Manual exposure (f/8, 1/40 วินาที, EV±0)/ ISO 400/ WB: อัตโนมัติ
ผมตั้งค่าเลนส์ให้เกือบอยู่ในระยะโฟกัสใกล้ที่สุด เพื่อถ่ายภาพล้อของขบวนรถจักรไอน้ำ แม้ว่าภาพนี้จะถ่ายโดยใช้มือถือกล้องที่ 1/40 วินาที แต่คุณสมบัติ IS สามารถจัดการกับปัญหากล้องสั่นไหวได้อย่างมีประสิทธิภาพ เราจะเห็นได้ว่าเลนส์ยังถ่ายทอดภาพระยะใกล้ได้อย่างดีเยี่ยม พร้อมทั้งถ่ายทอดชิ้นส่วนโลหะที่เป็นเงาทึบ ซึ่งปกคลุมไปด้วยหยดน้ำได้อย่างคมชัด
การถ่ายภาพในสภาวะแสงน้อย
EOS 5D Mark IV/ EF70-300mm f/4-5.6 IS II USM/ FL: 238 มม./ Manual exposure (f/5.6, 1/160 วินาที, EV±0)/ ISO 1600/ WB: แสงในร่ม
ในช่วงอาทิตย์ลับขอบฟ้าเป็นช่วงเวลาที่ AF จะต้องติดตามหาโฟกัส แต่ก็สามารถจับโฟกัสได้สำเร็จในที่สุด
EOS 5D Mark IV/ EF70-300mm f/4-5.6 IS II USM/ FL: 244 มม./ Manual exposure (f/8, 1/5 วินาที, EV±0)/ ISO 1600/ WB: แสงแดด
ไฟสูงของไฟหน้ารถทำให้เกิดแหล่งแสงที่จ้ามากและอาจทำให้เกิดแสงหลอกได้ แต่ดังที่เห็นในภาพตัวอย่างนี้ แสงหลอกถูกปรับลดให้เหลือน้อยที่สุดจนอยู่ในระดับที่แทบมองไม่เห็น
EOS 5D Mark IV/ EF70-300mm f/4-5.6 IS II USM/ FL: 83 มม./ Manual exposure (f/4.5, 1/8 วินาที, EV±0)/ ISO 3200/ WB: อัตโนมัติ
ผมรู้สึกสนุกที่ได้ถ่ายภาพรถไฟสายกาคุนันร่วมกับทิวทัศน์ยามค่ำคืนของโรงงาน เมื่อใช้ค่ารูรับแสงกว้างสุด แสงไฟที่สาดส่องช่วยทำให้เกิดเอฟเฟ็กต์ที่สวยงาม
EOS 5D Mark IV/ EF70-300mm f/4-5.6 IS II USM/ FL: 96 มม./ Manual exposure (f/11, 20 วินาที EV±0)/ ISO 200/ WB: อัตโนมัติ
เพื่อสร้างเส้นแสง ผมใช้การเปิดรับแสงนาน 20 วินาที เพื่อถ่ายภาพรถไฟที่กำลังแล่นผ่านเขตอุตสาหกรรม ภาพนี้สามารถถ่ายทอดรายละเอียดของโรงงานได้อย่างงดงาม ตอนแรก ผมรู้สึกกังวลว่าเมื่อใช้เลนส์ EF70-300mm f/4-5.6 IS II USM ผมอาจจำเป็นต้องใช้ขาตั้งกล้อง แต่อาจเป็นเพราะเลนส์มีน้ำหนักเบา เราจึงไม่เห็นการสั่นไหวของกล้องปรากฏขึ้นในภาพแต่อย่างใด
สรุป
เนื่องจากประสิทธิภาพของกล้องได้รับการพัฒนาขึ้นอย่างมาก เลนส์จึงต้องพัฒนาตามไปด้วยเช่นกัน EF70-300mm f/4-5.6 IS II USM มอบคุณสมบัติอันน่าทึ่ง เช่น ความเร็ว AF สูงของ Nano USM ขณะที่แผงจอแสดงข้อมูลเลนส์แบบใหม่ก็ใช้งานได้อย่างสนุกเช่นเดียวกัน ไม่เพียงเท่านั้น ประสิทธิภาพในการถ่ายทอดภาพยังได้รับการปรับปรุงให้ดีขึ้น โดยมีการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างของเลนส์และเลย์เอาต์ของชิ้นเลนส์ ความก้าวหน้าพื้นฐานเหล่านี้จึงเป็นปัจจัยสำคัญที่ช่วยให้เลนส์นี้มีความน่าสนใจมากขึ้น
โดยส่วนตัวแล้ว ผมใช้เลนส์ EF70-200mm f/4L IS USM แต่จำเป็นต้องใส่ท่อต่อเลนส์ เนื่องจากทางยาวโฟกัสระยะเทเลโฟโต้สั้นเกินไป หากคำนึงถึงคุณภาพของภาพถ่ายและค่ารูรับแสงสูงสุด ผมคิดว่า EF70-300mm f/4-5.6 IS II USM ใช้งานได้ดีพอในสถานการณ์ที่คุณต้องการเดินทางแบบเบาๆ หากคุณวางแผนที่จะซื้อเลนส์ซูมเทเลโฟโต้สักอันหนึ่ง เลนส์รุ่นนี้เป็นตัวเลือกหนึ่งที่ควรพิจารณา
หากยังไม่แน่ใจว่าเลนส์นี้เหมาะกับคุณหรือไม่ บทความนี้อาจช่วยได้:
อะไรคือข้อแตกต่างระหว่างเลนส์เทเลโฟโต้ 200 มม. และ 300 มม.
และหากคุณชื่นชอบการถ่ายภาพรถไฟ คุณอาจสนใจบทความนี้เช่นกัน:
วิธีถ่ายภาพรถไฟที่กำลังเคลื่อนที่ให้น่าประทับใจด้วยการถ่ายภาพต่อเนื่อง
รับข่าวสารล่าสุดเกี่ยวกับการถ่ายภาพ รวมถึงเคล็ดลับและกลเม็ดต่างๆ ได้โดยลงทะเบียนกับเรา!
เกี่ยวกับผู้เขียน
ส่งข่าวสารรายวันเกี่ยวกับเรื่องราวของกล้องดิจิตอลและอุปกรณ์เสริมต่างๆ รวมถึงซอฟต์แวร์ตกแต่งภาพ นอกจากนี้ยังเผยแพร่บทความต่างๆ เช่น รีวิวการใช้กล้องดิจิตอลจริงพร้อมตัวอย่างภาพถ่ายจากกล้องรุ่นใหม่ๆ
เกิดเมื่อปี 1968 ที่จังหวัดยามากะตะ Yoneya ออกเดินทางไปทั่วญี่ปุ่นและทั่วทุกมุมโลก เพื่อค้นหาความเชื่อมโยงระหว่างผู้คนกับรถไฟในภาพถ่ายขบวนรถไฟต่างๆ ซึ่งสะท้อนภาพในชีวิตประจำวัน ในเดือนมิถุนายน 2017 เขาจะจัดแสดงนิทรรศการเดี่ยวในธีมทิวทัศน์ ซึ่งเป็นภาพที่เขาถ่ายจากหน้าต่างรถไฟ