ในขณะที่กล้องสมรรถนะสูงระดับไฮเอนด์มีประสิทธิภาพเป็นที่น่ายอมรับ แต่ท้ายที่สุดแล้ว ทักษะและเทคนิคที่คุณสั่งสมมาจะเป็นสิ่งที่ช่วยให้คุณถ่ายภาพออกมาได้อย่างน่าประทับใจ ด้วยเหตุนี้ กล้องที่ดีที่สุดจึงเป็นกล้องรุ่นที่คุณมีอยู่นั่นเอง เมื่ออยากจะสัมผัสประสบการณ์ที่แปลกใหม่ Wayne Chng ช่างภาพผู้สนใจการถ่ายภาพสัตว์ป่าจึงวางมือจากกล้อง EOS R3 ที่ใช้ประจำเป็นการชั่วคราวเพื่อลองเปลี่ยนมาใช้กล้อง EOS R50 กับเลนส์คิทในการถ่ายภาพแบบสบายๆ ไม่รีบร้อน และรู้สึกประทับใจที่กล้องรุ่นนี้ช่วยให้เขาได้เพลิดเพลินไปกับกระบวนการถ่ายภาพอีกครั้งหนึ่ง เขาจะมาแบ่งปัน 5 ภาพโปรดและเรื่องราวเบื้องหลังภาพเหล่านี้พร้อมทั้งเคล็ดลับการถ่ายภาพ (ภาพโดย Wayne Chng และเรื่องราวจากประสบการณ์ที่ได้เล่าให้ทีมงาน SNAPSHOT ฟัง)
1. การบันทึกภาพในวินาทีสำคัญ
EOS R50/ RF-S18-45mm f/4.5-6.3 IS STM/ FL: 40 มม. (เทียบเท่า 64 มม.)/ Manual exposure (f/14, 1/160 วินาที)/ ISO 400/ แฟลชติดกล้องและอุปกรณ์กระจายแสง (ค่าการชดเชยแสงแฟลช: EV +1)/ ครอปภาพ
ความสุขขณะรอคอยให้ช่วงเวลาพิเศษมาถึง
ในฐานะช่างภาพ เราต่างก็ต้องการบันทึกภาพในช่วงเวลาที่คนอื่นๆ มักมองไม่เห็น ซึ่งโลกใบจิ๋วของแมลงนั้นเต็มไปด้วยช่วงเวลาเหล่านี้ อย่างไรก็ตาม การถ่ายภาพสิ่งเล็กๆ แบบโคลสอัพนั้นต้องอาศัยความอดทนมากกว่าอย่างอื่น ส่วนใหญ่แล้วคุณแค่ต้องอยู่ในสถานที่แห่งนั้น คอยสังเกตการณ์ และรอให้ช่วงเวลาพิเศษมาถึง วิธีนี้เป็นประโยชน์สำหรับภาพของคุณ และยังช่วยให้คุณเข้าใจพฤติกรรมของตัวแบบได้มากขึ้นด้วย
ในภาพนี้ซึ่งแสดงให้เห็นช่วงวินาทีก่อนที่ผึ้งจะบินลงไปเกาะที่ดอกไม้เพื่อกินอาหาร ผมสังเกตดูสิ่งแวดล้อมรอบๆ และตัดสินใจว่าจะสร้างแบ็คกราวด์สีดำ (คำอธิบายเทคนิคอยู่ด้านล่าง) โดยใช้แฟลชติดกล้องของ EOS R50 เพื่อให้ตัวผึ้งและดอกไม้ได้รับแสงในระดับที่เหมาะสม ผมลองถ่ายอยู่ไม่กี่ครั้งจึงถ่ายภาพนี้ได้
การติดตั้งอุปกรณ์ถ่ายภาพที่มีขนาดเล็กกะทัดรัดอย่างกล้อง EOS R50 กับเลนส์ RF-S18-45mm f/4.5-6.3 IS STM ทำให้คุณรอนิ่งๆ อยู่ในจุดเดิมได้ค่อนข้างสะดวก
เทคนิค: สร้างแบ็คกราวด์สีดำด้วยแฟลชติดกล้อง
ค่าการเปิดรับแสงของกล้องจะเป็นตัวกำหนดความสว่างของแบ็คกราวด์ และการตั้งค่าแฟลชจะเป็นตัวกำหนดความสว่างของตัวแบบ
ขั้นตอนที่ 1: ตั้งค่าการเปิดรับแสงของกล้องให้ได้แบ็คกราวด์สีดำ
ปรับค่าการเปิดรับแสงจนกระทั่งภาพตัวอย่างในหน้าจอ LCD หรือช่องมองภาพดูเป็นสีดำ (เมื่อเสร็จขั้นตอนนี้แล้ว คุณสามารถปิดการจำลองระดับแสงเพื่อให้มองเห็นตัวแบบได้ชัดเจนขึ้น) ไม่ต้องกังวลเรื่องความเร็วชัตเตอร์เพราะแฟลชจะยิงไวมากจนทำหน้าที่เป็นเหมือนชัตเตอร์ที่ช่วยหยุดการเคลื่อนไหวของแมลงได้
ขั้นตอนที่ 2: ลองถ่ายภาพดู
แฟลชจะทำให้วัตถุที่อยู่ในโฟร์กราวด์สว่างขึ้น
ขั้นตอนที่ 3: ปรับความสว่างของแฟลช
คุณสามารถปรับความสว่างของแฟลชติดกล้องได้ด้วยคุณสมบัติการชดเชยปริมาณแสงแฟลช สำหรับภาพผึ้ง ค่าเริ่มต้นของการชดเชยปริมาณแสงแฟลช (EV0) นั้นมืดกว่าที่ผมต้องการเนื่องจากใช้อุปกรณ์กระจายแสงแฟลช ดังนั้นผมจึงตั้งค่าไว้ที่ +1
เคล็ดลับระดับมือโปร:
- ใช้อุปกรณ์กระจายแสงบังแฟลชเพื่อให้แสงจากแฟลชดูนุ่มนวลและเป็นธรรมชาติมากขึ้น
- เมื่อถ่ายภาพแบ็คกราวด์สีดำเสร็จแล้ว อย่าลืมเปิดการจำลองระดับแสงอีกครั้ง!
2. ความน่าเอ็นดูของเหล่าสัตว์ป่า
EOS R50/ RF-S18-150mm f/3.5-6.3 IS STM/ FL: 150 มม. (เทียบเท่า 240 มม.)/ Manual exposure (f/8, 1/400 วินาที)/ ISO 800/ ครอปภาพ
เหมือนการถ่ายภาพสตรีทในเวอร์ชันสัตว์ป่า
นกกะเต็นอกขาวเป็นนกที่พบเห็นได้ทั่วไปในสิงคโปร์และเป็นตัวแบบที่เหมาะสำหรับการฝึกถ่ายภาพในช่วงเวลาต่างๆ หรือแม้กระทั่งภาพในขณะบิน และนี่คือภาพนกสองตัวกำลังแบ่งปันอาหารกันอยู่ นกตัวขวาดูตื่นเต้นสุดขีดที่ได้เห็นเจ้างู! ช่วงเวลาเล็กๆ แบบนี้ก็ดูน่าตื่นตาตื่นใจได้เช่นกัน คุณเพียงแค่ต้องคอยมองหาและเตรียมกล้องไว้ให้พร้อมสำหรับการถ่ายภาพเท่านั้น
ผมพบว่าตนเองออกเดินสำรวจมากขึ้นเมื่อใช้กล้อง EOS R50 ซึ่งมีขนาดเล็ก คล่องตัว และพกพาได้สะดวก มีสิ่งเล็กๆ มากมายที่ผมสังเกตเห็นขณะเดินไปรอบๆ สวนสาธารณะในสิงคโปร์ เช่นในฉากด้านบน ผมรู้สึกว่าตัวเองอยู่ถูกที่ถูกเวลา และเมื่อมีกล้อง EOS R50 อยู่กับตัว จึงช่วยให้ผมบันทึกช่วงเวลาเหล่านั้นไว้ได้อย่างง่ายดาย คำพูดที่ว่า “กล้องที่ดีที่สุดคือกล้องที่คุณมีอยู่” เหมาะกับสถานการณ์นี้ที่สุด
ความเร็วในการถ่ายต่อเนื่องสูงสุด 12 fps ในโหมดม่านชัตเตอร์อิเล็กทรอนิกส์ชุดแรกของกล้องนั้นเร็วพอที่จะสามารถถ่ายภาพในขณะใดก็ได้อย่างสบายๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อคุณเข้าใจพฤติกรรมของสัตว์แล้ว
3. หาแสงที่เหมาะสม
EOS R50/ RF-S18-150mm f/3.5-6.3 IS STM/ FL: 150 มม. (เทียบเท่า 240 มม.)/ Manual exposure (f/6.3, 1/1600 วินาที)/ ISO 320/ ครอปภาพ
สภาพแสงที่เหมาะสมทำให้ภาพสวยงาม และคุณสามารถลองพลิกแพลงดูได้
เนื่องจากเลนส์ที่ใช้มีระยะจำกัด ผมจึงไม่สามารถถ่ายภาพโคลสอัพของเหยี่ยวปลาใหญ่หัวเทาตัวนี้ได้ตามปกติ ดังนั้น ผมจึงใช้ประโยชน์จากสิ่งที่ธรรมชาติมอบให้ในวันนั้น ซึ่งก็คือแสงแดดยามเช้าที่สว่างจ้า ผมลดระดับแสงในแบ็คกราวด์ลง 1 สต็อป จากนั้นรอให้แสงตกกระทบลงบนตัวแบบในขณะที่บินผ่านไป วิธีนี้ไม่เพียงแต่ทำให้เหยี่ยวดูโดดเด่นออกมาจากแบ็คกราวด์มากขึ้นเท่านั้น แต่ยังทำให้ภาพดูได้อารมณ์มากกว่าภาพนกที่กำลังบินโดยทั่วไปด้วย
ความเข้าใจสภาพแสงและวิธีการใช้แสงจะทำให้ภาพของคุณดูเปลี่ยนไปได้ คุณไม่จำเป็นต้องจำกัดการถ่ายภาพเฉพาะในสถานที่หรือเวลาที่มีแสงสวยๆ เท่านั้น แต่คุณสามารถปรับเปลี่ยนค่าการเปิดรับแสงเพื่อปรับเปลี่ยนปริมาณแสงที่กล้องเปิดรับได้ ดังเช่นที่ผมทำในภาพนี้!
เทคนิค: เปิดรับแสงน้อยอย่างมีจุดประสงค์
คุณสมบัติการจำลองระดับแสงในกล้องมิเรอร์เลสจะช่วยให้คุณเห็นผลลัพธ์ที่ได้จากค่าการเปิดรับแสง ใช้ประโยชน์จากคุณสมบัตินี้เพื่อให้สามารถใช้ค่าการเปิดรับแสงได้อย่างสร้างสรรค์มากยิ่งขึ้น ในภาพนี้ ผมเปิดรับแสงน้อยลงโดยการปรับค่าความไวแสง ISO ในโหมดการเปิดรับแสงแบบแมนนวล หากยังไม่คุ้นเคยกับโหมดการเปิดรับแสงแบบแมนนวล คุณสามารถใช้โหมด Shutter-priority AE ได้เช่นกันในการควบคุมความเร็วชัตเตอร์และใช้ค่าการชดเชยแสงติดลบ
อ่านเพิ่มเติมได้ที่
การจัดแสงในการถ่ายภาพทิวทัศน์ (2): เปิดรับแสงน้อยเพื่อเพิ่มอารมณ์ให้กับภาพ
การถ่ายภาพซากุระต้นเดี่ยว: 3 เทคนิคถ่ายภาพให้น่าประทับใจ
4. ทดสอบทักษะการจัดองค์ประกอบภาพของผม
EOS R50/ RF-S18-150mm f/3.5-6.3 IS STM/ FL: 150 มม. (เทียบเท่า 240 มม.)/ Manual exposure (f/7.1, 1/800 วินาที)/ ISO 1600/ ครอปภาพ
ทดลองกับมุมต่างๆ กัน
การจัดเฟรมภาพเป็นวิธีที่ดีเยี่ยมในการทำให้ภาพของคุณดูแตกต่างออกไป โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อมีช่างภาพจำนวนมากที่ถ่ายภาพในจุดเดียวกัน เมื่อคุณถ่ายภาพได้อย่างที่ตั้งใจไว้สักสองสามภาพแล้ว ให้ลองเดินดูรอบๆ เพื่อหามุมมองอื่นบ้าง ลองดูว่าคุณจะสามารถใช้เทคนิคการจัดองค์ประกอบภาพแบบอื่นได้หรือไม่ สำหรับภาพด้านบน ผมนำใบไม้มาใช้ในการสร้างกรอบภายในเฟรมภาพอีกทีหนึ่ง คุณจะได้ภาพที่หลากหลายจากการจัดองค์ประกอบภาพที่แตกต่างกัน ซึ่งจะช่วยให้คุณมีภาพให้เลือกมากขึ้นนอกเหนือไปจากภาพที่คุณตั้งใจถ่ายในตอนแรก
อุปกรณ์ขนาดเล็กช่วยให้คุณถ่ายภาพได้อย่างเงียบเชียบ
บางครั้งคุณอาจต้องถ่ายภาพโดยซุ่มอยู่เงียบๆ เพื่อไม่ให้สัตว์ตื่นกลัว ซึ่งอุปกรณ์ขนาดใหญ่อาจเป็นอุปสรรคได้ กล้อง EOS R50 และเลนส์คิท RF-S18-150mm f/3.5-6.3 IS STM มีขนาดเล็กพอที่จะทำให้ผมแทรกเข้าไปในที่แคบๆ ได้เพื่อถ่ายภาพด้วยการจัดองค์ประกอบภาพแบบด้านบน
อ่านเพิ่มเติมได้ที่
In Focus: Basic Composition Techniques
วิธีใช้เทคนิคสี่ส่วนเพื่อสร้างสมดุลระหว่างตัวแบบกับทิวทัศน์
การจัดองค์ประกอบภาพที่มีประสิทธิภาพ: ดึงความสนใจไปยังกบตัวจิ๋วในดอกไม้
5. ลองใช้ทางยาวโฟกัสแบบต่างๆ
EOS R50/ RF-S18-45mm f/3.5-6.3 IS STM/ FL: 18 มม. (เทียบเท่า 28.8 มม.)/ Manual exposure (f/8, 1/250 วินาที)/ ISO 100/ แฟลชติดกล้องและอุปกรณ์กระจายแสง
ภาพสัตว์ป่าก็สามารถถ่ายแบบมุมกว้างได้เช่นกัน
หากพูดถึงการถ่ายภาพสัตว์ป่า หลายคนมักจะนึงถึงเลนส์เทเลโฟโต้หรือภาพพอร์ตเทรตของสัตว์แบบโคลสอัพ แต่ที่จริงแล้วมีวิธีการอื่นๆ อีกมากมายในการถ่ายภาพสัตว์ป่า ภาพมุมกว้างจะทำให้เห็นมุมมองของสัตว์ที่แตกต่างออกไปเมื่อเทียบกับภาพที่คุณมักเห็นบนโลกออนไลน์ ตัวอย่างเช่น การเข้าไปให้ใกล้ขึ้นและถ่ายภาพที่ระยะมุมกว้างของเลนส์ทำให้ได้ภาพงูเขียวตุ๊กแกในสไตล์มินิมัลลิสต์พร้อมทั้งเงาสะท้อนของตัวงูด้วย

งูเป็นสัตว์ที่น่าพิศวงเสมอสำหรับผม เจ้าตัวนี้กำลังพักผ่อนในที่โล่งแจ้งภายในมุมเงียบๆ แห่งหนึ่งของอุทยานธรรมชาติ แต่เนื่องจากงูเป็นสิ่งมีชีวิตที่ค่อนข้างขี้อาย จึงเป็นเรื่องปกติที่เราจะเดินไปมาอยู่หลายชั่วโมงโดยไม่เห็นงูสักตัว และกล้อง EOS R50 ช่วยให้ผมมองหางูอยู่ได้พักใหญ่โดยไม่รู้สึกว่าหนักเลย
ข้อควรจำ: ให้ความเคารพตัวแบบด้วย
การถ่ายภาพมุมกว้างอาจทำให้คุณต้องเข้าไปใกล้ตัวแบบมากขึ้น แต่การเคารพพื้นที่ของตัวแบบก็เป็นสิ่งสำคัญเช่นกัน โปรดทำความเข้าใจพฤติกรรมและปฏิกิริยาที่สัตว์ตอบสนองต่อคุณด้วย เรียนรู้วิธีการดูว่าสัตว์แสดงอาการเครียดหรือไม่ ตัวอย่างเช่น สำหรับงูส่วนใหญ่ หากเริ่มแลบลิ้นซ้ำๆ หรือขดตัวจนแน่น ให้คุณถอยออกมา ซึ่งนี่ไม่ใช่เพื่อความปลอดภัยของตัวคุณเองเท่านั้น แต่เพื่อสวัสดิภาพของสัตว์และเป็นการแสดงความเคารพต่อธรรมชาติด้วย อย่าเห็นแก่ภาพจนลืมนึกถึงจริยธรรม!
คำแนะนำของ Wayne ที่จะช่วยให้คุณถ่ายภาพสัตว์ป่าได้ดีขึ้น
1. ไปฝึกซ้อมที่สวนสัตว์
สวนสัตว์เป็นสถานที่ที่เหมาะสำหรับการฝึกถ่ายภาพสัตว์โดยไม่ต้องพบกับความไม่แน่นอนและการรอคอยที่มากนัก มีความเป็นไปได้สูงที่คุณจะพบตัวแบบที่อยากถ่ายและมีแบ็คกราวด์ที่ค่อนข้างใช้ได้ ใช้เวลาที่สวนสัตว์ในการฝึกติดตามตัวแบบและทำความเข้าใจกล้องของคุณก่อนออกไปถ่ายภาพในป่าจริง
2. ถ่ายภาพกับเพื่อนๆ
เมื่อถ่ายภาพกับเพื่อนๆ คุณจะได้มุมมองที่ไม่เหมือนกัน ดวงตาสองคู่ (หรือมากกว่า) ย่อมดีกว่าคู่เดียวเพราะเพื่อนของคุณอาจสังเกตเห็นตัวแบบที่คุณพลาดไป
3. ก่อนที่คุณจะซื้อกล้องใหม่ ให้ลองอัปเกรดเลนส์ดูก่อน
ขณะถ่ายภาพด้วยกล้อง EOS R50 และเลนส์คิท สิ่งแรกที่ผมเริ่มคิดถึงคือเลนส์ของผม ไม่ใช่ตัวกล้องที่มีระดับสูงกว่า เลนส์สามารถทำให้ภาพของคุณเปลี่ยนไปได้อย่างเหลือเชื่อ ดังนั้น หากกล้องนี้เป็นกล้องตัวแรกของคุณและคุณคิดอยากจะอัปเกรดอุปกรณ์ ให้ลองซื้อเลนส์ใหม่มาใช้ก่อนที่จะมองหากล้องรุ่นใหม่
ตัวอย่างเช่น เลนส์ที่มีระยะไกลกว่าจะช่วยให้คุณหลีกเลี่ยงคุณภาพของภาพที่ลดลงซึ่งเกิดจากการครอปภาพที่มากเกินไปได้ และเลนส์ที่มีคุณภาพสูงขึ้นพร้อมกับรูรับแสงกว้างสุดที่ใหญ่ขึ้นจะช่วยให้คุณถ่ายภาพได้ดียิ่งขึ้นในสภาวะแสงน้อย และคุณจะยังสามารถใช้เลนส์เหล่านี้ได้อยู่แม้ฝีมือคุณจะพัฒนาไปเกินกว่าจะใช้กล้องรุ่นเดิมแล้ว!
ความเห็นเกี่ยวกับกล้อง EOS R50
ผมมักจะถ่ายภาพสัตว์ป่าด้วยกล้อง EOS R3 หรือ EOS R6 และเลนส์ซูเปอร์เทเลโฟโต้ การมีอุปกรณ์ถ่ายภาพเฉพาะทางถือเป็นเรื่องที่ดี แต่ผมคิดว่าการได้ย้อนกลับมาสู่พื้นฐานการถ่ายภาพโดยการฝึกฝนทักษะของคุณโดยไม่ต้องพึ่งพากล้องจนมากเกินไปก็เป็นเรื่องที่ดีเช่นกัน
โฟกัสอัตโนมัติที่ใช้งานได้ในขณะที่ข้อจำกัดจะช่วยฝึกปรือทักษะการถ่ายภาพ
โฟกัสอัตโนมัติของกล้อง EOS R50 สามารถ “ตามติด” ตัวแบบได้ดีในระดับหนึ่ง ผมจึงสามารถถ่ายภาพส่วนใหญ่ได้อย่างง่ายดายโดยปล่อยให้กล้องทำหน้าที่ของมันได้ ผมสามารถใช้สมาธิไปกับการหาช่วงเวลาสำหรับถ่ายภาพและใช้ความคิดสร้างสรรค์โดยไม่ต้องกังวลเรื่องทางเทคนิคมากนัก แม้ระยะเวลาระหว่างการกดปุ่มชัตเตอร์และการจับภาพจะมีความล่าช้าอยู่เล็กน้อย แต่การเอาชนะปัญหานี้ทำให้เรากลับมาเห็นความสำคัญของการทำความเข้าใจตัวแบบและเรียนรู้ที่จะรอคอยให้ถึงช่วงเวลาที่เหมาะสม ซึ่งเป็นพื้นฐานที่สำคัญในการถ่ายภาพสัตว์ป่า!
ข้อดีของความคล่องตัวที่มากยิ่งขึ้น
บอดี้ที่มีขนาดกะทัดรัดและน้ำหนักเบาของ EOS R50 ทำให้รู้สึกกระปรี้กระเปร่าเมื่อเทียบกับน้ำหนักของอุปกรณ์ที่ผมใช้ตามปกติ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อใช้ร่วมกับเลนส์ซูม RF-S กล้องรุ่นนี้ช่วยแบ่งเบาน้ำหนักบนบ่าของผมได้จริงๆ ผมพบว่าตนเองออกเดินหาภาพที่จะถ่ายเป็นเวลานานกว่าเดิมเมื่อเทียบกับอุปกรณ์ที่ผมใช้ประจำ
ภาพรวม
กล้องระดับสูงอย่าง EOS R3 ออกแบบมาเพื่อความเร็วและประสิทธิภาพด้วยเทคโนโลยีมากมายที่ช่วยให้ช่างภาพมืออาชีพถ่ายภาพในช่วงวินาทีที่สำคัญได้อย่างแม่นยำในสถานการณ์ที่แทบไม่มีช่องว่างสำหรับความผิดพลาด แต่การจะรู้สึกว่าประสบความสำเร็จนั้นเกิดจากกระบวนการด้วยเช่นกัน การใช้กล้อง EOS R50 ช่วยให้ผมทำงานช้าลงและเพลิดเพลินไปกับการถ่ายภาพได้อีกครั้ง
รับข่าวสารล่าสุดเกี่ยวกับการถ่ายภาพ รวมถึงเคล็ดลับและกลเม็ดต่างๆ
ร่วมเป็นส่วนหนึ่งของชุมชนชาว SNAPSHOT
ลงทะเบียนตอนนี้!เกี่ยวกับผู้เขียน
Wayne มีความเชื่อมั่นในความสำคัญของพื้นฐานการถ่ายภาพ และมักจะหาวิธีในการท้าทายทักษะของตนเองอยู่เสมอ แม้เขาจะเริ่มต้นด้วยการถ่ายภาพสตรีทขณะอาศัยอยู่ต่างประเทศ แต่ชีวิตของเขาก็เปลี่ยนไปเมื่อได้รู้จักกับการถ่ายภาพสัตว์ป่า และขณะนี้การถ่ายภาพสัตว์ป่าก็ได้กลายมาเป็นความหลงใหลที่เขามักจะเพลิดเพลินไปกับมันเสมอเมื่อมีเวลาว่าง หากไม่ได้สอนถ่ายภาพในเวิร์กช็อปหรือถ่ายภาพคอนเสิร์ตและอีเวนต์สำหรับงานฟรีแลนซ์
Instagram: @waynephotojournal