หากคุณกำลังจะเดินทางไปเที่ยวในประเทศที่มีหิมะตก ต่อไปนี้คือเทคนิคง่ายๆ ในการสร้างสรรค์ภาพหิมะให้น่าประทับใจ! (เรื่องโดย: Toshiki Nakanishi, KG PHOTO CREATOR, Kunihito Ohtsubo, Digital Camera Magazine)
เทคนิคที่ 1: ความมหัศจรรย์ของการชดเชยแสง
ภาพและเทคนิคโดย: Toshiki Nakanishi
ภาพเหล่านี้ถ่ายได้โดยใช้การทำงานของกล้องแทบทั้งหมด! มีเพียงภาพที่แบ็คกราวด์เป็นสีดำเท่านั้นที่ต้องอาศัยการปรับแต่งของระดับสีขาวและดำในกระบวนการปรับแต่งภาพ
ฤดูหนาวมาเยือนฮอกไกโดอีกครั้งหนึ่งแล้ว และทุกสิ่งก็ถูกปกคลุมไปด้วยหิมะหนา หากกล่าวว่าฤดูหนาวเป็นฤดูที่มีสีสันน้อยที่สุดคงไม่ผิดนัก แต่นั่นหมายถึงโอกาสในการท้าทายสายตาและความสร้างสรรค์ของช่างภาพอย่างคุณด้วยเช่นกัน สำหรับภาพด้านบน ผมพยายามลองดูว่าจะสามารถถ่ายภาพให้แตกต่างกันได้กี่ภาพจากฉากเดิมซึ่งมีโทนสีเดียว และนี่คือวิธีหนึ่งการถ่ายภาพดังกล่าวโดยไม่ต้องอาศัยเอฟเฟ็กต์จากเลนส์ แต่ใช้เพียงค่าการชดเชยแสงแบบสุดขั้วเท่านั้น
ขั้นตอนที่ 1: ใช้เลนส์เทเลโฟโต้และตัดสินใจว่าจะจัดเฟรมภาพอย่างไร
เมื่อได้พบกับฉากที่กว้างใหญ่ตระการตา สิ่งสำคัญที่สุดอย่างหนึ่งที่ช่างภาพมักจะต้องตัดสินใจเสมอคือ “ฉันควรถ่ายส่วนไหนของฉากดี” ข้อนี้เป็นจริงอย่างยิ่งสำหรับสถานที่ที่น่าตื่นตาตื่นใจอย่างฮอกไกโดซึ่งมีความเป็นไปได้อยู่ทุกหนแห่ง!
นี่คือฉากที่ผมเห็นจริง:
ผมมองเห็นโอกาสในการถ่ายภาพแบบกราฟิก โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อใช้การบีบอัดแบบเทเลโฟโต้ และตัดสินใจที่จะมองหาจังหวะและลวดลาย การหามุมกล้องและจัดเฟรมภาพอย่างเหมาะสมที่ทำให้ผมได้ภาพที่ต้องการถือเป็นขั้นตอนสำคัญสำหรับผลลัพธ์อันน่าทึ่ง
ขั้นตอนที่ 2: ปรับค่าการชดเชยแสงของคุณให้สุด
นี่คือภาพที่ผมจะได้หากใช้ระดับแสงที่ “เหมาะสม” ตามที่กล้องแนะนำ:
EV 0
นั่นเป็นเพราะเมื่อพื้นที่ส่วนใหญ่ของฉากคือสีขาว ตัววัดระดับแสงของกล้องอาจ “ถูกหลอก” ให้ลดระดับแสงในฉากลง คุณจะต้องชดเชยระดับแสงตามนั้น ซึ่งเป็นสิ่งที่กล้องสามารถทำได้ดีที่สุด แต่จะเป็นอย่างไรหากคุณได้ทดลองอะไรสนุกๆ ไปพร้อมกันด้วย
ภาพแบบที่ 1: ทำให้สีขาวของหิมะดูโดดเด่น
EV +0.7
EOS 5D Mark IV/ EF100-400mm f/4.5-5.6L IS II USM/ FL: 214 มม./ Aperture-priority AE (f/16, 1/13 วินาที, EV +0.7)/ ISO 100/ WB: อัตโนมัติ
อุปกรณ์อื่นๆ: ฟิลเตอร์ PL
วิธีนี้เหมาะสำหรับวันที่มีเมฆปกคลุมมากและมีหิมะตก หากคุณใช้โหมดเปิดรับแสงแบบกึ่งอัตโนมัติ เช่น โหมด Av ให้เพิ่มค่าการชดเชยแสง เพื่อให้หิมะดูขาวเท่าที่คุณต้องการ! หากคุณอยู่ในโหมดเปิดรับแสงแบบแมนนวล ให้เพิ่มระดับแสงในภาพเพื่อให้ได้ผลลัพธ์เช่นเดียวกัน สิ่งสำคัญคือต้องดูให้แน่ใจว่าหิมะดูสว่างมากกว่าจะเป็นสีเทา
ภาพแบบที่ 2: สลับสี
EV -0.7
EOS 5D Mark IV/ EF100-400mm f/4.5-5.6L IS II USM/ FL: 300 มม./ Aperture-priority AE (f/16, 1/400 วินาที, EV -0.7)/ ISO 400/ WB: แสงแดด
อุปกรณ์อื่นๆ: ฟิลเตอร์ PL
ในภาพนี้ ผมเปิดรับแสงให้ส่วนไฮไลต์ซึ่งไม่ใช่หิมะ แต่เป็นส่วนสว่างบนต้นเสาที่ได้รับแสงแดด เพื่อให้ส่วนที่เป็นไฮไลต์เหล่านี้โดดเด่นยิ่งขึ้น ผมจึงใช้ค่าการชดเชยแสงที่เป็นลบจนกระทั่งสีดำถูกบดบังไปจนเกือบหมด
ผมเพิ่มเอฟเฟ็กต์ให้เด่นชัดขึ้นในขณะปรับแต่งภาพ RAW โดยการ:
1. ลดเงาลงอีก
2. ปรับระดับของสีดำและขาวเพื่อให้แยกออกจากกันได้ชัดเจนขึ้น
จากนั้นคุณก็จะได้ภาพศิลปะแบบนามธรรมที่ผ่านกระบวนการปรับแต่งเพียงเล็กน้อย!
เทคนิคที่ 2: ใช้แฟลชกับหิมะที่กำลังตก
EOS 5D Mark III/ EF24-105mm f/4L IS USM/ FL: 28 มม./ Manual exposure (f/4, 1/8 วินาที)/ ISO 1600/ WB: แสงแดด
อุปกรณ์อื่นๆ: แฟลช
ภาพโดย: KG PHOTO CREATOR
หิมะที่กำลังตกนั้นสวยงามราวเวทมนตร์เสมอ อย่างไรก็ตาม หากคุณใช้เพียงความเร็วชัตเตอร์สูงเพื่อหยุดช่วงเวลาดังกล่าวไว้ในภาพ หิมะอาจดูไม่เป็นอย่างที่คุณต้องการ
เคล็ดลับการถ่ายภาพในวันหิมะตกให้ดูชวนฝันยิ่งขึ้นและทำให้เห็นหิมะที่กำลังตกได้อย่างสวยงามคือ การใช้แฟลช
หากคุณเพิ่งหัดถ่ายภาพโดยใช้แฟลช รู้จักกับแฟลช Speedlite ได้ในบทความ:
เริ่มถ่ายภาพโดยใช้แฟลชได้ใน 9 ขั้นตอน!
ขั้นตอนที่ 1: แบ็คกราวด์ที่มืด
ขั้นตอนที่ 2: ปรับระดับแสงให้เหมาะกับฉาก
ขั้นตอนที่ 3: เอียงหัวแฟลชขึ้น เริ่มต้นโดยใช้แสงแฟลชอ่อนๆ ก่อนแล้วจึงค่อยปรับตามความเหมาะสม
ขั้นตอนที่ 1: มองหาสถานที่ที่มีแบ็คกราวด์มืด
คุณต้องการให้มองเห็นหิมะได้อย่างชัดเจน ท้องฟ้าในยามค่ำคืนจึงเป็นตัวเลือกที่ดี! หลีกเลี่ยงแบ็คกราวด์ที่มีสีอ่อนหรือสีขาว เพื่อให้ได้ผลลัพธ์ที่ดีที่สุด ฉากของแบ็คกราวด์ควรอยู่ไกลออกไป หากใกล้เกินไป หิมะจะกลมกลืนไปกับแบ็คกราวด์ด้วย นอกจากนี้ กำแพงและอาคารที่อยู่ใกล้เคียงจะสะท้อนแสงจากแฟลชและทำให้ฉากดูสว่างอย่างไม่เป็นธรรมชาติ
ขั้นตอนที่ 2: เลือกระดับแสงที่เหมาะสมที่สุดก่อนใช้แฟลช
แฟลชจะให้แสงสว่างแก่หิมะที่กำลังตกและท้องฟ้า แต่ระดับแสงในฉากนั้นจะขึ้นอยู่กับการตั้งค่าในกล้องของคุณ หากคุณให้กล้องเป็นผู้จัดการทุกอย่าง (เช่น ใช้ค่าการเปิดรับแสงอัตโนมัติหรือกึ่งอัตโนมัติ และตั้งค่าแฟลชไว้ที่โหมด E-TTL) องค์ประกอบเหล่านี้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งส่วนที่อยู่ในโฟร์กราวด์อาจดูสว่างอย่างไม่เป็นธรรมชาติ
ก่อนยิงแฟลช ให้คุณถ่ายภาพในฉากเพื่อทดสอบโดยไม่ใช้แฟลชก่อน ในขั้นตอนนี้ หากท้องฟ้าในส่วนที่จะมีหิมะดูมืดเกินไปก็ไม่เป็นไร! ให้คุณปรับการตั้งค่า (หรือใช้การชดเชยแสง) จนกระทั่งระดับแสงในฉากมีลักษณะอย่างที่คุณต้องการ หากคุณไม่ได้ใช้โหมดเปิดรับแสงแบบแมนนวลอยู่แล้ว ให้จดค่าแต่ละแบบไว้ เปลี่ยนมาใช้โหมดเปิดรับแสงแบบแมนนวล แล้วนำค่าเหล่านั้นมาใช้
ขั้นตอนที่ 3: เอียงหัวแฟลชขึ้นแล้วจึงยิงแฟลช
เอียงหัวแฟลชขึ้นด้านบนเข้าหาหิมะที่กำลังตก หันแฟลชออกมาจากฉากบนพื้น มิฉะนั้นแสงจากแฟลชที่ทำให้พื้นบางส่วนสว่างขึ้นอาจทำให้ได้ภาพที่ดูไม่เป็นธรรมชาติ! นอกจากนี้ คุณควรเริ่มต้นโดยใช้แสงแฟลชอ่อนๆ ก่อนแล้วจึงเพิ่มขึ้นหากจำเป็น
หากไม่แน่ใจเกี่ยวกับการตั้งค่าแฟลชแบบแมนนวล ในโหมดแฟลชอัตโนมัติ E-TTL คุณสามารถใช้การชดเชยแสงแฟลชได้เพื่อควบคุมแสงแฟลช อ่านได้ที่:
เมื่อแฟลชทำให้ใบหน้าของตัวแบบสว่างเกินไป
หากมีกล้องที่มีแฟลชในตัว คุณอาจถ่ายภาพให้ได้ผลลัพธ์ใกล้เคียงกันได้แม้ว่ามุมของแสงแฟลชจะมีความยืดหยุ่นน้อยกว่า ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับสภาวะต่างๆ อ่านเพิ่มเติมได้ที่:
เทคนิคการใช้แฟลชติดกล้อง #6: วงกลมโบเก้ที่น่ามหัศจรรย์ในวันฝนตก (สามารถใช้แฟลชกับสายฝนได้เช่นกัน!)
จุดโฟกัส: เทคนิคการใช้แฟลชติดกล้อง
ภาพอีกแบบหนึ่ง: ใช้รูรับแสงกว้างเพื่อเปลี่ยนหิมะให้กลายเป็นโบเก้ชวนฝัน
EOS 5DS/ EF70-200mm f/2.8L IS II USM/ FL: 145 มม./ Aperture-priority AE (f/2.8, 1/100 วินาที, EV -0.7)/ ISO 640/ WB: อัตโนมัติ/ ครอปที่ 4:5
อุปกรณ์อื่น: แฟลช
ภาพโดย: Kunihito Ohtsubo
เมื่อใช้เลนส์เทเลโฟโต้ไวแสง คุณจะสามารถเปลี่ยนหิมะที่กำลังตกให้กลายเป็นวงกลมโบเก้สวยงามขนาดใหญ่ซึ่งทำให้ฉากดูเหนือจริงยิ่งขึ้นได้ ภาพนี้ถ่ายโดยใช้ค่า f/2.8 ซึ่งเป็นค่ารูรับแสงกว้างสุดของเลนส์ ผมปรับลดระดับแสงในภาพลงเล็กน้อยโดยใช้ค่าการชดเชยแสงเป็นลบ (EV -0.7) เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดแสงสว่างโพลน
เรื่องราวเบื้องหลังภาพนี้: ภาพจากการวางแผนที่ต้องอาศัยจังหวะเวลาที่เหมาะสม
สถานีรถไฟในฉากนี้คือสถานีสึโบจิริบนทางรถไฟสายโดซาน สถานีแห่งนี้ตั้งอยู่ในจังหวัดโทคุชิมะทางตอนใต้ของประเทศญี่ปุ่น และเป็นสถานีฮิเคียว (สถานีห่างไกล) อันมีชื่อเสียงซึ่งดึงดูดผู้ที่ชื่นชอบรถไฟได้เป็นจำนวนมาก สถานีนี้จะดูงดงามเป็นพิเศษเมื่ออยู่ท่ามกลางหิมะที่กำลังพัดพา และนี่เป็นฉากที่ผมต้องการถ่ายภาพให้ได้
ผมใช้เวลาสองสามวันในการเฝ้าดูหิมะตกในสถานที่ดังกล่าวโดยใช้ข้อมูลจากสำนักงานอุตุนิยมวิทยาในท้องถิ่นและกล้องบันทึกภาพสดจากทางเดินรถไฟ จะต้องมีหิมะตกในปริมาณที่เหมาะสม หิมะที่มากเกินไปจะบดบังฉากด้วยโบเก้และทำให้มองเห็นสถานีรถไฟได้น้อยลง แต่หากน้อยเกินไปก็จะไม่ได้ผลลัพธ์อย่างที่ต้องการ ทิศทางลมก็ส่งผลกระทบต่อภาพที่ได้เช่นกัน
ผมลองถ่ายภาพทดสอบสองสามภาพก่อนรถไฟจะมาถึงเพื่อเตรียมการตั้งค่าและมุมต่างๆ ให้พร้อม ที่เหลือก็ขึ้นอยู่กับดวงแล้ว!
ดูบทเรียนและเทคนิคการถ่ายภาพด้วยแฟลชติดกล้องง่ายๆ เพิ่มเติมได้ที่:
[เทคนิคการใช้แฟลช] วิธีการถ่ายภาพให้ได้สีสันน่าประทับใจในสภาพย้อนแสง
[เทคนิคการใช้แฟลช] ถ่ายภาพพอร์ตเทรตยามค่ำคืนในสไตล์ป๊อปอาร์ต
พิเศษ: เคล็ดลับการถ่ายภาพในฤดูหนาว
- นำแบตเตอรี่เสริมไปด้วย อากาศเย็นทำให้แบตเตอรี่มีอายุสั้นลง เก็บแบตเตอรี่เสริมไว้ในที่ที่อบอุ่น เช่น ในกระเป๋าเสื้อหรือกางเกงของคุณ
- ใช้เลนส์ฮูดและ/หรือฟิลเตอร์ UV เพื่อปกป้องชิ้นส่วนด้านหน้าของเลนส์จากหิมะและวัตถุอื่นๆ
- พกที่เป่าลมไปด้วย เพื่อเป่าเกล็ดหิมะที่ตกลงมาบนเลนส์หรือฟิลเตอร์ UV ของคุณ หลีกเลี่ยงการใช้มือหรือผ้า เนื่องจากอาจทิ้งรอยเปื้อนเอาไว้ได้!
- นำถุงพลาสติกแบบสุญญากาศ เช่น ถุงซิปล็อคไปด้วย และใส่อุปกรณ์กล้องลงไปก่อนนำออกไปกลางแจ้ง การทำเช่นนี้จะช่วยให้อุปกรณ์ของคุณปลอดภัยจากการควบแน่น
- หากอุปกรณ์ของคุณไม่มีซีลป้องกันสภาพอากาศ ให้นำผ้าคลุมกันฝนไปด้วย เพื่อป้องกันไม่ให้อุปกรณ์เปียกในสภาพอากาศที่มีหิมะหรือฝนตก เสื้อกันฝนหรือถุงพลาสติกก็สามารถใช้ได้เช่นกัน แต่จะไม่เป็นปัญหาสำหรับกล้องที่มีซีลป้องกันสภาพอากาศหรือเลนส์ที่ป้องกันน้ำและฝุ่นได้
- อย่าตกใจ หากหน้าจอ LCD ด้านหลังและ/หรือช่องมองภาพอิเล็กทรอนิกส์ในกล้องของคุณเริ่มหน่วงหรือหยุดทำงาน อาการนี้สามารถเกิดขึ้นได้เมื่ออากาศเย็นจัดและคุณอยู่กลางแจ้งมาพักหนึ่งแล้ว โดยเฉพาะอย่างยิ่งหากกล้องของคุณไม่ได้ออกแบบมาเพื่อใช้งานในสภาพอากาศสมบุกสมบัน กล้องจะกลับมาทำงานตามปกติเมื่อคุณทำให้กล้องอุ่นขึ้น
อ่านเพิ่มเติมได้ที่: วิธีการป้องกันกล้องของคุณสำหรับการถ่ายภาพในสภาพอากาศหนาวเย็น
อ่านเกี่ยวกับจุดถ่ายภาพในฤดูหนาวที่สวยงามตระการตา เคล็ดลับ และไอเดียการถ่ายภาพเพิ่มเติมได้ที่:
3 วิธีในการถ่ายภาพฉากฤดูหนาวสีเดียวให้ดูน่าสนใจ
ทิวทัศน์ฤดูหนาวแสนมหัศจรรย์: เมื่อเกล็ดหิมะระยิบระยับราวอัญมณีกลายเป็นเสาแสงอาทิตย์
การถ่ายภาพภูเขาไฟฟูจิในฤดูหนาว: จุดถ่ายภาพและเคล็ดลับการจัดองค์ประกอบภาพ
เกี่ยวกับผู้เขียน
นิตยสารรายเดือนที่เชื่อว่าความสุขของการถ่ายภาพจะยิ่งเพิ่มขึ้น เมื่อผู้ถ่ายภาพได้เรียนรู้เกี่ยวกับฟังก์ชั่นต่างๆ ของกล้องมากยิ่งขึ้น นิตยสารเล่มนี้เผยแพร่ข่าวสารเกี่ยวกับกล้องรุ่นใหม่ๆ รวมถึงคุณสมบัติของกล้องและนำเสนอเทคนิคการถ่ายภาพอย่างหลากหลาย
จัดพิมพ์โดย Impress Corporation
เกิดปี 1971 ในโอซาก้า หลังจากศึกษาการถ่ายภาพด้วยตัวเอง Nakanishi ย้ายสถานที่ดำเนินกิจกรรมถ่ายภาพของตนไปยังเมือง Biei ที่อำเภอ Kamikawa-gun ในฮอกไกโด นอกจากถ่ายภาพทิวทัศน์ที่โฟกัสที่แสงเป็นหลักแล้ว เขายังสร้างสรรค์ผลงานที่เน้นถึงความงามของธรรมชาติในจินตนาการอีกด้วย เขามีตำแหน่งเป็นหัวหน้า PHOTO OFFICE ของ atelier nipek
Kunihito Ohtsubo เป็นผู้ก่อตั้งและประธานชมรมกล้องถ่ายรูปชิโกกุ ซึ่งมีสมาชิกกว่า 100 คน พวกเขาต้องการให้ผู้อื่นได้รู้จักความสวยงามทางธรรมชาติอันอุดมสมบูรณ์และวัฒนธรรมดั้งเดิมอันมีเสน่ห์ของชิโกกุ ธุรกิจหลักของเขาคือการผลิตสื่อที่มีส่วนช่วยในการฟื้นฟูอุตสาหกรรมในท้องถิ่นผ่านรูปภาพและฟุตเทจต่างๆ ซึ่งรวมถึงการถ่ายภาพให้หน่วยงานรัฐบาลในท้องถิ่นของชิโกกุและองค์กรท่องเที่ยว การส่งเสริมและสนับสนุนกิจกรรม รวมถึงการตัดสินการประกวดภาพถ่าย
อินสตาแกรม: @kunihito_ohtsubo
KG PHOTO CREATOR เป็นช่างภาพทิวทัศน์ที่อาศัยอยู่ในคิวชูและเป็นนักรีวิวกล้องที่มักจะเขียนบทความและถ่ายภาพให้กับนิตยสารกล้องถ่ายรูป นอกจากนี้ เขายังเป็นที่ปรึกษาอย่างเป็นทางการให้กับฟิลเตอร์ NiSi ด้วย
อินสตาแกรม: @kg.photo.creator