ต่อไปนี้เป็นเคล็ดลับการใช้กล้องและเลนส์ให้เกิดประโยชน์สูงสุดในทริปเที่ยวสวนสัตว์ครั้งต่อไปของคุณ สิ่งที่คุณต้องมีคือ กล้องกับเลนส์เทเลโฟโต้ (เรื่องโดย: Yurika Terashima นิตยสารกล้องดิจิทัล/ สถานที่: สวนสัตว์โยโกฮะมะ ซูระเซีย)
EOS R6 Mark II/ RF100-500mm f/4.5-7.1L IS USM/ FL: 500 มม./ Manual exposure (f/7.1, 1/80 วินาที)/ ISO 200
1. ถ่ายภาพโคลสอัพให้สวยดั่งใจด้วยการตั้งค่าโหมด AF ที่เหมาะสม
สวนสัตว์เต็มไปด้วยโอกาสในการถ่ายภาพมากมายหลายแบบ แต่ภาพประเภทหนึ่งที่คุณจะต้องอยากถ่ายให้ได้คือ ภาพโคลสอัพ ไม่ว่าสัตว์จะกินอาหาร เหยียดแข้งเหยียดขา ทำพฤติกรรมประสาสัตว์ หรือแสดงอารมณ์คล้ายมนุษย์จนน่าตกใจ การถ่ายภาพโคลสอัพเป็นวิธีหนึ่งในการจับภาพท่าทางและการแสดงออกของสัตว์อย่างตรงไปตรงมาและน่าประทับใจ
การจับโฟกัสอย่างแม่นยำเป็นสิ่งที่ขาดไม่ได้สำหรับฉากลักษณะนี้ เพราะไม่ว่าอย่างไรก็ตาม แม้แต่การถ่ายภาพช่วงเวลาที่สมบูรณ์แบบที่สุดก็อาจใช้ไม่ได้ หากไม่มีความคมชัดในจุดที่ควรจะเป็น ต่อไปนี้คือวิธีที่คุณสามารถตั้งค่าโฟกัสอัตโนมัติ (AF) ของกล้องเพื่อเพิ่มโอกาสในการถ่ายภาพให้สำเร็จได้มากยิ่งขึ้น!
เคล็ดลับที่ 1: เปิดใช้งานฟังก์ชั่น Animal Detection AF
ฟังก์ชั่น Animal Detection AF ในกล้องซีรีย์ EOS R รุ่นใหม่ๆ ได้รับการฝึกฝนผ่านเทคโนโลยีการเรียนรู้เชิงลึก (Deep learning) ทำให้สามารถตรวจจับใบหน้า ศีรษะ ดวงตา และลำตัวของสุนัข แมว และนกได้ ในกล้องบางรุ่น เช่น EOS R8 และ EOS R6 Mark II ฟังก์ชั่นนี้จะสามารถตรวจจับม้าได้อีกด้วย เมื่อคุณตั้งค่า “เป้าหมายที่ตรวจจับ” เป็น “สัตว์” กล้องจะให้ความสำคัญกับสัตว์ก่อน แม้ว่าจะมีมนุษย์หรือยานพาหนะอยู่ในเฟรมภาพก็ตาม
เคล็ดลับที่ 2: สลับใช้โหมดพื้นที่ AF ต่างๆ ตามสถานการณ์
พื้นที่ AF กว้างๆ เช่น หนึ่งในโหมดขยายพื้นที่ AF จะใช้ได้ผลดีกว่าหากถ่ายภาพสัตว์ทั้งตัวหรือทั้งฝูงดังเช่นในภาพด้านบน
หากมีสิ่งกีดขวางอย่างรั้วหรือกรงอยู่ตรงหน้า ให้ใช้โหมดพื้นที่ AF ที่มีความแม่นยำขึ้น เช่น AF จุดเล็ก หรือ AF จุดเดียว เพราะการใช้พื้นที่ AF กว้างๆ อาจทำให้โฟกัสไปที่สิ่งกีดขวางแทน แต่หากต้องการจับภาพฝูงสัตว์ให้อยู่ในโฟกัส ให้สลับไปใช้โหมดพื้นที่ AF ที่กว้างขึ้น เช่น โหมดโซน AF แบบยืดหยุ่น หรือโหมดขยายพื้นที่ AF
อ่านเพิ่มเติมเกี่ยวกับโหมดพื้นที่ AF และการตั้งค่า AF ได้ใน
5 เคล็ดลับเพื่อการตรวจจับและติดตามตัวแบบที่ดียิ่งขึ้น
เคล็ดลับที่ 3: ใช้โหมด Servo AF เพื่อติดตามสัตว์ที่เคลื่อนไหว
จากแบบนี้…
Servo AF จะติดตามตัวแบบแม้แต่เวลาที่พวกมันเคลื่อนไหว คุณจึงมั่นใจได้ว่าโฟกัสจะอยู่ในตำแหน่งที่คุณต้องการเสมอ…
…เป็นแบบนี้
…ในจังหวะอันสมบูรณ์แบบเมื่อคุณกดปุ่มชัตเตอร์
หากสัตว์กำลังเคลื่อนไหว ให้ตรวจดูให้แน่ใจว่าคุณกำลังใช้โหมด Servo AF โหมดนี้มีประสิทธิภาพอันยอดเยี่ยมในการติดตามตัวแบบ โดยจะติดตามสัตว์ไปได้ทุกที่ทั้งทั่วพื้นที่ AF (100% ของพื้นที่ภาพในกล้องส่วนใหญ่เมื่อใช้เลนส์ที่เข้ากันได้) ทำให้มีความยืดหยุ่นอย่างมากในการถ่ายภาพแม้ว่าคุณจะต้องเปลี่ยนองค์ประกอบภาพก็ตาม
ฟังก์ชั่นที่มีประโยชน์: ชัตเตอร์เงียบ
ฟังก์ชั่นชัตเตอร์เงียบไม่เพียงแต่ปิดเสียงลั่นชัตเตอร์เท่านั้น แต่ยังปิดแหล่งกำเนิดแสงและเสียงอื่นๆ ด้วย เช่น เสียงระบบสัมผัส ไฟและเสียงตัวตั้งเวลา แสงไฟช่วยปรับโฟกัส และการยิงแฟลช จึงช่วยให้คุณสามารถถ่ายภาพได้โดยไม่เป็นจุดสนใจในระหว่างเวลาให้อาหารสัตว์หรือช่วงกิจกรรมอื่นๆ ของสวนสัตว์
แฟลชและแสงไฟช่วยปรับโฟกัสอาจทำให้สัตว์บางชนิดเกิดความเครียดและเกิดปฏิกิริยาที่คาดเดาไม่ได้หรือรู้สึกไม่ปลอดภัย การปิดใช้งานฟังก์ชั่นดังกล่าวจึงมีประโยชน์ถึงสองต่อ
2. ใช้ทางยาวโฟกัสที่ยาวที่สุดเท่าที่จะทำได้เพื่อไม่ให้ถ่ายติดรั้วตาข่าย
EOS R6 Mark II/ RF100-500mm f/4.5-7.1L IS USM/ FL: 500 มม./ Manual exposure (f/7.1, 1/640 วินาที)/ ISO 200
กรงมากมายในสวนสัตว์มีลวดตาข่ายล้อมรอบ ซึ่งจะปรากฏเป็นเส้นสีดำในภาพถ่ายหากคุณถ่ายผ่านรั้วแบบปกติ วิธีถ่ายภาพสัตว์ในกรงให้ออกมาสวยงามปราศจากเส้นดังกล่าว
1. ตั้งรูรับแสงให้กว้างที่สุด (ค่า f ต่ำที่สุด) เท่าที่จะทำได้
2. ใช้ทางยาวโฟกัสที่ยาวที่สุดในเลนส์ของคุณ
3. เล็งกล้องให้เลนส์อยู่ใกล้กับรั้วมากที่สุดเท่าที่จะทำได้
เพราะจะช่วยเบลอลวดตาข่ายให้ดูเด่นชัดน้อยลงหรือมองไม่เห็นเลย
การตั้งค่ารูรับแสงแคบ
รั้วตาข่ายปรากฏเป็นเส้นสีดำบดบังสิงโต
การตั้งค่ารูรับแสงกว้าง
ถ่ายโดยใช้ทางยาวโฟกัสเท่ากับภาพตัวอย่างก่อนหน้า การตั้งค่ารูรับแสงที่กว้างขึ้นทำให้รั้วตาข่ายดูเบลอและเด่นชัดน้อยลง
เคล็ดลับพิเศษ: หากสัตว์อยู่ใกล้รั้วมากเกินไป คุณจะเบลอลวดไม่ได้ผลนัก ในกรณีนี้ ให้รอจนกว่าสัตว์จะขยับตัวห่างออกไป
เรียนรู้เคล็ดลับเพิ่มเติมเกี่ยวกับเทคนิคนี้ได้ใน วิธีถ่ายภาพสัตว์ในสวนสัตว์ผ่านรั้วตาข่าย
อุปกรณ์ที่แนะนำ: เลนส์ที่มีทางยาวโฟกัสถึง 300 มม. ขึ้นไป
เลนส์ซูเปอร์เทเลโฟโต้ที่มีทางยาวโฟกัสอย่างน้อย 300 มม. (เทียบเท่าฟูลเฟรม) เหมาะมากสำหรับการถ่ายภาพประเภทนี้ เพราะจะช่วยให้คุณถ่ายภาพสัตว์แบบโคลสอัพได้ดีขึ้นและเบลอรั้วตาข่ายอย่างได้ผลมากขึ้น
เลนส์ RF100-400mm f/5.6-8 IS STM และ RF100-500mm f/4.5-7.1L IS USM เป็นตัวเลือกที่ดีทั้งคู่ ไม่เฉพาะในสวนสัตว์เท่านั้นแต่สำหรับการถ่ายภาพสัตว์ป่าโดยทั่วไปด้วย ทางยาวโฟกัสที่ยาวขึ้นและรูรับแสงกว้างสุดที่กว้างขึ้นจะช่วยได้เสมอ ดังนั้น คุณควรใช้เลนส์ RF100-500mm f/4.5-7.1L IS USM หากเป็นไปได้
3. ใช้โหมดการถ่ายภาพต่อเนื่องความเร็วสูง + (H+) เพื่อจับภาพการเปลี่ยนแปลงเล็กๆ น้อยๆ ในท่วงท่าการเคลื่อนไหว
EOS R6 Mark II/ RF70-200mm f/2.8L IS USM/ FL: 168 มม./ Manual exposure (f/7.1, 1/640 วินาที)/ ISO 800
การจับภาพวินาทีสำคัญในสวนสัตว์อาจเป็นเรื่องท้าทายความสามารถมากกว่าที่คุณคิด! ตั้งค่าโหมดลั่นขับเคลื่อนไปที่ “ถ่ายภาพต่อเนื่องความเร็วสูง +” (H+) เพื่อใช้ค่าความเร็วสูงสุดเท่าที่จะเป็นไปได้ในกล้องของคุณสำหรับการถ่ายภาพต่อเนื่อง วิธีนี้จะช่วยเพิ่มโอกาสในการจับภาพท่วงท่าการเคลื่อนไหวให้ออกมาสวยงามสมบูรณ์แบบที่สุดเท่าที่จะทำได้
ยิ่งกล้องมีความเร็วสูงสุดในการถ่ายภาพต่อเนื่องมากเท่าไหร่ ก็ยิ่งจับภาพการเปลี่ยนแปลงเล็กๆ น้อยๆ ในท่วงท่าการเคลื่อนไหวได้ดีขึ้นเท่านั้น EOS R8 EOS R6 Mark II สามารถถ่ายภาพได้สูงสุด 40 เฟรมต่อวินาที (fps)! ความเปลี่ยนแปลงในเสี้ยววินาทีเช่นนี้สามารถสร้างความแตกต่างในแง่ของความน่าประทับใจของภาพที่คุณถ่ายได้ และคุณอาจค้นพบสิ่งใหม่ๆ เวลาดูภาพนั้นอีกด้วย
เคล็ดลับ: ใช้โหมดการถ่ายภาพต่อเนื่องให้ถูกจังหวะ อย่ากดปุ่มชัตเตอร์ค้างไว้!
แม้ว่าคุณจะนึกอยากกดปุ่มชัตเตอร์ค้างไว้ในโหมดถ่ายภาพต่อเนื่องมากแค่ไหน แต่กล้องของคุณไม่สามารถถ่ายภาพต่อเนื่องไปเรื่อยๆ โดยไม่มีกำหนด หลังจากผ่านไปครู่หนึ่ง กล้องจะหยุดถ่ายภาพและหันไปวุ่นกับการบันทึกภาพลงในการ์ดหน่วยความจำ คุณจะไม่สามารถลั่นปุ่มชัตเตอร์ได้ในระหว่างนั้น ซึ่งอาจเกิดเหตุการณ์อะไรขึ้นก็ได้!
ระยะเวลาในการถ่ายภาพต่อเนื่องแต่ละครั้งขึ้นอยู่กับปัจจัยหลายประการ เช่น กล้อง การ์ดหน่วยความจำ และแม้แต่แบตเตอรี่ของคุณในบางครั้ง ควบคุมการถ่ายภาพต่อเนื่องของคุณอย่างรอบคอบ โดยดูและกดชัตเตอร์ค้างไว้ตราบเท่าที่มีการเคลื่อนไหวปรากฏให้เห็นเท่านั้น วิธีนี้จะช่วยให้คุณลบภาพทิ้งน้อยลงเวลาที่คัดรูปในภายหลัง
เรียนรู้เพิ่มเติมเกี่ยวกับโหมดชัตเตอร์และโหมดการถ่ายภาพต่อเนื่องได้ใน
โหมดชัตเตอร์และโหมดถ่ายภาพต่อเนื่อง: ควรใช้แต่ละโหมดเมื่อใด
ฟังก์ชั่นที่มีประโยชน์: โหมดถ่ายต่อเนื่องแบบ RAW และการถ่ายภาพล่วงหน้า
อย่าเพิ่งกังวลไปหากคุณไม่อาจคาดเดาพฤติกรรมของสัตว์ได้ล่วงหน้า เมื่อคุณเปิดใช้งานโหมดถ่ายต่อเนื่องแบบ RAW และการถ่ายภาพล่วงหน้า กล้องจะจับภาพล่วงหน้าได้สูงสุด 0.5 วินาทีก่อนที่จะลั่นชัตเตอร์ คุณสามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมเกี่ยวกับโหมดนี้และวิธีการใช้ได้ที่ คำถามที่พบบ่อยเกี่ยวกับการตั้งค่ากล้อง: การถ่ายต่อเนื่องแบบ RAW และการถ่ายภาพล่วงหน้าคืออะไร
เกี่ยวกับผู้เขียน
นิตยสารรายเดือนที่เชื่อว่าความสุขของการถ่ายภาพจะยิ่งเพิ่มขึ้น เมื่อผู้ถ่ายภาพได้เรียนรู้เกี่ยวกับฟังก์ชั่นต่างๆ ของกล้องมากยิ่งขึ้น นิตยสารเล่มนี้เผยแพร่ข่าวสารเกี่ยวกับกล้องรุ่นใหม่ๆ รวมถึงคุณสมบัติของกล้องและนำเสนอเทคนิคการถ่ายภาพอย่างหลากหลาย
จัดพิมพ์โดย Impress Corporation
หาก Terashima ไม่ได้ออกไปทำงานถ่ายภาพพอร์ตเทรตสำหรับบทความและโฆษณา เธอจะหันไปทุ่มเทกับการถ่ายภาพสัตว์ในสวนสัตว์ซึ่งเป็นกิจกรรมที่เธอมีใจรักเป็นพิเศษ และหวังว่าสักวันหนึ่งจะได้ไปสวนสัตว์ทั่วโลกครบทุกแห่ง เธอได้จัดนิทรรศการภาพถ่ายสัตว์ในสวนสัตว์แล้วหลายครั้ง ตีพิมพ์คอลเล็กชั่นภาพถ่ายชุดแรกของตัวเองอย่าง Kyou mo doubutsuen [วันนี้ก็ไปสวนสัตว์อีกแล้ว] และร่วมมือกับบริษัทต่างๆ ในการผลิตสินค้าและอุปกรณ์เสริม เช่น โปสการ์ดและเคสโทรศัพท์ นอกจากนี้ Terashima ยังเป็นกรรมการตัดสินการประกวดภาพถ่าย และยังจัดเวิร์กช็อปรวมถึงสัมมนาการถ่ายภาพสำหรับองค์กรต่างๆ มากมาย