การสร้างฉากหลัง: ความรู้เบื้องต้นเกี่ยวกับการถ่ายภาพคอสเพลย์โดยใช้โปรเจคเตอร์
โปรเจคเตอร์ช่วยสร้างฉากหลังสำหรับการถ่ายภาพคอสเพลย์ได้หลากหลายรูปแบบ ต่อไปนี้ เราจะมาดูข้อมูลพื้นฐานและสิ่งที่ควรทราบในการใช้งานโปรเจคเตอร์กัน (เรื่องโดย: Suna, นางแบบ: Yu)
โปรเจคเตอร์: วิธีง่ายๆ ในการสร้างฉากหลังให้เป็นโลกแห่งจินตนาการ
โปรเจคเตอร์ช่วยให้คุณนำภาพที่ต้องการมาสร้างเป็นฉากหลังบนกำแพงหรือจอภาพได้ วิธีนี้จึงเหมาะมากสำหรับการถ่ายภาพคอสเพลย์ ซึ่งต้องสร้างสรรค์โลกแห่งจินตนาการขึ้นบ่อยครั้ง แม้ว่าคุณจะเลือกถ่ายภาพโดยใช้โปรเจคเตอร์ที่บ้านได้ แต่ขอแนะนำให้ถ่ายในสตูดิโอถ่ายภาพที่เหมาะกับการถ่ายภาพด้วยโปรเจคเตอร์ หากคุณต้องการภาพที่มีคุณภาพดียิ่งขึ้น ซึ่งสำหรับสตูดิโอถ่ายภาพบางแห่ง คุณเพียงแค่นำรูปภาพที่จะใช้ในการถ่ายภาพใส่ในแฟลชไดรฟ์ USB ติดตัวไปเท่านั้น
ประเภทของโปรเจคเตอร์ที่มีให้เลือกใช้งาน
โปรเจคเตอร์มีสามประเภทหลักๆ ได้แก่ LCD, DLP และ LCOS
โปรเจคเตอร์แบบ LCOS (Liquid Crystal on Silicon) ให้คุณภาพของภาพระดับสูงสุด แต่มีราคาสูงมากเช่นกัน จึงไม่เหมาะสำหรับการใช้งานส่วนตัว
โปรเจคเตอร์แบบ LCD (Liquid-Crystal Display) และ DLP (Digital Light Processing) มีความแตกต่างกันในเรื่องของวิธีการผลิต แต่คุณจะพบโปรเจคเตอร์ทั้งสองประเภทนี้วางจำหน่ายในท้องตลาดในหลากหลายรูปแบบ และมีช่วงราคา คุณสมบัติ และความสามารถที่ต่างกันไป อันที่จริง ปัจจุบันนี้มีโปรเจคเตอร์ที่มีราคาไม่แพงมากให้เลือกมากมาย
แต่ถึงอย่างนั้น จากประสบการณ์ผมพบว่าการถ่ายภาพคุณภาพสูงโดยใช้โปรเจคเตอร์ราคาประหยัดนั้นทำได้ยาก ไม่ว่าในแง่คุณภาพของภาพหรือขนาดของภาพที่ฉาย แม้ว่าการลงทุนซื้อโปรเจคเตอร์ระดับกลางจะเป็นตัวเลือกหนึ่ง แต่การเช่าอุปกรณ์ประสิทธิภาพสูงที่สตูดิโอถ่ายภาพน่าจะสะดวกกว่า
ผมติดตั้งโปรเจคเตอร์ที่ใช้ในการถ่ายภาพครั้งนี้ไว้ที่เพดานของสตูดิโอถ่ายภาพ เพื่อใช้ฉายภาพไปบนจอภาพขนาดใหญ่ 200 นิ้ว
โปรเจคเตอร์ทำงานได้ดีที่สุดในสภาวะแสงน้อย
การใช้โปรเจคเตอร์ในสภาวะที่มีแสงจ้ามักทำให้ภาพที่ได้ดูจืดชืดลงไป ดังนั้น อย่าลืมทำให้ห้องมืดมากที่สุดเท่าที่จะทำได้ หากในสตูดิโอถ่ายภาพมีโปรเจคเตอร์ติดตั้งไว้อยู่แล้ว ควรตรวจสอบด้วยว่าสภาพแวดล้อมมีความเหมาะสมสำหรับใช้อุปกรณ์ และเนื่องจากสถานที่ถ่ายภาพจะมีแสงน้อย จึงควรระมัดระวังไม่เดินชนหรือสะดุดสิ่งของหรือคนอื่น!
หากคุณเลือกถ่ายภาพที่บ้าน อาจลองใช้ผ้าสีดำหรือม่านบังแสงเพื่อทำให้ห้องมืดขึ้น
สำหรับการถ่ายภาพที่สตูดิโอถ่ายภาพ ไม่น่าจะมีปัญหาในการทำให้ห้องมืดขึ้น แต่หากคุณถ่ายภาพที่บ้าน ควรลองใช้ผ้าสีดำหรือม่านบังแสงเพื่อกันไม่ให้แสงส่องผ่านเข้ามา
ไอเดียสำหรับภาพในฉากหลัง
ต่อไปนี้เป็นภาพที่นิยมใช้ในการถ่ายภาพคอสเพลย์
อวกาศ
เป็นตัวอย่างของสถานที่ที่ไม่สามารถเข้าถึงได้ง่ายในความเป็นจริงและใช้กันบ่อย ซึ่งชาวคอสเพลย์นิยมใช้อวกาศเป็นฉากสำหรับถ่ายภาพเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ
ป่าที่มืดทึบ
ฉากนี้เหมาะสำหรับการถ่ายภาพคอสเพลย์มาก เพราะสามารถสร้างบรรยากาศที่เหมือนฝันได้อย่างมีประสิทธิภาพ
ตึกร้าง
การถ่ายภาพในตึกร้างจริงๆ เป็นเรื่องอันตราย แต่คุณสามารถใช้โปรเจคเตอร์เพื่อจำลองฉากนี้ได้
เคล็ดลับการเลือกภาพฉากหลัง
คุณจะต้องเตรียมภาพถ่ายที่จะใช้เป็นฉากหลัง ต่อไปนี้คือเคล็ดลับบางประการที่ควรทราบ
1. ใช้ภาพที่มีความละเอียดสูงที่สุด
หากคุณใช้ภาพความละเอียดต่ำในการถ่ายภาพ ฉากหลังอาจมีจุดรบกวนเป็นเม็ดเกรนและบรรยากาศจะดูไม่สมจริงเท่าที่ควร
2. เลือกภาพที่มีสีเข้ม
ภาพที่มีสีสันสดใสอาจดูจืดชืดลงและไม่เป็นธรรมชาติ
3. ลองเลือกใช้ฉากที่มืดและเหนือจริงให้มากที่สุด
ความงดงามของการใช้ฉากหลังที่ฉายจากโปรเจคเตอร์คือ ฉากจะดูแปลกมหัศจรรย์เป็นอย่างมาก เราจึงควรนำมาใช้ให้เป็นประโยชน์
4. ตรวจสอบให้แน่ใจว่าโปรเจคเตอร์รองรับรูปแบบไฟล์ภาพของคุณ
โดยเฉพาะอย่างยิ่งหากคุณถ่ายภาพที่สตูดิโอถ่ายภาพและใช้โปรเจคเตอร์ของสตูดิโอ คุณคงไม่อยากไปถึงสตูดิโอแล้วพบว่าไม่สามารถใช้ไฟล์ของตัวเองได้! ตรวจสอบรูปแบบภาพที่โปรเจคเตอร์รองรับล่วงหน้า
ฉายภาพฉากหลังบนผนังสีขาว
หากเราฉายภาพฉากหลังบนผนังสีดำหรือสีอื่นๆ ภาพจะดูมืดสลัว ดังนั้น เพื่อให้ภาพออกมาดีที่สุด ควรฉายภาพบนผนังสีขาวหรือบนจอโปรเจคเตอร์
อย่างไรก็ดี หากสภาพแวดล้อมรอบๆ เป็นสีขาวทั้งหมด แสงจะสะท้อนตกลงบนบริเวณที่ฉายภาพและทำให้ภาพดูจืดชืด วิธีหนึ่งที่จะหลีกเลี่ยงปัญหานี้คือ ใช้ผ้าสีดำคลุมพื้นที่ทั้งหมดที่อยู่นอกบริเวณที่ฉายภาพ
ในภาพนี้กำแพงและพื้นสตูดิโอเป็นสีดำ ซึ่งช่วยให้โปรเจคเตอร์สามารถทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ
ตำแหน่งที่วางโปรเจคเตอร์
วิธีวางตำแหน่งโปรเจคเตอร์และนางแบบขึ้นอยู่กับประเภทของโปรเจคเตอร์ว่าเป็นแบบตั้งพื้นหรือติดเพดาน
สำหรับโปรเจคเตอร์แบบติดเพดาน แน่นอนว่าเราไม่สามารถเคลื่อนย้ายโปรเจคเตอร์ได้ ดังนั้น คุณจะต้องจัดให้นางแบบยืนในตำแหน่งที่ไม่กีดขวางทิศทางที่แสงฉายขึ้นสู่จอภาพ
สำหรับโปรเจคเตอร์แบบตั้งพื้น การวางโปรเจคเตอร์ไว้ด้านหลังนางแบบตามรูปที่ 1 จะเหมาะสมมากที่สุด เพราะช่วยให้คุณมั่นใจว่ามีระยะห่างเพียงพอระหว่างจอโปรเจคเตอร์กับนางแบบ และช่วยลดผลกระทบของแสงจากการถ่ายภาพต่อแสงฉายขึ้นสู่จอภาพ
หากคุณไม่สามารถวางโปรเจคเตอร์ไว้ด้านหลังนางแบบได้เนื่องจากข้อจำกัดด้านพื้นที่ มีอีกทางเลือกหนึ่งคือฉายภาพจากมุมใดมุมหนึ่งดังที่แสดงในรูปที่ 2 สิ่งสำคัญคือ เราต้องไม่วางโปรเจคเตอร์ไว้ในตำแหน่งที่จะทำให้นางแบบขวางทิศทางที่แสงฉายขึ้นสู่จอภาพ (ดูรูปที่ 3)
รูปที่ 1: โปรเจคเตอร์ที่วางด้านหลังนางแบบ
A: จอภาพ
B: โปรเจคเตอร์
C: นางแบบ
หากทราบว่าจอโปรเจคเตอร์กับนางแบบมีระยะห่างที่พอเหมาะแล้ว คุณก็จะสามารถวางโปรเจคเตอร์ไว้ด้านหลังของนางแบบได้ การทำเช่นนี้จะช่วยป้องกันไม่ให้แสงจากการถ่ายภาพรบกวนภาพที่ฉายขึ้นสู่จอโปรเจคเตอร์ สำหรับผู้ที่สงสัยว่าโปรเจคเตอร์จะถ่ายติดเข้ามาในภาพหรือไม่ ก็ไม่ต้องกังวลแต่อย่างใด เพราะเราจะวางโปรเจคเตอร์ไว้บนพื้นด้านหลังนางแบบ
รูปที่ 2: โปรเจคเตอร์ที่วางไว้ที่มุมด้านใดด้านหนึ่งของนางแบบ
A: จอภาพ
B: โปรเจคเตอร์
C: นางแบบ
หากบริเวณด้านหลังของนางแบบมีพื้นที่ไม่เพียงพอสำหรับวางโปรเจคเตอร์ ให้วางโปรเจคเตอร์ไว้ที่มุมด้านใดด้านหนึ่งของนางแบบแทน คุณสมบัติการแก้ไขที่สำคัญของโปรเจคเตอร์จะช่วยให้ภาพที่ฉายขึ้นบนจอไม่บิดเบี้ยว
รูปที่ 3: ตัวอย่างการวางตำแหน่งที่ไม่เหมาะสม
A: จอภาพ
B: โปรเจคเตอร์
C: นางแบบ
D: เงาของนางแบบ
การฉายภาพฉากหลังจากด้านหน้าของนางแบบโดยตรงจะทำให้เงาของนางแบบทอดลงบนจอโปรเจคเตอร์
หากต้องการอ่านบทความเพิ่มเติมเกี่ยวกับคอสเพลย์และการถ่ายภาพ โปรดอ่านบทความต่อไปนี้:
เทคนิคการถ่ายภาพคอสเพลย์ (1): อุปกรณ์จัดแสง
เทคนิคการถ่ายภาพคอสเพลย์ (2): พื้นฐานการจัดแสง
เทคนิคการถ่ายภาพคอสเพลย์ (3): ตัวอย่างการจัดแสงแบบต่างๆ
เทคนิคการถ่ายภาพคอสเพลย์ (4): วิธีถ่ายภาพโดยใช้แสงไฟที่มีสีสัน
เทคนิคการถ่ายภาพคอสเพลย์ (5): เพิ่ม "นางฟ้า" ในภาพโดยใช้การเปิดรับแสงนาน
รับข่าวสารล่าสุดเกี่ยวกับการถ่ายภาพ รวมถึงเคล็ดลับและกลเม็ดต่างๆ
ร่วมเป็นส่วนหนึ่งของชุมชนชาว SNAPSHOT
ลงทะเบียนตอนนี้!
เกี่ยวกับผู้เขียน
Suna ทำงานเป็นช่างภาพในวันธรรมดาเสียส่วนใหญ่และนำเทคนิคถ่ายภาพใหม่ๆ มาใช้อยู่เสมอ อีกทั้งยังเผยแพร่คำอธิบายที่เรียบเรียงอย่างดีและเข้าใจง่ายผ่านทางโซเชียลมีเดีย เช่น Twitter อีกด้วย
ชาวคอสเพลย์ผู้กำลังร่วมโปรเจกต์แต่งคอสเพลย์หลายโปรเจกต์ อาทิ Fate, Danganronpa และ Hatsune Miku ในขณะนี้ เธอโด่งดังมากจากผลงานภาพถ่ายที่เน้นฉากในภาพยนตร์ต่างๆ
Kanata เป็นทั้งชาวคอสเพลย์และศิลปินสมัยใหม่ที่เชี่ยวชาญด้านศิลปะทรงรูป (Plastic arts) เขามีชื่อเสียงจากพื้นผิวอาวุธและอุปกรณ์ป้องกันที่มีรายละเอียดมาก นอกจากนี้ Kanata ยังเป็นชาวคอสเพลย์อย่างเป็นทางการให้กับอะนิเมะเรื่อง “Kabaneri of the Iron Fortress”
สำนักพิมพ์ผู้เชี่ยวชาญด้านหนังสือและนิตยสารเกี่ยวกับวิดีโอ การถ่ายภาพ และภาพประกอบ