โหมดชัตเตอร์และโหมดถ่ายภาพต่อเนื่อง: ควรใช้แต่ละโหมดเมื่อใด
ชัตเตอร์กล ม่านชัตเตอร์อิเล็กทรอนิกส์แรก และชัตเตอร์อิเล็กทรอนิกส์แบบเต็มมีความแตกต่างกันอย่างไร โหมด ‘การถ่ายภาพต่อเนื่องความเร็วสูง +’, ‘การถ่ายภาพต่อเนื่องความเร็วสูง’ และ ‘การถ่ายต่อเนื่องความเร็วต่ำ’ เหมาะที่สุดสำหรับฉากแบบใดบ้าง อ่านต่อเพื่อศึกษาวิธีการเลือกใช้โหมดที่ดีที่สุดสำหรับฉากนั้นๆ และถ่ายภาพให้ได้ผลดีและมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น! (เรื่องโดย: Kazuo Nakahara, Digital Camera Magazine)
ชัตเตอร์ในแต่ละโหมดแตกต่างกันอย่างไร
เมื่อใดก็ตามที่ถ่ายภาพ กล้องของคุณจะควบคุมเวลาในการเปิดรับแสงโดยการเปิดและปิดชัตเตอร์ แต่คุณทราบหรือไม่ว่ามีวิธีการเปิดปิดชัตเตอร์อยู่สามวิธี
ชัตเตอร์กล: ม่านชัตเตอร์จริงจะเปิดออกสำหรับม่านชัตเตอร์ชุดแรก (เริ่มการเปิดรับแสง) และปิดสำหรับม่านชุดที่สอง (สิ้นสุดการปิดรับแสง)
ชัตเตอร์อิเล็กทรอนิกส์*: ม่านชัตเตอร์จริงจะถูกล็อคไว้ในตำแหน่งเปิด ทั้งม่านชุดแรกและชุดที่สองจะถูกควบคุมด้วยอิเล็กทรอนิกส์โดยกล้องที่อ่านพิกเซลจากเซนเซอร์ภาพ
ม่านชัตเตอร์อิเล็กทรอนิกส์แรก*: ม่านชัตเตอร์จริงจะเคลื่อนไหวสำหรับม่านชุดที่สองเท่านั้น
อ่านรายละเอียดเกี่ยวกับลักษณะการทำงานของชัตเตอร์ได้ที่นี่ (ฉบับภาษาอังกฤษ)
*สำหรับกล้อง DSLR โหมดชัตเตอร์เหล่านี้สามารถใช้ได้ระหว่างการถ่ายภาพ Live View เท่านั้น
กล้อง Canon รุ่นใหม่ส่วนใหญ่มีโหมดชัตเตอร์อย่างน้อยสองในสามโหมดดังกล่าว
ข้อควรรู้:
- ในกล้องมิเรอร์เลสบางรุ่น โหมดชัตเตอร์อิเล็กทรอนิกส์แบบเต็มอาจเป็นที่รู้จักกันในอีกชื่อหนึ่ง เช่น 'โหมดชัตเตอร์แบบเงียบ' หรือ 'โหมด SCN แบบเงียบ' (โหมดนี้จะแตกต่างจาก 'โหมดปิดเสียง' ในกล้อง DSLR ซึ่งยังคงใช้ชัตเตอร์กลอยู่)
- ในกล้องบางรุ่น อาจใช้ชัตเตอร์อิเล็กทรอนิกส์ได้ในการถ่ายภาพครั้งเดียวเท่านั้น โปรดดูข้อมูลเพิ่มเติมในคู่มือการใช้งานของคุณ
- สำหรับกล้อง DSLR จะใช้ชัตเตอร์อิเล็กทรอนิกส์ได้ในการถ่ายภาพ Live View เท่านั้นและไม่รองรับการถ่ายภาพผ่าน OVF
- EOS R5 และ EOS R6 เป็นกล้องมิเรอร์เลสรุ่นแรกๆ ที่มีโหมดชัตเตอร์ทั้งสามโหมดสำหรับการถ่ายภาพต่อเนื่องทั้งในระหว่างการถ่ายภาพผ่าน EVF และการถ่ายภาพ Live View
โหมดขับเคลื่อนชัตเตอร์แต่ละแบบมีข้อดีและข้อเสียอย่างไร
|
|
ข้อดี | ข้อเสีย |
- เสี่ยงต่อการเกิดความบิดเบี้ยวจาก Rolling Shutter น้อยกว่า | - อาจเกิดการสั่นของกล้องเนื่องจากชัตเตอร์กลสั่นสะเทือน |
- ไม่ส่งผลต่อโบเก้เมื่อถ่ายภาพโดยใช้ความเร็วชัตเตอร์สูงใกล้ค่ารูรับแสงกว้างสุด | - การตอบสนองของชัตเตอร์ช้ากว่าม่านชัตเตอร์อิเล็กทรอนิกส์แรก/ชัตเตอร์อิเล็กทรอนิกส์ |
|
|
ข้อดี | ข้อเสีย |
- เงียบกว่าชัตเตอร์กล | - โบเก้อาจได้รับผลกระทบเมื่อถ่ายภาพด้วยความเร็วชัตเตอร์สูงใกล้ค่ารูรับแสงกว้างสุด |
- เสี่ยงต่อการเกิดความบิดเบี้ยวจาก Rolling Shutter น้อยกว่า | - อาจได้ระดับแสงที่ไม่สม่ำเสมอ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อใช้เลนส์ยี่ห้ออื่น |
- ตอบสนองได้ไวกว่าเมื่อเทียบกับชัตเตอร์กล | |
|
|
ข้อดี | ข้อเสีย |
- สามารถใช้ความเร็วสูงสุดในการถ่ายภาพต่อเนื่องได้ (เช่น สูงสุด 20 fps สำหรับกล้อง EOS R5/R6) | - เสี่ยงต่อการเกิดความบิดเบี้ยวจาก Rolling Shutter |
- ถ่ายภาพแบบเงียบได้ (ไม่มีเสียงชัตเตอร์กล) | - ไม่สามารถตั้งค่าความเร็วชัตเตอร์ให้ต่ำกว่า 0.5 วินาทีได้ |
- ไม่มีอาการกล้องสั่นจากการสั่นสะเทือนของชัตเตอร์กล |
เคล็ดลับ:
ในกล้อง EOS R5 และ EOS R6 โหมดขับเคลื่อนชัตเตอร์จะถูกตั้งค่าเริ่มต้นไว้ที่ ‘ม่านชัตเตอร์อิเล็กทรอนิกส์แรก’ อย่างไรก็ตาม การปรับปรุงการออกแบบทำให้แทบจะไม่เกิดการสั่นสะเทือนของชัตเตอร์กล ดังนั้น เพื่อคุณภาพของภาพสูงสุด อาจเป็นการดีกว่าหากคุณใช้ ‘ชัตเตอร์กล’ เป็นโหมดหลักและเปลี่ยนมาใช้ ‘ม่านชัตเตอร์อิเล็กทรอนิกส์แรก’ หรือ ‘ชัตเตอร์อิเล็กทรอนิกส์’ ตามความเหมาะสม
วิธีลัด!
หากต้องการสลับโหมดชัตเตอร์ต่างๆ ให้รวดเร็วขึ้น ให้กำหนดปุ่มในการสลับโหมดหรือใส่ตัวเลือกเมนูใน MyMenu
ความบิดเบี้ยวจาก Rolling Shutter: เพราะเหตุใดชัตเตอร์อิเล็กทรอนิกส์จึงไม่ใช่ตัวเลือกที่ดีที่สุดเสมอไป
ในโหมดชัตเตอร์อิเล็กทรอนิกส์ พิกเซลในเซนเซอร์ภาพจะได้รับแสงทีละแถวจากด้านบนลงล่าง ซึ่งใช้เวลามากกว่า จึงอาจทำให้ตัวแบบที่มีความเร็วสูงดูบิดเบี้ยว โดยเฉพาะอย่างยิ่ง หากตัวแบบนั้นกินพื้นที่จนเต็มเฟรมภาพ ในกรณีนี้ ให้เปลี่ยนมาใช้โหมดชัตเตอร์กลหรือม่านชัตเตอร์อิเล็กทรอนิกส์แรกแทน
เรียนรู้เพิ่มเติมเกี่ยวกับเอฟเฟ็กต์ Rolling Shutter ได้ที่นี่ (ฉบับภาษาอังกฤษ)
โหมดถ่ายภาพต่อเนื่องแบบต่างๆ
การถ่ายทุกอย่างด้วยโหมด ‘การถ่ายภาพต่อเนื่องความเร็วสูง +’ อาจดูเป็นวิธีที่ป้องกันข้อผิดพลาดได้มากที่สุด แต่ก็ไม่ได้เป็นวิธีที่มีประสิทธิภาพที่สุดหรือได้ผลดีที่สุดเสมอไป เพราะคุณอาจพลาดโอกาสในการถ่ายภาพได้หากบัฟเฟอร์ของคุณเต็ม และอาจเป็นเรื่องน่าเบื่อหน่ายที่ต้องตรวจดูภาพต่อเนื่องนับไม่ถ้วนเพื่อเลือกภาพที่ดีที่สุด
ต่อไปนี้เป็นตัวอย่างวิธีการที่คุณจะสามารถใช้โหมดถ่ายภาพต่อเนื่องให้แตกต่างกัน
ตัวอย่างที่ 1: ‘การถ่ายภาพต่อเนื่องความเร็วสูง +’ เพื่อถ่ายทอดสิ่งที่เกิดขึ้นในเสี้ยววินาที
EOS R5/ RF24-105mm f/4L IS USM/ FL: 79 มม. Aperture-priority AE (f/4, 1/640 วินาที, EV -1.0)/ ISO 800/ WB: อัตโนมัติ
โหมดที่ใช้:
- การถ่ายภาพต่อเนื่องความเร็วสูง +
- ม่านชัตเตอร์อิเล็กทรอนิกส์แรก
- AF ครั้งเดียว
- AF 1 จุด
ทำได้มากกว่าเพียงแค่ถ่ายภาพตัวแบบที่เคลื่อนที่เร็ว
โหมด ‘การถ่ายต่อเนื่องความเร็วสูง +’ ช่วยให้คุณถ่ายภาพได้ด้วยความเร็วในการถ่ายต่อเนื่องสูงสุดของกล้อง ซึ่งก็คือสูงสุด 20 fps (ชัตเตอร์อิเล็กทรอนิกส์) หรือ 12 fps (ชัตเตอร์กล) สำหรับกล้องอย่าง EOS R5 และ EOS R6 และสูงสุด 14 fps (ชัตเตอร์กล) สำหรับกล้อง EOS M6 Mark II นอกจากจะถ่ายตัวแบบที่เคลื่อนที่เร็วได้แล้ว โหมดนี้ยังเหมาะสำหรับการจับภาพอารมณ์บนใบหน้า ท่าทาง และเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในเสี้ยววินาทีด้วย
คุณอาจคิดว่าภาพคนเดินเช่นภาพด้านบนไม่จำเป็นต้องใช้ความเร็วในการถ่ายต่อเนื่องที่สูงนัก แต่ความจริงแล้ว คุณต้องใช้อย่างน้อย 10 fps จึงจะเห็นความแตกต่างที่ซ่อนอยู่ในรูปทรงของขาของตัวแบบและเงาที่อยู่ใกล้เคียงซึ่งสื่อถึงอารมณ์และมีเอกลักษณ์โดดเด่น ในภาพนี้ ผมตั้งโฟกัสบนทางเท้าไว้ล่วงหน้าโดยใช้ AF 1 จุด กดปุ่มชัตเตอร์โดยใช้โหมด ‘การถ่ายภาพต่อเนื่องความเร็วสูง +’ แล้วจึงเลือกภาพที่ดีที่สุด
อ่านเพิ่มเติมได้ที่:
วิธีถ่ายภาพต่อเนื่องความเร็วสูงเพื่อหยุดช่วงเวลาอย่างมืออาชีพ
ตัวอย่างที่ 2: ‘การถ่ายภาพต่อเนื่องความเร็วสูง’ สำหรับยานพาหนะในเขตเมือง
EOS R5/ RF70-200mm f/2.8L IS USM/ FL: 89 มม./ Aperture-priority AE (f/2.8, 1/1000 วินาที, EV +0.3)/ ISO 100/ WB: อัตโนมัติ
โหมดที่ใช้:
- การถ่ายภาพต่อเนื่องความเร็วสูง
- ชัตเตอร์กล
- Servo AF
- การตรวจจับใบหน้า + การติดตาม AF
เพียงพอสำหรับตัวแบบที่กำลังเคลื่อนที่ส่วนใหญ่
สำหรับกล้องอย่าง EOS R5 และ EOS R6 โหมด ‘การถ่ายภาพต่อเนื่องความเร็วสูง’ จะมีความเร็วสูงสุด 6 ถึง 8 fps ซึ่งเพียงพอสำหรับตัวแบบที่กำลังเคลื่อนที่ส่วนใหญ่ รวมถึงรถไฟที่กำลังเข้าใกล้ทางข้ามทางรถไฟ
และจำนวนภาพที่น้อยลงในการถ่ายต่อเนื่องหนึ่งครั้งยังช่วยลดเวลาที่ต้องใช้ในการประมวลผลและบันทึกภาพลงในการ์ดด้วย ซึ่งหมายความว่า กล้องของคุณจะพร้อมสำหรับการถ่ายภาพต่อเนื่องครั้งต่อไปได้เร็วขึ้น คุณจึงสามารถรับมือกับฉากที่ไม่คุ้นเคยหรือการกระทำที่ยากต่อการคาดเดาได้ง่ายขึ้น
ตัวอย่างที่ 3: ‘การถ่ายภาพต่อเนื่องความเร็วต่ำ’ สำหรับเครื่องบินที่กำลังบินขึ้นหรือลงจอด
EOS R5/ RF70-200mm f/2.8L IS USM/ FL: 200 มม./ Aperture-priority AE (f/2.8, 1/3200 วินาที, EV +0.3)/ ISO 100/ WB: อัตโนมัติ
โหมดที่ใช้:
- การถ่ายภาพต่อเนื่องความเร็วต่ำ
- ชัตเตอร์กล
- Servo AF
- Large Zone AF (แนวนอน)
ถ่ายภาพต่อเนื่องได้ยาวนานขึ้นโดยไม่ต้องกังวลเรื่องบัฟเฟอร์
ความเร็วในการถ่ายต่อเนื่องราว 3 fps อาจช้าเกินไปสำหรับตัวแบบที่กำลังเคลื่อนที่ส่วนใหญ่ แต่ความเร็วเท่านี้เหมาะสำหรับตัวแบบที่คุณจำเป็นต้องถ่ายต่อเนื่องในเวลาที่นานกว่า เช่น เครื่องบินที่กำลังบินขึ้นหรือลงจอด หากใช้ ‘การถ่ายต่อเนื่องความเร็วสูง +’ ในฉากเช่นนี้ อาจทำให้บัฟเฟอร์ของกล้องเต็มในขณะถ่ายภาพ โดยเฉพาะอย่างยิ่งหากคุณใช้การ์ดหน่วยความจำที่มีความเร็วต่ำ การถ่ายภาพต่อเนื่องความเร็วต่ำช่วยให้คุณถ่ายภาพต่อเนื่องติดๆ กันได้จนจบเหตุการณ์โดยไม่ต้องกังวลถึงการหน่วงของกล้องเนื่องจากบัฟเฟอร์เต็ม
หากคุณเกิดแรงบันดาลใจขึ้นมา ขอให้สนุกกับ 3 วิธีสุดสร้างสรรค์ในการใช้โหมดถ่ายภาพต่อเนื่องของกล้อง
รับข่าวสารล่าสุดเกี่ยวกับการถ่ายภาพ รวมถึงเคล็ดลับและกลเม็ดต่างๆ
ร่วมเป็นส่วนหนึ่งของชุมชนชาว SNAPSHOT
ลงทะเบียนตอนนี้!เกี่ยวกับผู้เขียน
นิตยสารรายเดือนที่เชื่อว่าความสุขของการถ่ายภาพจะยิ่งเพิ่มขึ้น เมื่อผู้ถ่ายภาพได้เรียนรู้เกี่ยวกับฟังก์ชั่นต่างๆ ของกล้องมากยิ่งขึ้น นิตยสารเล่มนี้เผยแพร่ข่าวสารเกี่ยวกับกล้องรุ่นใหม่ๆ รวมถึงคุณสมบัติของกล้องและนำเสนอเทคนิคการถ่ายภาพอย่างหลากหลาย
จัดพิมพ์โดย Impress Corporation
เกิดที่เมืองฮอกไกโดในปี 1982 Nakahara ผันเข้าสู่วงการถ่ายภาพหลังจากทำงานในบริษัทผลิตสารเคมี เขาถ่ายภาพที่ Vantan Design Institute เป็นหลักและเป็นผู้บรรยายในเวิร์คช็อปและสัมมนาด้านการถ่ายภาพ นอกเหนือจากการทำงานถ่ายภาพโฆษณา เขายังเป็นหนึ่งในผู้ดำเนินงานเว็บไซต์ที่ให้ข้อมูลด้านการถ่ายภาพอย่าง studio9 อีกด้วย