การถ่ายภาพทิวทัศน์: เทคนิคในการถ่ายภาพพายุที่กำลังเคลื่อนตัว
เราควรตั้งค่ากล้องแบบใดเพื่อถ่ายภาพหมู่เมฆที่มืดครึ้มของพายุฝนที่กำลังเคลื่อนตัวโดยไม่สูญเสียรายละเอียดไป ในบทความนี้ เราจะมาศึกษากันว่าช่างภาพมืออาชีพใช้เทคนิคใดบ้างเพื่อให้ได้ภาพพายุที่กำลังเคลื่อนตัวเข้าสู่เมือง (เรื่องโดย: Rika Takemoto)
EOS 5D Mark II/ EF24-105mm f/4L IS USM/ FL: 70 มม./ Aperture-priority AE (f/8, 1/80 วินาที, EV+0.7)/ ISO 200/ WB: แสงแดด
ในภาพนี้ฉันตั้งใจดึงความสนใจไปที่ก้อนเมฆและแนวฝนที่กำลังเคลื่อนตัวและเปลี่ยนแปลงไป ฉันถ่ายภาพในแนวนอนและจับภาพสิ่งที่อยู่รอบๆ ด้วยเพื่อแสดงให้เห็นว่าพายุอยู่เฉพาะที่อย่างไร นอกจากนี้ ฉันยังให้ความสำคัญกับการเปิดรับแสงเพื่อให้มั่นใจว่าจะไม่สูญเสียรายละเอียดของก้อนเมฆไป
เรื่องราวเบื้องหลัง: พายุฝนเฉพาะพื้นที่ซึ่งเกิดจากปรากฏการณ์เกาะความร้อน
พายุแต่ละลูกนั้นไม่เหมือนกัน คุณอาจคิดว่านี่เป็นเพียงพายุฝนธรรมดาที่เคลื่อนตัวผ่านมาหากคุณได้เห็นเข้า แต่ความจริงแล้วเป็นพายุฝนเฉพาะพื้นที่ที่เกิดจากปรากฏการณ์เกาะความร้อน ซึ่งพบเห็นได้ยาก ปรากฏการณ์นี้เกิดในเขตเมืองเมื่อกิจกรรมและการใช้พลังงานของมนุษย์ เช่น พลังงานความร้อนจากเครื่องปรับอากาศและรถยนต์ด้านนอก รวมถึงความร้อนจากยางมะตอยจะเพิ่มสูงขึ้นจนทำให้เกิดเมฆฝนฟ้าคะนองที่ส่งผลให้การตกของฝนมีความผิดปกติ เช่น สายฝนที่เทกระหน่ำเฉพาะพื้นที่ เนื่องจากปรากฏการณ์เช่นนี้จะเกิดขึ้นเฉพาะในเขตเมืองเท่านั้น ดังนั้น การถ่ายภาพก้อนเมฆดังกล่าวจึงทำได้ค่อนข้างยากหากคุณไม่มีจุดที่มองเห็นทัศนียภาพได้กว้างขวาง อย่างเช่น หอชมวิว
วิธีการถ่ายภาพนี้
สถานที่ถ่ายภาพ:
จากหอชมวิวซึ่งฉันสามารถถ่ายภาพของเมืองจากมุมสูงได้
สภาพอากาศ:
อากาศดีแต่มีเมฆครึ้ม มีเมฆมากในบริเวณรอบๆ แต่ท้องฟ้าเป็นสีฟ้าในบริเวณแบ็คกราวด์ที่อยู่ไกลออกไป
สิ่งที่ต้องการถ่ายทอด:
สภาพของพายุฝนที่กำลังเคลื่อนตัว ซึ่งสามารถทำได้ด้วยการถ่ายภาพฝนที่กำลังตกเฉพาะบางพื้นที่เพื่อสร้างความต่างระหว่างพายุและความสงบโดยรอบ
การจัดองค์ประกอบภาพ:
ฉันตัดสินใจใช้ภาพแนวนอนเพื่อแสดงพื้นที่ที่ไม่ได้รับผลกระทบจากพายุ
ด้วยการใช้การจัดองค์ประกอบภาพตามกฎสามส่วน ฉันเลือกวางเมืองไว้ที่บริเวณสามส่วนล่างของภาพ และวางท้องฟ้าอันกว้างใหญ่ไพศาลไว้ที่บริเวณสองในสามส่วนของจอภาพด้านบน
เพื่อเน้นถึงความหนักหน่วงของฝนที่เทกระหน่ำและเมฆฝนฟ้าคะนองที่ปรากฏอยู่ ฉันจึงวางเมฆฝนฟ้าคะนองที่ทำให้เกิดฝนและแนวฝนไว้ตรงกลางภาพโดยใช้เทคนิคการจัดองค์ประกอบภาพแบบกึ่งกลาง แล้วจึงปรับโฟกัส
อุปกรณ์เพิ่มเติม: ฟิลเตอร์ PL
เนื่องจากแสงสว่างภายในหอชมวิวอาจสะท้อนกับกระจก ฉันจึงขยับเข้าไปใกล้กระจกหน้าต่างและใช้ฟิลเตอร์โพลาไรซ์ทรงกลม (เรียกอีกอย่างว่า ฟิลเตอร์ PL) เพื่อขจัดแสงสว่างจ้าที่สะท้อนและถ่ายภาพความเขียวขจีและท้องฟ้าสีครามให้มีชีวิตชีวายิ่งขึ้น
เคล็ดลับที่ 1: ใช้ค่ารูรับแสงที่ทำให้ได้ทั้งระยะชัดลึกและความเร็วชัตเตอร์สูง ซึ่งก็คือ f/8
สำหรับฉากนี้ ฉันจำเป็นต้องใช้ค่า f ที่มีระยะชัดลึก เพราะต้องการเน้นรายละเอียดและความรู้สึกถึงก้อนเมฆในแบบสามมิติให้มากที่สุด และเนื่องจากไม่สามารถใช้ขาตั้งกล้องบนหอชมวิว ค่า f ที่ใช้จึงต้องเอื้อต่อการถ่ายภาพแบบถือด้วยมือเมื่อใช้ความเร็วชัตเตอร์สูงโดยไม่เกิดปัญหากล้องสั่น ดังนั้น ค่า f/8 จึงช่วยสร้างสมดุลระหว่างความต้องการทั้งสองนั้นได้เป็นอย่างดี
เคล็ดลับที่ 2: จุดโฟกัสที่ทำให้ตัวแบบหลักดูโดดเด่น – ก้อนเมฆ
ฉันโฟกัสที่ตัวแบบหลักคือ เมฆฝนฟ้าคะนองซึ่งทำให้เกิดฝนตกหนัก การโฟกัสอัตโนมัติที่ตัวแบบเช่นนี้อาจเป็นเรื่องยากเนื่องจากมีความแตกต่างของความเปรียบต่างระหว่างความสว่างกับความมืดที่ไม่ชัดเจน ดังนั้น ฉันจึงโฟกัสไปที่บริเวณที่มีก้อนเมฆสีเทาแทน
เคล็ดลับพิเศษ: ดูให้แน่ใจว่าขอบของก้อนเมฆอยู่ในโฟกัส เพราะจะทำให้ถ่ายภาพได้ง่ายขึ้นแม้รูปร่างของก้อนเมฆและสภาพแสงจะมีการเปลี่ยนแปลงอยู่เสมอ
เคล็ดลับที่ 3: หลีกเลี่ยงการเปิดรับแสงน้อยเกินไปโดยใช้การชดเชยแสง EV+0.7
ความขาวของก้อนเมฆอาจหลอกให้กล้องเปิดรับแสงน้อยกว่าปกติ ความจริงแล้ว เมื่อฉันใช้การเปิดรับแสงที่เหมาะสมซึ่งกล้องกำหนดค่าให้ ปรากฏว่าภาพที่ได้ดูมืดเล็กน้อยและค่อนข้างน่ากลัว การใช้ค่าการชดเชยแสงเป็นบวกทำให้ภาพสว่างขึ้น
ข้อควรระวัง: หากคุณทำให้ภาพสว่างจนเกินไป พื้นผิวและความเป็นสามมิติของเมฆก้อนใหญ่จะหายไป ดังนั้น สำหรับภาพนี้ฉันจึงตั้งค่าไว้ที่ EV+0.7
สำหรับเคล็ดลับการถ่ายภาพพายุกลางแจ้งเพิ่มเติม โปรดดูที่บทความนี้:
การถ่ายภาพภูมิทัศน์: ถ่ายภาพ พายุ
รับข่าวสารล่าสุดเกี่ยวกับการถ่ายภาพ รวมถึงเคล็ดลับและกลเม็ดต่างๆ
ร่วมเป็นส่วนหนึ่งของชุมชนชาว SNAPSHOT
ลงทะเบียนตอนนี้!เกี่ยวกับผู้เขียน
นิตยสารรายเดือนที่เชื่อว่าความสุขของการถ่ายภาพจะยิ่งเพิ่มขึ้น เมื่อผู้ถ่ายภาพได้เรียนรู้เกี่ยวกับฟังก์ชั่นต่างๆ ของกล้องมากยิ่งขึ้น นิตยสารเล่มนี้เผยแพร่ข่าวสารเกี่ยวกับกล้องรุ่นใหม่ๆ รวมถึงคุณสมบัติของกล้องและนำเสนอเทคนิคการถ่ายภาพอย่างหลากหลาย
จัดพิมพ์โดย Impress Corporation
Rika เป็นช่างภาพทิวทัศน์ที่เริ่มต้นจากการถ่ายภาพเป็นกิจกรรมยามว่างตั้งแต่ปี 2004 และเริ่มดูแลเว็บไซต์แชร์ภาพถ่ายในปี 2007 เธอเรียนรู้การถ่ายภาพจากช่างภาพทิวทัศน์ธรรมชาติอย่าง Yoshiteru Takahashi ก่อนจะผันตัวเป็นช่างภาพอิสระ นับแต่นั้นมา เธอก็ได้ถ่ายภาพทิวทัศน์หลากหลายรูปแบบทั่วญี่ปุ่น (รวมถึงต่างประเทศด้วย)