ถ่ายภาพสวยดั่งใจ: รถไฟท่ามกลางทิวทัศน์ฤดูใบไม้ร่วงตระการตา
Hirokazu Nagane ช่างภาพทางรถไฟผู้มีชื่อเสียงจากภาพ “ทิวทัศน์รถไฟ” อันน่าทึ่ง ซึ่งถ่ายภาพรถไฟและทัศนียภาพสวยงามไว้ด้วยกันโดยที่องค์ประกอบทั้งสองอย่างต่างดึงดูดสายตาผู้ชมได้ไม่แพ้กัน จะมาแบ่งปันเคล็ดลับในการถ่ายภาพนี้ด้วยกล้อง EOS R (เรื่องโดย: Hirokazu Nagane, Digital Camera Magazine)
EOS R/ RF24-105mm f/4L IS USM/ FL: 98 มม./ Manual exposure (f/11, 1/640 วินาที, EV±0)/ ISO 800/ WB: แสงแดด
เส้นทางรถไฟ: สาย JR Yonesaka (วิ่งระหว่างจังหวัดยามากะตะกับจังหวัดนีงะตะ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือของญี่ปุ่น)
ขั้นตอนพื้นฐานของการถ่ายภาพทิวทัศน์รถไฟ
หนึ่งในพื้นฐานของการถ่ายภาพทิวทัศน์รถไฟ ซึ่งต่างจากการถ่ายภาพทางรถไฟทั่วไปคือ การขยับเข้าใกล้ส่วนที่สวยที่สุดของฉาก ซึ่งไม่ใช่การถ่ายภาพโคลสอัพของรถไฟ ดังนั้น ผมจึงเลือกการตั้งค่าการเปิดรับแสงที่ได้ผลดีที่สุดสำหรับทิวทัศน์ธรรมชาติเสมอ ส่วนรถไฟนั้นเป็นสิ่งที่ผมให้ความสำคัญเป็นอันดับสอง
อย่างไรก็ตาม เนื่องจากการถ่ายภาพลักษณะนี้เป็นการถ่ายภาพทางรถไฟอีกรูปแบบหนึ่งด้วย ตัวรถไฟจึงต้องดึงดูดความสนใจได้มากพอเช่นกัน การสร้างความสมดุลนี้อาจเป็นหนึ่งในแง่มุมที่ท้าทายที่สุดของการถ่ายภาพแนวนี้
สิ่งที่ทำให้ภาพนี้ได้ผล: การจัดแสง
ภาพนี้ถ่ายในสภาวะที่มีแสงด้านหลัง ซึ่งไม่เพียงแต่เพิ่มมิติความลึกให้กับฉาก แต่ยังทำให้ส่วนต่างๆ ในฉากดูส่องประกายอีกด้วย ดังนั้น ใบไม้ในฤดูใบไม้ร่วงจึงมีสีสันเข้มขึ้นและสดใสยิ่งขึ้น
สภาพย้อนแสงทำให้ด้านหน้าของรถไฟมีส่วนที่ดูมืดเกินไปอยู่บ้าง แต่ก็แทบจะสังเกตไม่เห็น ไฟหน้าและหลังคาของรถไฟที่ส่องประกายท่ามกลางแสงแดดนั้นเพียงพอแล้วที่จะดึงดูดความสนใจของเรา
3 เทคนิคเพื่อถ่ายภาพได้สวยดั่งใจ
1. หน้าจอ EVF: เปลี่ยนหน้าจอเพื่อให้ไอคอนทั้งหมดอยู่ด้านนอกตัวอย่างภาพ
ตามค่าเริ่มต้นแล้ว EVF จะแสดงการแสดงผลแบบที่ 1 ซึ่งเป็นการแสดงตัวอย่างภาพแบบเต็มหน้าจอที่ไอคอนการถ่ายภาพจะวางซ้อนกันบนภาพตัวอย่าง ผมใช้การแสดงผลแบบที่ 2 ซึ่งจะนำไอคอนต่างๆ ไปไว้ด้านนอก เพื่อให้ผมมองเห็นตัวแบบได้อย่างชัดเจนจนถึงขอบภาพ
การแสดงผลแบบที่ 1
การแสดงผลแบบที่ 2
หากต้องการเปลี่ยนรูปแบบการแสดงผล ให้ไปที่ “รูปแบบการแสดงผลของช่องมองภาพ” ในเมนู SET UP
2. การโฟกัส: ปิดกลไกการหดเลนส์กลับอัตโนมัติเมื่อปิดเครื่อง
เมื่อคุณถ่ายภาพทิวทัศน์รถไฟ การต้องรอคอยเป็นเวลานานๆ เป็นสิ่งที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ ผมมักจะมีขั้นตอนการทำงานดังนี้
ขั้นตอนที่ 1: ตัดสินใจเกี่ยวกับการจัดเฟรมภาพ
ขั้นตอนที่ 2: หาจุดที่จะจับโฟกัส แล้วจับโฟกัสล่วงหน้า ตรวจดูให้แน่ใจว่าคุณกำลังใช้ AF ด้วยปุ่มด้านหลัง หากไม่ใช่ โฟกัสจะเปลี่ยนไปเมื่อคุณกดปุ่มชัตเตอร์ลงครึ่งหนึ่ง
ขั้นตอนที่ 3: ปิดกล้องจนกว่ารถไฟจะเข้ามาใกล้
อย่างไรก็ตาม ตามค่าเริ่มต้นของกล้อง เมื่อคุณปิดกล้องแล้ว ไม่ว่าจะใช้เลนส์ EF หรือเลนส์ RF โฟกัสจะรีเซ็ตไปที่ระยะอนันต์ ทำให้คุณเสียตำแหน่งโฟกัสที่ตั้งไว้อย่างพิถีพิถันในขั้นตอนที่ 2
ดังนั้น ต้องปิดฟังก์ชั่น “หดเลนส์กลับเมื่อปิดเครื่อง” เพื่อไม่ให้ปัญหาดังกล่าวเกิดขึ้น
ตามค่าเริ่มต้นนั้น การปิดกล้องจะเป็นการรีเซ็ตตำแหน่งโฟกัสบนเลนส์ EF/RF โดยอัตโนมัติ: สังเกตว่าสเกลบอกระยะชัดจะขยับไปที่ “∞”
ป้องกันปัญหานี้ได้โดยตั้งค่า “หดเลนส์กลับเมื่อปิดเครื่อง” เป็น “ปิด”
3. การจัดองค์ประกอบภาพ: แบ่งเฟรมออกเป็น 4 ส่วน และจัดให้รถไฟอยู่ในเฟรมใดเฟรมหนึ่ง
ช่างภาพท่านอื่นๆ อาจมีความคิดที่ต่างออกไป แต่ทฤษฎีของผมคือ ถ้าคุณแบ่งทั้งฉากออกเป็นสี่ส่วนและจัดให้รถไฟอยู่ในส่วนใดส่วนหนึ่ง รถไฟจะดูเด่นยิ่งขึ้นในภาพ
ในการจัดเฟรมภาพนี้ ผมพยายามไม่แสดงฉากมากจนเกินไป เพื่อสร้างความประทับใจที่ดีที่สุดเกี่ยวกับทิวทัศน์ให้กับผู้ชม
ภาพด้านล่างแสดงฉากในภาพหลักในมุมมองที่กว้างขึ้น ผมเลือกที่จะซูมเข้าไปใกล้ในส่วน C
A: กันส่วนนี้ออกไปนอกเฟรมหลังจากพิจารณาการวางตำแหน่งของรางรถไฟแล้ว
B: กันแนวภูเขาไว้นอกเฟรมเช่นกัน การวางองค์ประกอบเช่นนี้ไว้ในเฟรมจะทำให้ผู้ชมเห็นสัดส่วนจริงของทิวทัศน์มากเกินไป
C: ส่วนนี้คือส่วนของฉากที่ผมตัดสินใจเก็บไว้ในภาพ ผมแบ่งเฟรมออกเป็น 4 ส่วน และจัดให้รถไฟอยู่ในเฟรมใดเฟรมหนึ่ง
สำหรับเคล็ดลับเพิ่มเติมเกี่ยวกับการจัดองค์ประกอบภาพ โปรดดูที่:
เทคนิคการจัดองค์ประกอบภาพอย่างมืออาชีพ (1): เส้นนำสายตา จังหวะที่ไม่คาดคิด และการตัดส่วนเกิน
คุณสมบัติที่มีประโยชน์ 2 ข้อสำหรับการถ่ายภาพรถไฟ
1. EVF
ผมชอบมองผ่านช่องมองภาพเพื่อถ่ายภาพรถไฟ เพราะผมรู้สึกว่ามันช่วยให้ผมมีสมาธิดีขึ้นในการถ่ายภาพรถไฟที่กำลังเคลื่อนที่ ท่ามกลางสภาพแสงที่เปลี่ยนแปลงตลอดเวลา การมี EVF เป็นข้อได้เปรียบสำคัญ เพราะผมสามารถเห็นได้ว่าภาพสุดท้ายจะดูเป็นอย่างไรโดยไม่ต้องหันไปตรวจสอบภาพตัวอย่างใน Live View
2. พื้นที่ AF ขนาดใหญ่
ในการถ่ายภาพรถไฟ เรามักจะตั้งจุดโฟกัสไว้ที่มุมของเฟรมภาพ ซึ่งช่วยให้มีพื้นที่ AF ขนาดใหญ่ ในกล้อง EOS R นั้น พื้นที่ AF ครอบคลุมเฟรมภาพเกือบทั้งหมด (แนวนอน 88% × แนวตั้ง 100%) ทั้งในการถ่ายภาพแบบ Live View และผ่าน EVF ซึ่งทำให้จับโฟกัสได้ง่ายมากๆ
รู้หรือไม่ว่าการใช้หัวขาตั้งกล้องวิดีโอสามารถช่วยให้คุณถ่ายภาพรถไฟแบบแพนกล้องได้ อ่านเพิ่มเติมได้ที่
เคล็ดลับที่มืออาชีพใช้ในการถ่ายภาพด้วยขาตั้งกล้อง
สำหรับเคล็ดลับเพิ่มเติมเกี่ยวกับการถ่ายภาพรถไฟ โปรดดูที่:
วิธีถ่ายภาพรถไฟที่กำลังเคลื่อนที่ให้น่าประทับใจด้วยการถ่ายภาพต่อเนื่อง
ทางรถไฟ – การจัดองค์ประกอบภาพและคุณสมบัติเด่นของกล้องเพื่อการถ่ายภาพช่วงเวลาอันน่าประทับใจ
การถ่ายทอดโทนสีดีเยี่ยมและการเกลี่ยแสงสวยสร้างความรู้สึกสมจริงให้กับภาพถ่ายรถไฟ
เรียนรู้เพิ่มเติมเกี่ยวกับฟังก์ชั่นของกล้อง EOS R และวิธีใช้ได้ในบทความ:
สถานที่น่าสนใจในสวิตเซอร์แลนด์: 5 วิธีใช้กล้อง EOS R ให้คุ้มค่าที่สุด
เทคนิคการถ่ายภาพดวงดาวที่ควรลองใช้กับ EOS R
6 คุณสมบัติของกล้อง EOS R ที่เป็นประโยชน์ต่อการถ่ายภาพภูเขาและก้อนเมฆ
รับข่าวสารล่าสุดเกี่ยวกับการถ่ายภาพ รวมถึงเคล็ดลับและกลเม็ดต่างๆ
ร่วมเป็นส่วนหนึ่งของชุมชนชาว SNAPSHOT
ลงทะเบียนตอนนี้!เกี่ยวกับผู้เขียน
นิตยสารรายเดือนที่เชื่อว่าความสุขของการถ่ายภาพจะยิ่งเพิ่มขึ้น เมื่อผู้ถ่ายภาพได้เรียนรู้เกี่ยวกับฟังก์ชั่นต่างๆ ของกล้องมากยิ่งขึ้น นิตยสารเล่มนี้เผยแพร่ข่าวสารเกี่ยวกับกล้องรุ่นใหม่ๆ รวมถึงคุณสมบัติของกล้องและนำเสนอเทคนิคการถ่ายภาพอย่างหลากหลาย
จัดพิมพ์โดย Impress Corporation
เกิดในโยโกฮาม่าในปี 1974 หลังจบการศึกษาจาก Musashi Institute of Technology (ปัจจุบันเรียกกันว่า "Tokyo City University") เขาได้เรียนถ่ายภาพจากช่างภาพทางรถไฟ Mitsuhide Mashima ซึ่งเป็นซีอีโอของ Mashima Railway Pictures ในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา เขาเคยมีส่วนร่วมในการอธิบายเทคนิคการถ่ายภาพทางรถไฟให้กับนิตยสารถ่ายภาพ และเขียนคู่มือการถ่ายภาพทางรถไฟ เขาเดินทางไปทั่วประเทศญี่ปุ่นเพื่อถ่ายภาพรถไฟพร้อมกับยึดคติประจำใจที่ว่า "ถ่ายภาพให้ดูสมจริงจนคุณได้ยินเสียงของรถไฟแม้เพียงแค่มองดูภาพถ่าย"