คำถามที่พบบ่อยเกี่ยวกับเลนส์: ม่านรูรับแสงคืออะไร ม่านรูรับแสงส่งผลต่อภาพถ่ายอย่างไร
คุณอาจเคยเห็นข้อมูลนี้ในสเปคของเลนส์ ไม่ว่าจะเป็น “จำนวนกลีบไดอะแฟรม (หรือม่านรูรับแสง)” และ “รูรับแสงทรงกลม” คำถามก็คือ สิ่งเหล่านี้มีความหมายว่าอย่างไร และส่งผลต่อภาพถ่ายของคุณอย่างไร พบคำตอบได้ในบทความนี้!
ข้อมูลพื้นฐาน: ม่านรูรับแสงคืออะไรและทำหน้าที่อะไรบ้าง
หากคุณเคยมองเข้าไปใกล้ๆ ใน “ช่อง” เลนส์ ก็จะพบว่าในเลนส์ส่วนใหญ่ อาจมีบางสิ่งที่มีลักษณะเช่นนี้เมื่อกล้องปิดอยู่ นั่นคือ
ม่านรูรับแสงหรือที่เรียกกันว่ากลีบไดอะแฟรม ซึ่งเป็นกลีบที่ประกอบกันเป็นช่องตรงกลางเลนส์ ทำหน้าที่ควบคุมขนาดของรูรับแสง ซึ่งก็คือรูในเลนส์ที่เปิดให้แสงผ่านเข้ามาภายในกล้อง
เมื่อคุณเพิ่มค่า f (“ปรับรูรับแสงให้แคบลง”) ม่านรูรับแสงจะขยายออกเพื่อปรับช่องนั้นให้แคบลง แสงจึงผ่านเข้ามาในกล้องได้น้อยลง
เมื่อคุณลดค่า f (“เปิดรูรับแสงให้กว้างขึ้น”) ม่านรูรับแสงจะหด ทำให้ช่องมีขนาดใหญ่ขึ้น แสงจึงผ่านเข้ามาในกล้องได้มากขึ้น
เกร็ดน่ารู้: ระบบวัดแสงด้วยรูรับแสงกว้างสุด
เพราะเหตุใดจึงถ่ายได้ภาพด้านบนเมื่อกล้องปิดอยู่ นั่นเป็นเพราะเมื่อกล้องเปิดอยู่ ม่านรูรับแสงมักจะหดลงจนสุด (เปิดกว้าง) คุณอาจไม่สามารถมองเห็นม่านรูรับแสงได้ ขึ้นอยู่กับเลนส์ที่คุณใช้!
นั่นเป็นเพราะกล้อง Canon ทำการวัดแสงด้วยรูรับแสงกว้างสุด กล่าวคือ ไม่ว่าคุณจะตั้งค่ารูรับแสงไว้เท่าไหร่ รูรับแสงจะยังคงเปิดกว้างจนกว่าคุณจะลั่นชัตเตอร์ ทั้งนี้เพื่อให้มั่นใจว่าปริมาณแสงสูงสุดจะเข้าสู่เซนเซอร์ภาพได้ ยิ่งมีแสงเข้ามาก ก็ยิ่งมีข้อมูลมาก ซึ่งจะช่วยในเรื่องฟังก์ชั่นต่างๆ เช่น การเปิดรับแสงอัตโนมัติและการโฟกัสอัตโนมัติ!
อ่านเพิ่มเติมได้ที่:
เลนส์ไวแสงทำให้มองเห็นผ่านช่องมองภาพได้ง่ายขึ้นหรือไม่
เมื่อถ่ายภาพด้วยรูรับแสงกว้างสุด จำนวนม่านรูรับแสงจะไม่ส่งผลต่อโบเก้…
นี่เป็นภาพโคลสอัพของเลนส์สองรุ่นพร้อมม่านรูรับแสงเมื่อใช้รูรับแสงกว้างสุด ในภาพทั้งสอง จะเห็นได้ว่าม่านรูรับแสงหดลงจนสุด
RF24-105mm f/4L IS USM (ม่านรูรับแสงแบบ 9 กลีบ)
RF50mm f/1.2L USM (ม่านรูรับแสงแบบ 10 กลีบ)
คุณสังเกตเห็นอะไรบ้างเกี่ยวกับช่องรูรับแสง
ไม่เกี่ยวกับขนาดที่ต่างกัน
คุณอาจเคยสังเกตเห็นขนาดที่แตกต่างกัน นั่นเป็นเพราะเลนส์ทั้งสองได้รับการออกแบบให้มีรูรับแสงกว้างสุดแตกต่างกัน (f/4 และ f/1.2 ตามลำดับ) ซึ่งไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับจำนวนของม่านรูรับแสง หากคุณมีเลนส์ 50mm f/1.8 คุณจะเห็นลักษณะเช่นเดียวกับตัวอย่างที่สอง จำนวนม่านรูรับแสงจะแตกต่างกันไปแม้ในกลุ่มเลนส์ที่มีค่ารูรับแสงกว้างสุดเท่ากัน!
รูปทรงกลมแบบเดียวกัน
ลองสังเกตรูปทรงของช่อง: ไม่ว่าเลนส์จะมี 9 หรือ 10 กลีบ เมื่อใช้รูรับแสงกว้างสุด ม่านรูรับแสงของเลนส์ทั้งสองรุ่นจะมีรูปทรงกลม
ทดสอบการถ่ายภาพ: แสงโบเก้
ภาพต่อไปนี้ถ่ายโดยใช้เลนส์เดี่ยว 50 มม. สามรุ่น ซึ่งมีจำนวนม่านรูรับแสงที่แตกต่างกัน ดังนี้
- RF50mm f/1.2L USM (ม่านรูรับแสงแบบ 10 กลีบ)
- RF50mm f/1.8 STM (ม่านรูรับแสงแบบ 7 กลีบ)
- EF50mm f/1.8 II (ม่านรูรับแสงแบบ 5 กลีบ)
ภาพทั้งหมดถ่ายดังนี้
- ใช้รูรับแสงกว้างสุดของเลนส์
- จากตำแหน่งการถ่ายภาพเดียวกัน
- ในโหมดแมนนวลโฟกัส โดยตั้งค่าโฟกัสไว้ที่ระยะใกล้สุดของเลนส์
ไม่ว่าจะมีจำนวนม่านรูรับแสงเท่าใด รูปทรงของแสงโบเก้จะยังคงเหมือนเดิม
รูรับแสงแบบ 10 กลีบเปิดกว้าง (f/1.2)
รูรับแสงแบบ 7 กลีบเปิดกว้าง (f/1.8)
รูรับแสงแบบ 5 กลีบเปิดกว้าง (f/1.8)
ข้อควรรู้: เพราะเหตุใดขนาดแสงโบเก้จึงแตกต่างกัน
แม้ขนาดแสงโบเก้จะต่างกัน แต่ก็เป็นไปตามความคาดหมายเนื่องจากปัจจัยต่อไปนี้ที่ส่งผลต่อระยะชัด
ค่ารูรับแสงกว้างสุดที่ต่างกัน: ภาพที่ถ่ายด้วย f/1.2 มีแสงโบเก้ใหญ่กว่าอย่างที่คาดไว้ เนื่องจากการโฟกัสที่ตื้นกว่า (ดูบทความ: พื้นฐานเกี่ยวกับเลนส์ #3: การสร้างโบเก้)
ระยะโฟกัสใกล้สุดที่ต่างกัน: เลนส์ EF50mm f/1.8 II มีระยะโฟกัสใกล้สุดที่ยาวกว่า (45 ซม.) เมื่อเทียบกับเลนส์ RF50mm f/1.8 STM (30 ซม.) ซึ่งหมายความว่า เมื่อใช้เลนส์ RF แสงในแบ็คกราวด์จะอยู่นอกโฟกัสมากกว่า และดูใหญ่กว่าตามไปด้วย
...แต่จะส่งผลเมื่อใช้รูรับแสงที่แคบลง
เมื่อเราใช้รูรับแสงแคบๆ รูปทรงที่เกิดจากม่านรูรับแสงจะมีลักษณะเป็นทรงกลมน้อยกว่า
ภาพด้านบนถ่ายโดยจงใจให้อยู่นอกโฟกัสและถ่ายด้วยค่า f/16 บนเลนส์ที่มีม่านรูรับแสงแบบ 7 กลีบ จะสังเกตได้ว่าแสงโบเก้ทำให้เกิดรูปทรง 7 เหลี่ยม ซึ่งสะท้อนรูปทรงของช่องรูรับแสง
ผลกระทบต่อแฉกแสง
มีอีกสิ่งหนึ่งที่จะเกิดขึ้นเมื่อใช้รูรับแสงที่แคบมาก (f/11 หรือ f/16 เป็นต้นไป) โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อคุณถ่ายโดยใช้แหล่งกำเนิดแสงที่เป็นจุดในเฟรม
ใช่แล้ว แฉกแสง! คุณอาจสังเกตเห็นแฉกแสงเหล่านี้หากเคยลองถ่ายภาพฉากที่มีไฟจากถนนในยามค่ำคืนโดยเปิดรับแสงเป็นเวลานาน เช่น เส้นแสงจากรถยนต์
ลองมาดูภาพตัวอย่างต่อไปนี้ ซึ่งทั้งหมดถ่ายที่ค่า f/16 และระยะ 50 มม. บนเลนส์ที่มีจำนวนม่านรูรับแสงแตกต่างกัน คุณสังเกตเห็นอะไรบ้างเกี่ยวกับจำนวนจุดแฉกแสง
ทดสอบการถ่ายภาพ: แฉกแสง
ม่านรูรับแสงแบบ 5 กลีบ
ม่านรูรับแสงแบบ 7 กลีบ
ม่านรูรับแสงแบบ 9 กลีบ
ม่านรูรับแสงแบบ 10 กลีบ
จำนวนม่านรูรับแสง | จำนวนจุดแฉกแสง |
|
|
|
|
|
|
|
|
ทำไมจึงเป็นเช่นนั้น
เหตุผลก็คือ ลักษณะที่แฉกแสงถูกสร้างขึ้น
เมื่อใช้รูรับแสงแคบๆ (ค่า f สูง) ช่องรูรับแสงจะมีขนาดเล็กและม่านรูรับแสงจะสร้างมุมขึ้นมา แสงที่ผ่านเข้ามาในช่องเล็กๆ นี้จะหักเห (กระจายแสง) ผ่านมุมเหล่านี้ ซึ่งทำให้ได้เอฟเฟ็กต์แฉกแสง
ม่านรูรับแสงแบบ 5 กลีบ
ม่านรูรับแสงแบบ 5 กลีบจะสร้างรูปดาวที่มี 10 แฉก
ม่านรูรับแสงแบบ 7 กลีบ
ม่านรูรับแสงแบบ 7 กลีบจะสร้างรูปดาวที่มี 14 แฉก
ม่านรูรับแสงแบบ 9 กลีบ
ม่านรูรับแสงแบบ 9 กลีบจะสร้างรูปดาวที่มี 18 แฉก
ม่านรูรับแสงแบบ 10 กลีบ
ม่านรูรับแสงแบบ 10 กลีบจะสร้างรูปดาวที่มี 10 แฉกเนื่องจากแต่ละมุมจะอยู่ตรงข้ามกันโดยตรง
ตามกฎทั่วไปในการถ่ายภาพ หากมีม่านรูรับแสงเป็นจำนวนคี่ แฉกดาวจะมีจำนวนเป็นสองเท่าของจำนวนม่านรูรับแสง
หากมีม่านรูรับแสงเป็นจำนวนคู่ แฉกดาวจะมีจำนวนเท่ากับจำนวนม่านรูรับแสง
เคล็ดลับแฉกแสง: ทำให้ได้แฉกแสงที่ชัดเจนที่สุด
1. ถอดฟิลเตอร์ UV ออก
คุณต้องใช้แหล่งกำเนิดแสงจ้าและมีความเข้มเพื่อสร้างแฉกแสง ฟิลเตอร์ UV อาจกระจายแสงที่ผ่านเข้ามาในเลนส์ ทำให้แฉกปรากฏไม่ชัดเจน
2. ตรวจดูให้แน่ใจว่าเลนส์ของคุณสะอาดและแห้ง รวมถึงชิ้นเลนส์ด้านหลังด้วย
ความชื้น สิ่งสกปรก หรือรอยเปื้อนบนเลนส์จะหักเหหรือกระจายแสง ซึ่งส่งผลต่อความชัดเจนของแฉกเช่นกัน อย่าลืมทำความสะอาดกระจกที่ด้านหลังของเลนส์ด้วย และตรวจดูให้แน่ใจว่าคุณไม่ได้เผลอทิ้งรอยนิ้วมือไว้!
3. มองหาแหล่งกำเนิดแสงที่เป็นจุด
รูปทรงของแหล่งกำเนิดแสงจะส่งผลต่อรูปทรงของตรงกลางแฉกแสง
ในภาพนี้มีแหล่งกำเนิดแสงต่างกันสามประเภทที่ทำให้เกิดแฉกแสง นั่นคือโคมไฟถนน ไฟแดงดวงเล็กๆ บนสะพาน และหากมองเข้าไปใกล้ๆ คุณจะเห็นไฟดวงที่สองที่ดูวินเทจจากทางซ้าย คุณคิดว่าแหล่งกำเนิดประเภทใดให้แฉกแสงที่สวยที่สุด และอะไรเป็นสิ่งที่สร้างความแตกต่าง
ภาพเสีย
รอยเปื้อนบนเลนส์ทำให้จุดแฉกแสงของแสงไฟจากท้องถนนที่อยู่ด้านหน้าเบลอ หากคุณต้องการแฉกแสงสวยๆ ทางที่ดีควรพกผ้าเช็ดเลนส์ น้ำยาทำความสะอาดเลนส์ และที่เป่าลมติดตัวไปด้วย และจะเห็นได้ว่ารูปทรงของแสงไฟนั้นส่งผลต่อรูปทรงของแฉกแสงเช่นกัน
รูปทรงของโบเก้ที่ถ่ายด้วยรูรับแสงที่ถูกปรับให้แคบลง
ยิ่งมีม่านรูรับแสงมาก ช่องก็จะยิ่งดูเป็นทรงกลมมากขึ้นแม้เมื่อใช้รูรับแสงแคบๆ ซึ่งจะมีประโยชน์สำหรับฉากที่คุณต้องการให้มีแสงโบเก้ทรงกลม (หรือเรียกอีกอย่างว่า วงโบเก้หรือวงกลมโบเก้) แต่ไม่สามารถใช้รูรับแสงที่กว้างเกินไปได้
7 กลีบ, f/8
10 กลีบ, f/8
โบเก้ f/8 ที่ได้จากม่านรูรับแสงแบบ 5 กลีบจะมีรูปทรงหลายเหลี่ยมอย่างชัดเจน เมื่อเทียบกันแล้ว โบเก้ที่ได้จากม่านรูรับแสงแบบ 10 กลีบจะมีลักษณะคล้ายวงกลม เราจะสังเกตเห็นขอบเฉพาะตอนที่มองใกล้ๆ
สรุป: ผู้ที่ชื่นชอบโบเก้และแฉกแสงห้ามพลาดข้อมูลนี้
จำนวนม่านรูรับแสงจะเริ่มมีความสำคัญเมื่อคุณลดขนาดรูรับแสงลง:
- ม่านรูรับแสงจำนวนมาก: โบเก้เป็นทรงกลมมากขึ้นจากการลดขนาดรูรับแสง
- ม่านรูรับแสงจำนวนน้อย: โบเก้มีรูปทรงหลายเหลี่ยมอย่างเห็นได้ชัดจากการลดขนาดรูรับแสง
- มีม่านรูรับแสงเป็นจำนวนคู่: มีจำนวนจุดแฉกแสงเป็นสองเท่า
- มีม่านรูรับแสงเป็นจำนวนคี่: มีจำนวนจุดแฉกแสงเท่ากัน
เลนส์ซีรีย์ L มักจะมี 9 หรือ 10 กลีบ เลนส์ที่ไม่ได้อยู่ในซีรีย์ L ส่วนใหญ่มี 7 กลีบ
เพื่อให้มั่นใจว่าจะมีโบเก้กลมๆ แม้ใช้รูรับแสงแคบๆ เลนส์ RF และ EF ระดับมืออาชีพ (ซีรีย์ L) หลายรุ่นจึงมีม่านรูรับแสงแบบ 9 กลีบหรือแม้แต่ 10 กลีบ ในขณะที่เลนส์ที่ไม่ได้อยู่ในซีรีย์ L ส่วนใหญ่มีม่านรูรับแสงแบบ 7 กลีบ แต่เลนส์ EF บางรุ่นอาจมี 6 กลีบและ 8 กลีบ
หากโบเก้มีความสำคัญกับคุณมาก และคุณต้องการให้วงกลมโบเก้ดูกลมและนุ่มนวลแม้จะลดขนาดรูรับแสงลงก็ตาม เลนส์ที่มีม่านรูรับแสงมากกว่าจะเหมาะสมกว่า
หากคุณชื่นชอบแฉกแสง ความจริงแล้วขึ้นอยู่กับว่าคุณชอบเอฟเฟ็กต์แฉกแสงแบบไหนมากกว่ากัน! หากคุณชอบแฉกแสงที่มีแฉกน้อยๆ ควรเก็บเลนส์รุ่นเก่าๆ ที่ไม่ได้อยู่ในซีรีย์ L ไว้แม้ว่าคุณจะเปลี่ยนไปใช้เลนส์รุ่นใหม่กว่า
หรือคุณอาจหาฟิลเตอร์เอฟเฟ็กต์รูปดาวมาใช้ก็ได้ แต่ควรระวังว่าฟิลเตอร์นั้นอาจส่งผลต่อความคมชัดของภาพโดยรวมได้!
เรียนรู้เพิ่มเติมเกี่ยวกับเลนส์และเทคนิคในการใช้เลนส์ให้เกิดประโยชน์สูงสุดได้ที่:
In Focus: Lenses FAQs