เทคนิคการใช้เลนส์สำหรับภาพทิวทัศน์: เลียนแบบภาพเลนส์มุมกว้างที่ระยะ 67 มม.
นอกเหนือไปจากขอบเขตที่เลนส์มุมกว้างถ่ายได้ คุณคงทราบเช่นกันว่าเลนส์ชนิดนี้สามารถเพิ่มเอฟเฟ็กต์เปอร์สเปคทีฟและเพิ่มมิติความลึกได้ด้วย อย่างไรก็ตาม ทางยาวโฟกัสยาวๆ อาจใช้ได้ผลดีกว่าในฉากบางประเภท ซึ่งไม่ได้หมายความว่าจะเสียความลึกและเอฟเฟ็กต์เปอร์สเปคทีฟไป เพราะสิ่งสำคัญคือวิธีการใช้อุปกรณ์ของคุณ! หาคำตอบว่าช่างภาพถ่ายภาพที่ระยะ 67 มม. และถ่ายทอดทั้งขนาดและความหนาแน่นของทุ่งหญ้าซึซึกิ (หญ้าไชนีสซิลเวอร์/หญ้าแพมพัส) อันกว้างใหญ่พร้อมทั้งเลียนแบบลุคภาพมุมกว้างได้อย่างไร (เรื่องโดย: Yoshinori Takahashi, Digital Camera Magazine)
EOS 5DS/ EF24-105mm f/4L IS USM/ FL: 67 มม./ Aperture-priority AE (f/13, 1/125 วินาที), ISO 400, WB: เมฆครึ้ม
อุปกรณ์เสริมอื่นๆ: ฟิลเตอร์ Graduated ND
สถานที่: ที่ราบสูงโออิชิ-โคเง็น จังหวัดวากายามะ ประเทศญี่ปุ่น
เรื่องราวเบื้องหลังภาพนี้
ที่ราบสูงโออิชิ-โคเง็นเป็นสถานที่ที่มีชื่อเสียงแห่งหนึ่งสำหรับการชมทุ่งหญ้าซึซึกิ บางคนกล่าวว่านี่เป็นสถานที่ที่ดีที่สุดในญี่ปุ่นตะวันตก หากมีสภาพแสงที่เหมาะสม ทุ่งหญ้าแห่งนี้จะดูเหมือนผืนพรมสีทองขนาดยักษ์ที่แผ่ขยายออกไปไกลหลายไมล์ ด้วยเป้าหมายในการถ่ายภาพดังกล่าว ผมจึงไปที่นั่นในช่วงเย็นวันหนึ่งของฤดูใบไม้ร่วง โดยไปถึงราว 4 โมงเย็นเพื่อเตรียมพร้อม
ขณะสังเกตสถานที่ ผมก็มองเห็นอะไรบางอย่าง ดังนี้
1. ต้นหญ้าขึ้นอย่างหนาแน่นมาก
นี่คือสิ่งที่ผมต้องการสะท้อนออกมาในภาพ ดังนั้น ผมจึงต้องทำให้แน่ใจว่าองค์ประกอบภาพและเลนส์ที่เลือกใช้จะไม่ทำให้ลักษณะดังกล่าวหายไป
2. เมฆหนากำลังก่อตัวบนท้องฟ้าในระดับต่ำและตอไม้ที่อยู่ใกล้ๆ ทำให้เกิดเงาเป็นแนวยาว
ทีแรกผมต้องการถ่ายภาพขณะพระอาทิตย์ใกล้ตก ซึ่งจะมาถึงในอีกหนึ่งชั่วโมง แสงที่อุ่นกว่าจะทำให้สีสันต่างๆ โดดเด่นมากกว่า แต่เมื่อมีเมฆปกคลุมมากขึ้น ผมไม่ต้องการเสี่ยงที่จะพลาดแสงที่กำลังเรืองรองไปทั้งหมด จึงตัดสินใจถ่ายภาพในทันทีแม้จะเร็วกว่าที่ตั้งใจไว้ และผมตั้งค่าสมดุลแสงขาวไว้ที่ “เมฆครึ้ม” แทนเพื่อขับเน้นสีทองของทุ่งหญ้าให้เด่นชัดยิ่งขึ้น
ขั้นตอนที่ 1: ใช้ทางยาวโฟกัสปานกลาง
ในฉากที่มีความกว้างใหญ่บางฉาก เช่น ทุ่งหญ้า ทุ่งข้าวสาลี หรือทุ่งดอกไม้ คุณจำเป็นต้องถ่ายทอดความหนาแน่นออกมาเพื่อให้ภาพน่าประทับใจยิ่งขึ้น หากคุณถ่ายสถานที่เหล่านี้ด้วยเลนส์มุมกว้าง ภาพจะดูมีระยะห่างมากเกินไป คุณจึงควรลองถ่ายโดยใช้ทางยาวโฟกัสปานกลางแทน ในภาพนี้ ผมพบว่าทางยาวโฟกัสเทเลโฟโต้ระดับกลางที่ 67 มม. ให้การบีบอัดแบบเทเลโฟโต้ที่พอดีสำหรับการ “ซ้อน” ให้ทุ่งหญ้าในโฟร์กราวด์และแบ็คกราวด์ใกล้กันมากขึ้นและทำให้เห็นความหนาแน่นได้อย่างชัดเจน
เพราะเหตุใดจึงไม่ถ่ายด้วยมุมที่กว้างขึ้น
ด้านหน้าผมไม่มีหญ้าซึซึกิมากนัก จึงยากต่อการจัดองค์ประกอบภาพให้น่าประทับใจด้วยทางยาวโฟกัสแบบมุมกว้าง
เพราะเหตุใดจึงไม่ใช้ทางยาวโฟกัสที่ยาวขึ้นอีก
การใช้มุมมองเปอร์สเปคทีฟมีความสำคัญต่อการถ่ายทอดความกว้างใหญ่ของทุ่งหญ้าออกมา หากทางยาวโฟกัสยาวเกินไป การบีบอัดจะทำให้มุมมองเปอร์สเปคทีฟดูแบนราบและทำให้ฉากดูกว้างใหญ่น้อยลง ในภาพนี้ ทางยาวโฟกัสแบบเทเลโฟโต้ระยะกลางความยาวระดับปานกลางที่ 67 มม. ทำให้ได้การบีบอัดในระดับที่พอเหมาะ
สำหรับภาพนี้ ผมซูมเข้าโดยใช้เลนส์ EF24-105mm f/4L IS II USM เลนส์คิทที่เป็นเลนส์ซูมมาตรฐานของคุณน่าจะเพียงพอสำหรับระยะอย่างน้อย 70 มม. เทียบเท่าฟูลเฟรม
เคล็ดลับ: ใช้รูรับแสงที่แคบลง
เมื่อถ่ายด้วยทางยาวโฟกัสที่ยาวๆ ระยะชัดจะตื้นกว่าเวลาถ่ายด้วยทางยาวโฟกัสที่กว้างๆ คุณต้องใช้รูรับแสงที่แคบลงเพื่อให้แน่ใจว่าทุ่งหญ้าส่วนใหญ่จะอยู่ในโฟกัส ในภาพนี้ ผมใช้โฟกัสชัดลึกโดยลดสต็อปลงมาที่ f/13
ขั้นตอนที่ 2: ใส่องค์ประกอบในโฟร์กราวด์เพื่อให้ได้เปอร์สเปคทีฟแบบมุมกว้าง
เทคนิคการจัดองค์ประกอบภาพของเลนส์มุมกว้างอย่างหนึ่งที่นิยมใช้กันคือ ใส่บางอย่างเข้ามาในโฟร์กราวด์ให้อยู่ใกล้กับกล้อง ในภาพนี้ ผมใช้วิธีเดียวกันเพื่อสร้างลุคภาพมุมกว้าง โดยใส่โฟร์กราวด์เข้ามาให้มากที่สุดเท่าที่ทำได้ และยังทำให้ภาพมีความลึกมากขึ้นด้วย
นอกจากนี้ การใช้รูรับแสงแคบๆ เพื่อโฟกัสชัดลึกยังทำให้เกิดลุคที่ดูเหมือนกับภาพมุมกว้างอีกด้วย เนื่องจากการถ่ายภาพมุมกว้างนั้น โดยธรรมชาติจะให้ระยะชัดที่ลึกกว่า
คุณคิดว่าภาพนี้ถ่ายที่ช่วงทางยาวโฟกัสเท่าใด
ขั้นตอนที่ 3: ถ่ายภาพจากตำแหน่งและมุมสูง
เพื่อให้องค์ประกอบต่างๆ อยู่ในโฟกัสมากขึ้น นอกจากจะเพิ่มขนาดรูรับแสงเพื่อโฟกัสลึกแล้ว คุณยังสามารถปรับระดับความสูงและมุมการถ่ายภาพเพื่อให้องค์ประกอบเข้ามาอยู่ในระนาบโฟกัสมากขึ้นด้วย ในขั้นตอนนี้ ผมใช้วิธีการถ่ายภาพจากตำแหน่งสูง (ให้กล้องอยู่เหนือศีรษะ) และใช้มุมสูง (ให้กล้องเอียงลง)
ผมขึ้นไปยังจุดชมวิวพร้อมกับขาตั้งกล้องที่สูงกว่าตนเอง ตำแหน่งที่สูงกว่าทำให้มีระยะระหว่างกล้องของผมกับหญ้าซึซึกิมากกว่าในโฟร์กราวด์ ซึ่งช่วยเพิ่มสัดส่วนของทุ่งหญ้าที่ปรากฏอยู่ในโฟกัส นอกจากนี้ ยังทำให้ถ่ายภาพทุ่งหญ้าได้มากขึ้นด้วย
ข้อควรรู้: เมื่อกล้องอยู่สูงกว่าคุณ
หากกล้องของคุณมีหน้าจอ LCD แบบปรับหมุนได้ คุณสามารถพลิกหน้าจอออกมาและหมุนเพื่อให้มองเห็นได้ดีขึ้น หรือคุณอาจใช้ฟังก์ชันการถ่ายภาพ Live View ระยะไกลบนแอป Canon Camera Connect ก็ได้
เคล็ดลับ: เพิ่มขั้นตอนเพื่อหลีกเลี่ยงปัญหากล้องสั่นหากคุณยืดขาตั้งช่วงกลางออกจนสุด
แม้จะใช้ขาตั้งกล้อง แต่ผมยืดขาตั้งช่วงกลางออกจนสุด ซึ่งทำให้การติดตั้งกล้องมีความมั่นคงน้อยลง จึงควรมีการป้องกันเพื่อลดการสั่นของกล้อง หากคุณใช้กล้อง DSLR ให้ถ่ายภาพในโหมดล็อคกระจกขึ้นเพื่อหลีกเลี่ยงการสั่นของกระจก
หากกล้องของคุณมีระบบ IS ในตัวกล้อง คุณจะสามารถถ่ายภาพด้วยมือโดยใช้ระบบป้องกันภาพสั่นไหวเทียบเท่าความเร็วชัตเตอร์ได้สูงสุด 8 สต็อป อ่านเพิ่มเติมได้ที่:
ทำไมกล้อง EOS R5 ถึงเป็นกล้องในอุดมคติสำหรับการถ่ายภาพทิวทัศน์ของผม
เกี่ยวกับสถานที่: ที่ราบสูงโออิชิ-โคเง็น ประเทศญี่ปุ่น
ที่ราบสูงโออิชิ-โคเง็นเป็นที่ราบสูงที่โอบล้อมยอดเขาโออิชิงะมิเนะสูง 870 เมตรในจังหวัดวากายามะ ประเทศญี่ปุ่น และเป็นพื้นที่กว้างใหญ่ที่เต็มไปด้วยหญ้าซึซึกิ ในวันที่อากาศแจ่มใส คุณจะมองเห็นคาบสมุทรคิอิ และแม้แต่เกาะชิโกกุในระยะไกล เนื่องจากมีภูมิประเทศที่ขรุขระ จึงควรสวมรองเท้าที่มีการรองรับที่ดี
หากคุณตัดสินใจถ่ายภาพต้นหญ้าในระยะใกล้ บทความนี้มีเคล็ดลับการถ่ายภาพต้นหญ้าขณะปลิวไปตามลม…แม้ลมจะไม่แรงพอ!
ศึกษาเทคนิคการใช้เลนส์และจัดองค์ประกอบภาพเพิ่มเติมที่คุณสามารถใช้ในการถ่ายภาพทิวทัศน์ได้ในบทความต่อไปนี้
เทคนิคการจัดองค์ประกอบภาพ: การสร้างภาพลวงตาให้พระจันทร์ดูใหญ่ขึ้น
ถ่ายภาพสวยดั่งใจ: การจัดองค์ประกอบภาพให้เห็นลวดลายของทุ่งข้าวสาลี
สร้างฉากตระการตาด้วยเส้นนำสายตาระยะเทเลโฟโต้
ภาพทิวทัศน์ที่มีท้องฟ้าสไตล์มินิมัลลิสต์
เกี่ยวกับผู้เขียน
นิตยสารรายเดือนที่เชื่อว่าความสุขของการถ่ายภาพจะยิ่งเพิ่มขึ้น เมื่อผู้ถ่ายภาพได้เรียนรู้เกี่ยวกับฟังก์ชั่นต่างๆ ของกล้องมากยิ่งขึ้น นิตยสารเล่มนี้เผยแพร่ข่าวสารเกี่ยวกับกล้องรุ่นใหม่ๆ รวมถึงคุณสมบัติของกล้องและนำเสนอเทคนิคการถ่ายภาพอย่างหลากหลาย
จัดพิมพ์โดย Impress Corporation
Takahashi ผันตัวมาเป็นช่างภาพอิสระและก่อตั้งบริษัทถ่ายภาพเป็นของตนเองชื่อว่า Photo Kasuga ในปี 2000 นอกจากจะทำงานถ่ายภาพทิวทัศน์ให้ปฏิทินและโปสเตอร์การท่องเที่ยวแล้ว เขายังถ่ายภาพและเขียนบทความในนิตยสารถ่ายภาพและสื่อสิ่งพิมพ์อื่นๆ ด้วย แม้จะอาศัยอยู่ในจังหวัดนาระซึ่งเป็นสถานที่ที่เขาเกิดและเติบโตเป็นส่วนใหญ่ เขายังเดินทางไปทั่วญี่ปุ่นด้วยเพื่อถ่ายภาพฉากที่ถ่ายทอดความงดงามของธรรมชาติออกมา