ถ่ายภาพสวยดั่งใจ: การจัดองค์ประกอบภาพให้เห็นลวดลายของทุ่งข้าวสาลี
เรามักจะนึกถึงภาพทิวทัศน์หากพูดถึงเลนส์มุมกว้าง แต่ในบางครั้ง ทางยาวโฟกัสยาวๆ ก็อาจเหมาะกับความต้องการของเรามากกว่า ขึ้นอยู่กับว่าเราต้องการแสดงให้เห็นอะไร ในบทความนี้ เราจะมาดูวิธีการใช้ทางยาวโฟกัสเทเลโฟโต้ระยะกลาง 85 มม. ร่วมกับเทคนิคการจัดองค์ประกอบภาพบางอย่างเพื่อแสดงลวดลายของทุ่งข้าวสาลีที่มีสีสันงดงามเหล่านี้ (เรื่องโดย: Toshiki Nakanishi, Digital Camera Magazine)
EOS 5D Mark IV/ EF24-105mm f/4L IS II USM/ FL: 85 มม./ Manual exposure (f/11, 1/50 วินาที)/ ISO 100/ WB: แสงแดด
เรื่องราวเบื้องหลังภาพนี้
ภาพนี้ถ่ายในไร่เกษตรที่กว้างใหญ่ในฮอกไกโด สีสันต่างๆ เกิดจากสายพันธุ์ที่แตกต่างกันของข้าวสาลีในพื้นที่แต่ละไร่ ผมต้องการถ่ายภาพที่แสดงให้เห็นถึงลวดลายอันน่าสนใจของทุ่งข้าวสาลีและเสริมด้วยเอฟเฟ็กต์แบบวางซ้อนของเนินเขา
ทำไมจึงต้องใช้ 85 มม.
ผมตัดสินใจเลือกใช้ทางยาวโฟกัสเทเลโฟโต้ระยะกลางเพื่อบีบภาพเนินเขาและทำให้ลวดลายโดดเด่นมากขึ้น ทางยาวโฟกัส 85 มม. ทำให้เกิดสมดุลมากที่สุด โดยเฉพาะอย่างยิ่งหากต้องการใช้ประโยชน์จากการจัดองค์ประกอบภาพรูปตัว Z (ดูจุด A) เลนส์มุมกว้างจะทำให้เห็นความกว้างใหญ่ของทิวทัศน์ได้ชัดเจนขึ้นโดยการทำให้เนินเขาดูอยู่ห่างจากกันมากขึ้น ซึ่งแน่นอนว่าจะทำให้ได้ภาพที่น่าประทับใจไปอีกแบบหนึ่ง แต่นั่นไม่เหมาะสำหรับภาพที่ผมต้องการ
หาคำตอบว่าเพราะเหตุใดทางยาวโฟกัส 117 มม. จึงสร้างสมดุลได้ดีที่สุดในฉากอีกแบบหนึ่งที่:
เคล็ดลับการจัดองค์ประกอบภาพที่ทำให้หมอกสวยงามเตะตา
การตัดสินใจอื่นๆ ในการถ่ายภาพ: สีสันและแสง
เพื่อให้ลวดลายของทุ่งข้าวสาลีดูน่าประทับใจยิ่งขึ้น ผมจึงหลีกเลี่ยงการถ่ายภาพในวันที่มีอากาศแจ่มใสและท้องฟ้าสีฟ้าปลอดโปร่ง แต่ผมเลือกวันที่มีเมฆหนาปกคลุมแทน ซึ่งผมจะอธิบายเพิ่มเติมในจุด C หากต้องการให้องค์ประกอบภาพนี้สมบูรณ์ จะต้องมีแสงเล็กน้อย ลองดูที่จุด B ผมมองท้องฟ้าและรอคอยให้มีแสงแดดส่องออกมาระหว่างก้อนเมฆ ซึ่งจะทำให้เนินเขาสว่างขึ้น และในช่วงวินาทีสั้นๆ นั้น ผมก็ลั่นชัตเตอร์
รายละเอียดการจัดองค์ประกอบภาพ
จุดสำคัญขององค์ประกอบภาพ
A: จัดองค์ประกอบภาพให้ลวดลายของเนินเขาเป็นรูปตัว “Z”
B: แสงจ้าบนทุ่งข้าวสาลีเป็นตัวนำสายตาของผู้ชม
C: ความเปรียบต่างระหว่างสีโทนเย็น (ท้องฟ้า) กับสีโทนอุ่น (ทุ่งหญ้า) ทำให้การจัดแสงโดดเด่นขึ้น
นอกจากนี้ยังมีอะไรอีก
ทำให้โฟร์กราวด์มืดกว่าและโทนสีสว่างที่สุดอยู่ตรงกลาง
ผมเลือกทุ่งหญ้าที่มีโทนสีสว่างที่สุดให้อยู่ตรงกึ่งกลางขององค์ประกอบภาพและจัดตำแหน่งให้ทุ่งหญ้าที่มีโทนสีมืดทึบกว่าอยู่ด้านล่างสุดของเฟรมภาพ ผมต้องการสร้างเอ็ฟเฟกต์ที่สีเขียวเด่นชัดขึ้นในขณะที่ผู้ชมมองไล่ตามตัว “Z” ขึ้นไปด้านบนจากโฟร์กราวด์ไปจนถึงเนินเขาที่อยู่ด้านหลัง
สัดส่วนระหว่างท้องฟ้ากับทุ่งข้าวสาลี
เนื่องจากตัวแบบหลักคือทุ่งข้าวสาลี ผมจึงให้ท้องฟ้ามีพื้นที่ไม่เกิน 1/3 ของเฟรม
เรียนรู้เกี่ยวกับการจัดองค์ประกอบภาพทิวทัศน์ที่มีสัดส่วนของท้องฟ้ามากขึ้นได้ที่บทความ:
ภาพทิวทัศน์ที่มีท้องฟ้าสไตล์มินิมัลลิสต์
มาดูรายละเอียดของจุด A, B, และ C กัน
A: การจัดองค์ประกอบภาพรูปตัว Z ทำให้แนวสายตาของผู้ชมเปลี่ยนตำแหน่งและทำให้รู้สึกถึงจังหวะ
องค์ประกอบภาพรูปตัว Z คืออะไร
การจัดองค์ประกอบภาพรูปตัว Z จะนำสายตาของผู้ชมไปตามเส้นในภาพที่ทำให้เกิดเป็นรูปตัว “Z” เส้นนี้เกิดจากองค์ประกอบในเฟรมภาพ ซึ่งในภาพนี้ ผมใช้ประโยชน์จากรูปสามเหลี่ยมที่เกิดจากเนินเขาและทุ่งหญ้า
สายตาของผู้ชมจะเปลี่ยนตำแหน่งจากซ้ายไปขวาในขณะที่มองไปตามเส้นของตัว “Z” ซึ่งทำให้การจัดองค์ประกอบภาพแบบนี้เป็นเทคนิคที่เหมาะสำหรับการสร้างความเคลื่อนไหว นี่เป็นวิธีการหนึ่งในการทำให้ศิลปะในรูปแบบสองมิติอย่างการถ่ายภาพดูมีพลังมากขึ้น! และในขณะเดียวกัน การเคลื่อนไหวแบบซิกแซกยังทำให้เกิดจังหวะที่ดูสบายตาด้วย
การวางตัว “Z” ให้สมดุลที่สุดคือความท้าทายสูงสุด
การมองเห็นตัว “Z” อาจไม่ใช่เรื่องยากเสมอไป สำหรับภาพทิวทัศน์เช่นภาพนี้ คุณเพียงต้องคอยสังเกตเท่านั้น และคุณจะมองเห็นเส้นที่ทำให้เกิดเป็นรูปตัว Z แต่ความท้าทายคือ คุณจะวางตำแหน่งตัว “Z” นั้นอย่างไรเพื่อให้จังหวะมีความสมดุลกับส่วนที่เหลือของภาพ วิธีการจะแตกต่างกันไปในแต่ละภาพ ซึ่งนั่นเป็นสิ่งที่คุณจะต้องลองทำด้วยตนเอง การเปลี่ยนมุมกล้อง ตำแหน่ง และการจัดเฟรมภาพเพียงเล็กน้อยอาจสร้างความแตกต่างได้อย่างมาก ในฉากนี้ มุมรับภาพ 85 มม. มีบทบาทสำคัญอย่างมากในการทำให้เห็นตัว Z ได้ชัดขึ้น
อ่านเพิ่มเติมได้ที่:
การตัดสินใจในการถ่ายภาพทิวทัศน์: ถ่ายภาพจากมุมสูงหรือมุมต่ำ?
เคล็ดลับระดับมือโปร: มองหารูปสามเหลี่ยม
หากมองไม่เห็นตัว “Z” ให้มองหารูปสามเหลี่ยมในฉาก เมื่อหาเจอแล้ว คุณจะพบองค์ประกอบภาพรูปตัว Z ได้ไม่ยาก ในตัวอย่างด้านบน ต้นไม้ที่อยู่ด้านหลังภาพอาจมีขนาดเล็ก แต่ยากที่คุณจะไม่สังเกตเห็นเนื่องจากสายตาถูกนำไปโดยเส้นรูปตัว Z
การจัดองค์ประกอบภาพที่ใกล้เคียงกับการจัดองค์ประกอบภาพรูปตัว Z คือเส้นโค้งรูปตัว S ดูวิธีการใช้ได้ที่:
เทคนิคการจัดองค์ประกอบภาพอย่างมืออาชีพ (2): “รูปแบบและจังหวะ” และ “เส้นโค้งรูปตัว S”
สีสันของทิวทัศน์: เมื่อสีชมพูจากแสงอาทิตย์ยามอัสดงมาบรรจบกับสีน้ำเงินแห่งยามราตรี
B: จุดสว่างในเฟรมภาพช่วยดึงความสนใจ
โทนสีสว่างมักจะดึงดูดใจมนุษย์ได้ดีกว่าโทนสีที่มืดหรือทึบทึม ความเข้าใจนี้จะช่วยให้คุณใช้แสงได้ดีขึ้นขณะจัดองค์ประกอบให้ภาพถ่ายของคุณ นั่นจึงเป็นสาเหตุที่ทำให้ผมรอคอยและสังเกตการณ์จนกระทั่งแสงแดดจ้าส่องลงมาบนทุ่งข้าวสาลีใกล้กับจุดกึ่งกลางของเฟรมภาพ
ดูอีกตัวอย่างของแนวคิดนี้ขณะถ่ายภาพได้ที่บทความ:
เทคนิคการถ่ายภาพมาโคร: การสร้างพื้นที่ว่างและความลึกลวงตา
เคล็ดลับระดับมือโปร: คุณต้องใช้ความเปรียบต่างที่ชัดเจนเพื่อผลลัพธ์ที่ดีที่สุด
แสงแดดอ่อน
แสงแดดจ้า
ภาพด้านบนคือฉากเดียวกัน แสงแดดกำลังส่องลงไปบนทุ่งข้าวสาลีตรงกลางเช่นกัน แต่จะเห็นลวดลายได้ไม่เด่นชัดนักเนื่องจากแสงแดดอ่อนและกระจายตัวออกไป เช่นเดียวกับการส่องไฟสปอตไลต์ไปยังนักแสดงบนเวที เทคนิคนี้จำเป็นต้องอาศัยความแตกต่างที่ชัดเจนระหว่างพื้นที่สว่างกับพื้นที่มืด ดังนั้น แสงจึงจำเป็นต้องมีความสว่างจ้า
และการจัดแสงดังกล่าวยังสามารถใช้เป็นตัวแบบหลักในการถ่ายภาพทิวทัศน์ของคุณได้ด้วย นี่คือตัวอย่างหนึ่ง พร้อมวิธีการถ่ายภาพและปรับแต่ง
การจัดแสงธรรมชาติ: แสงส่องเป็นแนวบนป่าในฤดูใบไม้ร่วง
C: สร้างความเปรียบต่างระหว่างโทนสีอุ่นและเย็นเพื่อขับเน้นการจัดแสงให้เด่นชัดขึ้น
การจัดองค์ประกอบภาพนั้นมีความสำคัญในการถ่ายภาพ แต่สีสันก็เช่นกัน! การมีสีหลักเพียงสีเดียวในภาพไม่ใช่เรื่องผิดอะไร แต่ความสมดุลของสีจะดูมีเสน่ห์ยิ่งขึ้นหากคุณเพิ่มสีคู่ตรงข้ามลงไปเพื่อความโดดเด่น
วิธีหนึ่งที่คุณสามารถทำได้คือสร้างความเปรียบต่างระหว่างสีโทนอุ่นกับโทนเย็น เช่นเดียวกับที่ผมทำในภาพนี้ ท้องฟ้าสีฟ้าในวันที่มีอากาศแจ่มใสจะให้สีโทนอุ่นกว่า จึงเป็นสาเหตุที่ทำให้ผมเลือกถ่ายภาพในวันที่ท้องฟ้าเป็นสีเทาและมีเมฆมากซึ่งท้องฟ้ามีสีโทนเย็นกว่า
เคล็ดลับระดับมือโปร: คุณต้องการสีคู่ตรงข้ามเพียงเล็กน้อยเท่านั้น
คุณไม่จำเป็นต้องเพิ่มสีโทนเย็นเข้ามาในภาพให้มากนักเพื่อให้สีโทนอุ่นโดดเด่นขึ้น ใช้เพียงเล็กน้อยก็พอแล้ว!
ภาพนี้ใช้ประโยชน์จากความสัมพันธ์แบบคู่ตรงข้ามระหว่างสีส้มและน้ำเงิน ภาพนี้ใช้สีน้ำเงินเพียงเล็กน้อยเท่านั้นในการสร้างความเปรียบต่างและทำให้พื้นทรายสีส้มดูโดดเด่นมากยิ่งขึ้น
อ่านเพิ่มเติมได้ที่:
ควรใช้สีสันอย่างไรเพื่อดึงความสนใจไปที่ตัวแบบ
สรุป
- ทางยาวโฟกัส 85 มม. ให้มุมรับภาพและการบีบอัดที่ดีที่สุดสำหรับการแสดงลวดลายที่มีสีสันสวยงามของทุ่งข้าวสาลี
- การจัดเฟรม: องค์ประกอบภาพรูปตัว Z จะทำให้สายตาของผู้ชมเปลี่ยนตำแหน่งและมองเห็นลวดลายได้
- ความเปรียบต่างของแสงและเงา: เอฟเฟ็กต์สปอตไลต์ช่วยดึงความสนใจและสร้างความประทับใจ
- ความเปรียบต่างของโทนอุ่นและเย็น: ท้องฟ้าสีโทนเย็นที่มีเมฆมากทำให้ทุ่งข้าวสาลีที่มีสีโทนอุ่นดูโดดเด่นยิ่งขึ้น
เลนส์บางชนิดหรือทางยาวโฟกัสบางระยะสามารถเปลี่ยนวิธีการถ่ายภาพทิวทัศน์ของคุณได้อย่างไรอีกบ้าง อ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ในบทความต่อไปนี้
ภาพทิวทัศน์ระยะ 50 มม. ในสไตล์เฉพาะตัว: เลนส์ที่จุดประกายให้ทดลองสิ่งใหม่ๆ
ภาพทิวทัศน์เทเลโฟโต้: ถ่ายทอดความสงบนิ่งตัดกับการเคลื่อนไหว
หากคุณได้พบเจออะไรด้วยตัวเอง เราก็อยากรู้เรื่องนั้นด้วย เล่าให้เราฟังได้ในช่องความคิดเห็น หรือแบ่งปันภาพถ่ายของคุณได้ใน My Canon Story!
รับข่าวสารล่าสุดเกี่ยวกับการถ่ายภาพ รวมถึงเคล็ดลับและกลเม็ดต่างๆ
ร่วมเป็นส่วนหนึ่งของชุมชนชาว SNAPSHOT
ลงทะเบียนตอนนี้!เกี่ยวกับผู้เขียน
นิตยสารรายเดือนที่เชื่อว่าความสุขของการถ่ายภาพจะยิ่งเพิ่มขึ้น เมื่อผู้ถ่ายภาพได้เรียนรู้เกี่ยวกับฟังก์ชั่นต่างๆ ของกล้องมากยิ่งขึ้น นิตยสารเล่มนี้เผยแพร่ข่าวสารเกี่ยวกับกล้องรุ่นใหม่ๆ รวมถึงคุณสมบัติของกล้องและนำเสนอเทคนิคการถ่ายภาพอย่างหลากหลาย
จัดพิมพ์โดย Impress Corporation
เกิดปี 1971 ในโอซาก้า หลังจากศึกษาการถ่ายภาพด้วยตัวเอง Nakanishi ย้ายสถานที่ดำเนินกิจกรรมถ่ายภาพของตนไปยังเมือง Biei ที่อำเภอ Kamikawa-gun ในฮอกไกโด นอกจากถ่ายภาพทิวทัศน์ที่โฟกัสที่แสงเป็นหลักแล้ว เขายังสร้างสรรค์ผลงานที่เน้นถึงความงามของธรรมชาติในจินตนาการอีกด้วย เขามีตำแหน่งเป็นหัวหน้า PHOTO OFFICE ของ atelier nipek