ภาพทิวทัศน์ระยะ 50 มม. ในสไตล์เฉพาะตัว: เลนส์ที่จุดประกายให้ทดลองสิ่งใหม่ๆ
เมื่อพูดเรื่องการถ่ายภาพทิวทัศน์ คุณมักจะนึกถึงเลนส์แบบไหน เลนส์มุมกว้างอัลตร้าไวด์หรือเลนส์ซูมเทเลโฟโต้น่าจะเป็นสิ่งที่คุณนึกออก ว่าแต่เลนส์เดี่ยว 50 มม. ล่ะเป็นอย่างไร GOTO AKI จะมาเล่าว่าการใช้เลนส์รุ่นนี้สร้างแรงบันดาลใจให้เขาถ่ายภาพในมุมต่างๆ อย่างสร้างสรรค์ได้อย่างไร (เรื่องโดย: GOTO AKI, Digital Camera Magazine)
EOS R5/ RF50mm f/1.8 STM/ Flexible-priority AE (f/5.6, 1/200 วินาที)/ ISO 1600/ WB: แสงแดด
ขณะที่ผมเดินข้ามสะพานเหนือแม่น้ำที่ไหลผ่านทุ่งหญ้า สายตาของผมถูกดึงดูดไปที่ลวดลายแอ็บสแตรกต์ที่เกิดจากกิ่งไม้ตรงปลายเท้าของผม ซึ่งซ้อนทับกับภาพซิลูเอตต์ของกิ่งไม้นั้นที่สะท้อนอยู่ในน้ำ ผมถ่ายภาพนี้โดยเดินลงไปในแม่น้ำและจัดเฟรมเพื่อให้จับภาพเฉพาะผิวน้ำที่เป็นระลอกคลื่น การใช้เลนส์เดี่ยว 50 มม. จะทำให้คุณมีความคล่องตัวสูงขึ้นและเปิดโอกาสให้ทดลองอะไรใหม่ๆ ได้มากขึ้น
50 มม.: ความสนุกของการสำรวจและค้นพบ
เลนส์ 50 มม. จับภาพฉากได้มากกว่าเลนส์เทเลโฟโต้ แต่น้อยกว่าเลนส์มุมกว้าง แต่แทนที่จะเป็นข้อจำกัด กลับทำให้เลนส์นี้มีความสามารถค่อนข้างหลากหลาย คุณจะได้จัดองค์ประกอบภาพด้วยตัวเองมากขึ้น แทนที่จะหมุนวงแหวนซูมคุณต้องใช้เท้าของตัวเองซูมเข้าออกโดยก้าวเข้าไปใกล้ัหรือออกห่างจากตัวแบบ ซึ่งในขณะที่พยายามจัดเฟรมภาพนี้ คุณจะได้พบสิ่งใหม่ๆ ซึ่งอาจน่าสนุกไม่น้อย
เวลาผมถ่ายภาพในทุ่งหญ้าหรือบนภูเขา ความอเนกประสงค์แบบนี้พร้อมทั้งรูรับแสงกว้างช่วยให้สามารถถ่ายภาพที่มีบรรยากาศดีๆ ได้ง่ายขึ้นแม้แต่ในช่วงเช้าตรู่หรือพลบค่ำ รูรับแสงกว้างสุดขนาดใหญ่ของเลนส์เดี่ยวนั้นยังช่วยให้สร้างโบเก้และถ่ายภาพที่เต็มไปด้วยอารมณ์ได้อย่างง่ายดาย
เมื่อใช้เลนส์ร่วมกับกล้องที่มีความไวแสง ISO สูง ผมยังสามารถถ่ายภาพพืชพรรณและหญ้ามอสในป่ามืดๆ ได้โดยไม่ต้องใช้ขาตั้งกล้อง
เคล็ดลับการจัดองค์ประกอบภาพระดับมือโปรในสไตล์ GOTO AKI
EOS R5/ RF50mm f/1.8 STM/ Flexible-priority AE (f/8, 1/640 วินาที)/ ISO 400/ WB: แสงแดด
ใช้ตัวคุณเองและปรับรูรับแสง
เวลาใช้เลนส์เดี่ยว 50 มม. คุณจะเปลี่ยนวิธีการถ่ายตัวแบบต่างๆ โดยใช้ตัวคุณเองในการถ่ายภาพ
ยกตัวอย่างเช่น เมื่อถ่ายภาพทิวทัศน์ ถ้าคุณขยับเข้าไปใกล้และเปิดรูรับแสงให้กว้างขึ้น แบ็คกราวด์จะหลุดโฟกัสและภาพที่ได้จะคล้ายกับภาพที่ถ่ายด้วยเลนส์เทเลโฟโต้ ถ้าคุณปรับรูรับแสงให้แคบลงแทนที่จะเปิดให้กว้างขึ้นเหมือนที่ผมทำกับภาพด้านบน ก็จะสามารถเก็บรายละเอียดเล็กๆ น้อยๆ ของรูปทรงและพื้นผิวของตัวแบบได้
แต่ถ้าคุณขยับออกห่างจากตัวแบบและตั้งค่ารูรับแสงไว้ที่ประมาณ f/11 ถึง f/16 ก็จะสร้างภาพถ่ายที่ดูคล้ายกับภาพโฟกัสชัดลึกจากเลนส์มุมกว้างได้
สรุปได้ว่า
- การขยับเข้าไปใกล้ๆ และใช้รูรับแสงกว้างขึ้นทำให้ได้ภาพคล้ายกับที่ถ่ายด้วยเลนส์เทเลโฟโต้
- การขยับเข้าไปใกล้ๆ และใช้รูรับแสงแคบทำให้จับภาพรูปทรงและพื้นผิวได้
- การขยับห่างออกมาและถ่ายโดยใช้ค่ารูรับแสงที่ f/11 ถึง f/16 ทำให้ได้ภาพคล้ายกับที่ถ่ายด้วยเลนส์มุมกว้าง
สำหรับผมแล้ว การใช้ตัวเองและการปรับรูรับแสงเป็นสองปัจจัยที่สำคัญที่สุดในการใช้เลนส์ 50 มม. ให้เกิดประโยชน์สูงสุด
เคล็ดลับเพิ่มเติมเกี่ยวกับการใช้เลนส์ 50 มม.:
ภาพพอร์ตเทรตระยะ 50 มม. ในสไตล์เฉพาะตัว: การสร้างสรรค์ภาพแห่งความทรงจำ
เลนส์ที่ใช้
RF50mm f/1.8 STM
ในกลุ่มซีรีย์เลนส์ RF นั้น แม้แต่เลนส์ STM (Stepping Motor) ก็ยังมีความคมชัด เลนส์ RF50mm f/1.8 STM นั้นมีรูรับแสงกว้างสุดที่กว้างภายในตัวเลนส์ขนาดกะทัดรัด จึงทำให้พกพาได้สะดวก เหมาะสำหรับการเดินถ่ายรูป
อ่านเพิ่มเติมได้ที่:
RF50mm f/1.8 STM หรือ EF50mm f/1.8 STM: 6 ข้อเปรียบเทียบสำคัญ
บทวิจารณ์เลนส์: RF50mm f/1.8 STM ในการถ่ายภาพแนวสตรีท
อ่านไอเดียเพิ่มเติมเกี่ยวกับการหามุมใหม่ๆ ในเชิงสร้างสรรค์ได้ที่
วิธีเมทริกซ์: เพิ่มความหลากหลายให้ภาพถ่ายของคุณด้วยวิธีการที่เป็นระบบ
3 โจทย์ท้าทายที่ดูเหมือนง่าย แต่ยกระดับทักษะการถ่ายภาพของคุณได้
รับข่าวสารล่าสุดเกี่ยวกับการถ่ายภาพ รวมถึงเคล็ดลับและกลเม็ดต่างๆ
ร่วมเป็นส่วนหนึ่งของชุมชนชาว SNAPSHOT
ลงทะเบียนตอนนี้!เกี่ยวกับผู้เขียน
เกิดเมื่อปี 1972 ที่จังหวัดคานากาวะ จบการศึกษาจาก Sophia University และ Tokyo College of Photography Goto เผยแพร่ผลงานคอลเลคชั่นภาพถ่ายที่มีชื่อว่า "LAND ESCAPES" และยังมีส่วนร่วมในผลงานอื่นๆ อีก อาทิ "water silence" การแสดงผลงานศิลปะที่ผสานภาพถ่ายกับวิดีโอเข้าไว้ด้วยกัน
นิตยสารรายเดือนที่เชื่อว่าความสุขของการถ่ายภาพจะยิ่งเพิ่มขึ้น เมื่อผู้ถ่ายภาพได้เรียนรู้เกี่ยวกับฟังก์ชั่นต่างๆ ของกล้องมากยิ่งขึ้น นิตยสารเล่มนี้เผยแพร่ข่าวสารเกี่ยวกับกล้องรุ่นใหม่ๆ รวมถึงคุณสมบัติของกล้องและนำเสนอเทคนิคการถ่ายภาพอย่างหลากหลาย
จัดพิมพ์โดย Impress Corporation